X

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ? ติดต่อได้ยังไง ทำไมเราต้องป้องกัน ?!

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ? ติดต่อได้ยังไง ทำไมเราต้องป้องกัน ?!

วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันเอดส์โลก”ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเป็นจำนวน 38.4 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จำนวน 650,000 คน (สถิติล่าสุดปี 2021 จาก WHO) และสำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณ 520,000 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่า ควรมีมาตรการหรือมีการรณรงค์อย่างไรให้เยาชนและประชาชนทั่วไปห่างไกลจากการติดเชื้อ HIV และเนื่องในวันเอดส์โลก เราจะขอพาไปรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้นว่า โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ? และติดต่อได้ทางใดบ้าง มีวิธีป้องกัน วิธีการรักษาอย่างไร ? เพื่อที่จะได้เป็นการป้องกันตัวเองมากขึ้น ไปดูกันเลยค่ะ

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ? ทำไมถึงเป็นโรคได้ !

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด, โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร
Image credit : freepik.com

โรคเอดส์ ( Acquired Immune Deficiency Syndrome : AIDS) หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV (Human Immunodeficiency Virus) ซึ่งโรคเอดส์นั้น หมายถึงระยะท้ายของการติดเชื้อ HIV ที่จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ มากมาย เพราะเชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า CD4 ส่งผลทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง และทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้ออื่นๆ ตามมา ทั้งวัณโรค ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงมีโอกาสเป็นมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าคนปกติ และอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป หากผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคข้างต้น และมีอาการต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคเอดส์ จะเรียกว่า “ผู้ป่วยเอดส์” ซึ่งมีความแตกต่างจากผู้ติดเชื้อ HIV ที่อาจไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยตามมา

โรคเอดส์  เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ? ซึ่งก็คือเชื้อไวรัส HIV และถ้าหากเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ก็จะทำให้มีอาการต่างๆ ดังนี้

  • ปอดอักเสบ 
  • เชื้อราขึ้นสมอง
  • ท้องเสียเรื้อรังนานกว่า 1 สัปดาห์ 
  • เหนื่อยง่ายผิดปกติ 
  • มีอาการซึมเศร้าและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ 
  • เป็นไข้บ่อยๆ และกลับมาเป็นซ้ำๆ
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน
  • น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
  • มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก จมูก และเปลือกตา
  • มีอาการบวมที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองส่วนคอ รักแร้ และขาหนีบ
  • เป็นแผลที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และทวารหนัก

เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่มีเชื้อ HIV ในร่างกาย ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเอดส์ทุกคน ซึ่งเราจะเรียกผู้ที่มีเชื้อ HIV ว่า “ผู้ติดเชื้อ HIV” แต่ถ้าหากมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง จนมีระดับเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ต่ำกว่า 200 จนไม่สามารถต้านทานโรคได้ จะเรียกว่า “ผู้ป่วยโรคเอดส์” หรือ “ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง” นั่นเอง ซึ่งถ้าหากทราบว่าตนเองมีเชื้อ HIV และไม่รีบทำการรักษาและรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ก็อาจมีอาการทรุดหนักรุนแรงจนเป็นโรคเอดส์ได้ ในทางกลับกัน ถ้ารู้ว่าตนเองมีเชื้อและทำการรักษา กินยาต้านอย่างต่อเนื่อง ก็จะให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ลดต่ำลง และมีสุขภาพที่ดี สามารถมีอายุยืนยาวเหมือนคนปกติทั่วไป

ระยะการติดเชื้อ HIV ที่ควรทราบ

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด, โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร
Image credit : freepik.com

ระยะการติดเชื้อ HIV แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious) เป็นระยะแรกของการติดเชื้อ HIV ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 2 – 4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ โดยผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต  ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่นคัน ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายมีการตอบสนองต่อเชื้อ HIV และระยะนี้ ไวรัสจะแพร่กระจายเพิ่มขึ้นในร่างกายเป็นจำนวนมาก 
  2. ระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage) เป็นระยะที่เชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งไวรัสจะเพิ่มขึ้นในจำนวนน้อย และมักจะใช้เวลานานเป็นเวลาเกือบสิบปีถึงจะออกอาการ
  3. ระยะโรคเอดส์  (AIDS) เป็นระยะที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง และมีปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 ซึ่งโดยปกติแล้ว คนทั่วไปจะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิดนี้อยู่ที่ 500 – 16,000 ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้

โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร ? ทำไมถึงติดได้ ?

