“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
กระพุ้งแก้มเปื่อย เกิดจากอะไร ? ดูแลช่องปากยังไงให้ไม่เป็น !
ปากของเราเป็นอวัยวะที่ต้องใช้งานอยู่เกือบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการพูด การกินอาหาร หรือดื่มน้ำ และสุขภาพภายในช่องปากนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น เราก็รู้สึกได้จากอาการปวดหรือรู้สึกเจ็บจากแผลที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก นอกจากอาการลิ้นแตก ร้อนในแล้ว กระพุ้งแก้มเปื่อย ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่องปากของเรามีสุขภาพที่ไม่ดี และรู้สึกเจ็บ กินอะไรก็ไม่ถนัด อาการนี้เป็นอย่างไร ? ทีมงานเพื่อสุขภาพจะพาไปหาคำตอบเอง !
เจ็บแปล๊บจาก กระพุ้งแก้มเปื่อย ต้องทำยังไง ? ทำไมถึงเป็น ?
กระพุ้งแก้มเปื่อยเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากการที่มีแผลในปาก หรือเป็นร้อนใน โดยอาจเกิดจากเยื่อบุในช่องปากอักเสบจนกลายเป็นแผล ซึ่งสามารถเป็นได้อีกหลายจุดในช่องปาก ทั้งเหงือก ลิ้น เพดานปาก หรือลึกไปจนถึงลิ้นไก่ รวมถึงบริเวณกระพุ้งแก้มด้วยเช่นกัน
อาการบ่งชี้ของ กระพุ้งแก้มเปื่อย
สำหรับใครที่รู้สึกเจ็บในปาก อยากให้ลองส่องกระจกดูว่าภายในปากมีแผลหรือไม่ ถ้ามีแผลสีแดง อักเสบ เป็นแผลตื้น หรือมีขอบแผลสีแดงข้างในเป็นสีขาว ซึ่งอาการแบบนี้เกิดจากแผลร้อนใน มีได้ทั้งขนาดเล็กหรือใหญ่ หรืออาจมีมากกว่า 1 แผล แต่ถ้าแผลที่เกิดขึ้นนั้นมีลักษณะเป็นฝ้าขาว ปวดและอักเสบใกล้เคียงกับแผลร้อนใน คืออาการของกระพุ้งแก้มเปื่อย ซึ่งเกิดจากตัวเราเองที่เผลอกัดกระพุงแก้ม มีฟันที่บิ่นและไปขูดกับกระพุ้งแก้ม หรืออาจเกิดจากการทำฟันก็เป็นได้
สาเหตุของกระพุ้งแก้มเป็นแผล
สาเหตุของอาการกระพุ้งแก้มเปื่อยเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนน้อยเกินไป มีความเครียดสะสม การกัดกระพุงแก้ม ดื่มน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการขาดวิตามินบางชนิด
ส่วนปัจจัยอื่นๆ เป็นเรื่องภายในร่างกาย อย่างเช่นฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ร่างกายเกิดความร้อน ในช่องปากมีแผลจากการเสียดสี ทั้งจากฟันผุและฟันบิ่น รวมไปถึงคนที่ใส่ฟันปลอม มีเหล็กดัดฟันในปากที่มีความคมและไม่พอดีกับฟัน ก็อาจทำให้เหล็กเกี่ยวกระพุ้งแก้มและเกิดแผลได้
เกร็ดสุขภาพ : คนจัดฟันอาจเคยประสบปัญหากับกระพุ้งแก้มเป็นแผล จากลวดที่ใช้จัดฟันแหลมและทิ่มไปที่กระพุ้งแก้ม เบื้องต้นสามารถใช้ขี้ผึ้งปั้นเป็นก้อนแล้วแปะเข้าไปที่ลวดในส่วนนั้นได้ แต่ถ้าลวดนั้นยาวเกินไปควรพบทันตแพทย์เพิ่มเติมเพื่อตัดหรือดัดในส่วนนั้นให้เข้ากับช่องปากของเรา
กระพุ้งแก้มเปื่อย รักษาและดูแลตัวเองอย่างไร
ถ้ามีแผลร้อนในหรือแผลกระพุ้งแก้มเปื่อย เริ่มแรกเราควรทายาหรือกินยาเพื่อบรรเทาความเจ็บ และแผลชนิดนี้จะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ควรใส่ใจเรื่องการกินอาหารเป็นพิเศษ ให้เราเลือกกินอาหารที่เคี้ยวง่าย อ่อนนุ่ม อุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป รวมถึงเลี่ยงอาหารที่รสชาติเปรี้ยว เค็ม เผ็ดจนเกินไป และดื่มน้ำให้เพียงพอ อีกทั้งใครที่กำลังสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ขอให้งดไปก่อนชั่วคราวในช่วงที่กำลังมีแผลในปากหรือกระพุ้งแก้มเป็นแผล เพราะจะทำให้อาการแย่ลงได้
