“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ไขมันพอกตับ อาหาร ที่ควรกินมีอะไรบ้าง ? ชวนรู้จักโรคนี้เกิดจากอะไร รักษายังไงได้บ้าง ?!
สุขภาพของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญ และการดูแลสุขภาพ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำอย่างมาก ผู้ที่ละเลยการดูแลสุขภาพ ทั้งดื่มหนัก หรือกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ บริโภคทั้งไขมันและแป้ง น้ำตาลมากเกินไป ก็อาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไขมันพอกตับได้ ซึ่งภาวะไขมันพอกตับนั้น จะพบได้ก็ต่อเมื่อได้ไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือมีเหตุที่ต้องตรวจการทำงานของตับแล้วพบว่าค่าตับมีความผิดปกติ ซึ่งไขมันพอกตับนั้น สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย มาดูกันว่า คนที่มี ไขมันพอกตับ อาหาร ที่ควรกิน และไม่ควรกิน มีอะไรบ้าง และควรจะดูแลตัวเองอย่างไร แล้วไขมันพอกตับ รักษาได้หรือไม่ ? อันตรายมากแค่ไหน ไปอ่านกันเลยค่ะ
ไขมันพอกตับ อาหาร ที่ควรกินมีอะไรบ้าง ? ใส่ใจเรื่องอาหาร ลดความเสี่ยงของโรคได้
ไขมันพอกตับ หรือ Fatty Liver เป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ตับ เกิดจากการมีน้ำตาลในร่างกายมากเกินไป จนตับต้องเปลี่ยนน้ำตาลเหล่านั้นเป็นไขมัน โดยปกติแล้ว ระดับน้ำตาลในร่างกายจะถูกควบคุมโดยอินซูลิน แต่ในบางรายที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ตับมีการสะสมไขมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมักจะพบในกลุ่มโรคที่ร่างกายต้องใช้พลังงานสูง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง ประกอบกับการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูงอย่างแป้ง น้ำตาล และไขมัน ก็ทำให้เกิดไขมันและน้ำตาลส่วนเกินในร่างกาย และปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ ก็สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการใส่ใจในเรื่องการกินอาหารมากขึ้น แล้วผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ อาหารอะไรบ้างที่ควรกิน ? กินแล้วดีต่อร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ ไปดูกันเลยค่ะ
1. ธัญพืชต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นข้าวโอ๊ต ลูกเดือย ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวกล้อง ควินัว และอื่นๆ เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ใช้เวลาย่อยนาน ทำให้ร่างกายค่อยๆ ได้รับพลังงาน และไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ทำให้ลดการสะสมน้ำตาลในร่างกาย อีกทั้งธัญพืชต่างๆ ก็มีใยอาหารและมีวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ มากมายที่ดีต่อสุขภาพด้วย ต่อจากนี้ ลองเปลี่ยนเมนูมื้ออาหารที่เป็นแป้งขัดขาวมาเป็นเมนูอาหารธัญพืช เพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ
2. ปลาทะเลน้ำลึก
ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ อาหารที่ควรรับประทานคือ โปรตีนที่มีไขมันดีต่อร่างกาย ซึ่งก็ได้แก่ปลาทะเลน้ำลึกชนิดต่างๆ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอร์เรล ปลาสำลี ปลาจะละเม็ดขาว เป็นต้น เพราะการได้รับโปรตีนจากเนื้อหมูและเนื้อวัวนั้น มีไขมันสูง ซึ่งไม่ดีต่อผู้มีภาวะไขมันพอกตับ แต่ปลาทะเลน้ำลึกจะมีโอเมก้า 3 ที่เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่จะช่วยเพิ่มไขมันดีให้กับร่างกายได้
3. ผักใบเขียว
ประโยชน์ของการกินผักใบเขียวนั้นดีต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผักคะน้า ผักโขม ผักกาดหอม หรือผักใบเขียวอื่นๆ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันการเกิดโลหะหนักในตับ และช่วยชะล้างสารเคมีที่สะสมอยู่ในตับ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดไขมันพอกตับได้ด้วย นอกจากนี้ ผักใบเขียวอย่างกะหล่ำปลี ก็จะช่วยเพิ่มกลูต้าไธโอนในร่างกาย ซึ่งกลูต้าไธดอน ก็มีสรรพคุณช่วยล้างพิษในตับได้ด้วยค่ะ และยังไม่หมดเพียงเท่านี้ การกินผักใบเขียว ยังช่วยลดน้ำหนักด้วยนะคะ เพราะมีใยอาหารสูงมาก ช่วยให้เราอิ่มนาน และยังดีต่อระบบขับถ่ายด้วย
4. อะโวคาโด
แม้อะโวคาโดจะเป็นผลไม้ที่มีไขมันสูง และอะโวคาโดก็มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวและเป็นไขมันที่ดีต่อร่างกาย และถูกจัดให้เป็น Superfood ด้วย เพราะมีประโยชน์กับร่างกายมาก เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวหรือ Monounsatyrated Fat ซึ่งจะช่วยลดไขมันเลวชนิด LDL ในเลือดได้ และยังมีวิตามินบีสูง ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยเยียวยาและกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสียหาย นอกจากนี้ ยังมีวิตามินอีสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดการอักเสบในร่างกาย อะโวคาโด จึงเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับมากๆ ค่ะ
5. เห็ดต่างๆ
ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ อาหารที่ควรกินเป็นอย่างยิ่งคือเห็ดชนิดต่างๆ เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอม เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ เพราะมีสรรพคุณช่วยลดไขมันที่สะสมในตับและในกระแสเลือด จึงดีต่อผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับโดยตรง และเห็ดยังช่วยล้างพิษในตับ ลดอนุมูลอิสระ และต่อต้านการก่อตัวของมะเร็ง ทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดขาวอีกด้วย นับว่าเป็นอาหารที่ดีต่อร่างกายโดยรวมเลยทีเดียว
6. กาแฟดำ
