“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
การเต้นลีลาศใน จังหวะบีกิน เต้นอย่างไร ? ผู้สูงอายุฝึกได้ ให้ออกกำลังกายได้อย่างสนุกและมีความสุข !
ถ้าพูดถึงกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุแล้วล่ะก็ การเต้นลีลาศ จะต้องเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลายคนนึกถึง เพราะไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ลานชุมชน หรือในห้างสรรพสินค้า เราก็มักจะเห็นพื้นที่สำหรับการเต้นลีลาศของผู้สูงอายุอยู่เสมอ การเต้นลีลาศถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง มีความคล่องแคล่ว และเป็นกิจกรรมที่ให้ความสนุกสนาน ใครที่อยากจะลองหัดเต้นลีลาศดูบ้าง ในบทความนี้ เรามีท่าการเต้นลีลาศจังหวะต่างๆ มาแนะนำกันค่ะ สำหรับใครที่กำลังมองหาการแบบเต้นง่ายๆ และเหมาะกับผู้เริ่มต้น การเต้นลีลาศใน จังหวะบีกิน นี่แหละค่ะที่ทั้งเต้นตามได้ง่าย สนุก และยังนำไปประยุกต์เต้นได้หลายเพลงด้วย สำหรับใครที่มีพื้นฐานมาบ้างแล้ว และอยากลองหาจังหวะอื่นๆ ฝึกเต้นดูบ้าง เราก็มีมาแนะนำ มาเริ่มฝึกไปพร้อมๆ กันเลยนะคะ
ชวนดูประวัติ การเต้นลีลาศแบบ จังหวะบีกิน (BEGUINE)
การเต้นลีลาศจังหวะบีกิน เป็นจังหวะลีลาศประเภทเบ็ดเตล็ด (POP AND SOCIAL DANCES) ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในการเต้นลีลาศตามงานสังคมทั่วไป แต่เป็นจังหวะที่ไม่นิยมในต่างประเทศ ประวัติของการเต้นจังหวะบีกินในไทยนั้นไม่ปรากฎว่าเริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยไหน แต่จากความเป็นมาตามตำราลีลาศ กล่าวว่า ตั้งแต่ยุคของครูอัตถ์ พึ่งประยูร ครูสอนลีลาศของไทยที่เต้นรำมาตั้งแต่พ.ศ. 2492 ในยุคนั้นก็มีการเต้นจังหวะบีกินแล้ว โดยเข้าใจว่าครูสอนลีลาศชาวฟิลิปปินส์เป็นผู้นำการเต้นจังหวะนี้เข้ามาในประเทศไทย
ดนตรีและการนับจังหวะบีกินนั้นจะนับแบบ 4/4 หรือ 4 จังหวะในหนึ่งห้องเพลง โดยจังหวะที่ 1 2 และ 3 จะเป็นเสียงหนัก ส่วนจังหวะที่ 4 จะเป็นการพักเท้าซึ่งผู้เต้นจะทำการแตะหรืองอเข่าในจังหวะนี้ โดยจะนับต่อเนื่องกันไปตามสเต็ปคือ 1-2-3-4 วนไปจนจบเพลง
เกร็ดสุขภาพ : การเต้นลีลาศเป็นการออกกำลังกายที่ดีต่อร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งจะต้องฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืน และที่สำคัญต้องฝึกในลานโล่ง ไม่มีสิ่งกีดขวาง และพื้นต้องไม่ลื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจลื่นล้มหลังกระแทกพื้นได้ ที่สำคัญอย่าลืมเลือกรองเท้าส้นแบนที่ช่วยซัพพอร์ทเท้าและยึดเกาะพื้นได้ดีระหว่างฝึก ส่วนใครฝึกเต้นในบ้านก็สามารถเต้นได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องสวมรองเท้า แต่ก็ต้องเน้นความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรกด้วยการเก็บสิ่งของที่วางบนพื้นออกรวมถึงพรมด้วยนะคะ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ
ชวนฝึกท่าทางการเต้นจังหวะบีกินสำหรับมือใหม่ ไม่มีพื้นฐานก็ฝึกได้
เคล็ดลับการเต้นลีลาศจังหวะนี้ก็คือการก้าวเท้าทุกก้าวไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังต้องก้าวให้เต็มฝ่าเท้ารวมถึงงอเข่าเล็กน้อยระหว่างก้าว พยายามก้าวอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด อย่าฝืนตัว หากรู้สึกไม่ชินให้เพิ่มการงอเข่าเข้ามาช่วยจะทำให้ก้าวเท้าได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น สะโพกจะบิดเป็นธรรมชาติ ดูสวยงามและลื่นไหล นอกจากนี้พยายามจัดระเบียบร่างกายช่วงลำตัวส่วนบนและลำคอให้ตั้งตรงเพื่อให้การเต้นรำออกมาสวยงามสบายตามากที่สุดด้วย
เคล็ดลับการเต้นลีลาศจังหวะนี้ก็คือการก้าวเท้าทุกก้าวไม่ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังต้องก้าวให้เต็มฝ่าเท้ารวมถึงงอเข่าเล็กน้อยระหว่างก้าว พยายามก้าวอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด อย่าฝืนตัว หากรู้สึกไม่ชินให้เพิ่มการงอเข่าเข้ามาช่วยจะทำให้ก้าวเท้าได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น สะโพกจะบิดเป็นธรรมชาติ ดูสวยงามและลื่นไหล นอกจากนี้พยายามจัดระเบียบร่างกายช่วงลำตัวส่วนบนและลำคอให้ตั้งตรงเพื่อให้การเต้นรำออกมาสวยงามสบายตามากที่สุดด้วย
การเต้นลีลาศจังหวะบีกินเป็นการเต้นรำแบบง่ายๆ สบายๆ เน้นการเคลื่อนที่อย่างมั่นคงและพลิ้วไหว เมื่อฝึกเดินหน้าและถอยหลังจนคุ้นเคยแล้วจึงเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปด้วยการหมุนตัวตามจังหวะเพลงได้เลย สำหรับผู้ที่อยากจะเริ่มฝึกเต้นจังหวะบีกิน มาดูกันค่ะว่ามีท่าทาง หรือ Figures แบบไหนกันบ้าง จะได้เอาไปลองทำตามกันดูค่ะ
1. เบสิกวอล์ค (Basic Walk)
เบสิกวอล์คคือท่าเดินถอยหลังและก้าวไปข้างหน้าแบบง่ายๆ เป็นการเดินแบบตรงๆ 3 จังหวะและแตะ (หรือพักเท้า) ในจังหวะที่ 4 มีสเต็ปดังนี้
- เดินถอยหลังด้วยเท้าขวา 3 ก้าว นับจังหวะ 1-2-3 และแตะเท้าซ้ายในจังหวะที่ 4
- ก้าวไปข้างหน้าด้วยเท้าซ้าย นับจังหวะ 1-2-3 และแตะเท้าหลังในจังหวะที่ 4
2. นิวยอร์ก (New York Step)
ท่านิวยอร์กเป็นสเต็ปการเต้นจังหวะบีกินที่ซับซ้อนขึ้นมาเล็กน้อย สามารถทำได้โดยก้าวเท้าซ้ายผ่านไปด้านหน้าเท้าขวา จากนั้นก้าวเท้าขวาตาม ตามด้วยการถอยเท้าซ้ายผ่านส้นเท้าขวาไปทางขวา นับ 1 – 2 – 3 และแตะเท้าขวาในจังหวะที่ 4 ร่วมกับการใช้ท่ามือเพื่อให้มีความสวยงามมากขึ้น มีสเต็ปดังนี้
- ฝ่ายชาย
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1
- หมุนไปทางขวา 1 ใน 4 หันข้างให้คู่เต้น ก้าวเท้าขวา ปล่อยมือขวา จับเฉพาะมือซ้าย นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าข้างซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
- ถอยเท้าขวามาข้างหลัง นับ 1
