“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ตัวเรือด มาจากไหน ? คืออะไร ? โดนกัดแล้ว อาการเป็นยังไง รักษายังไงบ้าง ?
มีใครรู้จักตัวเรือดบ้างคะ ? บางคนอาจเคยได้ยินมาว่าตัวเรือดเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่สามารถกัดและดูดเลือดมนุษย์ได้ ตัวเรือดคืออะไรกันแน่ ? อันตรายมากมั้ย มีพิษหรือเปล่า ? ตัวเรือด มาจากไหน สามารถพบตัวเรือดได้ที่ไหนบ้าง ถ้าโดนตัวเรือดกัดแล้วต้องทำยังไง แล้วเราจะป้องกันตัวเองจากตัวเรือดอย่างไรได้บ้าง ในบทความนี้มีคำตอบแล้วค่ะ
ตัวเรือด มาจากไหน ? ตัวเรือดคืออะไร ?
ตัวเรือด หรือ Bed bugs เป็นแมลงขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 1 – 7 มิลลิเมตร หรืออาจเทียบได้กับเมล็ดแตงโม จะมีสีน้ำตาลแดง ไม่มีปีก ดูดเลือดของคนและสัตว์เป็นอาหาร โดยปกติแล้วตัวเรือดจะออกหากินทุกๆ 5 -10 วัน และสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 5 เดือน แม้ว่าจะไม่ได้กินเลือดของคนและสัตว์เลยก็ตาม ตัวเรือด มาจากไหน ? ตัวเรือดสามารถพบได้ทุกทวีปทั่วโลก แต่ส่วนมากแล้วจะพบในห้องพักตามผ้าปูที่นอน เฟอร์นิเจอร์ ขอบเตียง ฐานรองที่นอน ขอบที่นอน ใต้ที่นอน ผ้าม่าน กรอบรูป ขอบหน้าต่าง รวมถึงรอยแตกและรอยแยกรอบๆ บ้าน และยังพบได้บ่อยทั้งในโรงแรม ในโฮสเทล หรือตามที่พักต่างๆ เนื่องจากตัวเรือดชอบอาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่คนนอนอยู่ และมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งนี้ ตัวเรือดขึ้นชื่อเรื่องความสามารถในการขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และมักจะกำจัดได้ยากหากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี
เกร็ดสุขภาพ : ตัวเรือดมักจะซ่อนตัวเองในช่วงเวลากลางวัน เพราะไม่ชอบแสงสว่าง โดยจะซ่อนอยู่ตามซอกหลืบของห้องหรือรอยตะเข็บของที่นอน เตียงนอน รอยแตกของห้องหรือหลังวอลเปเปอร์ และในช่วงกลางคืนจะไต่คลานไปหาแหล่งอาหาร เช่น คนและสัตว์เลี้ยงในบ้าน โดยสิ่งที่ดึงดูดตัวเรือดก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์เราหายใจออกมา หรือความร้อนที่ปล่อยออกมาจากร่างกาย เมื่อดูดเลือดจนอิ่มแล้วก็จะกลับเข้าไปซ่อนตามเดิม ทำให้เราสงสัยว่า ตัวเรือด มาจากไหนในบ้าน และหาที่อยู่ของตัวเรือดไม่เจอ จึงกำจัดได้ยากนั่นเอง
ตัวเรือด มาจากไหน กันแน่ ทำไมถึงพบตัวเรือดในบ้าน ?
