“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ชวนเช็ก อันตรายจากผงชูรส กินยังไงให้พอดี ?!
ผงชูรสเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่อยู่คู่กับอาหารไทยที่ไม่ว่ามองไปทางไหนเป็นอันต้องเจอโดยเฉพาะร้านอาหารบ้าน ๆ ริมทาง เพราะเชื่อว่าจะช่วยสร้างความอร่อยกลมกล่อมให้เมนูอาหาร จนทำให้หลายต่อหลายคนเคยชินจนติดผงชูรสไปเลยก็มี แต่รู้ไหมคะว่าภายใต้ความอร่อยที่เรากำลังลิ้มรสกันอยู่นั้นอาจนำภัยร้ายมาสู่ร่างกายของเราได้เลย วันนี้เราเลยอยากจะชวนเพื่อน ๆ มาเช็กถึง อันตรายจากผงชูรส ภัยร้ายที่แฝงอยาในอาหารกัน
ทำความรู้จักกับผงชูรส
ก่อนที่หาคำตอบว่า ผงชูรสอันตรายไหม เราจำเป็นจะต้องมาทำความรู้จักกับเจ้าผงชูรสในเบื้องต้นกันก่อนค่ะว่าเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีชื่อทางเคมีว่าโมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium Glutamate) ที่ได้จากกระบวนการหมักพืชจำพวกที่สะสมแป้งอย่างมันสำปะหลัง อ้อย หรือข้าวโพด จนได้น้ำตาลกลูโคสจากนั้นก็นำจุลินทรีย์เติมเข้าไปเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสนั้นให้กลายเป็นกรดกลูตามิก แล้วทำให้กรดเป็นกลางด้วยการเติมโซเดียมไฮดรอกไซด์ซึ่งเป็นเกลือชนิดหนึ่งเข้าไป แล้วนำไปกรองจนตกผลึกเป็นผงสีขาว ๆ ที่เราเรียกว่าผงชูรสนั่นเองค่ะ
นั่นจึงเท่ากับว่าในผงชูรสมีสิ่งที่เรียกว่าเกลือผสมรวมกับกรดกลูตามิก แล้วอย่างนี้ ผงชูรสอันตรายไหม คำตอบก็คือถ้าพิจารณาจากองค์ประกอบทางเคมีก็ไม่มีอันตรายค่ะ อย่างเกลือนี่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่ารับประทานได้ ส่วนกรดกลูตามิกนั้นเป็นสารที่ร่างกายของเราสามารถผลิตได้เองอยู่แล้ว นอกจากนั้นเรายังพบกรดกลูตามิกได้ในธรรรมชาติอย่างในมะเขือเทศ เห็ด หัวหอม ผักไชยา สาหร่าย เป็นต้น แต่ถ้าเรารับประทานผงชูรสต่อเนื่องมานานในปริมาณที่มาก อันตรายจากผงชูรสก็จะคืบคลานเข้ามาได้ค่ะ
- รู้เท่าทันอันตรายจากผงชูรส
แน่นอนค่ะว่าการรับประทานผงชูรสไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายทันทีในระยะสั้นแต่มักจะเกิดในระยะยาวมากกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้นเลยโดยเฉพาะกลุ่มอาการที่เรียกว่าการแพ้ผงชูรส ซึ่งเป็นอันตรายจากผงชูรสในระยะสั้นที่มักเกิดเฉพาะบุคคลที่จะมีอาการคอแห้ง ปากชา ลิ้นชา อาจจะปวดชาไปทั้งบริเวณใบหน้าและลำคอ บางรายมีอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรง แน่นหน้าอก ปวดท้องคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก ไปถึงขั้นหัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจเป็นอัมพาตแขนขาอ่อนแรงแบบชั่วคราวได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็น อันตรายจากผงชูรส ที่เกิดจากการแพ้ผงชูรสทางการแพทย์มีชื่อเรียกว่า Chinese Restaurant Syndrome หรือ CRS แปลตรงตัวเลยค่ะว่าโรคภัตราคารจีน เนื่องจากประวัติผู้ที่แพ้เกิดจากการรับประทานอาหารจีนเป็นส่วนใหญ่ที่มักมีส่วนผสมของเครื่องปรุงและผงชูรสในปริมาณสูง
