X

ชวนรู้จัก สเต็มเซลล์ คืออะไร ? ใช้ในการรักษาทางการแพทย์ด้านใดบ้าง !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ชวนรู้จัก สเต็มเซลล์ คืออะไร ? ใช้ในการรักษาทางการแพทย์ด้านใดบ้าง !

ในวงการแพทย์ มีเทคโนโลยีวิทยาการต่างๆ ที่ใช้สำหรับการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยมากมายหลายวิธี หนึ่งในนั้นก็คือ การใช้สเต็มเซลล์ ซึ่งเสต็มเซลล์นั้น หลายๆ คนอาจเคยได้ยินมาบ้าง เพราะเป็นวิธีการรักษาในทางการแพทย์ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพราะสามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคได้มากมาย และได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ แล้ว สเต็มเซลล์ คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไรกับวงการแพทย์ เพราะเหตุใดถึงได้รับความสนใจ ? เราไปทำความรู้จักกับสเต็มเซลล์ให้มากกว่านี้กันค่ะ

สเต็มเซลล์ คืออะไร ?

สเต็มเซลล์ คืออะไร, stem cell คือ
Image Credit : freepik.com

สเต็มเซลล์ หรือ Stem Cell คือ เซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นเซลล์ชนิดพิเศษที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างไม่จำกัดและมีการเจริญเติบโตเพื่อเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์อื่นๆ ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์สมอง เซลล์เม็ดเลือด เซลล์หัวใจ เซลล์ตับ เป็นต้น ซึ่งสเต็มเซลล์ คืออะไรที่สามารถแบ่งตัว เพิ่มจำนวน และเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกายได้

โดยปกติแล้ว เซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายมนุษย์จะทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง เช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจที่ทำให้หัวใจมีหน้าสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เซลล์สมองมีหน้าที่เป็นหน่วยความจำ และทำงานเกี่ยวกับระบบการคิดและระบบประสาทอื่นๆ ซึ่งเมื่อเซลล์เหล่านี้ตายไปแล้ว ก็จะไม่มีการสร้างเซลล์ใหม่มาทดแทน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเราเสื่อมสภาพลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่สเต็มเซลล์สามารถแบ่งตัวและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์อื่นๆ ได้ และสามารถทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพได้นั่นเอง

โดยหลักการทำงานของ Stem cell คือ สเต็มเซลล์จะถูกฉีดเข้าไปในอวัยวะที่เกิดการบาดเจ็บและมีความเสียหาย และจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง เจริญงอกใหม่ในเนื้อเยื่อของอวัยวะเหล่านั้น อธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายๆ คือ เมื่อเซลล์หัวใจเสื่อมสลายและตายไปแล้ว ก็จะมีการฉีดสเต็มเซลล์เข้าไปที่หัวใจ เพื่อให้สเต็มเซลล์เปลี่ยนเป็นเซลล์หัวใจเซลล์ใหม่ และทำหน้าที่ของเซลล์หัวใจต่อไปนั่นเอง นอกจากนี้ สเต็มเซลล์ยังทำหน้าที่สร้างสาร Growth Factor เพื่อกระตุ้นให้เซลล์มีการซ่อมแซมตัวเองด้วย

ความน่าสนใจของ สเต็มเซลล์ คืออะไร ? ทำไมนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงให้ความสนใจ

สเต็มเซลล์ คืออะไร, stem cell คือ
Image Credit : freepik.com

จะเห็นว่า สเต็มเซลล์สามารถแบ่งตัวและเปลี่ยนตัวเองไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นๆ ได้ ในทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์จึงมองเห็นโอกาสในการนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะต่างๆ โดยคาดการณ์ให้สเต็มเซลล์พัฒนาตัวเองไปเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ที่มีการเสื่อมสภาพไปได้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยกันมายาวนานเป็นเวลาหลายสิบปี และทำการทดลองสำเร็จในการแยกสเต็มเซลล์ของมนุษย์ออกมาและเลี้ยงเซลล์ในห้องปฏิบัติการเพื่อให้สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดอื่น และในปี พ.ศ. 2544 สเต็มเซลล์เหล่านี้ถูกนำไปเพาะเป็นเซลล์เม็ดเลือดได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางการวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับการศึกษาสเต็มเซลล์

