X

ท้องลม เกิดจากอะไร ? อาการเป็นยังไง ? ใครที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ต้องอ่าน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ท้องลม เกิดจากอะไร ? อาการเป็นยังไง ? ใครที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ต้องอ่าน !

สำหรับใครที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือวางแผนอยากจะมีลูก การตรวจสุขภาพเบื้องต้น เพื่อดูว่าร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์หรือไม่เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ รวมถึงภาวะท้องลมด้วยเช่นกัน บางคนอาจเคยได้ยินคำว่าท้องลมกันมาบ้าง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการอย่างไร และสงสัยว่า ท้องลม เกิดจากอะไร ? ใครบ้างที่เสี่ยงจะมีภาวะท้องลม สามารถป้องกัน ดูแลตนเองได้อย่างไร อ่านได้ในบทความนี้ค่ะ

ท้องลม คืออะไร ? ท้องลม เกิดจากอะไร ? ทำไมถึงท้องลมได้ ?!

ท้องลม เกิดจากอะไร, ท้องลม อาการ
Image Credit : freepik.com

Blighted Ovum หรือภาวะท้องลม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะไข่ฝ่อ คือการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้จนถึงครบกำหนดคลอด หรือมีการแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ตามปกติแล้ว เมื่อมีการปฏิสนธิขึ้น ไข่ที่มีการปฏิสนธิแล้วจะเกาะติดกับผนังมดลูก และเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5 – 6 สัปดาห์ ควรมีตัวอ่อนเกิดขึ้น และมีการเติบโตต่อไปในถุงการตั้งครรภ์ (Gestational sac) แต่ในกรณีที่เกิดภาวะท้องลม อาการคือ ตัวอ่อนไม่เกิดการพัฒนา หรือไม่มีตัวอ่อนเกิดขึ้น ซึ่งทำให้ไข่ฝ่อ และเกิดการแท้งได้ โดยจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ค่ะ

สาเหตุของภาวะ ท้องลม เกิดจากอะไร ?

  • ตัวอ่อนในครรภ์มีโครโมโซมผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ 
  • เกิดจากการที่อสุจิไม่แข็งแรงพอ หรือมีคุณภาพไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนต่อไปได้ 
  • เกิดจากมดลูก หรือไข่ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่แข็งแรง
  • เกิดจากความเครียดของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ 
  • เกิดจากการรับประทานอาหารไม่เพียงพอ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายไม่แข็งแรง ก็มีโอกาสทำให้เกิดภาวะท้องลมได้

ทั้งนี้ ในผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร และอยู่ในภาวะมีบุตรยาก อาจกำลังกังวลใจว่า ท้องลม เกิดจากอะไร ซึ่งอีกสาเหตุหนึ่งของภาวะท้องลมคือ การมีบุตรยากค่ะ ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ และตรวจครรภ์อย่างละเอียด เพื่อตรวจเช็กภาวะท้องลมที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ

ภาวะท้องลม อาการเป็นอย่างไร ?

ท้องลม เกิดจากอะไร, ท้องลม อาการ
Image Credit : freepik.com

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมน HCG หรือฮอร์โมนคนท้องขึ้นมา ซึ่งทำให้ผู้มีภาวะท้องลมมีอาการคล้ายกับคนท้องปกติคือ ตรวจครรภ์แล้วขึ้น 2 ขีด มีอาการคลื่นไส้ เวียนหัว ประจำเดือนขาด เต้านมคัดตึง และมีอาการแพ้ท้อง แต่เมื่อผ่านไปเข้าสู่ช่วงเดือนที่สองหรือสาม จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ท้องไม่โต ปวดท้องน้อย มีการตกขาวหรือมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ รวมถึงมีอาการตกเลือด และแท้งได้