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด, โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร
Image credit : freepik.com

หลังจากที่ทราบกันไปแล้วว่า โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด โรคเอดส์ เกิดจากการติดเชื้อ HIV ที่สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสเลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด หรือติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยมีช่องทางติดต่อโรคคือ

  1. การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ปลอดภัย กล่าวคือ ไม่ได้สวมถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิง หรือชายชาย หรือหญิงกับหญิงก็ตาม ทั้งทางช่องคลอดและทางทวารหนัก ซึ่งมีโอกาสที่จะสัมผัสกับเชื้อได้ทั้งสิ้น จากข้อมูลของการระบาดวิทยาพบว่า ผู้ติดเชื้อ HIV มากกว่า 80% ได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
  2. การใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกันกับผู้ที่มีเชื้อ HIV และมักพบในผู้ที่ฉีดสารเสพติดเข้าทางเส้นเลือด หรืออาจเกิดอุบัติเหตุเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วยเช่นกัน 
  3. การสัมผัสกับเลือดหรือน้ำเหลืองของผู้ที่มีเชื้อ HIV ผ่านผิวที่เป็นแผลเปิดหรือมีรอยถลอก รวมถึงการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ติดเชื้อ โดยไม่ได้ทำความสะอาด เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ เข็มสักผิวหนัง เข็มเจาะร่างกายต่างๆ
  4. การติดต่อจากแม่สู่ลูก ทั้งระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงดูด้วยนมแม่
  5. โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร ? อีกหนึ่งช่องทางการรับเชื้อคือ การรับริจาคเลือดที่มีเชื้อ HIV ปนเปื้อน ซึ่งมีโอกาสน้อยมากในปัจจุบัน เพราะเลือดที่ได้รับการบริจาคมาทุกถุงจะต้องผ่านกระบวนการตรวจหาเชื้อ HIV เพื่อความปลอดภัยทุกครั้ง

หากสงสัยว่าตัวเองจะได้รับเชื้อ HIV มาควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับยา PEP คือยาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉิน และควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังการได้รับเชื้อ และถ้าหากตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ HIV ควรพิจารณารับประทานยา PREP เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนสัมผัสกับเชื้อได้

เกร็ดสุขภาพ : การรับประทานยา PREP เพื่อป้องการการติดเชื้อ HIV ก่อนได้รับเชื้อนั้น แม้จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่ก็ไม่อาจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ เช่น โรคหนองในแท้ หนองในเทียม โรคซิฟิลิส โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคหูดหงอนไก่ รวมถึงการติดเชื้อ HPV ที่อาจนำมาสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนักได้ด้วย ดังนั้น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการสวมถุงยางอนามัย ร่วมกับการรับประทานยา ก็จะเป็นการป้องกันป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

วิธีการรักษาโรคเอดส์ ทำได้อย่างไร ?

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใดก็ได้รู้กันไปแล้ว ซึ่งก็คือเชื้อไวรัส HIV นั่นเอง ซึ่งการรักษาโรคเอดส์ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มียาและมีวิธีการรักษาใดที่สามารถกำจัดเชื้อ HIV ในร่างกายให้หมดไปได้ แต่มียาที่จะช่วยชะลอการพัฒนาของโรค เพื่อไม่ใช้ระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำจนเป็นโรคเอดส์ได้ ซึ่งก็คือ ยาต้าน HIV หรือยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretrovirals: ARVs) ที่ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยาตามความเหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของแต่ละคนไป ถ้าหากผู้ที่ติดเชื้อได้รับยาตั้งแต่เนิ่นๆ ยาก็จะออกฤทธิ์ควบคุมไม่ให้ไวรัสมีการแพร่กระจายและพัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ได้

ผู้ที่มีเชื้อ HIV ควรเข้ารับการตรวจหาปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4 ทุกๆ 3 – 6 เดือน และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ควรป้องกันตนเองและคู่นอนทุกครั้งขณะที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะแม้จะรับประทานยาเพื่อคุมเชื้อไวรัสไม่ให้พัฒนาไปสู่ระยะรุนแรงได้ แต่เชื้อ HIV ก็จะยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ดังเดิม ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและคู่นอน การรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยทุกครั้ง ก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อหรือเพิ่มโอกาสในการติดโรคอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วย

ไม่อยากติดเชื้อ HIV จะป้องกันได้อย่างไร ?

