X

วิธีแก้การติดเกม ต้องทำยังไงบ้าง ? มารู้จักภัยของการติดเกม รู้ก่อน แก้ได้ !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

วิธีแก้การติดเกม ต้องทำยังไงบ้าง ? มารู้จักภัยของการติดเกม รู้ก่อน แก้ได้ !

การเลี้ยงดูบุตรหลานนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคปัจุบัน การเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เด็กๆ ใกล้ชิดกับอุปกรณ์เทคโนโลยีมากขึ้น และอาจถึงขั้นเป็นเด็กติดมือถือได้ นอกจากปัญหาที่เด็กติดมือถือหรือติดอุปกรณ์เทคโนโลยีแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองชวนกลุ้มใจก็คือ ปัญหาเด็กเล่นเกมจนติดหนักซึ่งทำให้พ่อแม่กังวลใจ เพราะในบางคนติดหนักจนส่งผลให้มีการเรียนที่แย่ลง หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพ และไม่สามารถห้ามได้เพราะลูกๆ จะอาละวาดหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ต่อต้านพ่อแม่ การติดเกมนั้น ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง และเราจะมี วิธีแก้การติดเกม ได้อย่างไร ? อ่านได้ในบทความนี้ค่ะ

ชวนเช็ก ลูกเราเล่นเกมจนติดหรือเปล่า ? วิธีแก้การติดเกม ต้องทำยังไง ?

วิธีแก้การติดเกม, ติดเกม
Image credit : freepik.com

การเล่นเกม เป็นวิธีการหนึ่งที่สร้างความสนุกสนานให้กับเด็กๆ เนื้อหาเกมบางเกมชวนให้ติดได้ไม่ยาก เพราะต้องเล่นผ่านด่านไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถหยุดเล่นได้ หากลูกหลานของเรามีอาการดังกล่าวนี้ มากกว่า 5 ข้อขึ้นไป และมีอาการมากกว่า 1 ปี นั่นอาจบ่งบอกว่า เด็กๆ เล่นเกมหนักจนเข้าขั้นติดได้ ซึ่งสังเกตได้ดังนี้ (เกณฑ์จาก Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM – 5)

  1. คิดถึงการเล่นเกมอยู่ตลอดเวลา 
  2. รู้สึกแย่เมื่อไม่สามารถเล่นเกมได้ เมื่อถูกบังคับให้หยุดจะต่อต้านหรือมีกิริยาไม่พอใจอย่างรุนแรง 
  3. ต้องใช้เวลาเล่นเกมมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี 
  4. ไม่สามมารถเลิกเล่นได้ หรือใช้เวลาเล่นน้อยลงไม่ได้ 
  5. ไม่อยากทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เคยชอบ 
  6. ส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือการไปโรงเรียน
  7. โกหกพ่อแม่ ผู้ปกครองว่าใช้เวลาเล่นน้อยกว่าความเป็นจริง
  8. ใช้เกมเพื่อบรรเทาอารมณ์และความรู้สึกแย่ๆ ของตัวเอง
  9. รับรู้ว่าการเล่นเกมส่งผลกระทบเชิงลบ แต่ยังคงเล่นต่อไป

เกร็ดสุขภาพ : สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กติดเกมคือ การที่ผู้ปกครองใช้เกมเป็นเสมือนพี่เลี้ยงเด็ก เนื่องจากไม่มีเวลาดูแลลูกหรือเล่นกับลูก ไม่มีเวลาพาลูกออกไปเล่นหรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ และให้เด็กเล่นเกมเพื่อแก้เหงา ลดความเบื่อหน่าย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเล่นเกมจนติดได้

ผลกระทบจากการเล่นเกมจนติดหนัก

วิธีแก้การติดเกม, ติดเกม
Image Credit : freepik.com

1. มีสุขภาพที่ไม่แข็งแรง

การนั่งอยู่หน้าจอทั้งวันทำให้เด็กๆ มีปัญหาด้านสายตา มีท่านั่งที่ไม่ถูกสรีระ ส่งผลให้ปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง บางคนเอาข้าวเอาขนมไปกินหน้าจอคอมฯ ตลอดเวลาโดยที่ไม่ได้ลุกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ขาดการออกกำลังกาย ก็อาจส่งผลให้มีน้ำหนักเกินหรือเสี่ยงที่จะมีภาวะอ้วนได้

2. ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก

การนั่งเล่นเกมทั้งวันโดยที่ไม่ออกไปเจอใคร ก็อาจทำให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคม ไม่มีทักษะในการเข้าสังคมในชีวิตจริงที่อยู่นอกเหนือจากโลกในเกมได้

3. เสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น

การเล่นเกมมากเกินไปอาจทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรค ADHD หรือโรคสมาธิสั้นได้ เพราะในเกมมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทุกสิ่งต้องเร็ว อาจทำให้เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรนานๆ และมีแนวโน้มจะทำให้มีสมาธิสั้น ซึ่งส่งผลต่อการเรียนด้วย และจะต้องมีวิธีแก้การติดเกมเพื่อลดความเสี่ยงในส่วนนี้

4. ขาดการค้นหาตัวเอง

การได้ออกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น วาดรูป เล่นดนตรี ทำงานศิลปะ หรือเล่นเชิงทดลองต่างๆ จะทำให้เด็กมีโอกาสในการค้นหาตัวเอง และพัฒนาไปเป็นทักษะที่ใช้ในการเรียน การทำงานในอนาคตได้ แต่การนั่งเล่นเกมทั้งวันอาจทำให้เด็กไม่มีโอกาสในการพัฒนาตัวตนของตัวเอง

5. มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น

เนื้อหาเกมบางเกมเป็นเนื้อหาที่มีความรุนแรง มีการต่อสู้ การทำผิดกฎหมาย การทำสงคราม ซึ่งอาจทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงนี้มาได้ หรือถึงขั้นหมกมุ่นกับเนื้อหาในเกมจนแสดงพฤติกรรมเหมือนกับในเกม เช่น ใช้ความรุนแรงกับเพื่อน ทั้งนี้ การเล่นเกมจนติดหนัก เมื่อไม่ได้เล่นหรือถูกบังคับห้ามให้เล่นก็ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวได้เช่นกัน อาจมีการโวยวายไม่พอใจ ปิดประตูห้องเสียงดัง ทะเลากับพ่อแม่ หรือรุนแรงถึงขั้นหนีออกจากบ้านไปเล่นเกม หรือลักขโมยเงินผู้ปกครองไปซื้อของในเกม เป็นต้น และอาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นของการพนันได้

เกร็ดสุขภาพ : การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ที่มีความรุนแรงเป็นเวลานานทำให้เกิดแนวคิดที่สนับสนุนความก้าวร้าว และทำให้เด็กๆ รับรู้ แปลความหมาย ตัดสินใจ และตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ไปในทางก้าวร้าวรุนแรง และเคยชินกับความรุนแรง อันเป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้ง่าย และพัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพที่ก้าวร้าวรุนแรงในที่สุด

วิธีแก้การติดเกม ไม่อยากให้ลูกเล่นเกมจนติดหนัก ทำยังไงดี ?

วิธีแก้การติดเกม, ติดเกม
Image Credit : freepik.com

ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ได้ทราบแล้วว่า ผลกระทบจากการที่ลูกติดเกมนั้นมีอะรไบ้าง และส่งผลเสียอย่างไร ถ้าไม่อยากให้ลูกเล่นเกมจนติดหนัก มีวิธีป้องกันและแก้ไขได้ดังนี้ค่ะ

1. กำหนดเวลาในการเล่นเกมให้ชัดเจน

และทำตามกฎอย่างเคร่งครัด หนึ่งวิธีแก้การติดเกมที่จะใช้ได้ผลคือ ต้องกำหนดกฎเวลาในการเล่นให้ชัดเจน ไม่ผ่อนปรน เพราะจะทำให้เด็กไม่เชื่อและเล่นเกมจนเลยเวลาเหมือนเดิม ทั้งนี้ การบอกให้เลิกเล่นทันทีอาจะไม่ได้ผล แต่ต้องใช้วิธีกำหนดเวลาเล่นให้น้อยลงเรื่อยๆ จนกว่าจะปรับพฤติกรรมได้

2. ไม่นำคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตไว้ในห้องนอนของลูก

เพื่อป้องกันการเล่นเกมตอนกลางคืน เด็กอยู่ในห้องคนเดียวอาจจะเล่นเกมเพลินจนถึงเช้า ตื่นไปโรงเรียนสาย ส่งผลให้มีปัญหาด้านการเรียนและมีปัญหาด้านสุขภาพได้ แต่ในบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ในห้องนอนของลูกอยู่แล้วอาจจะต้องเปลี่ยนมาเป็นเอาออกมาไว้ข้างนอก หรือให้อยู่ในสายตาพ่อแม่ เพื่อจะได้ควบคุมเวลาเล่นเกมได้ ทั้งนี้ วิธีแก้การติดเกมที่ดีคือ ต้องพูดคุยด้วยเหตุผลว่าเราทำแบบนี้เพราะอะไร ไม่ใช้วิธีบังคับหรือดุด่า เพราะจะทำให้เด็กต่อต้านได้ค่ะ

3. ชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง

วิธีแก้การติดเกม, ติดเกม
Image Credit : freepik.com

ในวันหยุด แทนที่จะปล่อยให้เด็กๆ เล่นเกมอยู่กับบ้านทั้งวัน พ่อแม่อาจชวนให้ลูกๆ ออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง นอกจากจะเป็นการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวด้วยการทำกิจกรรมร่วมกันแล้ว ยังเป็นวิธีแก้การติดเกมได้อีกวิธีหนึ่ง เช่น ออกไปเที่ยวด้วยกัน ไปพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ไปออกกำลังกาย หรือสมัครเรียนคลาสพิเศษต่างๆ เช่น คลาสสอนเต้น คลาสทำงานศิลปะ เป็นต้น

4. สร้างเงื่อนไขในการเล่นเกมกับเด็ก

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการเล่นเกมจนละเลยการทำกิจกรรมอื่นๆ ทั้งในเรื่องของการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวัน พ่อแม่อาจใช้วิธีสร้างเงื่อนไขกับลูกว่า จะให้เล่นเกมถ้าทำงานบ้านเสร็จ หรือทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยก่อน (ทั้งนี้ ต้องกำหนดเวลาเล่นตามเดิม) เช่น ถ้าทำงานบ้านเป็นเวลา 3 ชั่วโมง จะให้เล่นเกม 2 ชั่วโมง หรือถ้าทำการบ้านเสร็จครบหมดแล้ววันธรรมดาจะให้เล่นเกมครึ่งชั่วโมง วันหยุด 2 ชั่วโมง เป็นต้น เพราะจะทำให้เด็กได้ทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้นและไม่จดจ่ออยู่กับการเล่นเกมจนเกินไปค่ะ

5. ให้รางวัลเมื่อเด็กๆ ทำสำเร็จ

เมื่อเด็กๆ ทำตามเงื่อนไขในการเล่นเกมได้แล้ว การให้รางวัลก็เป็นอีกวิธีหนึ่งวิธีแก้การติดเกมได้ แต่ไม่ได้หมายถึงการให้รางวัลโดยการเล่นเกมเพิ่มนะคะ แต่เป็นการให้รางวัลอย่างอื่นที่เด็กๆ อยากได้ เมื่อทำตามเงื่อนไขที่ตกลงได้จริง เช่น เล่นเกมตามเวลาที่กำหนดได้จริง ทำการบ้านหรือทำงานบ้านเสร็จก่อนที่จะเล่นเกมได้จริง ก็อาจจะให้รางวัลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกม เช่น พาไปกินของอร่อยๆ หรือซื้อของเล่นที่เด็กอยากได้ให้ ทั้งนี้ ต้องพูดให้ลูกเข้าใจว่า รางวัลนี้ได้เพราะอะไร เพราะว่าลูกเป็นเด็กดี ทำตามข้อตกลงได้ ก็จะทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองทำสำเร็จ และเพื่อการสร้างแรงจูงใจในการมีวินัยเล่นเกมที่มากขึ้น

6. ปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญ

หากทำหลายวิธีแล้วเด็กไม่สามารถเลิกเล่นเกมหรือเล่นน้อยลงได้ ทั้งยังมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือต่อต้านมากขึ้น การพาเด็กไปพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เด็กอาจทำให้มีวิธีการแก้ติดเกมที่ทำให้ลูกหลานเล่นเกมน้อยลงได้ เนื่องจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์จะมีวิธีพูดเพื่อให้เด็กเข้าใจผลเสียของการเล่นเกมจนติด หรือพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งอาจใช้วิธีการปรับพฤติกรรมด้วยการทำพฤติกรรมบำบัด หรือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ถ้าหากเด็กๆ มีอาการซึมเศร้าหรือสมาธิสั้นร่วมด้วย และกระทบต่อการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์ก็อาจจ่ายยาเพื่อรักษาอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

การเล่นเกม ถ้าเล่นอย่างพอดี มีการกำหนดเวลาชัดเจน ก็เป็นความเพลิดเพลินและช่วยคลายเครียดได้ ทั้งนี้ ถ้าเล่นมากเกินไปจนทำให้เด็กๆ ติดหนักและส่งผสเสียมากมาย ก็ต้องเร่งรีบแก้ไข มีวิธีแก้การติดเกมที่ป้องกันไม่ให้บุตรหลานของเราเล่นเกมจนติดหนักและแก้ไขไม่ทันการณ์ ถ้าเป็นเกมที่เสริมสร้างพัฒนาการหรือทำให้มีการพัฒนาทักษะด้านความคิดก็เป็นการเล่นเกมที่มีประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ในเวลาที่พอดี ไม่กระทบเรื่องการเรียน สุขภาพ และมีการทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วยค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : americanaddictioncenters.org, rama.mahidol.ac.th, webmd.com

Featured Image Credit : freepik.com/DCStudio

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save