“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร ? ชวนดูปัจจัยเสี่ยง เพื่อดูแลตัวเองกัน !
หัวใจเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของเรา โรคที่เกี่ยวกับหัวใจนั้นจึงเป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจโดยตรง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลิ้นหัวใจ รวมถึงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งปัจจุบันพบว่าคนไทยมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน ดังนั้นเราจึงควรดูแลสุขภาพให้ดีและหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร รักษาได้หรือไม่ ป้องกันยังไง มาดูกันเลยค่ะ
เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร ? อันตรายหรือไม่ ?
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร ? โรคเส้นเลือดหัวใจตีบหรือตันเกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการแข็งตัว หรือมีไขมัน (Plaque)ไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงจึงผ่านไปยังหัวใจได้น้อย อาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และถ้าหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน ก็จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไรได้อีกบ้าง ไปเจาะลึกให้มากขึ้นกันค่ะ
เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไรบ้าง มาเจาะลึกกัน !
จากที่ได้กล่าวไปว่า ภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบหรือตันเกิดจากการที่หลอดเลือดแดงมีการแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เส้นเลือดตีบแคบลง แล้วปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ มาดูกันเลยค่ะ
- กรรมพันธ์ุ : หากคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือด ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- อายุ : เพศชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และเพศหญิงที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
- มีน้ำหนักเกินและอ้วน : หากมีดัชนีมวลกายมากขึ้น (BMI) ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
- มีความดันโลหิตสูง : ภาวะความดันโลหิตสูงจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- มีความเครียดสูง : เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร ? ความเครียดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากการอยู่ในสภาวะเครียดเป็นประจำจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำมาสู่โรคหลอดเลือดและหัวใจได้
- โรคเบาหวานและน้ำตาลในเลือดสูง : หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรังจะทำให้หลอดเลือดเสื่อม ทั้งหลอดเลือดขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เซลล์เยื่อบุภายในหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เส้นเลือดแข็งและตีบได้
- มีไขมันในเลือดสูง : ระดับไขมันในเลือดสูงทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน
- การไม่ออกกำลังกาย : เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไรอีกบ้าง ทราบไหมคะว่า การไม่ออกกำลังกายนั้นก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตันมากขึ้นถึง 1.5 เท่า
- การสูบบุหรี่ : เพราะในบุหรี่มีสารเคมีที่ทำอันตรายต่อหลอดเลือดของเรา และเป็นตัวเร่งให้เซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบได้
เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2.4 เท่า เนื่องจากสารพิษในบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค กล่าวคือ นิโคตินจะไปทำลายเยื่อบุผนังหลอดเลือดชั้นในของหลอดเลือดแดง คาร์บอนมอนอกไซด์จะทำลายคุณสมบัติในการเป็นพาหนะนำออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยเป็นผลให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น ไฮโดรเจนไซยาไนด์ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้ควันบุหรี่ยังทำให้เกล็ดเลือดเกาะกันมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันเฉียบพลันได้ในทันที
เส้นเลือดหัวใจตีบ อาการเป็นยังไง ?
- รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก โดยเฉพาะเจ็บตรงกลางหน้าอกเหมือนถูกของหนักทับ อาจร้าวไปที่คอ กราม ไหล่ด้านซ็าย หรือต้นแขนด้านใน ซึ่งมักเป็นขณะออกแรงทำกิจกรรม
- เหนื่อยง่ายขณะออกแรงหรือขณะออกกำลังกาย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันภายใน 1 – 2 สัปดาห์ หรือเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังนานกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไป
- นอนราบไม่ได้ รู้สึกแน่น อึดอัด หายใจเข้าได้ไม่เต็มปอด
- หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ เป็นลม ร่วมกับมีอาการแน่นหน้าอก
- เส้นเลือดหัวใจตีบ อาการที่พบได้อีกคือ เหงื่อแตก ใจสั่น กระสับกระส่าย
- วูบ หมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น
เส้นเลือดหัวใจตีบ รักษาได้อย่างไร ?
