“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคที่มากับน้ำท่วม มีอะไรบ้าง ? มารู้จัก เพื่อป้องกันไปด้วยกัน !
ในหน้าฝนไม่ใช่แค่การป่วยเล็กน้อยอย่างการเป็นหวัดเนื่องจากตากฝน หรือประสบกับปัญหารถติด และความยากลำบากในการเดินทางไปทำงาน หรือเดินทางกลับบ้านไม่ได้เนื่องจากฝนที่ตกหนักจนน้ำท่วมทางสัญจร หรือต้องเดินลุยน้ำฝ่าน้ำท่วมขังไป และการที่ผิวของเราสัมผ้สกับสิ่งสกปรกในน้ำขังนั้น ยังเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่มากับน้ำท่วมได้ และเพื่อจะให้ทุกคนได้รับรู้และเริ่มระวังตัวกันให้มากขึ้น เราจะพาทุกคนไปดูกันว่า โรคที่มากับน้ำท่วม ว่ามีโรคใดบ้าง จะได้ระวังกันในช่วงฤดูฝนนี้ค่ะ
เตรียมตัวพร้อมระวัง โรคที่มากับน้ำท่วม ในหน้าฝนนี้ เป็นอะไรได้บ้าง ?
มาดูกันค่ะว่า การที่น้ำท่วมขัง ทำให้ไม่สามารถใช้ทางสัญจรได้อย่างปกติแล้ว และการที่เราต้องเดินฝ่าน้ำท่วมไป นอกจากจะเปียกแฉะและสกปรกเลอะเทอะแล้ว ยังทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
1. โรคน้ำกัดเท้า/ฮ่องกงฟุต
เริ่มที่โรคที่มากับน้ำท่วมโรคแรกกับ “โรคน้ำกัดเท้า” เกิดได้จากการที่เท้าเปียกชื้น จนเกิดเชื้อราที่ชื่อว่า Dermatophytes แน่นอนว่าเชื้อรานั้นจะเติบโตได้ดีมาก ถ้าเราอยู่ในสภาวะที่มีความชื้นมากอย่างในหน้าฝน หรือเท้าที่มีเหงื่อออกเยอะ ผนวกกับการไม่รักษาความสะอาด ก็ทำให้เกิดเชื้อราที่เท้าได้
เราสามารถสังเกตได้ว่าถ้าเท้ามีอาการคัน ร่วมกับมีผื่น หรือระหว่างซอกนิ้วมีการลอกเป็นขุยเกิดขึ้น หรือรุนแรงลามไปถึงฝ่าเท้าและเล็บเท้า เราได้ก้าวเข้าสู่การเป็นโรคน้ำกัดเท้าอย่างเต็มตัวแล้วล่ะค่ะ
ดังนั้นเราควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือหาพลาสติกมาครอบเท้าหากจำเป็นต้องฝ่าน้ำท่วมขัง แต่ถ้าอาการของโรคนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องกังวลไปค่ะเราสามารถรักษาได้ โดยการทาครีมเพื่อกำจัดเชื้อรา ร่วมกับการล้างเท้าด้วยสบู่และต้องมั่นใจว่าเช็ดแห้งดีแล้ว และในเด็กให้ระวังโรคมือเท้าปาก ไม่มีไข้ ซึ่งระบาดหนักในช่วงหน้าฝนหรือช่วงอากาศชื้นด้วยค่ะ
2. โรคตาแดง
โรคตาแดงนั้นเกิดจากไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ โดยใช้มือสกปรกขยี้ตา หรืออาจเป็นเพราะฝุ่นเข้าตาก็ได้เช่นกัน รวมไปถึงการสัมผัสกับน้ำสกปรกในช่วงน้ำท่วมก็เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคนี้ได้ และเราอาจเป็นผู้แพร่เชื้อให้กับคนที่อยู่รอบข้างได้อีกด้วย
เมื่อตาเริ่มแดงขึ้น ทั้งรู้สึกเคืองตา ทนไม่ไหวอยากยกมือขึ้นมาขยี้ พร้อมมีขี้ตามากและน้ำตาไหล อาการที่ว่ามานี้เกิดหลังจากได้เชื้อมาประมาณ 1 – 2 วัน อาการของโรคตาแดงจะอยู่กับเราไปประมาณ 10 วัน และสามารถหายได้เอง แต่ต้องอาศัยการดูแลโดยการใช้ยาหยอดตา ประคบดวงตาด้วยผ้าเย็น หลีกเลี่ยงการขยี้ตา พักสายตา และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
3. โรคฉี่หนู
ด้วยน้ำที่รวมความสกปรกจากหลายสิ่ง จึงสามารถเกิดอีกโรคที่มากับน้ำท่วมได้หากเราต้องเดินฝ่าน้ำขังหรือพื้นที่ชื้น กล่าวคือ ‘โรคฉี่หนู’ แม้จะถูกเรียกว่าฉี่หนู แต่โรคนี้เป็นเชื้อที่เกิดได้จากหลายต้นตอ ไม่ว่าจะเป็นหมู วัว หรือที่ใกล้ตัวเรากันมาก ๆ เลยก็คือสุนัข เชื้อประเภทนี้จะออกมาพร้อมกับปัสสาวะของสัตว์ ติดต่อได้จากน้ำที่ซึมเข้าสู่ทางบาดแผลหรือรอยถลอก หรือในส่วนของง่ามมือ ง่ามเท้า เยื่อบุตา จมูก และปากจากอาหารที่ใช้น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคนี้
