“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ปวดหัวเวลาก้ม สาเหตุเกิดจากอะไร ? รักษาและดูแลอย่างไรให้หายปวด ?
ทุกคนเคยสงสัยไหมคะว่า ทำไมเวลาที่เราก้มตัวลงถึงมีอาการปวดหัวตามมา ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดได้กับทุกคน ความรู้สึกไม่สบายของอาการปวดหัวนั้นอาจหายไปอย่างรวดเร็ว แต่อาจทำให้คุณสงสัยว่าเอ๊ะ? ลักษณะการปวดหัวนั้นจะบ่งบอกถึงอาการที่ร้ายแรงกว่านั้นหรือไม่ ยิ่งหากคุณไม่ได้เป็นคนที่ปวดหัวบ่อยๆ ด้วยแล้ว อาจมีความกังวลใจได้ หากคุณเคยก้มแล้วปวดหัว มาดูสาเหตุกันค่ะว่าเกิดจากอะไร ร้ายแรงหรือไม่ พร้อมวิธีรักษาและดูแลตัวเองให้หาย ปวดหัวเวลาก้ม กันค่ะ
ปวดหัวเวลาก้ม เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ? พร้อมวิธีดูแลตัวเองอย่างไร
หากคุณเคยประสบกับอาการปวดหัวกะทันหันเมื่อก้มตัวหรือเปลี่ยนตำแหน่ง อาจรู้สึกกังวลและตกใจ เพราะไม่รู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไรและรุนแรงแค่ไหน ซึ่งอาการปวดหัวขณะก้มนั้นมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
- อาการปวดหัวระดับปฐมภูมิ จะมีอาการปวดหัวเป็นปัญหาหลักหรือเพียงอย่างเดียว ได้แก่ ปวดหัวจากความตึงเครียด ไมเกรน และปวดหัวแบบคลัสเตอร์
- อาการปวดหัวระดับทุติยภูมิ การปวดหัวในลักษณะนี้ เป็นอาการพบได้บ่อยที่สุด มักเกิดจากภาวะแวดล้อม หรือโรค อาการปวดหัวจะเป็นอาการรอง และจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย รวมถึงจะมีอาการปวดหัวตามตำแหน่ง ได้แก่ ปวดหัวไซนัส ปวดหัวจากการไอ เป็นต้น
อาการปวดหัวทั้งหมดสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพของเราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอาการปวดรุนแรง มาดูสาเหตุของอาการปวดหัวเวลาก้มแต่ละประเภท และอาการที่เกี่ยวข้องกันดีกว่าค่ะ เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง
- ปวดหัวไซนัส
ไซนัสอักเสบ อาจทำให้คุณปวดหัวเวลาก้มได้ เพราะเกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดที่หัวและใบหน้า แต่อาการมักจะดีขึ้นเมื่อการอักเสบของไซนัสหายไป ลองสังเกตตนเองดูว่าคุณมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วยหรือไม่ ได้แก่ รู้สึกเมื่อยล้า มีอาการกดทับที่แก้ม หน้าผาก มีอาการปวดฟัน หากมีอาการเหล่านี้ร่วมกับเวลาก้มแล้วรู้สึกปวดหัว นั่นอาจเพราะเป็นอาการของไซนัสอักเสบนั่นเอง ในการรักษาอาการปวดหัวไซนัส สามารถบรรเทาได้ด้วยการกินยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน หรือยาลดไข้ ดื่มน้ำปริมาณมาก และประคบร้อนบนใบหน้าหรือศีรษะค่ะ
- ปวดหัวจากการขาดน้ำ
อาการปวดหัวจากอาการขาดน้ำเป็นเรื่องปกติ ภาวะขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการไมเกรนหรือทำให้อาการที่มีอยู่แย่ลงได้ และ อาการปวดมักจะเพิ่มขึ้นเมื่อคุณก้มตัว เดิน หรือขยับศีรษะ รวมถึงอาการอื่นๆ ของภาวะขาดน้ำ ได้แก่ ความเหนื่อยล้า กระหายน้ำมาก วิงเวียนศีรษะโดยเฉพาะเมื่อยืนขึ้น มีปัสสาวะสีเข้ม รู้สึกหงุดหงิด และปากแห้ง หากคุณมีอาการขาดน้ำเล็กน้อย การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยบรรเทาอาการได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่หากคุณมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง เช่น มีไข้และท้องร่วง ให้ไปพบแพทย์ทันที
เกร็ดสุขภาพ : สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน อาจมีอาการปวดหัวเวลาก้มได้ เนื่องจากน้ำตาลในเลือดต่ำหรือความดันต่ำ เพราะการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อต่ำเกินไปอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้มตัว หรือเมื่อคุณมีความดันโลหิตต่ำเนื่องจากมีการสูบฉีดเลือดไปยังสมองไม่เพียงพอ ก็ทำให้ปวดหัวขณะก้มได้เช่นกัน หากน้ำตาลในเลือดต่ำ ให้กินของหวานตามธรรมชาติ เช่น ผลไม้ และหากความดันต่ำ ให้ดื่มน้ำปริมาณมาก และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ไมเกรน