ส่วนอันตรายจากผงชูรสในระยะยาวนั้นอยู่ตรงที่ร่างกายของเราจะได้รับประมาณโซเดียมหรือเกลือที่มากเกินไปนั่นเอง เพราะผงชูรสเองก็จัดว่าเป็นเกลือประเภทหนึ่ง แต่เป็นเกลือที่ไม่มีความเค็ม ซึ่งตรงนี้แหละค่ะด้วยความที่มันไม่เค็มทำให้เราไม่รู้ตัว มันจึงกลายมาเป็นภัยแฝง อันตรายจากผงชูรส ในอาหารที่เรากินชนิดที่เราอาจไม่ทันระวังได้ ซึ่งการที่เรากินเค็มมาก ๆ หรือได้รับโซเดียมที่มากเกินความจำเป็นจะส่งผลอย่างมากต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง รวมไปถึงโรคไตเรื้อรัง
เกร็ดสุขภาพ : เราสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากผงชูรสด้วยการ ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างผักผงชูรสอย่างผักไชยา มะเขือเทศ หัวหอม เห็ด ฯลฯ ที่มีกรดกลูตามิกโดยธรรมชาติมาปรุงอาหารแทนการใช้ผงชูรสก็จะทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมได้แบบปลอดภัยไร้โซเดียมสูง
กินผงชูรสอย่างไรให้ปลอดภัย
มาถึงบรรทัดนี้เพื่อน ๆ คงพอได้คำตอบกันบ้างแล้วนะคะว่า ผงชูรสอันตรายไหม แล้วทีนี้เราจะกินผงชูรสอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด ง่าย ๆ เลยค่ะ เราจำเป็นจะต้องพิจารณาจากระดับความเค็มในอาหาร ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก WHO กำหนดในหนึ่งวันเราไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินวันละ 1,500 – 2,000 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับเกลือป่นแค่เพียง 1 ช้อนชาเท่านั้น ซึ่งในผงชูรส 1 ช้อนชานั้นมีปริมาณโซเดียม 600 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ดังนั้น เราไม่ควรกินผงชูรสเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน โดยแต่ละมื้อควรใส่ให้น้อยที่สุด เพราะอย่าลืมว่าผงชูรสไม่มีรสชาตินะคะ และเราจะต้องได้โซเดียมจากการปรุงรสด้วยเกลือ ซอส น้ำปลา อีกด้วย นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปแปรรูปทั้งหลายพวกไส้กรอก แฮม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ฯลฯ เพราะเป็นแหล่งที่มีผงชูรสและโซเดียมสูง
เกร็ดสุขภาพ : ถ้าเราไปรับประทานอาหารนอกบ้านแนะนำให้สั่งแบบไม่ใส่ผงชูรส แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ควรปรุงรสเค็มเพิ่ม ที่สำคัญหลีกเลี่ยงน้ำในอาหารค่ะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำแกง น้ำผัดผักต่าง ๆ ไม่ควรตักซอสมาราดข้าว ลดการจิ้มน้ำจิ้ม ไม่ซดน้ำซุปจนหมด เพราะปริมาณผงชูรสและโซเดียมส่วนใหญ่จะละลายอยู่ในอาหารที่มีน้ำทั้งนั้นค่ะ เท่านี้ก็จะลดอันตรายจากผงชูรสลงได้ค่ะ
เราสามารถหลีกเลี่ยงอันตรายจากผงชูรสง่าย ๆ ด้วยการทำอาหารกินเอง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ไม่กินอาหารนอกบ้านบ่อย หรืออาจใช้พืชผักธรรมชาติมาเพิ่มความกลมกล่อมให้กับอาหารแทนการใช้ผงชูรส เท่านี้ก็จะทำให้เราได้รับปริมาณโซเดียมที่เหมาะสม ที่สำคัญอย่าลืมงดอาหารรสจัดลดหวานมันเค็มให้เป็นนิสัยเท่านี้ก็จะมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : ajinomoto.com, siphhospital.com, gedgoodlife.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