เกร็ดสุขภาพ : โรคฉี่หนู มีอีกชื่อว่า โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อกลุ่ม Leptospira มักพบการระบาดในหน้าฝน หรือในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดโรค คือ กลุ่มเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา คนงานฟาร์มเลี้ยงโค สุกร ปลา กรรมกรขุดท่อระบายน้ำ กลุ่มอื่นๆ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่ในห้องทดลอง ทหารหรือตำรวจที่ปฏิบัติงานตามป่าเขา รวมถึงผู้ที่บ้านมีหนูมาก ผู้ที่ปรุงอาหารหรือรับประทานอาหารไม่สุก หรือวางอาหารทิ้งไว้โดยที่ไม่ปิดฝา ก็เสี่ยงที่จะได้รับเชื้อได้เช่นกัน
อาการโรคฉี่หนูในคน ระยะเริ่มต้นที่สามารถสังเกตได้ก็คือ จะรู้สึกปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อในบริเวณขาและน่อง บางคนอาจมีไข้หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง และตาแดงร่วมด้วย โรคฉี่หนูนี้หายเองไม่ได้ จะต้องพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธีเท่านั้น
แนะนำว่าถ้าเกิดอาการข้างต้น ผนวกกับได้ย่ำน้ำมาในช่วง 10 วันที่ผ่านมาให้สงสัยไว้ได้เลยว่าอาจเป็นอาการของโรคฉี่หนู ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ควรใส่รองเท้ากันน้ำ หรือหาพลาสติกมาคลุมเท้าไว้ และเช็ดหรือล้างทำความสะอาดในส่วนที่โดนน้ำให้ไวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
4. โรคไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่
ต่อมาเป็นโรคที่มากับน้ำท่วมที่เกิดได้ในช่วงเวลาอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือในฤดูฝนเช่นนี้ ไข้หวัดอาจดูธรรมดาทั่วไปแต่ถ้าเป็นแล้วก็ทำให้การใช้ชีวิตยากลำบากขึ้นกว่าได้ อาจเกิดจากการติดเชื้อจากบุคคลอื่นผ่านสิ่งของที่ใช้ด้วยกัน ผ่านน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ เป็นต้น
ขณะที่ลุยน้ำความเสี่ยงที่จะเกิดทั้งสามโรคก่อนหน้า การเป็นไข้หวัดก็น่ากังวลเช่นเดียวกัน ลุยน้ำและฝ่าฝนตกอาจทำให้เรามีอาการเพลีย คัดจมูก รู้สึกอึดอัดร่างกาย ไอจาม และปวดศีรษะได้ เพียงแต่โรคนี้ไม่น่ากังวลเพราะไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงที่อันตรายถึงชีวิต แต่ถ้าเกิดเราเป็นโรคที่รุนแรงขึ้นมาอีกขั้นอย่างไข้หวัดใหญ่ อาจต้องระวังอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยตัวอย่างหนัก หากผ่านไปแล้ว 7 วันยังไม่หายควรไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ เราสามารถกันการแพร่เชื้อและดูแลได้โดยใส่หน้ากากอนามัยในช่วงที่มีอาการ ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่สำหรับซับน้ำมูก และอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นเป็นหลัก
เกร็ดสุขภาพ : การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถช่วยป้องกันการเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบันวัคซีนที่มีให้ฉีดคือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธ์ุ ซึ่งสามมารถฉีดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป และควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
5. โรคไข้เลือดออก
โรคที่มากับน้ำท่วมและน้ำขัง ขั้นกว่าของโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ก็คือ ‘โรคไข้เลือดออก’ โดยมียุงลายเป็นพาหะตัวร้าย ควรระวังเอาไว้ให้ดี ยุงชนิดนี้มักจะกัดเราในตอนกลางวัน ส่วนมากจะอยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบๆ บ้านที่มีน้ำขัง