ใครที่เป็นคอกาแฟจะต้องถูกใจ เพราะคนที่มีภาวะไขมันพอกตับ อาหารที่ควรกินอีกอย่างหนึ่งคือ กาแฟดำค่ะ ในกาแฟดำมีกรด Chlorogenic ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย ทั้งยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และสารในกาแฟยังมีส่วนช่วยลดการสะสมไขมันในตับด้วย ทั้งนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่าต้องเป็นกาแฟดำที่ไม่เติมนม น้ำตาล และครีมเทียมใดๆ เพราะถ้าดื่มกาแฟที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและครีม อาจไม่ช่วยในเรื่องของสุขภาพ และยังเป็นการทำลายสุขภาพทางอ้อมด้วย เพราะการบริโภคน้ำตาลเกินความจำเป็น ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้
7. ถั่วเหลือง
ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองต่างๆ อย่างเต้าหู้ และนมถั่วเหลือง อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนได้ นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังมีโปรตีน β-conglycinin สูง ซึ่งอาจช่วยป้องกันการสะสมของไขมันในตับได้ และเต้าหู้ก็เป็นอาหารไขมันต่ำ อีกทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมอาหารและต้องการจำกัดปริมาณไขมัน
เกร็ดสุขภาพ : การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ สามารถทำได้โดยการตรวจเลือดดูค่าตับหรือตรวจการทำงานของตับ การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจเพื่อดูปริมาณไขมันและการอักเสบ รวมถึงดูระดับพังผืดในตับ และการตรวจด้วยเครื่อง Fibroscan ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยประเมินปริมาณไขมันในตับ รวมถึงระดับพังผืด และตรวจภาวะตับแข็งได้โดยที่ไม่เจ็บตัว
ไขมันพอกตับ รักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง ?
ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ นอกจากอาหารที่ควรกินเพื่อบำรุงสุขภาพ และเพื่อลดความเสี่ยงความรุนแรงของโรค ยังมีวิธีรักษาและป้องกันให้ห่างไกลจากการเป็นไขมันพอกตับด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
- ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง เช่น นมไขมันเต็ม เนย กะทิ อาหารทะเล และให้ใช้วิธีการปรุงอาหารแบบอบ ต้ม หรือนึ่งแทนวิธีการทอด รวมไปถึงหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มีส่วนประกอบของไขมันสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นกุนเชียง ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะมีไขมันสูงแล้ว ยังเป็นอาหารก่อมะเร็งด้วยนะคะ
- ควบคุมปริมาณการรับประทานแป้งในแต่ละวัน โดยเฉพาะแป้งขัดขาวอย่างจำพวกข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นพาสต้า และขนมอบต่างๆ อย่างที่กล่าวไปว่า เมื่อกินอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นไขมันที่สะสมในตับมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ตับทำงานหนักยิ่งขึ้น และไม่ดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วยค่ะ
- หากมีน้ำหนักตัวมาก หรือมีภาวะอ้วนร่วมอยู่ด้วย ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทั้งนี้ ไม่ควรลดน้ำหนักแบบวิธีหรือลดแบบหักโหม เพราะจะทำให้เกิด yoyo effect ด้
- ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน และออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป เพื่อให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญพลังงาน และยังดีต่อหัวใจ ดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยา หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ไม่จำเป็น เพราะจะทำให้ตับและไตทำงานหนักได้
- ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็กการเช็กการทำงานของตับและตรวจสุขภาพโดยรวมด้วย
เกร็ดสุขภาพ : ไขมันพอกตับ ไม่ใช่ภาวะที่อันตรายร้ายแรง แต่เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลระยะยาว ถ้ามีการสะสมมากๆ ก็เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กล่าวคือ นำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับ ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ จะมีอาการแสดงให้เห็นก็ต่อเมื่อมีไขมันสะสมอยู่ในตับเป็นจำนวนมาก ทำให้เซลล์ตับมีการบวม โดยจะมีอาการคือ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย รู้สึกไม่สบายท้อง จุกเสียดแน่นท้อง เจ็บตรงชายโครง คลื่นไส้ น้ำหนักลดผิดปกติ ความอยากอาหารลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะไขมันพอกตับ รักษาและป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายเป็นหลัก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพตัวเองอย่างเหมาะสม
ไขมันพอกตับ ถ้าปล่อยเอาไว้ ไม่ดูแล อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ และทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย จนทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป และอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งตับได้เลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อมีภาวะไขมันพอกตับ จึงควรใส่ใจสุขภาพเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกิน ไขมันพอกตับ อาหารอะไรบ้างที่ควรกินและไม่ควรกิน ก็ได้รู้ชัดเจนกันไปแล้ว ซึ่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างผักผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีนั้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ และลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคไขมันพอกตับได้นะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nakornthon.com, chulalongkornhospital.go.th, thasl.org, healthline.com, my.clevelandclinic.org, webmd.com, bangkokhospital.com
Featured Image Credit : freepik.com/jcomp
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