“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
บริจาคเลือด น้ำหนัก ต้องเท่าไหร่ ? ชวนดู ข้อดี – คำแนะนำ – ข้อห้าม ของการบริจาคเลือดกัน
ปัจจุบันสภากาชาดไทยยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเลือดอย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะช่วงก่อนที่มีการระบาดของ COVID – 19 หลายๆ คนก็เลี่ยงที่จะไปโรงพยาบาลหรือออกไปนอกบ้านกัน และหน่วยรับบริจาคเลือดเคลื่อนที่มักจะไปออกหน่วยตามห้างสรรพสินค้าหรือตามสถานที่ต่างๆ ก็ต้องงดเว้นตามไปด้วย ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์โรคระบาดได้ดีขึ้นแล้ว ก็อยากชวนให้พวกเราไปบริจาคเลือดกันมากขึ้น เพราะเลือดที่ได้จากการบริจาคนั้นสามารถเอาไปใช้รักษาผู้ป่วยให้มีชีวิตรอดได้ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แล้วการบริจาคเลือด ข้อห้ามมีอะไรบ้าง ? มีข้อกำหนดอย่างไร บริจาคเลือด น้ำหนัก เท่าไหร่ถึงจะสามารถบริจาคเลือดได้ ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
ชวนรู้เกี่ยวกับการบริจาคเลือด บริจาคเลือด น้ำหนัก เท่าไหร่ถึงจะบริจาคได้ ?
เลือดเป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกายของมนุษย์ ในร่างกายของเราจะมีเลือดไหลเวียนอยู่ประมาณ 7 – 10% ของน้ำหนักตัว เทียบได้ประมาณ 4 – 6 ลิตรในร่างกายของผู้ใหญ่ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเม็ดเลือด 40% และเป็นของเหลวที่เรียกว่าพลาสมา 60% ซึ่งในพลาสมาจะประกอบไปด้วยน้ำที่มีโปรตีนและฮอร์โมน รวมถึงสารอาหารต่างๆ อยู่ในพลาสมาด้วย ซึ่งเลือดนั้นมีความสำคัญต่อร่างกายของเราเป็นอย่างมาก ทั้งเม็ดเลือดแดง หน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ต้านการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราและปรสิตต่างๆ และเกล็ดเลือดที่ทำหน้าที่ช่วยให้เลือดหยุดไหลเวลามีบาดแผลหรือมีการฉีกขาดของหลอดเลือด ดังนั้น ถ้าร่างกายขาดเลือดไป ก็จะทำให้ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายทำงานผิดปกติ และส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมได้
เกร็ดสุขภาพ : ปัจจุบันยังไม่สามารถคิดค้นสิ่งที่สามารถใช้ทดแทนเลือดได้ จึงจำเป็นต้องมีการรับบริจาคเลือด เพื่อให้ได้มาซึ่งเลือดที่ใช้สำหรับการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยการบริจาคเลือดนั้น คือการสละเลือดส่วนเกินที่ร่างกายยังไม่จำเป็นต้องใช้ให้กับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้ให้บริจาคแต่อย่างใด เพราะร่างกายของคนเรานั้นมีปริมาณเลือดประมาณ 17 – 18 แก้ว แต่ร่างกายจะใช้เพียง 15 – 16 แก้วเท่านั้น ทำให้เราสามารถบริจาคเลือดเพื่อเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 20 นาทีเท่านั้น โดยปริมาณบริจาคต่อครั้งจะอยู่ที่ 350 – 450 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้บริจาค
การบริจาคเลือดนั้น มีความสำคัญในทางการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะมีผู้ป่วยที่ต้องการเลือดทุกวินาที แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาด้วยการให้เลือดตลอดชีวิต มากกว่า 23 % และอีก 77 % สำหรับผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุซึ่งจะต้องใช้เลือดสำหรับการผ่าตัด รวมถึงใช้เพื่อรักษาโรคอื่นๆ (ข้อมูลจากสภากาชาดไทย) ทำให้มีความต้องการเลือดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการบริจาคเลือดแต่ละครั้งนั้น สามารถนำเอาไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบเลือดได้มากกว่า 3 ส่วน เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต และเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตที่สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
- เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย (อ่านเพิ่มเติม ธาลัสซีเมียมีกี่ชนิด) โรคไขกระดูกฝ่อ ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการผ่าตัดหัวใจ จากการประสบอุบัติเหตุ หรือตกเลือดจากการคลอดบุตร เป็นต้น
- พลาสมา นำเอาไปรักษาผู้ป่วยที่มีอาการช็อกจากการขาดน้ำ ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิต 3 ชนิดได้แก่ Factor VIII เพื่อรักษาโรคฮีโมฟีเลีย เอ อิมมูโนโกลบูลินหรือ IVIG รักษาโรคภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง และ Albumin สำหรับการรักษาไฟไหม้น้ำร้อนลวก และโรคตับ
จะเห็นว่าการบริจาคเลือดเพียง 1 ถุงนั้น สามารถนำไปแยกเป็นส่วนประกอบต่างๆ เพื่อรักษาโรคได้อีกหลายโรค และช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากกว่า 1 ราย ทั้งนี้ อาจมีบางคนสงสัยว่า บริจาคเลือด น้ำหนักเท่าไหร่ถึงจะสามารถบริจาคเลือดได้ ? เพราะอาจมีบางคนที่อยากจะบริจาคเลือดแต่กังวลว่าน้ำหนักจะไม่ถึงเกณฑ์ เรามาดูในส่วนของข้อกำหนดในการบริจาคเลือดกันค่ะ
ข้อห้าม – ข้อกำหนดในการบริจาคเลือด น้ำหนักเท่าไหร่ถึงจะบริจาคได้ ? มีข้อกำหนดอะไรอีกบ้าง ?