ส่วนการทำความสะอาดช่องปากและฟันก็สำคัญไม่แพ้กัน เราขอแนะนำว่าให้แปรงวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่ควรแปรงบ่อยจนเกินไป โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม แต่ถ้ามีแผลที่อักเสบรุนแรง ปวดมากจนไม่สามารถทนแปรงฟันไหว ให้นำผ้าสะอาดมาพันนิ้วและเช็ดทำความสะอาดแต่ละส่วนแทน ไล่ไปตั้งแต่ฟัน เหงือก และซอกฟัน
หากกระพุ้งแก้มมีแผลนานถึง 2 สัปดาห์ และมีแผลใหญ่ขึ้น หรือมีจำนวนมากขึ้น ไม่สามารถกินอะไรได้ และมีไข้สูง แนะนำว่าให้ไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาอย่างตรงจุดจะดีกว่าค่ะ
วิธีป้องกันกระพุ้งแก้มเปื่อย
ใครที่ไม่เคยมีแผลกระพุ้งแก้มเปื่อย หรือเคยเป็นแต่หายแล้ว และไม่อยากทรมานจากแผลประเภทนี้ต้องรู้วิธีป้องกัน ปกติแล้วแผลชนิดนี้จะเกิดง่ายขึ้นจากการกินอาหารประเภทของทอดของมัน เป็นของแข็ง หรือมีรสเผ็ดร้อนเกินไป ทำให้เยื่อบุบริเวณกระพุ้งแก้มเกิดการระคายเคืองได้ ลองเปลี่ยนมากินอาหารที่มีวิตามินบี 12 และอาหารที่มีธาตุเหล็ก บำรุงเลือด บำรุงร่างกายให้มีภูมิต้านทาน เนื่องจากสาเหตุหนึ่งขอการเป็นแผลในปากคือ การขาดธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 รวมถึงการดื่มน้ำให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว ในปริมาณแก้วละ 200 มิลลิลิตร เพื่อป้องกันการขาดน้ำ เพราะอาจทำให้เกิดแผลในช่องปากได้
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงคนที่รักษาความสะอาดในช่องปากได้ไม่ดีพอ เพื่อที่จะป้องกันการเกิดแผลในปาก ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน ครั้งนึงแปรงนานอย่างน้อย 2 นาทีเพื่อให้ขจัดคราบออกครบทุกซอกทุกมุม และให้ไหมขัดฟันเสริมอีกทาง เพื่อความสะอาดของช่องปากค่ะ และยังเป็นการลดสาเหตุของกลิ่นปากได้ด้วย
เกร็ดสุขภาพ : อาการกระพุ้งแก้มเป็นแผลอาจเป็นรอยโรคของการเป็นมะเร็งช่องปาก ถ้าหากเรามีแผลในปากเรื้อรัง โดยบริเวณแผลเป็นฝ้าสีขาวหรือมีสีแดงมากขึ้น รวมถึงมีตุ่มหรือมีก้อนใหญ่ขึ้นในช่องปาก และรุนแรงขึ้นไปถึงมีเลือดออกในช่องปาก และคลำพบก้อนตรงลำคอ อาการเหล่านี้เป็นข้อควรระวังที่ต้องใส่ใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณการเกิดมะเร็งในช่องปากได้
กระพุ้งแก้มเปื่อยไม่ใช่เรื่องไกลตัว กลับเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้และเกิดขึ้นบ่อยกับใครหลายคน แต่ในเมื่อเรารู้สาเหตุ วิธีการดูแลที่ถูกต้อง และรักษาสุขอนามัยช่องปากให้สะอาดแข็งแรง กระพุ้งแก้มเป็นแผลก็ไม่ใช่อาการที่น่ากังวล เพราะเราสามารถดูแลตัวเองให้อาการดีขึ้นได้อย่างแน่อน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : chulalongkornhospital.go.th, sikarin.com, paolohospital.com, pharmacy.mahidol.ac.th
Featured Image Credit : freepik.com/stockking
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