- หมุนไปทางซ้าย 1 ใน 4 หันข้างให้คู่เต้น ก้าวเท้าซ้าย ปล่อยมือซ้าย จับเฉพาะมือขวา
- ก้าวเท้าขวาไขว้หน้าเท้าซ้าย ก้าวออกนอกคู่ หมุนตัวไปทางซ้าย 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
- ฝ่ายหญิง
- ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง นับ 1
- หมุนไปทางซ้าย 1 ใน 4 หันข้างเข้าหาคู่เต้น ก้าวเท้าซ้าย ปล่อยมือซ้าย จับเฉพาะมือขวา นับ 2
- ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
- ถอยเท้าซ้ายมาข้างหลัง นับ 1
- หมุนไปทางขวา 1 ใน 4 หันข้างเข้าหาคู่เต้น ก้าวเท้าขวา ปล่อยมือขวา จับเฉพาะมือซ้าย นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไขว้หน้าเท้าขวาก้าวออกนอกคู่เต้น หมุนตัวไปทางขวา 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าข้างเท้าซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
- หมุนตัวลากเท้าซ้าย มาวางข้างเท้าขวาแล้วก้าวเท้าขวาไปหลัง จบจังหวะ
3. สปอต เทิร์น (Spot Turn)
ท่าสปอต เทิร์น เป็นท่าหมุนตัวทั้งผู้ชายและผู้หญิง เป็นหนึ่งในท่าของจังหวะบีกินที่ต่อเนื่องมาจากท่านิวยอร์ก ซึ่งจะทำให้การเต้นลีลาศมีความสมูทมากขึ้นแล้วก็สวยงามมากขึ้นค่ะ
- ฝ่ายชาย
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าขวา นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 3
- งอเข่าขวาในจังหวะพัก นับ 4
- ถอยเท้าขวาไปด้านหลังพร้อมหมุนตัว นับ1
- ก้าวเท้าซ้ายแล้วหมุนตัว 90 องศา นับ 2
- ถอยเท้าขวาลากเท้าซ้ายมาแตะข้างเท้าขวา นับ 3
- งอเข่าซ้ายในจังหวะพัก นับ 4
- ฝ่ายหญิง
- ถอยเท้าขวาไปด้านหนัง แล้วหมุนตัว นับ 1
- ก้าวเท้าซ้ายแล้วหมุนตัว 90 องศา นับ 2
- ถอยเท้าขวาลากเท้าซ้ายมาแตะข้างเท้าขวา นับ 3
- งอเข่าซ้ายในจังหวะพัก นับ 4
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าขวา นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า น้ำหนักอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 3
- งอเข่าขวาในจังหวะพัก นับ 4
4. การหมุน (Underarm Turn)
การหมุนหรืออันเดอร์ อาร์ม เทิร์นคือการเต้นลีลาศจังหวะบีกินที่ฝ่ายหญิงหมุนตัวใต้วงแขนของฝ่ายชาย เป็นท่าที่ช่วยสร้างสีสันให้การเต้นรำและยังเพิ่มความสวยงามอีกด้วย มีสเต็ปดังนี้
- ฝ่ายชาย
- ก้าวเท้าซ้ายไปทางซ้ายและยกมือขึ้นสูงเหนือศีรษะฝ่ายหญิง นับ 1
- หมุนตัวไปทางซ้ายครึ่งรอบ นับ 2
- หมุนตัวไปทางซ้ายครึ่งรอบพร้อมก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 3
- แตะเท้าขวา นับ 4
- ฝ่ายหญิง
- ยกมือขวาขึ้นเหนือศีรษะ หมุนตัวไปทางขวาพร้อมก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า นับ 1
- หมุนตัวไปทางขวาพร้อมก้าวเท้าขวา นับ 2
- หมุนตัวไปทางขวาอีกครึ่งรอบพร้อมก้าวเท้าขวาถอยหลัง นับ 3
- แตะเท้าซ้าย นับ 4