ไมเกรนมักเกี่ยวข้องกับสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารบางชนิด ความเครียด หรือการอดนอน และสำหรับบางคน การก้มตัวก็เป็นตัวกระตุ้นเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวเวลาก้มได้ ไมเกรนอาจมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอาการปวดหัวข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดทั้งสองข้าง รวมถึงมีอาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่ามัว มึนหัวหรือเวียนศีรษะ มีความไวต่อแสง เสียง หรือกลิ่น การรักษาไมเกรนที่ดีที่สุดคือ การใช้ยาที่สั่งโดยแพทย์ รวมถึงใช้วิธีการฝังเข็ม หรือใช้สมุนไพรแก้ไมเกรน และพักผ่อนอย่างเพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ค่ะ
- ปวดหัวจากการไอ
อาการก้มแล้วปวดหัว สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อคุณไอ และสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อคุณจาม หัวเราะ ร้องไห้ เช่นเดียวกัน รวมถึงอาจมีอาการปวดในระหว่างหรือหลังความเครียด อาการปวดหัวเหล่านี้มักจะหายไปภายในไม่กี่นาที แต่บางคนอาจคงอยู่เป็นเวลา 1-2 ชั่วโมง อาการของการปวดหัวจากการไอ ได้แก่ ปวดที่หลังศีรษะทั้งสองข้าง โดยอาการปวดมักรุนแรงขึ้น อาการปวดหัวจากการไอรวมถึงปวดหัวเมื่อก้มตัวมักไม่ต้องการการรักษา แต่การดื่มน้ำและการพักผ่อนสามารถช่วยได้ แต่หากคุณมีอาการปวดหัวจากการไอเป็นเวลานานซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น หรือทำให้คุณรู้สึกวิงเวียน เป็นลม เสียการทรงตัว อาการเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากปัญหาในสมองได้ จึงควรพบแพทย์
การรักษาและดูแลตัวเองเมื่อมีอาการก้มแล้วปวดหัว
เนื่องจากอาการปวดหัวประเภทต่างๆ นั้นต้องการการรักษาที่แตกต่างกันดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่หากคุณมีอาการปวดหัวเวลาก้มเพียงเล็กน้อย และไม่ได้มีอาการอื่นๆ ของโรคต่างๆ ร่วมด้วย ก็มีวิธีแก้ไขและการปฏิบัติตัวเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน ที่จะช่วยลดความเจ็บปวดและบรรเทาอาการได้ ดังนี้
- พักผ่อนในห้องมืดที่เงียบสงัด
- ดื่มน้ำมากๆ
- วางแผ่นความร้อนหรือประคบเย็นบนศีรษะและคอของคุณ
- ดื่มเครื่องดื่มร้อนที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ หรือชา
- ใช้ยาในปริมาณปานกลาง เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรืออะเซตามิโนเฟน
เกร็ดสุขภาพ : การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบางอย่าง ก็จะช่วยลดโอกาสในการปวดหัวเวลาก้มได้ ได้แก่ นอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงทุกคืน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด หลีกเลี่ยงการใช้สายตาหนักๆ และควรพักสายตาบ้าง
อาการปวดหัวเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าจะปวดหัวเวลาก้มก็ตาม หากคุณไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าจะเป็นอาการหรือโรคที่ร้ายแรง แต่หากอาการปวดหัวของคุณเกิดขึ้นบ่อย รุนแรง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าอาจมีสาเหตุแฝงที่ต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพที่ร้ายแรงอื่นๆ ได้ เช่น ภาวะเลือดข้น ที่นอกจากไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการแล้ว ยังขอแนะนำอาหารสำหรับเลือดข้นด้วยค่ะ
อ้างอิงแหล่งที่มาบางส่วนจาก : khealth.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