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด, โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร
Image credit : freepik.com

อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ซึ่งก็คือเชื้อ HIV ที่จะมีการพัฒนาไปสู่การเป็นโรคเอดส์ได้ และสำหรับใครที่ไม่อยากติดเชื้อนั้น การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัย จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากที่สุด และยังป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และป้องกันการตั้งครรภ์ได้ด้วย โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่อาจละเลยในการป้องกันดูแลตัวเอง แม้จะรับประทานยาคุมกำเนิด แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการติดโรคอื่นๆ ได้ ถึงแม้ว่าการมีเพศสัมพันธ์จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็ต้องมีอย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง และเซฟคู่นอนของเราด้วยค่ะ

สำหรับในกรณีการติดต่อทางแม่สู่ลูกนั้น อาจะเกิดได้หากสามีหรือภรรยามีเชื้ออยู่ในร่างกายแต่ไม่ได้รับการตรวจ เมื่อมีบุตรแล้ว ก็จะส่งผลให้ลูกมีเชื้อ HIV ด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกัน ควรตรวจเลือดหรือตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หรือก่อนที่จะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยต่อลูกน้อย ที่นอกจากจะเป็นการคัดกรองเชื้อ HIV แล้ว ยังเป็นการคัดกรองโรคทางพันธุกรรม รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับโครโมโซมผิดปกติอื่นๆ ด้วย 

และสำหรับใครที่เสี่ยงได้รับเชื้อมาอย่างไม่ตั้งใจ เช่น ถุงยางรั่วหรือแตก ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีเพศสัมพันธ์ตอนไม่มีสติ หรือเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขที่เสี่ยงรับเชื้อมาจากการสัมผัสเชื้อผู้ของป่วย การรีบกินยาต้านเชื้ออย่างยา PEP ภายใน 72 ชั่วโมง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน

ทั้งนี้ สำหรับคนที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันบ่อยๆ การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองการหาเชื้อ HIV ทุกๆ 3 เดือนก็มีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ และการตรวจคัดกรอง HIV จะได้ทราบว่าตนเองได้รับเชื้อหรือไม่ เพื่อที่จะได้รับยาต้านเชื้อต่อไป และเป็นการป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนักลงได้ค่ะ

สถานการณ์การติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย

โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด, โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร
Image Credit : freepik.com

สำหรับภาพรวมสถิติจากศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้าน HIV ของประเทศไทย ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา (2564) มีผู้ติดเชื้อ HIV อยู่ประมาณ 520,000 คน และคาดว่า จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีกประมาณ 6,500 คนในปี 2565 โดยขณะนี้ มีผู้ที่กำลังรับยาต้านไวรัสประมาณ 447,061 คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565) และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์เป็นจำนวน 9,300 คน

สิ่งที่น่ากังวลคือ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี และยังพบว่ามีการติดโรคซิฟิลิสและหนองในเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับนโยบายจากทางภาครัฐนั้น ทาง สปสช. ได้เตรียมงบประมาณในปี 2566 สำหรับในส่วนของกลุ่มโรค HIV – เอดส์ จำนวน 3,978 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมทั้งบริการการรักษาด้วยยาต้านไวรัส การตรวจในห้องปฏิบัติการ และการตรวจคัดกรองอื่นๆ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายยุติปัญหาเอดส์ และต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ภายในปี 2573 โดยได้มีการรณรงค์ในเรื่องการสวมถุงยางอนามัย การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และส่งเสริมให้วัยรุ่นและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคเอดส์ได้มากขึ้น และสามารถรับยาต้านฉุกเฉิน หรือยาป้องกันก่อนเสี่ยงได้หลากหลายช่องทางมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย – สหรัฐด้านสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้พัฒนาระบบให้คำปรึกษาเรื่อง HIV เอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทางออนไลน์ โดยสามารถแอดไลน์ @Stand by you หรือเข้าเว็บไซต์ standbyyou.info เพื่อขอทำแบบประเมินหาความเสี่ยง ขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวเองมากขึ้นด้วย

ชวนดู 3 ประเทศที่ติดเชื้อ HIV มากที่สุดในโลก มีการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง ?