ปัจจุบันสเต็มเซลล์เป็นเทคโนโลยีการแพทย์ที่สามารถใช้รักษาโรคต่างๆ ได้มากมาย ถือเป็นหนึ่งในความหวังของวงการแพทย์ สำหรับการรักษาผู้ป่วยในอนาคต ทั้งนี้ สเต็มเซลล์อาจมีศักยภาพที่จะเติบโตพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อใหม่เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งปัจจุบันกำลังทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องในการใช้สเต็มเซลล์สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะและใช้ในทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ สเต็มเซลล์ สามารถใช้สำหรับการทดสอบยาชนิดใหม่ๆ เพื่อความปลอดภัยก่อนจะใช้ทดสอบกับมนุษย์ และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยาชนิดนั้นๆ ด้วย โดยในอนาคตอาจมีการทดสอบยาชนิดต่างๆ กับสเต็มเซลล์ที่ถูกพัฒนามาเป็นเซลล์ชนิดนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น เซลล์ประสาทที่ถูกสร้างขึ้นจากสเต็มเซลล์มีไว้สำหรับทดสอบยาชนิดใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งโครงการนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาต่อไป หากสามารถทำได้สำเร็จก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่เป็นการยกระดับคุณภาพการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แหล่งของสเต็มเซลล์ คืออะไร ? หาได้จากไหนบ้าง

สเต็มเซลล์ คืออะไร, stem cell คือ
Image Credit : unsplash.com

สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด สามารถหาได้จากในร่างกายของมนุษย์เรา ทั้งนี้ ในร่างกายของมนุษย์มีสเต็มเซลล์ของตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีปริมาณที่น้อยและไม่สามารถแบ่งตัวและพัฒนาไปเป็นอวัยวะอื่นๆ ได้ หากยังไม่ได้ผ่านกระบวนการวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม แหล่งของสเต็มเซลล์ในร่างกาย มีดังนี้

  1. สเต็มเซลล์จากรก มาจากส่วนของสายสะดือ จากรก และจากน้ำคร่ำของเด็กแรกเกิด ซึ่งสามารถสกัดสเต็มเซลล์ออกมาใช้ประโยชน์สำหรับการรักษาได้ และสามารถเปลี่ยนเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้ให้มีการพัฒนาเป็นเซลล์เฉพาะทางได้ 
  2. สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst) ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนสามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์อื่นๆ ในร่างกายได้เกือบทุกชนิด จึงถูกนำมาใช้ซ่อมแซมอวัยวะหรือเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายจากโรคต่างๆ 
  3. สเต็มเซลล์จากเลือด ในเม็ดเลือดประกอบด้วยสเต็มเซลล์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์เฉพาะทาง กล่าวคือ สามารถเปลี่ยนเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว รวมทั้งเกล็ดเลือดได้ 
  4. สเต็มเซลล์จากไขกระดูก ในไขกระดูกของมนุษย์เรา มีสเต็มเซลล์อยู่ด้วย ซึ่งสามารถนำเอาสเต็มเซลล์ออกมาโดยการเจาะไขกระดูกและดูดในส่วนของเลือดในไขกระดูกออกมา โดยเซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูกมีหน้าที่หลักในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

เกร็ดสุขภาพ : ในต่างประเทศ ปัจจุบันสเต็มเซลล์ถูกนำมาสกัดเป็นยา เพื่อใช้ในการรักษาโรค โดยใช้ชื่อยาว่า Prochymal ซึ่งได้รับการรับรองจากประเทศแคนาดาและเป็นยาที่สกัดจากสเต็มเซลล์ตัวแรกของโลกที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้ได้