- สภากาชาดไทยได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะบริจาคเลือดได้ ต้องมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
- มีอายุ 17 – 70 ปี กรณีอายุ 17 ปีและยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับการเซ็นยินยอมจากผู้ปกครองก่อนจะบริจาค และถ้าหากบริจาคเลือดครั้งแรก จะต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี
- มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เป้นไข้ เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีเสมหะ หรือท้องเสีย
- การบริจาคเลือด ข้อห้ามอย่างหนึ่งคือ ผู้บริจาคจะต้องไม่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคเลือด โรคมะเร็ง หรือมีภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก รวมถึง ไม่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบด้วย
- ไม่เป็นไข้มาลาเรียภายใน 3 ปี หรือเข้าไปในเขตที่มาลาเรียชุกชุมใน 1 ปี
- ไม่มีประวัติผ่าตัดใหญ่ คลอดหรือแท้งบุตรภายใน 6 เดือน
- ผู้หญิงที่ต้องการจะบริจาคเลือดต้องไม่อยู่ในระหว่างการมีประจำเดือน หรืออยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ให้นมบุตร
- ไม่ทำการสัก ลบรอยสัก เจาะหู หรือเจาะส่วนอื่นๆ ของร่างกายในระยะเวลา 4 เดือน
- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากการมีโอกาสติดโรค STDs คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ได้รับเชื้อผ่านทางเลือดได้
- ไม่มีประวัติการใช้สารเสพติดทุกประเภท
ตอนนี้ก็ได้ทราบกันแล้วว่า การบริจาคเลือด น้ำหนักต้องเท่าไหร่ ? คำตอบก็คือ ควรมีน้ำหนักตัวที่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป โดยผู้ที่มีน้ำหนัก 45 – 50 กิโลกรัม จะบริจาคเลือดได้ในปริมาณ 350 มิลลิลิตร และผู้ที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป จะสามารถบริจาคเลือดได้ในปริมาณ 450 มิลลิลิตร รู้แบบนี้แล้ว ใครที่มีน้ำหนักมากกว่า 45 กิโลกรัม และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงครบตามคุณสมบัติ ก็สามารถไปบริจาคเลือดได้เลยค่ะ
ข้อดีของการบริจาคเลือด คืออะไร ?
เรารู้ถึงข้อห้าม – ข้อกำหนดในการบริจาคเลือด รวมถึงการบริจาคเลือด น้ำหนักต้องเท่าไหร่กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรามาดูข้อดีของการบริจาคเลือดกันบ้างดีกว่า ซึ่งการบริจาคเลือดนั้น ไม่ใช่แค่ได้ประโยชน์ต่อการนำเลือดไปรักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังดีต่อสุขภาพของผู้บริจาคเลือดเองด้วย จะมีข้อดีอะไรบ้างนั้น ไปดูกันเลย
- ทำให้สุขภาพแข็งแรง การบริจาคเลือดนั้นไม่เป็นผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด เพราะเลือดที่บริจาคออกไปเป็นปริมาณส่วนเกินของร่างกาย และการบริจาคเลือดยังเป็นการกระตุ้นให้ไขกระดูกผลิตเม็ดเลือดขึ้นมาใหม่ ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น เม็ดเลือดแดงมีความสมบูรณ์และสุขภาพดี ส่งผลทำให้สุขภาพของเราดีตามไปด้วย
- ทำให้ผิวพรรณสดใส เนื่องจากการผลิตเม็ดเลือดขึ้นมาใหม่ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น ส่งผลทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล และยังช่วยให้หน้าใสขึ้นอีกด้วย
- ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ข้อมูลนี้มาจากงานวิจัยของสถาบัน Karolinska Institutet ที่เมืองสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ซึ่งได้ศึกษากับผู้บริจาคเลือดในสวีเดนและเดนมาร์ก ผลการศึกษาพบว่า การบริจาคเลือดช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
- ช่วยป้องกันภาวะ Hemochromatosis หรือภาวะเหล็กเกินได้ ถ้าร่างกายมีธาตุเหล็กมากเกินไปจะส่งผลต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันหรือโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งการบริจาคเลือดจะช่วยลดปริมาณธาตุเหล็กส่วนเกินเหล่านี้ออกไปได้
