X

กะเม็งตัวผู้ คืออะไร ? ชวนรู้จักสมุนไพรชื่อแปลก แต่มากด้วยคุณค่า !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

กะเม็งตัวผู้ คืออะไร ? ชวนรู้จักสมุนไพรชื่อแปลก แต่มากด้วยคุณค่า !

กะเม็งตัวผู้ เป็นสมุนไพรที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ Sphagneticola calendulacea (L.) Pruski จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับทานตะวัน สมุนไพรนี้มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกด้วย เช่น ฮ่อมเกี่ยวคำ (เชียงใหม่) กะเม็งดอกเหลือง (ไทย) อึ้งปั้วกีเชา (จีน) ในขณะที่กะเม็งตัวผู้ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเลื้อยและชูขึ้น และให้ดอกสีเหลือง ส่วนกะเม็งตัวเมีย หรือ Eclipta prostrata L. จะให้ดอกเป็นสีขาว

กะเม็งตัวผู้, กะเม็ง สรรพคุณ
Image Credit : flowersofindia.net

มาทำความรู้จัก กะเม็งตัวผู้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ !

กะเม็งตัวผู้ เป็นไม้ล้มลุกที่ส่วนลำต้นเลื้อย ใบเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน มีก้านใบสั้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวที่บริเวณยอด ลักษณะของดอกมีขนาดเล็ก เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลืองวงนอกมีลักษณะเป็นรูปรางน้ำ ปลายกลีบดอกเป็นหยัก 3 หยัก โดยกลีบดอกมีความยาวประมาณ 8-11 มิลลิเมตร ส่วนผลกะเม็งตัวผู้ ลักษณะเป็นรูปสอบแคบ ผิวผลขรุขระไม่เรียบ ผลมีรยางค์เป็นรูปถ้วย มีขนาดเล็กประมาณ 4-5 มิลลิเมตร

การแพทย์แผนไทยได้ใช้ประโยชน์กะเม็ง สรรพคุณจากส่วนต่างๆ ของต้น เช่น ใช้บำรุงโลหิต ด้วยการใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กิน (ทั้งต้น) ใช้แก้อาการไอ โดยใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กินก็ได้ (ทั้งต้น) ใช้แก้อาการอาเจียนเป็นเลือด โดยนำลำต้นมาตากแห้งใช้ชงเป็นยาดื่ม หรือจะใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งนำมาต้มหรือทำเป็นผงใช้กินก็ได้ (ลำต้น, ทั้งต้น) ส่วนใบกะเม็งตัวผู้ ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ ช่วยแก้โรคผิวหนัง เป็นต้น ทั้งนี้สรรพคุณเด่นของกะเม็งตัวผู้ มีดังนี้

กะเม็ง…ยาแก้เกี่ยว

สำหรับอาการ “เกี่ยว” นั้นเป็นอาการทางประสาท เป็นลมวิงเวียน ชักเกร็ง มือเกร็งและเกี่ยวกัน ซึ่งอาการเช่นนี้คล้ายๆ กับโรค Hyperventilation ในแผนปัจจุบัน ทั้งนี้หมอยาอีสาน หมอยาไทยใหญ่ หมอยาล้านนา มักจะเรียกกะเม็งว่า “ฮ่อมเกี่ยว” วิธีใช้นั้นจะนำกะเม็งตัวผู้เป็นตัวหลักตำคั้นน้ำผสมกับสมุนไพรอื่นๆ ที่มีกลิ่นหอม เช่น ขิง ว่านเปราะหอม เป็นต้น แล้วใช้น้ำคั้นที่ได้ให้ผู้ป่วยจิบ และใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำคั้นสมุนไพรเหล่านั้นเช็ดหน้า คลุมหัวผู้ป่วยไว้ ในการศึกษาวิจัยสมัยใหม่เกี่ยวกับกะเม็ง พบว่ามีฤทธิ์คลายเครียด ช่วยทำให้นอนหลับ โดยกะเม็งไปมีฤทธิ์เพิ่มระดับ Melatonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาตอนกลางคืน สารนี้จะช่วยปรับสภาพร่างกายให้เหมาะแก่การนอนหลับ แล้วทุกวันนี้ร่างกายต้องใช้เวลานอนเพียงพอ ซึ่งสิ่งที่ต้องรู้คือ คนเราต้องนอนกี่ชั่วโมง