บางคนอาจจะเกิดความสงสัยได้ว่า ตัวเรือด มาจากไหนทำไมถึงมาอยู่ในบ้านของเราได้ ตัวเรือดนั้นเป็นแมลงขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้ว การพบตัวเรือดในบ้านอาจมาจากการที่ตัวเรือดติดมากับกระเป๋าเดินทาง เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า หรือสิ่งของจากบริเวณที่เคยมีตัวเรือดอาศัยมาก่อน ทั้งนี้ หากพบตัวเรือดในบ้านแม้แต่ตัวเดียวก็ตาม ต้องรีบกำจัดทันที เพราะตัวเรือดขยายพันธ์ุได้อย่างรวดเร็ว หากไม่รีบกำจัดอาจทำให้มีตัวเรือดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เราสามารถตรวจสอบร่องรอยของตัวเรือดได้ตามปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน รอบๆ เตียงและบนฟูกที่นอน หากมีรอยเปื้อนสีสนิมที่ดูคล้ายกับรอยเลือด หรือพบเห็นรอยเปื้อนสีดำของมูลตัวเรือดเป็นจุดเล็กๆ ร่วมกับได้กลิ่นเหม็นอับในห้องพัก ก็ไม่แน่ว่าในบ้านอาจมีตัวเรือดซ่อนอยู่ก็ได้นะคะ
ตัวเรือดกัด อาการเป็นอย่างไร ?
ถ้าหากโดนตัวเรือดกัด อาการต่างๆ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งนี้ อาการทั่วไปเมื่อถูกตัวเรือดกัด ได้แก่
- มีอาการคันที่ผิวหนัง : การถูกตัวเรือดกัดมักส่งผลให้เกิดอาการคันอย่างรุนแรง
- มีรอยแดงและบวม : บริเวณที่ถูกกัดอาจทำให้เกิดเป็นผื่นบวมแดงขึ้นมาได้ หรือขึ้นผื่นคันตามตัว คล้ายกับแมลงสัตว์กัดต่อยอื่นๆ
- มีอาการแพ้ตัวเรือด : บางคนอาจมีอาการแพ้ตัวเรือดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น มีอาการคันรุนแรง เป็นแผลพุพอง หรือเป็นลมพิษ
- มักพบผื่นคันบริเวณนอกร่มผ้า : เช่น บริเวณใบหน้า ลำคอ มือ แขน แผ่นหลัง เป็นต้น
หากถูกตัวเรือดกัด ควรปฐมพยาบาลอย่างไร ?
ตัวเรือดกัด อาการเป็นอย่างไรก็ได้ทราบกันไปแล้วนะคะ ถ้าใครมีผื่นคันโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่พบร่องรอยของตัวเรือดในฟูกที่นอน ในโซฟา หรือตามเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็ไม่แน่ว่าอาจถูกตัวเรือดกัดได้ ถ้าโดนตัวเรือดกัดแล้วทำอย่างไรดี มาดูวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นกันค่ะ
- ล้างบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด : ล้างทำความสะอาดรอยกัดเบาๆ ด้วยสบู่อ่อนๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการขัดถูรอยกัดเพราะอาจทำให้ผิวของเราเกิดการระคายเคืองได้
- ประคบเย็น : ประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็งห่อด้วยผ้าเพื่อช่วยลดอาการบวมและคัน โดยประคบปริเวณที่เกิดอาการบวมแดงครั้งละ 10 – 15 นาที
- ใช้ยาแก้แพ้แบบรับประทาน: หากมีอาการคันรุนแรง อาจรับประทานยาแก้แพ้ที่ช่วยทำให้หายคันได้
- ทายาเพื่อบรรเทาอาการคัน : หากมีผื่นแดงจากการถูกกัด แพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ทายาในกลุ่มยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาอาการผื่นคันจากการถูกตัวเรือดกัด 5. รักษาบริเวณผื่นคันให้สะอาดอยู่เสมอ : หลีกเลี่ยงการเการอยกัดเพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง การติดเชื้อ หรือเป็นแผลเป็นเพิ่มเติมได้ รวมถึงการดูแลบริเวณผื่นคันให้สะอาดและไม่อับชื้น
จะกำจัดตัวเรือดได้อย่างไร ?