- ได้ตรวจสุขภาพไปในตัว เช่น ได้วัดความดันโลหิต ได้รับการตรวจภาวะโลหิตจาง ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซี ซิฟิลิส และเชื้อ HIV ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้บริจาคเอง และเพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริจาคเลือด ซึ่งผู้บริจาคจะได้รับการตรวจเชื้อเหล่านี้ทุกครั้งก่อนจะนำเลือดไปใช้รักษาผู้ป่วยต่อไป
ควรเตรียมตัวอย่างไรสำหรับการไปบริจาคเลือด
- ผู้ที่ต้องการไปบริจาคเลือด ควรนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และควรนอนไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง
- รับประทานอาหารมาก่อนบริจาคเลือด และให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงกะทิและขนมหวานที่มีกะทิต่างๆ ก่อนที่จะมาบริจาคโลหิต 6 ชั่วโมง เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยได้
- ก่อนบริจาคเลือด 30 นาที ให้ดื่มน้ำประมาณ 3 – 4 แก้ว ซึ่งมีปริมาณเท่ากับเลือดที่เสียไปจากการบริจาค การดื่มน้ำจะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมจากการบริจาคเลือดได้
- การบริจาคเลือด ข้อห้ามที่สำคัญคือ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคเลือดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพราะอาจมีผลต่อการบริจาคเลือดได้
- งดสูบบุหรี่ก่อนและหลังบริจาคเลือด 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดฟอกเลือดได้ดี
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับจนเกินไป สามารถดึงแขนเสื้อเหนือข้อศอกได้
- ขณะบริจาคเลือดควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก และถ้าหากมีอาการผิดปกติระหว่างการบริจาค เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม มีอาการชาตามมือเท้า หรือรู้สึกเจ็บผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบทันที
- หลังบริจาคโลหิตควรดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้มากกว่าปกติ 1 – 2 วัน เพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่สูญเสียไป
เกร็ดสุขภาพ : หลังบริจาคเลือดเสร็จ จะได้รับยาธาตุเหล็กจากศูนย์ที่รับบริจาคมารับประทานวันละ 1 เม็ด และควรรับประทานจนหมดเพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไป และหลังจากบริจาคเลือดเสร็จควรหลีกเลี่ยงการขึ้นลงที่สูง เพราะอาจทำให้รู้สึกวิงเวียนได้ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่แออัดและมีอากาสร้อนอบอ้าว งดกิจกรรมหรือการทำงานที่มีความเสี่ยงหรือเกี่ยวข้องกับความเร็ว ความสูง ความลึก การทำงานกับเครื่องจักรกล รวมถึงควรงดออกกำลังกายที่ทำให้เสียเหงื่อเป็นเวลา 24 ชั่วโมงด้วย
การบริจาคเลือดนั้น สำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและไม่ได้มีโรคประจำตัวใดๆ และมีอายุตามเกณฑ์ ก็สามารถไปบริจาคเลือดได้ที่ศูนย์รับบริจาคใกล้บ้านอย่างสภากาชาดไทยที่มีอยู่ในทุกจังหวัด และสามารถบริจาคได้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีการรับบริจาคเลือดด้วยก็ได้เช่นกัน และสำหรับข้อสงสัยว่า บริจาคเลือด น้ำหนักเท่าไหร่ถึงจะบริจาคได้ ? ก็ได้คำตอบกันไปแล้วว่า ต้องมีน้ำหนักมากกว่า 45 กิโลกรัม ถึงจะสามารถบริจาคเลือดได้ ทั้งนี้ เราสามารถบริจาคเลือดได้ทุกๆ 3 เดือน และสำหรับคนที่อยากบริจาคเลือดเป็นประจำ ก็ต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ การบริจาคเลือดนั้น นอกจากจะได้ประโยชน์กับผู้ป่วยแล้ว ก็ยังได้ประโยชน์กับตัวเองด้วยเช่นกัน เลือดนั้นเป็นสิ่งที่สภากาชาดไทยยังคงขาดแคลนอยู่เสมอ ถ้าไม่ติดอะไร ก็อยากให้ไปบริจาคเลือดกันเยอะๆ นะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bloodbanktu.com, redcross.or.th, w2.med.cmu.ac.th, starhealth.in, healthline.com, who.int
Featured Image Credit : vecteezy.com/ekachai_lo346548
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