การตรวจวินิจฉัยภาวะท้องลม

ในตอนนี้ เราก็ได้ทราบแล้วว่า ภาวะท้องลม เกิดจากอะไร  แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองกำลังท้องลมอยู่ ? เมื่อตรวจการตั้งครรภ์เบื้องต้นโดยอุปกรณ์ตรวจครรภ์แล้ว ก็จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำเรื่องเตรียมฝากครรภ์ หรือตรวจร่างกายอื่นๆ เพิ่มเติม และแพทย์จะทำการอัลตราซาวด์ดูตัวอ่อนในท้อง ซึ่งจะสามารถวินิจฉัยได้ว่ามีภาวะท้องลม หากพบว่า

  • ถุงการตั้งครรภ์ มีขนาดมากกว่า 18 มิลลิเมตร จากการตรวจทางช่องคลอด หรือมากกว่า 25 มิลลิเมตร จากการตรวจโดยการอัลตราซาวด์แต่ยังไม่พบตัวอ่อน 
  • ถุงการตั้งครรภ์มีขนาดมากกว่า 10 มิลลิเมตร จากการตรวจทางช่องคลอด หรือมากกว่า 20 มิลลิเมตร จากการตรวจโดยอัลตราซาวด์ แต่ยังไม่พบถุงอาหาร (Yolk sac) ของตัวอ่อน
  • ถุงการตั้งครรภ์ มีรูปร่างผิดปกติอย่างชัดเจน

ซึ่งอาการท้องลม จะเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 7 – 8 สัปดาห์แล้วยังตรวจไม่พบตัวอ่อน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ายังไม่สามารถตรวจได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจจะทำการตรวจซ้ำภายใน 1 – 2 สัปดาห์ เนื่องจากมีโอกาสที่จะเป็นการตั้งครรภ์ปกติได้ แต่ถ้าตรวจซ้ำแล้วพบลักษณะอาการที่เข้าเกณฑ์ และยังไม่พบการเจริญเติบโตของถุงการตั้งครรภ์หรือตัวอ่อน ก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นท้องลมค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : นอกจากอาการท้องลมแล้ว ก็มีอาการที่เรียกว่า “ท้องหลอก” หรือ Spurious Pregnancy or Pseudocyesis ซึ่งเป็นอาการที่ว่า คิดว่าตนเองตั้งครรภ์ เนื่องจากประจำเดือนขาด คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกว่าท้องโตขึ้น ปัสสาวะบ่อย มีอาการคล้ายกำลังตั้งครรภ์ แต่เมื่อไปตรวจร่างกาย กลับพบว่าไม่มีตัวอ่อนหรือไม่มีลักษณะของการตั้งครรภ์แต่อย่างใด กว่าวคือ ไม่มีการตั้งครรภ์จริง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้บางคนมีอาการตั้งครรภ์หลอกคือ เกิดจากสภาพทางจิตใจเป็นหลัก พบได้ในผู้ที่มีภาวะเครียดเพราะอยากมีบุตรมานานแต่ไม่มีการตั้งครรภ์เสียที ความเครียดที่เกิดขึ้นทำให้ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่ และรังไข่ก็สร้างฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งไปกระตุ้นมดลูก ทำให้ผนังมดลูกหนาตัวขึ้น ส่งผลให้ประจำเดือนขาด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตั้งครรภ์นั่นเอง

วิธีรักษาภาวะท้องลม

ท้องลม เกิดจากอะไร, ท้องลม อาการ
Image Credit : freepik.com

ท้องลม เกิดจากอะไร สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร ก็ได้ทราบกันไปแล้ว แล้วถ้าเกิดท้องลมขึ้นมา สามารถรักษาได้หรือไม่ ? ท้องลมสามารถรักษาได้ค่ะ ซึ่งทำได้โดยวิธีการดังนี้