เกร็ดสุขภาพ : ในการศึกษาค้นคว้าโดยประเมินผลกระทบของน้ำมันหอมระเหยจากต้นกะเม็งตัวผู้ที่มีต่อสารอนุมูลอิสระและคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยกับความสามารถยับยั้งอนุมูลอิสระ และยังพบอีกว่าน้ำมันหอมระเหยของกะเม็งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากโดยเฉพาะในช่วงเซลล์มะเร็งกำลังเจริญเติบโต

กะเม็งตัวผู้, กะเม็ง สรรพคุณ
Image Credit : flowersofindia.net

กะเม็ง…รักษาตับ

ในตำรับยาแผนโบราณทั้งของไทย จีน พม่า อินเดีย ต่างอาศัยกะเม็ง สรรพคุณเป็นยารักษาตับ โดยหมอยาไทยมักจะใช้กะเม็งรักษาอาการดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง เช่นเดียวกับหมอยาพม่าและหมอยาอินเดียเพียงแต่ว่าจะใช้กะเม็งตัวผู้เพียงอย่างเดียว หรือบางตำรับก็ใช้เป็นตำรับร่วมกับต้นลูกใต้ใบ ซึ่งต้องทราบว่าลูกใต้ใบ อันตรายไหม ? กินยังไง ผักหวานบ้าน มะขามป้อม เป็นต้น หมอยาพื้นบ้านในบางจังหวัดใช้ต้นกะเม็งสดๆ 3-4 ต้น ล้างให้สะอาดนำไปต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที แล้วดื่มน้ำโดยผสมน้ำตาลทรายลงไปผสมพอมีรสหวาน ดื่มกินไม่เกิน 2 วัน ช่วยแก้อักเสบ บวมช้ำ ปัจจุบันมีรายงานการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากถึงผลของกะเม็งต่อตับ คือกะเม็งสามารถป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษรวมทั้งจากแอลกอฮอล์ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส แถมยังช่วยในการฟื้นตัวของตับที่ถูกทำลายได้อีกด้วย

กะเม็ง…ยาอายุวัฒนะ

กะเม็งตัวผู้ยังเข้ายาอายุวัฒนะหลายตำรับ มีทั้งใช้เดี่ยวๆ และใช้เข้ายาตำรับร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยทำเป็นผง ปั้นเป็นลูกกลอน เป็นยาชงกินแทนน้ำชาทุกวันก็ได้ และมีตำรับที่ใช้การตำคั้นกะเม็งผสมน้ำผึ้งกินทุกวันเดือนดับก็มี จากการศึกษาสมัยใหม่พบว่ากะเม็งมีฤทธิ์เพิ่ม T-lymphocyte และมีการศึกษาตำรับยาจีนชนิดหนึ่งเรียกว่า AFE ซึ่งมีกะเม็งเป็นส่วนประกอบ พบว่าสูตรยาดังกล่าวสามารถเพิ่มระดับ lymphocyte และ IgG ซึ่งเป็นสารสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้กะเม็งยังทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเม็ดเลือดแดงแข็งแรงขึ้น ซึ่งยืนยันการใช้เป็นยาอายุวัฒนะของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี และอาจมีประโยชน์ต่อการใช้เป็นยาเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยเอดส์ นอกจากนี้แล้วยังพบว่า กะเม็งลดการกดภูมิคุ้มกันซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ใรักษาความเป็นปกติของร่างกายขณะได้รับเคมีบำบัดนอกจากเป็นยาอายุวัฒนะแล้ว หมอยาพื้นบ้านยังระบุว่ากะเม็ง สรรพคุณเหมาะที่จะทำเป็นชาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยนำต้นกะเม็งตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปคั่วให้พอหอม ชงน้ำร้อนดื่มเป็นน้ำชาได้ดี