เราทราบแล้วว่าตัวเรือด มาจากไหน และพบได้ตามส่วนใดในบ้านบ้าง ซึ่งก็คือตามที่นอนของเรา ตามรอยแตกของบ้าน ในโซฟาและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นต้น หากไม่รีบกำจัดตัวเรือด ก็จะทำให้ตัวเรือดแพร่พันธ์ุเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และมากัดสมาชิกในบ้านเอาได้ จะกำจัดตัวเรือดได้อย่างไร มาดูวิธีกันเลยค่ะ
- ทำการต้มผ้าปูที่นอน ผ้าม่าน เครื่องนอนอื่นๆ ที่ทำจากผ้าด้วยน้ำเดือด เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที
- อบผ้าด้วยเครื่องอบผ้าที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที
- ใช้เครื่องพ่นไอน้ำร้อนไปยังบริเวณที่พบตัวเรือดโดยตรง
- ดูดฝุ่นทำความสะอาดตามพรม พรมรอบๆ เตียง บนเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น และตามรอยแตกของบ้านที่อาจมีตัวเรือดซ่อนอยู่
- ใช้สารเคมีผสมน้ำฉีดพ่นที่เป็นแหล่งหลบซ่อนของตัวเรือด เช่น อิมิดาคลิพริด (Imidacloprid) หรือคลอเฟนาเพอร์ (Chlorfenapyr) เป็นต้น หรือ สเปรย์กระป๋องอัดก๊าซที่มีส่วนผสมของกลุ่ม Pyrethroid
- ทำการปรับปรุงที่อยู่อาศัยโดยการรื้อทำลายแหล่งหลบซ่อนของตัวเรือด เช่น รอยขาดของวอลเปเปอร์ รอยต่อผนังห้อง โดยใช้ซิลิโคนหรือกาวยางอุดแนวรอยแตกต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเรือดไปหลบซ่อนได้ ทั้งนี้ รอยแตกต่างๆ นั้นอาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรคและเชื้อรา จนทำให้ผู้อาศัยป่วยเป็นโรค Sick Building Syndrome ได้ด้วยนะคะ
เกร็ดสุขภาพ : หากจะต้องเดินทางไปต่างที่และกังวลว่าจะเจอตัวเรือดในห้องพักหรือไม่ ให้ตรวจสอบฟูกนอนและตรงหัวเตียงว่ามีร่องรอยของตัวเรือดหรือไม่ หากไม่แน่ใจ อย่าเก็บเสื้อผ้าของเราไว้ในตู้เสื้อผ้าของโรงแรม ให้เก็บไว้ในกระเป๋าและวางกระเป๋าให้ห่างจากพื้น ก่อนออกจากโรงแรมก็ตรวจเช็กกระเป๋าให้ดีว่ามีตัวเรือดเกาะติดมาหรือไม่ และเมื่อกลับมาถึงบ้านควรซักเสื้อผ้าทันทีโดยการนำเสื้อผ้าออกจากกระเป๋าและเอาใส่เครื่องซักผ้าโดยตรง เป็นการป้องกันการแพร่กระจายตัวเรือดเข้ามาในบ้าน
ตัวเรือด มาจากไหน พบได้ที่ไหนบ้าง อันตรายกับเราหรือไม่ ตอนนี้ก็ได้ทราบกันไปแล้วนะคะ สำหรับใครที่เป็นผื่นคันหรือผื่นแดงบ่อยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะต้องตรวจสอบความสะอาดภายในบ้านให้ดี เพราะตามฟูกนอน เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โซฟา ในพรม หรือบริเวณรอยแตกของบ้านอาจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวเรือดก็เป็นได้ หมั่นตรวจสอบความสะอาดภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ ก็จะปลอดภัยจากตัวเรือดค่ะ ทั้งนี้ ในคนที่เป็นภูมิแพ้หรือแพ้ฝุ่น (อ่านเพิ่มเติม ฝุ่นเกิดจากอะไร) ก็ควรทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อสุขภาพของตัวเองเช่นกันนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : baygon.co.th, sriphat.med.cmu.ac.th, webmd.com
Featured Image Credit : acacamps.org
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