X

ฝ่าเท้าบอกโรค ได้จริง ? ชวนเช็กฝ่าเท้า เพื่อสังเกตสุขภาพกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ฝ่าเท้าบอกโรค ได้จริง ? ชวนเช็กฝ่าเท้า เพื่อสังเกตสุขภาพกัน !

“เท้า” เป็นอวัยวะสำคัญอย่างยิ่งของร่างกาย แม้จะอยู่ในส่วนที่ต่ำสุดและคนเราอาจไม่ให้ความสำคัญหรือดูแลใส่ใจมากนัก แต่อย่าลืมว่า เท้าเป็นส่วนที่แบกรับน้ำหนักของร่างกายทั้งหมดเอาไว้ และถ้าหากเกิดอะไรขึ้นกับเท้าอย่างเช่น ปวดเท้า ข้อเท้าพลิก ก็ไม่สามารถเดินหรือเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกอีกต่อไป เพราะฉะนั้น เราควรหันมาดูแลสุขภาพเท้าของเราให้ดี เริ่มจากการสังเกตุฝ่าเท้าของเรา รู้หรือไม่ว่า ฝ่าเท้าบอกโรค ได้ หากมีอาการผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับเท้า หรือรู้สึกเจ็บ ชา ปวดบริเวณฝ่าเท้าขึ้นมา ให้รีบไปปรึกษาคุณหมอ อย่าทิ้งไว้ให้อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจจะเป็นสัญญาณบอกโรคต่างๆ ก็เป็นได้

ฝ่าเท้าบอกโรค, ฝ่าเท้าเป็นก้อน
Image Credit : freepik.com

ฝ่าเท้าเป็นก้อน ผิดปกติหรือไม่ ? แล้วอาการอื่นๆของ ฝ่าเท้าบอกโรค อะไรได้บ้าง ?

นอกจากอาการปวดฝ่าเท้าแล้ว หากลองคลำบริเวณฝ่าเท้าดูแล้วพบก้อนๆ อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติได้ มาดูกันว่า อาการผิดปกติที่ฝ่าเท้าบอกโรคอะไรได้บ้าง จะได้สังเกตตัวเองกัน และรักษาให้ทันท่วงที

1. ก้อนพังผืดฝ่าเท้า (Plantar Fascia)

อาการฝ่าเท้าบอกโรคในลักษณะเป็นก้อนเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณกลางฝ่าเท้า รู้สึกเจ็บ และเจ็บตอนเดินลงน้ำหนัก หรือเจ็บตอนเอามือกดๆ บริเวณก้อนเนื้อ อาจเป็นไปได้ว่าคือ ก้อนพังผืดฝ่าเท้า แต่อย่าเพิ่งตกใจไป ก้อนพังผืดนี้อยู่ในกลุ่มเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง ไม่ลุกลาม แต่จะสร้างความเจ็บปวดและสร้างความกังวลให้กับเราได้ แต่บางรายอาจไม่มีอาการใดๆ เลย ยกเว้นคลำได้ว่ามีก้อนเนื้ออยู่บริเวณนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ หากยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ

ฝ่าเท้าบอกโรค, ฝ่าเท้าเป็นก้อน
Image Credit : freepik.com

2. รองช้ำ (Plantar Fasciitis)

รองช้ำเกิดจากฝ่าเท้าอักเสบเรื้อรัง เพราะมีการใช้งานหนักเป็นเวลานาน เช่น ทำงานที่ต้องเดินหรือยืนเป็นประจำ และขาดการบริหารกายยืดเหยียด โดยจะมีอาการปวดบริเวณส้นเท้า เจ็บส้นเท้าจี๊ดๆ หรือปวดตรงกลางฝ่าเท้า ซึ่งจะเริ่มปวดในขณะที่ลุกขึ้นยืนหลักจากการนอน หรือนั่งนานๆ แล้วลุกเดิน และจะปวดมากตอนเริ่มเดิน ซึ่งถ้ามีอาการฝ่าเท้าบอกโรคแบบนี้ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นรองช้ำอยู่ก็ได้ค่ะ โดยส่วนใหญ่จะบรรเทาอาการปวดได้โดยการทำท่ายืดเหยียด หรือการทำกายภาพบำบัดเพื่อสลายพังผืดและบรรเทาอาการปวด ผู้ที่เป็นรองช้ำอยู่แล้ว ควรสวมใส่รองเท้านิ่มๆ ที่รู้สึกสบายเท้ามากที่สุด และไม่เจ็บเวลาเดิน พร้อมๆ กับการออกกำลังกายบริหารท่าลดปวด ก็จะช่วยได้ค่ะ

3. โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)

หากรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มตรงฝ่าเท้า และเกิดขึ้นบ่อย ร่วมกับมีอาการบวมแดง อ่อนแรงและชาบริเวณขา แขน ปลายมือ ปลายเท้าร่วมด้วย เป็นไปได้ว่าอาการฝ่าเท้าบอกโรคในลักษณะนี้ อาจเป็นอาการของโรคปลายประสาทอักเสบได้ สาเหตุเกิดจาก โรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคทางภูมิคุ้มกัน การขาดวิตามิน หรือการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น ดังนั้น หากมีอาการแบบนี้ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อจะได้วินิจฉัยได้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร และจะได้รักษาให้ถูกจุด อีกประการหนึ่งคือ การใส่รองเท้าที่นุ่มสบาย ไม่บีบรัดเท้า มีความยืดหยุ่นและขยับเท้าได้สะดวก ก็จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ลดอาการชาได้

4. โรคตาปลา (Corns)

โรคตาปลาเกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าแข็งตัวเป็นตุ่มหนา โดยมักจะเกิดขึ้นบริเวณด้านบน ด้านข้างเท้า หรือฝ่าเท้าเป็นก้อนเล็กๆ นูนๆ ขึ้นมา ซึ่งเกิดจากการสวมใส่รองเท้าที่ไม่พอดี หรือการเดินเยอะๆ ทำให้เท้ามีการเสียดสีจนเกิดเป็นตุ่มหรือเป็นก้อนใหญ่ขึ้นมาได้ ลักษณะตุ่มจะแห้งเป็นขุย และมีวงสีเหลืองบริเวณรอบๆ ตรงกลางจะเป็นผิวแข็งๆ มีสีเทา กดแล้วรู้สึกเจ็บ หากมีอาการฝ่าเท้าบอกโรคในลักษณะนี้ ประกอบกับเดินเยอะหรือใส่รองเท้าผิดไซส์  ก็อนุมานได้ว่าอาจจะเป็นตาปลานั่นเอง

ฝ่าเท้าบอกโรค, ฝ่าเท้าเป็นก้อน
Image Credit : freepik.com

5. เส้นประสาทหน้าเท้าอักเสบ (Morton’s neuroma)

เป็นอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทบริเวณหน้าเท้ามีการอักเสบอย่างเรื้อรัง ทำให้มีอาการปวดบริเวณหน้าเท้าหรือจมูกเท้า และอาจปวดลามมาถึงบริเวณฝ่าเท้าได้ โดยจะรู้สึกปวดร้อนๆ หรือรู้สึกเหมือนถูกเข็มทิ่ม รู้สึกเหมือนถูกไฟช็อต เจ็บจี๊ดๆ ปวดร้าวตรงฝ่าเท้า ร่วมกับชาที่หน้าเท้าหรือนิ้วเท้าด้วย ซึ่งเป็นอาการฝ่าเท้าบอกโรคเส้นประสาทหน้าเท้าอักเสบ สามารถรักษาอาการปวดได้โดยหลีกเลี่ยงการวิ่ง การยืน หรือเดินนานๆ หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าหน้าแคบ หรือรองเท้าส้นสูง จะทำให้อาการปวดทุเลาลงได้

เกร็ดสุขภาพ : การใส่รองเท้าส้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากจะทำให้เจ็บเท้าแล้ว ยังทำให้เกิดอาการปวดไหล่ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดหัวเข่า เสี่ยงที่จะข้อเท้าพลิก และการใส่รองเท้าส้นสูงยังส่งผลต่อกระดูกส่วนต่างๆ เนื่องจากกระดูกสันหลังจะถูกดัดเพื่อปรับสมดุลในการยืนและเคลื่อนไหว อาจทำให้กระดูกเคลื่อนได้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงกระดูกพรุนด้วย การรับประทานอาหารเสริมจำพวกแคลเซียมจะช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกพรุนได้ และการรับประทานผลไม้แคลเซียมสูง ก็ช่วยได้เหมือนกัน

6. ไขมันส้นเท้าฝ่อ (Fat pad atrophy)

หากรู้สึกเจ็บบริเวณฝ่าเท้าบอกโรคได้ว่า อาจมีภาวะไขมันส้นเท้าฝ่อ เวลาเดินจะรู้สึกเจ็บที่ฝ่าเท้า เพราะไขมันตรงผิวหนังบริเวณนั้นฝ่อไป ทำให้ไม่มีตัวรองรับน้ำหนัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่เกิดจากผลข้างเคียงของการฉีดยาบริเวณส้นเท้า (ยาแก้ปวด เป็นต้น) และยาไปรวมตัวกับไขมันบริเวณส้นเท้า ทำให้ชั้นไขมันส้นเท้าฝ่อได้ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรครูมาตอยด์ หรือในผู้สูงอายุที่อายุมากขึ้นแล้วเกิดการฝ่อของไขมัน สามารถรักษาได้โดยการปรับรองเท้าให้มีส่วนที่รองรับฝ่าเท้าและส้นเท้า หรือการผ่าตัดปลูกไขมัน (Fat grafting)

ฝ่าเท้าบอกโรค, ฝ่าเท้าเป็นก้อน
Image Credit : freepik.com

7. พังผืดรัดเส้นประสาทบริเวณเท้า (Tarsal tunnel syndrome)

อาการฝ่าเท้าบอกโรคอีกชนิดหนึ่งคือ พังผืดรัดเส้นประสาทบริเวณเท้า ซึ่งเกิดจากการที่พังผืดก่อตัวหนาขึ้นและไปกดทับเส้นประสาทบริเวณเท้า โดยกดทับได้ทั้งบริเวณหน้าเท้าและหลังเท้า ทำให้ปวดเท้าด้านในเวลายืนหรือเดินนานๆ และรู้สึกปวดแสบปวดร้อน พร้อมกับมีอาการชาบริเวณฝ่าเท้า และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เท้าแบน เส้นเอ็นผิดปกติ เป็นรองช้ำ โดยมีสาเหตุคือ มีถุงน้ำไปกดทับบริเวณผังผืด หรือมีเนื้องอก/ ก้อนไขมัน /มีกระดูกงอก เป็นต้น สำหรับการรักษาคือ รักษาโดยการใช้ยา เช่น ยาลดอักเสบ ยาลดอาการปวด การใส่อุปกรณ์ดาม การยืดกล้ามเนื้อน่อง หรือรักษาโดยการผ่าตัด

เกร็ดสุขภาพ : เท้าแบน (Flat feet) เป็นลักษณะของเท้าที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า โดยฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้น ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น ข้อต่อหย่อน เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่ยิดเชื่อมกัน หรือโรคหนังยึดผิดปกติ และอาจเกิดจากการเล่นกีฬาหนักๆ เมื่อมีอาการรุนแรงมากขึ้น จะรู้สึกเจ็บรอบๆ ข้อเท้าและอุ้งเท้ามากขึ้น ชาฝ่าเท้า หรือเอ็นนิ้วเท้าอ่อนแรง เท้าผิดรูป สวมรองเท้าไม่ได้ตามปกติเพราะรู้สึกเจ็บ หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาเพิ่มเติม

ถ้าลองลูบๆ คลำๆ ฝ่าเท้าดูแล้วพบว่ามีสิ่งผิดปกติ เช่น ฝ่าเท้าเป็นก้อน หรือมีอาการปวดฝ่าเท้า ชาฝ่าเท้าอยู่เป็นประจำ ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ที่ได้กล่าวไป ก็เป็นไปได้ว่า เท้าของเรามีความผิดปกติ และอาจมีปัญหาสุขภาพได้ แต่อย่างตกใจหรือกังวลจนเกินไป ทางที่ดีคือ ไปปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุดค่ะ จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวล และถ้าใครกำลังมีอาการอยู่ ก็อย่าลืมถนอมเท้าของคุณด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้งานหนักๆ อย่างการเดินนานๆ หรือยืนนานๆ งดการออกกำลังกายอย่างหนักด้วย เพราะอาจทำให้เท้าบาดเจ็บได้ การเลือกรองเท้าให้เหมาะสมก็มีส่วนที่จะทำให้สุขภาพเท้าเราดีขึ้น รวมไปถึง หมั่นดูแลให้เท้าสะอาด ไม่ให้เท้าแตกแห้ง เพราะเท้าก็มีความสำคัญไม่แพ้กับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่ใจดูแลสุขภาพเท้ากันนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : verywellhealth.com, healthline.com, prevention.com

Featured Image Credit : freepik.com/Racool_studio

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save