สเต็มเซลล์สามารถใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง

สเต็มเซลล์ คืออะไร, stem cell คือ
Image Credit : unsplash.com

ปัจจุบัน มีการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคต่างๆ มากมาย ทั้งจากการใช้สเต็มเซลล์ของตนเอง หรือการใช้สเต็มเซลล์จากผู้อื่น โดยเฉพาะโรคมะเร็งต่างๆ ซึ่งนอกจากวิธี Immunotherapy คือ การรักษาโรคมะเร็งโดยภูมิคุ้มกันบำบัดแล้ว ก็สามารถรักษาด้วยการใช้สเต็มเซลล์ได้ โดยสามารถยกตัวอย่างได้ ดังนี้

• การรักษาโดยสเต็มเซลล์ของตัวเอง

  1. มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย
  2. มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Multiple Myeloma 
  3. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  4. โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติบางชนิด

การรักษาโดยสเต็มเซลล์ของผู้อื่น

  1. ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในกระแสโลหิต หรือ PNH (Paroxysmal Nocturnal Hemoglobinuria)
  2. มะเร็งไขกระดูกมัยอิโลมา
  3. โรคกระดูกฝ่อ 
  4. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  5. โรคเลือดจางธาลัสซีเมีย
  6. โรคโลหิตจางชนิด Sickle cell
  7. โรคภูมิคุ้มกันเมตาบอลิก
  8. โรคเกล็ดเลือดต่ำโดยพันธุกรรม หรือ Congenital Thrombocytopenia
  9. ภาวะไขกระดูกไม่สร้างเม็ดเลือดแดง หรือ Pure Red Cell Aplasia

เกร็ดสุขภาพ : ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ช่วงแรกๆ สเต็มเซลล์สามารถใช้รักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบเลือดเท่านั้น อาทิ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย แต่ปัจจุบันสามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคอื่นๆ ได้มากมาย

ผลข้างเคียงจากการรักษาสเต็มเซลล์ คืออะไร ?

แม้ Stem Cell คือวิทยาการทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าและสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างหลากหลาย แต่ก็มีผลข้างเคียงและข้อจำกัดอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนี้

  • สภาวะเซลล์ใหม่ต้านร่างกาย (GvHD) ซึ่งมักเกิดจากการได้รับสเต็มเซลล์จากผู้อื่น โดยเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยจะถูกทำลายโดยเซลล์ที่ได้รับจากการปลูกถ่าย
  • มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงเนื่องจากภูมิต้านทานต่ำในช่วงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
  • ผลจากการทำเคมีบำบัด ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย และอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ 
  • ปริมาณเม็ดเลือดมีจำนวนลดลง ซึ่งอาจทำให้มีภาวะโลหิตจาง เลือดออกมาก และเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อสูงขึ้น (อ่านเพิ่มเติม เม็ดเลือดแดง หน้าที่)

กล่าวได้ว่า สเต็มเซลล์ คืออะไรที่เป็นอีกหนึ่งวิทยาการทางการแพทย์ที่สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายได้หลากหลายโรคโดยแหล่งของสเต็มเซลล์นั้นก็มาจากทั้งตัวผู้ป่วยเองหรือจากผู้อื่น ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์จะต้องวางแผนการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด เพราะมีกระบวนการหลายขั้นตอนและต้องมีความปลอดภัยสูง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูงด้วย อย่างไรก็ตาม สเต็มเซลล์ก็เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่อาจทำให้มนุษย์มีสุขภาพดีและปราศจากความเจ็บป่วยได้ในโลกอนาคต ที่จะต้องทำการศึกษาต่อไปค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bumrungrad.com, med.swu.ac.th, mayoclinic.org, medicalnewstoday.com

Featured Image Credit : freepik.com/DCStudio

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save