เราทราบแล้วว่า เส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากอะไร ซึ่งปัจจัยเสี่ยงนั้นก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น การรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบจึงสามารถทำได้อยู่หลายวิธี ดังนี้
- รักษาและประคองอาการโดยที่แพทย์ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น แนะนำให้เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมอาหารประเภทไขมัน แป้งและน้ำตาล ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และมีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม
- รักษาด้วยยา เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของลิ่มเลือด ยาขยายหลอดเลือด ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาลดไขมัน ยาควบคุมความดันโลหิต เป็นต้น
- รักษาด้วยการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยการทำบอลลูนและการใช้ขดลวดค้ำยัน
- รักษาด้วยการผ่าตัดทำทางเบี่ยงให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ หรือเรียกกันว่าบายพาสหัวใจนั่นเองค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : การทำบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ โดยแพทย์จะใช้เส้นเลือดภายในทรวงอกด้านซ้ายและเส้นเลือดแดงบริเวณแขนซ้าย หรือเส้นเลือดดำบริเวณขา ตั้งแต่ข้อเท้าด้านในจนถึงโคนขาด้านในมาเย็บต่อเส้นเลือดเพื่อนำเลือดแดงจากเส้นเลือดแดงใหญ่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ขาดเลือด โดยข้ามผ่านเส้นเลือดส่วนที่ตีบ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อหัวใจอันมาจากภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบนั่นเอง
เส้นเลือดหัวใจตีบ ป้องกันได้อย่างไร
การป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงและปราศจากโรคภัยอันเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเกิดโทษต่อร่างกายน้อยที่สุด ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ลดการบริโภคแป้งขัดขาวและน้ำตาล พูดง่ายๆ ว่าลดหวาน มัน เค็ม และเน้นการกินผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือจะกินตามวิถี Balanced Diet ก็ได้ค่ะ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือเพิ่มกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น การออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์หลายอย่างและทำให้เราสุขภาพดีขึ้นโดยรวม ทำให้น้ำหนักคงที่ ไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เราควรออกแรงหรือออกกำลังกายที่ทำให้หายใจแรงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้นปานกลาง และออกแรงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 นาทีขึ้นไป อาจเป็นการทำครัว ทำงานบ้าน ถือของเบาๆ ที่ไม่หนักเกินไป เดินไปเดินมาในที่ทำงาน อะไรแบบนี้เป็นต้น
- งดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด การหยุดสูบบุหรี่เพียง 20 นาทีนั้น จะทำให้ความดันโลหิตลดลงจนอยู่ในระดับปกติ และการหยุดสูบอย่างน้อย 10 ปีจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยในระดับใกล้เคียงกับคนที่ไม่สูบบุหรี่เลยทีเดียว
- มีวิธีการจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การทำสมาธิ การดูหนังฟังเพลง ทำงานฝีมือ การวาดรูป ออกไปเดินเล่น หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ เพื่อผ่อนคลายความเครียดลง เพราะโรคที่เกิดจากความเครียดนั้น มีมากกว่าโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอย่างแน่นอนค่ะ
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีค่า BMI ระหว่าง 18.5 – 22.90 เนื่องจากการมีน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนก็ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบได้ ทั้งนี้ ควรไปตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้เช็กค่าไขมัน น้ำตาล ระดับคอเลสเตอรอล ฯลฯ และดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมค่ะ
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อาการเป็นอย่างไร เกิดจากสาเหตุอะไรบ้างก็ได้ทราบกันไปแล้วนะคะ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงดี รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอย่างการสูบบุหรี่ การกินอาหารหวาน มัน เค็ม ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำและพักผ่อนอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ใครที่มีอาการเข้าข่ายก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว จะได้รักษาได้ทันท่วงที เพราะโรคนี้อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : praram9.com, bangkokhearthospital.com, bumrungrad.com, cdc.gov, my.clevelandclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