1. Eswatini

ประเทศเอสวาตินี มีอัตราจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 27% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีอัตราผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก และสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ มาจากโรคเอดส์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราการติดเชื้อในประเทศเอสวาตินีกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการดำเนินการขยายขอบเขตบริการรักษาผู้ป่วย รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนมีการป้องกันการติดเชื้อมากขึ้น และสามารถลดอัตราการติดเชื้อรายใหม่ได้เกือบครึ่งหนึ่งจากสถิติเดิมในช่วงปี 2554 – 2559 ทั้งนี้ จำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย HIV ในผู้ใหญ่ได้รับการรักษาจากยาต้านเพิ่มขึ้นจาก 34.8% เป็น 71.3% แต่ประชากรบางกลุ่มโดยเฉพาะคนชายขอบ ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างที่ควรจะเป็น และในกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ มีอัตราการติดเชื้อ HIV อยู่ที่ 60.5 % ซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในโลก และถ้าหากมีการขยายขอบเขตการรักษาและการให้ยาต้านเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคกระจายไปยังประชากรอย่างทั่วถึง ก็จะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้มากขึ้น

2. Lesotho

ราชอาณาจักรเลโซโท เป็นประเทศขนาดเล็กที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ซึ่งประชากรมีการติดเชื้อมากเป็นอันดับ 2 ของโลก กล่าวคือ มีอัตราการติดเชื้ออยู่ที่ 21.1 % ทั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับยาต้าน HIV มากถึง 71% อย่างไรก็ตาม ประชากรเกินครึ่งในประเทศมีความยากจนและอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนการเข้าถึงการรักษา ทำให้การรักษา HIV เป็นเรื่องที่ยาก ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นภูเขาล้อมรอบ และผลิตอาหารได้ไม่พอเพียงกับจำนวนประชากร จึงส่งผลให้มีปัญในด้านสุขภาพและโภชนาการ จึงมีส่วนทำให้ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 60 ปีเท่านั้น

3. Botswana

ประเทศบอตสวานา มีอัตราผู้ติดเชื้อ HIV มากเป็นอันดับ 3 ของโลก คือ มีอัตราผู้ติดเชื้อคิดเป็น 19.9% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ติดเชื้อในบอตสวานาเผชิญกับอุปสรรคในการรักษา อาทิ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ กฎหมายที่กีดกันกลุ่มคนชายขอบ ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศด้วย แต่ทั้งนี้ อัตราการติดเชื้อ HIV ในบอตสวานากำลังลดลงอย่างช้าๆ ด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ เช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และมีนโยบายให้ยาต้านเชื้อแก่กลุ่มผู้ติดเชื้อโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกคน นอกจากนี้ กลุ่มคุณแม่ตั้งครรถ์ที่มีเชื้อ HIV กว่า 98% ได้รับยาต้าน ซึ่งช่วยลดการแพร่เชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกได้ 1.91%

จะเห็นว่า แม้จะเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อมากที่สุด แต่ก็ได้มีการบริหารจัดการให้กลุ่มผู้ติดเชื้อมีโอกาสเข้าถึงการรักษาและได้รับยาต้านเชื้อให้ได้มากที่สุด เพื่อเป้าหมายในการลดการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า หากสามารถเข้าถึงการรักษาได้ ก้จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จริง

ตอนนี้ก็ได้ที่ทราบแล้วว่า โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ? ซึ่งก็คือ เชื้อ HIV นั่นเอง และโรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร ? ซึ่งสามารถติดต่อได้หลายช่องทาง แต่ติดต่อกันผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด และวิธีการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากเชื้อนั้น ทำได้โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง ร่วมกับการรับประทานยาป้องกันการติดเชื้อหรือยา PREP ร่วมด้วย ก็จะเป็นการป้องกันการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อ HIV ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัสกัน การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งควรปฏิบัติตนกับผู้ติดเชื้ออย่างให้เกียรติและไม่แสดงท่าทีรังเกียจกัน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้โดยไม่ถูกตีตราค่ะ

และสำหรับผู้ติดเชื้อเอง หากดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง กินอาหารเพิ่มภูมิคุ้มกัน รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถมีอายุที่ยืนยาวและไม่เจ็บป่วยได้ อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวเองไม่ให้รับเชื้อ เป็นวิธีที่ดีสุดสำหรับการลดอัตราการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ได้ หากมีการตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการป้องกันตัวเอง ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างแท้จริง

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : worldpopulationreview.com, pidst.or.th, sikarin.com, rama.mahidol.ac.th, who.int, cdc.gov

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save