“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ตาบอดสีรักษาได้ไหม ? ชวนรู้จักโรคนี้ ประเภทของตาบอดสีและวิธีการรักษา
ดวงตาของเราคืออวัยวะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะการที่เราสามารถมองเห็นและรับรู้แสง สี รวมถึงภาพต่างๆ ได้อย่างชัดเจนก็เป็นเพราะดวงตานี่เอง แต่หากดวงตาเกิดความผิดปกติ ไม่สามารถรับรู้สีได้ครบถ้วนจนมองเห็นสีเพี้ยนไปหล่ะจะเกิดอะไรขึ้น ? อาการที่ว่าก็คืออาการตาบอดสีค่ะ แล้วตาบอดสีคืออะไร หากเป็นแล้วจะอันตรายหรือไม่ แล้วตาบอดสีรักษาได้ไหม ลองมาหาคำตอบกันค่ะ
- ตาบอดสีคืออะไร ?
ก่อนไปดูกันว่าตาบอดสีรักษาได้ไหม เรามาดูความหมายของโรคนี้กันก่อนว่าคืออะไร โรคตาบอดสีเป็นภาวะที่เราไม่สามารถมองเห็นสีได้ตามปกติหรือมองเห็นสีเพี้ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะในสีเขียวและสีแดง ผู้ที่เป็นตาบอดสีจะไม่สามารถแยกแยะสีทั้งสองได้อย่างชัดเจนเนื่องมาจากความผิดปกติของเซลล์รับรู้การเห็นสี
- สาเหตุของอาการตาบอดสี
ตามปกติแล้วสาเหตุของตาบอดสีเกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่สืบทอดต่อกันมาในครอบครัวหรือถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก แต่ก็ยังมีอีกสาเหตุนั่นคือความเสียหายของจอประสาทตารูปกรวย ทำให้ดวงตาไม่สามารถรับรู้สีเหลือง-น้ำเงิน หรือโรคประสาทตาที่ทำให้สูญเสียการรับรู้สีเขียว-แดง ส่วนสาเหตุนอกเหนือจากนี้ก็คืออายุที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้เซลล์จอประสาทตาเสื่อมจนเกิดตาบอดสีได้เช่นกัน
เกร็ดสุขภาพ : ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญและขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิต ดังนั้นอย่าลืมดูแลดวงตาของเราทั้งภายในและภายนอกด้วยการกระพริบตาบ่อยๆ ไม่ปล่อยให้ตาแห้ง ไม่จ้องมองแสงที่จ้าเกินไป และกินผักผลไม้ที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น ผักโขม สรรพคุณบำรุงดวงตาให้สุขภาพดี เป็นต้น
- อาการตาบอดสีเป็นอย่างไรมาดูกัน
อาการของตาบอดสีในแต่ละบุคคลนั้นอาจเกิดขึ้นแตกต่างกันออกไป แต่อาการส่วนใหญ่จะมีลักษณะ ดังนี้
- แยกแยะสีและจดจำสีต่างๆ ได้ไม่ชัดเจนจนเกิดความสับสนในการบอกสี เช่น แยกแยะสีเขียวและสีแดงไม่ได้ แต่แยกสีเหลืองออกจากสีน้ำเงินได้ง่ายกว่า เป็นต้น
- มองเห็นสีได้หลากหลาย แต่การรับรู้สีอาจแตกต่างไปจากคนทั่วไป
- มองเห็นสีเป็นบางโทนสีเท่านั้น ขณะที่คนทั่วไปสามารถรับรู้สีได้มากกว่าร้อยโทนสี
- อาการของตาบอดสีที่หายากก็คือรับรู้ได้เฉพาะสี ขาว ดำ และเทา
ผู้ป่วยตาบอดสีส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคมาตั้งแต่เด็กเนื่องจากเซลล์และเส้นประสาทในดวงตาของเราถูกพัฒนามาตั้งแต่เกิด ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่แทบไม่สามารถรับร็ได้เลยว่าตัวเองเกิดภาวะตาบอดสีจนกว่าจะทำการทดสอบอย่างชัดเจนอีกครั้ง
- ประเภทของตาบอดสี
ก่อนที่เราจะไปดูว่าตาบอดสีรักษาได้ไหม เราต้องทำความเข้าใจการเกิดตาบอดสีแต่ละประเภทก่อน ซึ่งโรคตาบอดสีมี 2 ประเภท คือ ตาบอดสีชนิดเกิดแต่กำเนิด และตาบอดสีที่เกิดขึ้นภายหลังแต่ประเภทนี้เกิดขึ้นได้น้อยมาก มักเกิดจากโรคทางสายตาหรือความเสียหายที่จอประสาทตาได้รับ