เกร็ดสุขภาพ : การเต้นจังหวะบีกินเป็นการเต้นรำจังหวะง่ายๆ แต่มีประโยชน์มากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้ว การเต้นลีลาศยังช่วยให้เรามีบุคลิกภาพดีขึ้นด้วย เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่ดูสง่าสวยงาม ทั้งยังช่วยให้กล้าแสดงออก และเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดสำหรับผู้สูงอายุ ทำให้ได้พบปะเพื่อนวัยเดียวกัน เรียกได้ว่ามีประโยชน์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจเลยทีเดียว
5. โชเดอร์ ทู โชเดอร์ (Shoulder to Shoulder)
โชเดอร์ ทู โชเดอร์ เป็นการวาดแขนให้อยู่ในระดับไหล่ของฝ่ายหญิง เคลื่อนไหวในลักษณะหมุนตัวเล็กน้อย และฝ่ายหญิงยังสามารถหมุนตัวใต้วงแขนของฝ่ายชายได้ด้วย เป็นอีกท่าหนึ่งที่มีความสวยงาม ช่วยเพิ่มความสง่าให้กับคู่เต้นได้เป็นอย่างดี โดยมีสเต็ปดังนี้
- ฝ่ายชาย
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า เยื้องไปทางขวา หมุนตัวไปทางขวาเล็กน้อย นับ 2
- ก้าวเท้าซ้ายไขว้หน้าเท้าขวา ก้าวออกนอกคู่เต้น หมุนตัวไปทางขวา 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างเท้าซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
- ถอยเท้าขวามาข้างหลัง นับ 1
- ก้าวเท้าซ้ายมาด้านข้างเยื้องไปข้างหน้าเล็กน้อย นับ 2
- ก้าวเท้าขวาไขว้หน้าเท้าซ้าย ก้าวออกนอกคู่เต้น หมุนตัวไปทางซ้าย 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
- ฝ่ายหญิง
- ถอยเท้าขวาไปข้างหลัง นับ 1
- ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลังเยื้องไปทางซ้าย หมุนตัวไปทางขวา นับ 2
- ถอยเท้าขวาไขว้หลังเท้าซ้ายหมุนตัวไปทางขวา 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าซ้ายมาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างเท้าขวา น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา นับ 4
- ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า นับ 1
- ก้าวเท้าขวาไปด้านหน้าเยื้องไปข้างหน้าเล็กน้อย นับ 2
- ถอยเท้าซ้ายไขว้หลังเท้าขวา หมุนตัวไปทางซ้าย 1 ใน 8 นับ 3
- ยกเท้าขวามาแตะด้วยปลายเท้าที่ข้างซ้าย น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย นับ 4
ชวนดูการเต้นลีลาศจังหวะ Advance สำหรับผู้มีพื้นฐานเบื้องต้น
ตอนนี้เราก็ได้รู้ท่าลีลาศจังหวะบีกินในท่าต่างๆ ไปแล้ว ต่อมาเรามาดูการเต้นลีลาศจังหวะ Advance กันบ้าง เพื่อที่จะได้เป็นการฝึกการเต้นลีลาศให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น และเต้นได้หลากหลายจังหวะมากขึ้น จะมีจังหวะใดบ้าง ไปดูกันค่ะ
1. จังหวะสโลว์ ฟอกซ์ทรอท (Slow Foxtrot)
จังหวะสโลว์ ฟอกซ์ทรอท ถูกเปรียบให้เป็นหัวใจของการเต้นรำแบบบอลรูม บางคนบอกว่า หากสามารถเต้นจังหวะนี้ได้แล้ว ก็จะมีพื้นฐานไปโดยปริยาย และทำให้เต้นจังหวะอื่นๆ ได้ดี การเต้นลีลาศจังหวะนี้จะมีความสง่างาม เสริมบุคลิกได้เป็นอย่างดี ดูพริ้วไหวและเคลื่อนที่อย่างเป็นอิสระ
