“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
อาการของคนเป็นไทรอยด์ เป็นแบบไหน ? มีประเภทไหนบ้างและดูแลตัวเองยังไง ?!
เชื่อแน่ว่าหลาย ๆ คนคงจะรู้จักกับโรคไทรอยด์ ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณลำคอ วันนี้เราเลยอยากจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงโรคนี้กันให้มากขึ้นว่าการที่ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกตินั้นส่งผลอันตรายอย่างไรกับร่างกายของเราและ อาการของคนเป็นไทรอยด์ นั้นมีลักษณะแบบไหนบ้าง เพื่อที่เราจะได้รับมือและหาทางรักษาได้อย่างทันท่วงที
หน้าที่ของต่อมไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์มีหน้าที่ผลิตสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การควบคุมกระบวนการเผาผลาญ กระตุ้นกระบวนการเต้นของหัวใจ รวมไปถึงควบคุมรักษาอุณหภูมิของร่างกายและการขับเหงื่อระบายความร้อน ซึ่งถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายที่กล่าวมานี้แปรปรวนได้ค่ะ
ประเภทของโรคไทรอยด์
อย่างที่กล่าวไปค่ะว่าถ้าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้ร่างกายแปรปรวน เป็นลักษณะอาการของคนเป็นโรคไทรอยด์ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป และต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ
ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน (Hyperthyroidism)
เป็นความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินความต้องการของร่างกายจนกลายเป็นพิษ หรือที่เรามักได้ยินกันในชื่อคุ้นหูว่าโรคไทรอยด์เป็นพิษ ซึ่งโรคไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากปฏิกิริยาในร่างกายของเรากระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนออกมามาก เมื่อเจาะเลือดจะพบว่ามีระดับของฮอร์โมนไทรอยด์สูงกว่าปกติ นอกจากนั้นแล้วไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากภาวะ Grave’s disease ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นภาวะที่ภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายตนเองส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหลั่งฮอร์โมนออกมามากเกินไป
เกร็ดสุขภาพ : โรคไทรอยด์เป็นพิษมักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุโดยมักจะพบร่วมกับก้อนที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid nodules) ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื้อเจริญผิดปกติส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติอาจจะมีอาการของภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อมได้ นอกจากโรคไทยรอยด์เป็นพิษแล้วในกลุ่มผู้สูงอายุยังต้องระวังโรคติดเชื้ออื่น ๆ อันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันต่ำลงไม่เหมือนวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัสงูสวัดซึ่งอันตรายมาก ๆ สามารถอ่านของโรคงูสวัดเกิดจากอะไรได้ในบทความก่อนหน้าของเราได้เลยค่ะ
อาการของคนเป็นไทรอยด์เป็นพิษ
ลักษณะอาการของคนเป็นไทรอยด์เป็นพิษนั้นมักจะมีอาการน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไปทำให้กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกายอย่างรวดเร็วทำให้น้ำหนักลด หิวบ่อย กินมากแต่ก็ไม่อ้วน ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียคล้ายอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่มือไม้จะสั่นไม่มีแรง นอกจากนั้นแล้ว อาการของคนเป็นไทรอยด์เป็นพิษยังเหงื่อออกง่าย ใจสั่น หัวใจและชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอัตรายถึงขั้นหัวใจเต้นผิดจังหวะได้เลย บางรายอาจมีอาการนอนไม่หลับกระสับกระส่าย ผมร่วง ถ่ายบ่อยถ่ายเหลว ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนกระปริดกระปรอยมาไม่ปกติ บางรายอาจมีอาการตาโปนและมีอาการคอพอกร่วมด้วย
ไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroidism)
เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อยเกินไป ซึ่งถือว่าเป็นภาวะความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่ตรงข้ามกับไทรอยด์เป็นพิษ โดยมีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัยทั้งจากความผิดปกติโดยกำเนิด การได้รับยาบางชนิดที่มีผลลดการสร้างฮอร์โมนของไทรอยด์ รวมไปถึงโรคบางโรคอย่าง Hashimoto’s thyroiditis ที่ภูมิคุ้มกันร่างกายทำลายเนื้อเยื้อต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดอาการของคนเป็นไทรอยด์ต่ำขึ้นมา นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษมักจะมีโอกาสเป็นไทรอยด์ทำงานต่ำได้เช่นกันภายหลังที่ได้รับการรักษาด้วยยาและการเกลือแร่
อาการของโรคไทรอยด์ต่ำ
อาการของคนเป็นไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีลักษณะตรงข้ามกับไทรอยด์เป็นพิษคือ มักจะอ้วนง่าย ตัวบวมขึ้น เนื่องจากเผาผลาญได้ลดลง ขี้หนาว ผิวแห้ง กล้ามเนื้ออักเสบอาการปวดเมื่อไม่มีแรง ง่วงนอนบ่อย เฉื่อยชา ท้องผูก เสียงแหบแห้ง ผมแห้งผมบาง ประจำเดือนมาไม่ปกติ ความจำลดลง และเนื่องจากการเผาผลาญลดลง อาการของคนเป็นไทรอยด์ ทำงานต่ำยังเสี่ยงที่จะมีระดับของคอลเลสเตอรอลและไขมันเลวในร่างกายสูงขึ้น เสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตามมา
- การป้องกันและดูแลรักษาอาการไทรอยด์เป็นพิษ
อย่างที่ทราบค่ะว่าไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถป้องกันได้ ทำได้เพียงแค่หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองว่ามี อาการของคนเป็นไทรอยด์หรือไม่ และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งแพทย์ก็จะรักษาด้วยการให้ยายั้บยั้งการสร้างฮอร์โมนที่ต้องกินอย่างสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาเอง ผู้ป่วยบางรายอาจจะต้องรักษาด้วยการกลืนแร่กัมมันตรังสีหรือผ่าตัดเพื่อทำลายให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง อาการของคนเป็นไทรอยด์เป็นพิษก็จะดีขึ้น ส่วนการรักษาอาการของคนเป็นไทรอยด์ต่ำนั้นก็ต้องมั่นสังเกตตัวเองเช่นเดียวกัน แต่จะต่างกันตรงที่การรักษาที่จะให้ยาฮอร์โมนทดแทนเลียนแบบฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ซึ่งผู้ป่วยไทรอยด์ต่ำนี้จำเป็นจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต
เกร็ดสุขภาพ : นอกจากจะหมั่นสังเกตความผิดปกติของตัวเองแล้วแนะนำให้ไปด้วยเลือดเช็กระดับฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมกับการตรวจสุขภาพประจำปีก็จะยิ่งช่วยป้องกันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีประวัติครอบครัวป่วยเกี่ยวกับโรคไทรอยด์ยิ่งควรต้องระวังเพราะเป็นโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์
หวังว่าทุกคนคงรู้จักกับโรคไทรอยด์และอาการของคนเป็นไทรอยด์กันมากขึ้นแล้วนะคะ ที่สำคัญควรหมั่นดูแลตนเองออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอย่าลืมหมั่นสังเกตความผิดปกติตนเองเป็นประจำเท่านี้ก็จะช่วยให้เรารับมือกับโรคไทรอยด์ได้อย่างทันท่วงทีแล้วละค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bumrungrad.com, si.mahidol.ac.th
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