ส่วนตาบอดสีแต่กำเนิด สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มย่อย คือ
- กลุ่มที่มองเห็นสีเดียว (Monochromatism) : เซลล์ดวงตาของคนกลุ่มนี้จะมีเฉพาะเซลล์รูปแท่งหรือมีเฉพาะเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน สายตาจะพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ อาจรักษาเพื่อมองเห็นให้ชัดเจนขึ้นได้ แต่การมองเห็นสีอาจเป็นไปไม่ได้เลย
- กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวย 2 ชนิด (Dichromatism) : เซลล์ดวงตาจะขาดเซลล์รูปกรวยสีแดง ส่วนในบางคนอาจขาดเซลล์รูปกรวยสีเขียวหรือสีน้ำเงิน แต่ในกรณีตาบอดสีน้ำเงินจะพบได้น้อยมาก
- กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวย 3 ชนิด (Trichromatism) : เซลล์ดวงตาของคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มตาบอดสีที่พบได้มากที่สุด แม้จะมีเซลล์รูปกรวยครบทั้งสามชนิดแต่ความสามารถจะพร่องหรือน้อยกว่าคนปกติ ทำให้เกิดการรับรู้สีผิดเพียนไป อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภาวะพร่องสีแดง (รับรู้สีแดงผิดปกติ) พร่องสีเขียว (รับรู้สีเขียวผิดปกติ) และพร่องสีน้ำเงิน (รับรู้สีน้ำเงินผิดปกติ) แต่ภาวะพร่องสีน้ำเงินจะพบได้น้อยมาก
- ตาบอดสีรักษาได้ไหม รักษาอย่างไรบ้าง ?
ใครที่อยากรู้ว่าตาบอดสีรักษาได้ไหม คำตอบก็คือ ภาวะตาบอดสีที่เกิดจากกรรมพันธุ์หรือเป็นแต่กำเนิดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่แพทย์อาจหาวิธีการทดแทนอย่างการสวมแว่นหรือคอนแทคเลนส์ที่มีเลนส์กรองแสงบางสีออก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นสีได้ชัดเจนขึ้น ส่วนตาบอดสีที่เกิดจากโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน สามารถรักษาได้ด้วยการรักษาโรคต้นเหตุเพื่อบรรเทาอาการโดยรวมและบรรเทาโรคแทรกซ้อนต่างๆ รวมึงภาวะตาบอดสีให้ดีขึ้น ใครที่สงสัยว่าตาบอดสีรักษาได้ไหมคงได้คำตอบกันแล้ว แต่ถึงแม้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้ ผู้ป่วยก็อาจใช้วิธีอื่นๆ เพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น เช่น การจดจำป้ายสัญลักษณ์แทนสี เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : ตาบอดสีอาจแตกต่างจากอาการป่วยอื่นๆ หรือโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ เพราะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตามหากค้นพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีภาวะตาบอดสี ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อหาทางรับมือที่เหมาะสมจะดีที่สุดนะคะ
ได้รู้กันไปแล้วว่าตาบอดสีรักษาได้ไหม คราวนี้อย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเราหรือคนใกล้ตัวมีอาการของตาบอดสีหรือไม่ อาจลองไปตรวจหรือเข้ารับการทดสอบอย่างจริงจัง ยิ่งพบความผิดปกติก่อนก็ยิ่งรักษาตามอาการและหาทางแก้ไขได้เร็วกว่านะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : aao.org, webmd.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