2. จังหวะวอล์ซ ( Waltz)
จังหวะวอล์ซ เป็นจังหวะที่สวิงและเลื่อนไหล มีความนุ่มนวล เคลื่อนที่เป็นวง เปรียบได้กับการแกว่งของลูกตุ้มระฆัง ทำให้นักเต้นรำมีการเคลื่อนที่ไปอย่างเป็นธรรมชาติและมีอิสระ มีความสมดุล สำหรับดนตรีจะมีความโรแมนติกชวนฝัน มีจังหวะช้าๆ เป็นการเต้นรำแบบเพลงช้านั่นเองค่ะ
3. จังหวะรุมบ้า (Rumba)
การเต้นลีลาศจังหวะรุมบ้า เป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ และนิ่มนวล ซึ่งมีจังหวะก้าวเท้าแบบไสเท้าติดกับพื้นฟลอร์ตลอดเวลา ไหล่และแขนผ่อนคลาย เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายระดับเบา (Light Physical activity) ในลักษณะนวยนาด แต่มีความหนักหน่วงและมั่นคง เน้นการเคลื่อนไหวด้วยสะโพกเป็นหลัก เพื่อให้ดูพลิ้วไหวและสวยงาม
4. จังหวะพาโซโดเบล (Paso Doble)
จังหวะพาโซโดเบล เป็นการเต้นลีลาศสไตล์ละติน – อเมริกัน ให้กลิ่นอายบรรยากาศการสู้วัวกระทิงตามแบบฉบับของชาวสเปน มีการเคลื่อนไหวร่างกายระดับเบาถึงปานกลางจากการเดินด้วยปลายเท้า มีท่าทางที่ดูสง่างาม ดูภูมิฐาน มีความเฉียบคม เน้นลีลาของแขน ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือตามแบบการเต้นฟลาเมงโก้นั่นเอง
5. จังหวะ ช่า ช่า ช่า (Cha cha cha)
จังหวะช่า ช่า ช่า เป็นการเต้นลีลาศที่ต้องอาศัยความแข็งแรงของร่างกาย เป็นการเคลื่อนไหวในระดับปานกลาง ที่ใช้การเดินค่อนข้างเร็ว เป็นจังหวะลาตินที่เป็นที่นิยมในคนส่วนใหญ่ ให้ความรู้สึกเบิกบาน สนุกสนาน สดใส และการเคลื่อนไหวท่าทางนั้นจะให้ความสำคัญกับจังหวะดนตรีเป็นหลัก มีความฉับไวและต่อเนื่อง มีเคล็ดลับในการนับจังหวะคือ ก้าว ย่ำ แยก ชิด แยก / ถอย ย่ำ แยก ชิด แยก
นอกจากการออกกำลังกายเบาๆ ที่แนะนำให้ผู้สูงอายุทำเป็นประจำเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีแล้ว การฝึกเต้นลีลาศ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้มีสุขภาพแข็งแรงได้ สำหรับใครที่อยากฝึกการเต้นลีลาศเบื้องต้น ก็สามารถฝึกได้ด้วยจังหวะบีกิน ซึ่งเต้นตามได้ไม่ยาก มีการเคลื่อนไหวที่ไม่เร็วนัก เหมาะสำหรับผู้สูงอายุทั่วไป แต่สำหรับคนไหนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความคล่องแคล่วว่องไว จะเริ่มฝึกการเต้นลีลาศแบบจังหวะ advance ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นก็ไม่ว่ากันค่ะ เพราะดีต่อสุขภาพทั้งสองแบบ ทั้งยังช่วยให้เกิดความรู้สึกสนุกสนาน เกิดความผ่อนคลาย จะฝึกเองที่บ้านหรือเข้าชมรมฝึกเต้นลีลาศก็ได้ ทำให้ได้พบปะเพื่อนใหม่ ทั้งเพื่อนต่างวัยและเพื่อนวัยเดียวกัน ช่วยให้ไม่เหงา ได้สังคมใหม่ๆ อันเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : dpe.go.th, tdsa.or.th
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