ใครที่เป็นไข้สูงมาแล้ว 2 – 7 วัน มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือสังเกตมีจุดแดงๆ ตามผิวหนัง หน้าแดง และเลือดออกตามไรฟัน คุณอาจเป็นไข้เลือดออกอยู่ก็เป็นได้ และยังต้องระวังหลังจากที่ไข้ลดลง เพราะอาจมีอาการที่รุนแรง เช่น มือเท้าเย็น เลือดออก ซึ่งทำให้ช็อคจนเสียชีวิตได้ ดังนั้นควรพบแพทย์มากกว่ารักษาเองที่บ้านค่ะ
หลังจากพบแพทย์แล้ว ในส่วนที่ต้องดูแลตัวเองควรเช็ดตัวบ่อยๆ เพื่อลดไข้ กินยาพาราเซตามอล และจิบหรือดื่มเกลือแร่ร่วมด้วย ส่วนการป้องกันแนะนำว่าให้ระวังทั้งกลางวันและกลางคืน อาจฉีดหรือทาโลชั่นกันยุง นอนในมุ้ง และกำจัดลูกน้ำหากพบเจอ
6. โรคปอดบวม
การลุยหรือย่ำน้ำอาจทำให้เกิดโรคที่มากับน้ำท่วมได้หลากหลาย แต่ที่รุนแรงไปกว่านั้นในกรณีที่น้ำท่วมสูง อาจมีคนที่สำลักน้ำสกปรกเข้าไปจนปอดได้รับสิ่งสกปรก หรือในอีกทางสามารถติดต่อได้ผ่านการหายใจรับเชื้อโรคในอากาศ และเกิด ‘โรคปอดบวม’ ขึ้นได้
เบื้องต้นให้สังเกตเลยว่า มีอาการไอ หายใจหอบ หายใจเร็วหรือไม่ ร่วมกับมีไข้สูง ลักษณะภายนอกจะทำให้เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นจากอาการปากซีด เล็บมือและเล็บเท้าเขียว อาการเหล่านี้สามารถพัฒนาไปสู่โรคที่รุนแรงขึ้นได้ อย่างเช่น มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแตก มีลมรั่ว หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และอาการแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลยค่ะ
อย่างไรก็ตาม หลังจากพบแพทย์แล้วเราควรใส่หน้ากากอนามัยในช่วงที่ป่วยอยู่ และกินยาลดไข้หากมีไข้ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น รวมถึงใส่เสื้อผ้าที่ไม่มีความชื้นและให้ความอบอุ่นกับร่างกาย
7. โรคอุจจาระร่วง
และโรคที่มากับน้ำท่วมอันสุดท้ายเป็นหนึ่งในอาการของอาหารเป็นพิษ โดยโรคอุจจาระร่วงนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากการกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรก กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไม่ได้ถูกปรุงสดใหม่ แน่นอนว่ามีโอกาสเกิดขึ้นจากการที่เราไปกินข้าวนอกบ้านมากกว่าการทำอาหารกินเอง
เริ่มแรกเกิดอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ รวมถึงอาจปนเลือดได้ด้วย แต่ถ้าอยู่ในขั้นที่อาการรุนแรงขึ้นจะเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำซาวข้าวหลายครั้ง สามารถบรรเทาหรือดูแลเบื้องต้นได้โดยการดื่มน้ำเกลือแร่
ทั้งนี้ ถ้าอาการหนักขึ้น ไข้สูงไม่มีทีท่าว่าจะลด อาเจียนหนัก หรือชัก ต้องพบแพทย์โดยด่วน และสามารถป้องกันได้โดยล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร ปรุงอาหารให้สุกสะอาด ถ้าเป็นอาการแช่เย็นหรือค้างคืนควรนำมาอุ่นร้อนก่อนกิน
ทั้ง 7 โรคที่มากับน้ำท่วมที่เราได้เจาะลึกกันในวันนี้ โรคที่รุนแรงอาจมีต้นเหตุจากการเผชิญกับน้ำท่วมเพียงไม่กี่ครั้งก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นในฤดูฝนแบบนี้อยากให้ทุกคนดูแลสุขภาพกันมากขึ้นและหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรกจากน้ำขังให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ให้ดูแลตัวอย่างเต็มที่ ทั้งทำความสะอาดร่างกายทันทีเมื่อถึงบ้าน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอเพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนแอและป่วยง่าย จะได้ห่างไกลโรคกันนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : th.yanhee.net, bangpakokhospital.com, bangkokhospitalhuahin.com, si.mahidol.ac.th
Featured Image Credit : freepik.com/wirestock
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