  1. รอให้ร่างกายขับเลือดออกมาเอง กล่าวคือ เมื่อมีภาวะท้องลมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ตัวอ่อนไม่เจริญเติบโต หรือไม่มีตัวอ่อนในถุงตั้งครรภ์ ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ ก็จะเกิดการแท้งโดยธรรมชาติ 
  2. รักษาโดยการใช้ยาเหน็บช่องคลอดที่ชื่อว่า Misoprostol เพื่อให้ร่างกายมีการขับเลือดออกมา ซึ่งอาจใช้เวลาหลายวันกว่าที่ร่างกายจะขับเลือดและเนื้อเยื่อให้ออกไปจากร่างกายจนหมด 
  3. ใช้วิธีการขูดมดลูก ในกรณีที่มีเลือกออกทางช่องคลอดมาก ปวดท้องมาก หรือมีการแท้งไม่สมบูรณ์ แพทย์จะพิจารณาทำการขูดมดลูกเพื่อเอาเนื้อเยื่อที่เกิดจากการตั้งครรภ์ออกมา เป็นการลดอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ คนใกล้ชิดก็ควรดูแลในเรื่องสภาพจิตใจของผู้ที่มีภาวะท้องลมด้วยเช่นกัน เพราะอาจเกิดความกลัว เกิดความเครียด ความเสียใจ และมีความวิตกกังวลได้ คนในครอบครัว เช่น คู่ครอง พ่อแม่ ควรพูดให้กำลังใจ อยู่เคียงข้างให้รู้สึกอุ่นใจ และทำการปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกันรักษาอย่างถูกต้องค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : หากใครที่เคยท้องลมมาก่อนและกำลังเป็นกังวลว่า สามารถตั้งครรภ์ได้อยู่หรือไม่ ซึ่งในคนที่เคยมีภาวะท้องลม สามารถตั้งครรภ์ในครั้งแต่ไปได้ ทั้งนี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะท้องลมได้อีกเช่นกัน ซึ่งถ้าใครเคยท้องลมติดต่อกัน 2 – 3 ครั้งขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมค่ะ

ป้องกันท้องลม ทำได้อย่างไร ?

ท้องลม เกิดจากอะไร, ท้องลม อาการ
Image Credit : freepik.com

จะเห็นว่า ท้องลม เกิดจากอะไรที่เป็นปัจจัยของร่างกายเป็นหลัก เช่น ร่างกายไม่แข็งแรง ทำให้อสุจิหรือไข่ไม่แข็งแรง เมื่อปฏิสนธิแล้วจึงไม่เกิดการเติบโตของตัวอ่อน ทำให้ไข่ฝ่อไป ดังนั้น การป้องกันการเกิดท้องลม จึงทำได้โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออยากควบคุมอาหารในช่วงตั้งครรภ์ ไม่อยากให้มีน้ำหนักมากเกินไป ก็อาจจะเลือกการกินแบบ Balanced Diet คือ รับประทานอาหารที่สมดุลและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลเรื่องสภาพจิตใจ ไม่เครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรง เตรียมพร้อมสำหรับการมีบุตรค่ะ

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ การไปตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย เพื่อตรวจเช็กความแข็งแรงของอสุจิ รวมถึงความแข็งแรงของไข่ ว่าสามารถตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และเมื่อรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ และไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้ตรวจเช็กว่ามีการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติหรือไม่ จะได้ดูแลรักษาป้องกันได้อย่างทันเวลาค่ะ

ภาวะท้องลม เกิดขึ้นได้กับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกคน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุตามที่ได้กล่าวไป แม้ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็อาจสร้างความเจ็บป่วยทางกาย รวมถึงทางจิตใจได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาวะท้องลมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่สามารถควบคุมได้ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ และหลีกเลี่ยงสมุนไพรคนท้องห้ามกิน เพราะอาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติได้ และในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ท้องลม อาการจะใกล้เคียงกับการตั้งครรภ์แบบปกติมาก ดังนั้น การไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยให้ตรวจสอบได้เร็วขึ้น และทำการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้นค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : petcharavejhospital.com, si.mahidol.ac.th, jomtienhospital.com, my.clevelandclinic.org, webmd.com

Featured Image Credit : freepik.com/jcomp

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save