กะเม็ง…รักษาแผล โรคติดเชื้อทางผิวหนัง แก้อักเสบ

หมอยาทุกภาคต่างรู้ดีว่ากะเม็งตัวผู้เป็นสมุนไพรทำแผล ช่วยห้ามเลือดและป้องกันการติดเชื้อ กะเม็งยังใช้ตำพอกแก้อักเสบเมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ต้มอมบ้วนปากรักษาอาการปากและเหงือกเป็นแผล แก้ปวดฟันหรือจะใช้ต้นสดผิงไฟให้แห้งแล้วบดเป็นผงทาที่เหงือกแก้ปวดฟันก็ได้ และกะเม็งยังใช้รักษาอาการปากเปื่อย-ปากเจ็บเนื่องจากเชื้อราในเด็ก โดยใช้น้ำคั้นจากใบ 2 หยดผสมน้ำผึ้ง 8 หยด ทาบ่อยๆ กะเม็งยังสามารถรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาการฟกช้ำ อาการแพ้ได้อย่างดี โดยบดตำเอามาพอกที่บาดแผล ลดอาการอักเสบ ปวดแสบปวดร้อน อาการอักเสบจะดีขึ้น โดยพอกติดต่อกันและคอยเปลี่ยนยาที่พอกบ่อยๆ กะเม็งยังช่วยรักษาอาการน้ำกัดเท้า ชาวนาสมัยก่อนจะนำใบกะเม็งขยี้ทาเท้าทิ้งไว้ให้แห้งก่อนลงนา การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่ากะเม็งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อทั้งราและแบคทีเรีย และเป็นสมุนไพรที่ขึ้นได้ดีในหน้าน้ำ

กะเม็ง…ต่อต้านมะเร็ง

กะเม็งตัวผู้เป็นส่วนประกอบทั่วไปของยาสมุนไพรต้านการอักเสบในไต้หวันและทางตอนใต้ของจีน การอักเสบนั้นไปส่งเสริมการเจริญเติบโตของเนื้องอก แล้วทำให้เกิดการแพร่กระจายตามมา จากการศึกษาผลกระทบทางชีวภาพของสารสกัดกะเม็งตัวผู้ที่มีต่อมะเร็งต่อมลูกหมากในร่างกาย พบว่า สารสกัดของกะเม็งตัวผู้ทำให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากตาย ทั้งนี้เพราะสารสกัดดังกล่าวเกิดจากสารประกอบออกฤทธิ์สามชนิดที่ยับยั้งการส่งสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมากที่ทำให้เกิดเนื้องอก โดยสารประกอบที่ออกฤทธิ์ทั้งสามชนิด ได้แก่ เวเดลแลคโตน ลูโอลิน และเอพิจีนิน ทั้งนี้อาจจะเลือกกิน 7 อาหารยับยั้งมะเร็ง ให้ห่างไกลมะเร็ง

เกร็ดสุขภาพ : ต้นกะเม็งที่นำมาใช้ทำยา ควรนำมาทำยาตอนสดๆ เพราะถ้าเก็บไว้นานประสิทธิภาพจะเสื่อมไป ในการเก็บกะเม็งเพื่อใช้เป็นยานั้น ควรเก็บมาทั้งต้นในขณะที่ต้นเจริญเต็มที่และกำลังออกดอก เมื่อเก็บมาแล้วก็ล้างเศษดินออกให้สะอาด แล้วนำมาหั่นเป็นท่อนๆ หรือเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาตากหรือผึ่งให้แห้ง แล้วเก็บไว้ที่แห้งและเย็น และยากะเม็งแห้งที่ดีควรมีสีเขียว ไม่มีเชื้อราหรือไม่มีสิ่งอื่นมาเจือปน ที่สำคัญห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการม้ามพร่อง ไตหยินพร่อง มีอาการปัสสาวะบ่อยๆ ไม่หยุด หรือถ่ายเป็นน้ำมาก

กะเม็งตัวผู้, กะเม็ง สรรพคุณ
Image Credit : pixabay.com

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : theinterstellarplan.com

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save