“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
นิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุ เกิดจากอะไร ? ชวนรู้จักโรคร้ายในอวัยวะเล็กๆ ที่ไม่ควรมองข้าม !
การดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เนื่องจากระบบการทำงานในร่างกายของเรามีความซับซ้อนและทำงานในหลายๆ ส่วน ถ้าหากดูแลสุขภาพได้ไม่ดีหรือละเลยในเรื่องการดูแลสุขภาพไปก็อาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยตามมาได้ แม้แต่อวัยวะเล็กๆ อย่างถุงน้ำดีที่อยู่ในบริเวณตับก็อาจเกิดความผิดปกติ และมีตะกอนในนั้น ทำให้เกิดเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ที่หลายๆ คนคงเคยได้ยินกันมาบ้าง ซึ่งถ้าละเลยการดูแลสุขภาพหรือไม่ใส่ใจดูแลตัวเองก็อาจพัฒนาไปเป็นความเจ็บป่วยร้ายแรงได้ แล้ว นิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุ เกิดจากอะไร ? มีวิธีการรักษาอย่างไร ? เราสามารถหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้หรือไม่ ไปอ่านกันค่ะ
ชวนรู้จักโรค นิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุ คืออะไร ? ทำไมถึงมีโอกาสเป็นได้
ถุงน้ำดี (Gallbladder) เป็นอวัยวะเล็กๆ ในบริเวณช่องท้อง ทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำดี เพื่อให้น้ำดีมีความเข้มข้นพร้อมสำหรับการย่อยไขมันที่เราบริโภคเข้าไป ซึ่งสาเหตของการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดีนั้น เกิดจากการตกตะกอนของสารต่างๆ ในน้ำดี ที่มีทั้งผลึกของหินปูน (แคลเซียม) คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน และทำให้เกิดเป็นนิ่วขึ้น ซึ่งตะกอนเหล่านี้ อาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายหรือมีขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟเลยก็ได้ และมีจำนวนตั้งแต่หนึ่งก้อนไปจนถึงหลายร้อยก้อนด้วยกัน และหากมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งในถุงน้ำดีได้ด้วย โดยตะกอนเหล่านี้เกิดจาก
- เกิดจากการตกตะกอนของไขมัน จะเป็นนิ่วประเภทคอเลสเตอรอล เนื่องจากมีคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี ตะกอนจะมีลักษณะเป็นสีเหลือง หรือสีขาว
- เกิดจากความผิดปกติของเลือด ในกรณีที่เม็ดเลือดแดงมีการแตกตัว ก็อาจะเกิดเป็นตะกอนเม็ดสีในนิ่วได้ พบในผู้ที่เป็นโรคเลือดจาง โรคตับแข็ง เป็นต้น
- เกิดจากการติดเชื้อใกล้ตับ ท่อน้ำดี ตับอ่อน เกิดเป็นนิ่วลักษณะคล้ายโคลน เหนียวหนืด เรียกว่านิ่วโคลน
เกร็ดสุขภาพ : ความผิดปกติของถุงน้ำดีมักจะมาจากภาวะการอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการมีเนื้องอก เกิดจากพังผืด เกิดการติดเชื้อ หรือได้รับการกระทบกระเทือน เป็นต้น แต่สาเหตุส่วนใหญ่ประมาณ 95% ของการเกิดถุงน้ำดีอักเสบ มาจากการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีนั่นเองค่ะ (ข้อมูลสถิติจากโรงพยาบาลพระราม 9)
เจาะลึกโรคนิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุของการเกิดนิ่ว มีอะไรบ้าง ?
จากข้างต้นเราก็ได้ทราบแล้วว่า ตะกอนหรือก้อนนิ่วในถุงน้ำดีนั้น มาจากอะไรบ้าง ซึ่งเราจะไปเจาะลึกกันว่ากลุ่มโรคหรือพฤติกรรมใดบ้างที่ทำให้เกิดตะกอนเหล่านี้ในถุงน้ำดี และทำให้เกิดเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ ไปดูกันเลยค่ะ
1. อดอาหาร ลดน้ำหนัก
การอดอาหาร หรือการหักโหมลดน้ำหนักมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตะกอนในถุงน้ำดีได้ เนื่องจากหน้าที่ของน้ำดีคือ เป็นตัวย่อยไขมันที่เรารับประทานเข้าไปในร่างกาย แต่เมื่อเราลดน้ำหนักอย่างหักโหม กินน้อยหรือไม่กินอาหาร ก็จะทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวน้อยลง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องหลั่งน้ำดีมาย่อย และเมื่อน้ำดีไม่ค่อยได้หลั่งออกมา ก็จะสะสมอยู่ในถุงน้ำดีและมีโอกาสที่จะเกิดเป็นตะกอนก้อนนิ่วได้
2. รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ
นิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุหนึ่งคือ การรับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ อาจทำให้เกิดเป็นตะกอนคอเลสเตอรอลร่วมกับเกลือแร่และโปรตีนที่ไม่สมดุลในน้ำดี จนเกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดี และถ้าปล่อยไว้ อาจเกิดการอักเสบในถุงน้ำดีได้ในที่สุด
3. เกิดจากโรคประจำตัวบางชนิด
โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเลือดจาง ธาลัสซีเมีย ทำให้มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงมากกว่าคนปกติ ซึ่งการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงนี้จะก่อให้เกิดเม็ดสีหรือบิริรูบิน แล้วไปสะสมเป็นตะกอนอยู่ในถุงน้ำดี และอาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วได้
4. ฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการรับประทาน หรือมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนขณะตั้งครรภ์สูง ก็จะส่งผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วจากคอเลสเตอรอลได้เช่นกัน
นอกจากนี้ นิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุอื่นๆ อาจมาจากความอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากผู้ที่มีภาวะอ้วนจะเกิดนิ่วจำพวกคอเลสเตอรอล รวมถึงการรับประทานยาลดไขมันบางชนิด และผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานที่มีระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงมากๆ ก็มีโอกาสจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้
ชวนสังเกตตัวเอง อาการของโรคนิ่วถุงน้ำดี มีอะไรบ้าง ?
- มีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
- มีอาการปวดใต้ลิ้นปี่ ใต้ชายโครงด้านขวา หรือปวดร้าวที่ไหล่ หรือบริเวณหลังด้านขวา
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หรือปวดจุกเสียดรุนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน มีไข้หนาวสั่น ซึ่งเกิดจากการที่ถุงน้ำดีติดเชื้อ
- มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีขาว ซึ่งเกิดจากก้อนนิ่วอุดตันในท่อน้ำดี
เกร็ดสุขภาพ : โรคนิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคในระบบทางเดินอาหารที่ส่วนใหญ่มักจะพบบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 30 – 50 ปี ซึ่งอาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อยนั้น มักจะเป็นอาการที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารและซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องก็อาจเกิดการสะสมของตะกอนนิ่วเป็นเวลานาน และแสดงอาการรุนแรงออกมาได้
นิ่วในถุงน้ำดี หายเองได้ไหม ? มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
สำหรับการรักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดี ทำได้โดยการผ่าตัดเท่านั้น เนื่องจากก้อนนิ่วจะไม่มีทางสลายหรือสามารถหายไปได้เอง และนิ่วในถุงน้ำดีไม่สามารถรักษาได้โดยการกินยาสลายนิ่วเหมือนในกรณีในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยการผ่าตัดจะมีอยู่ 2 วิธีคือ
- การผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง โดยจะทำการผ่าตัดบริเวณช่องท้องด้านชายโครงด้านขวา และตัดเอาถุงน้ำดีพร้อมกับนิ่วออกมา ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้ มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างรุนแรง ถุงน้ำดีแตกทะลุ หรือเริ่มมีอาการดีซ่าน
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่ปลอดภัย และแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ และลดอาการเจ็บปวดของบาดแผลได้มากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว และกลับบ้านได้เร็ว
ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่า นิ่วในถุงน้ำดี หายเองได้ไหม ? คำตอบก็คือ ไม่สามารถหายเองได้นะคะ ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้นค่ะ และในทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถสลายนิ่วในถุงน้ำดีได้ รวมถึงการเลเซอร์ก้อนนิ่วในบริเวณถุงน้ำดีก็มีความเสี่ยงสูงและอันตรายเป็นอย่างมาก จึงไม่นิยมกัน ซึ่งวิธีรักษาโดยการผ่าตัดด้วยการตัดถุงน้ำดีออก เป็นวิธีที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานที่สุดในตอนนี้ค่ะ และไม่ต้องกังวลไปว่า หากตัดถุงน้ำดีออกแล้ว ร่างกายจะสามารถผลิตน้ำดีเพื่อย่อยไขมันได้จากไหนอีก ? ซึ่งตับของเราก็ยังคงสามารถผลิตน้ำดีได้อยู่ (อ่านเพิ่มเติม หน้าที่ของตับ ไต คืออะไร) และร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ในภายหลังค่ะ
มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
ตอนนี้ก็ได้ทราบกันแล้วว่า โรคนิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยงโอกาสในการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ ด้วยการดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ดังนี้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง และอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน รวมถึงอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารทอด อาหารปิ้งย่าง เนื้อสัตว์ติดมัน รวมถึงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสในการเกิดคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี และเกิดเป็นตะกอนนิ่วได้ ทั้งนี้ อาหารแปรรูป อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารทอด ปิ้งย่าง ยังเป็นอาหารก่อมะเร็งอีกด้วยค่ะ
- หลีกเลี่ยงการกินรสหวานจัด หลีกเลี่ยงการกินของหวาน กินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดตะกอนนิ่วในถุงน้ำดีได้
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วยการกินอาหารอย่างสมดุล เน้นผักและโปรตีนเป็นหลัก รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจหาระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด และตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี ไม่อดอาหารหรือหักโหมการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ถุงน้ำดีทำงานอย่างไม่เหมาะสมและสะสมตะกอนได้ เน้นการออกกำลังกาย เช่น การวิ่งลดน้ำหนัก หรือออกกำลังกายประเภทอื่นๆ ที่ชอบ รวมถึงมีการควบคุมอาหาร และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีโดยรวม
โรคนิ่วในถุงน้ำดี สาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุมาจากพฤติกรรม หรือมาจากโรคประจำตัวต่างๆ ที่มีโอกาสทำให้เกิดตะกอนนิ่วในถุงน้ำดีได้ ทั้งนี้ ควรดูแลตัวเองด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสในการเกิดตะกอนนิ่วมากขึ้น ทั้งการลดอาหารประเภทไขมัน ลดการบริโภคน้ำตาลและอาหารหวานๆ รักษาน้ำหนักให้อยู่ตามเกณฑ์ และดูแลสุขภาพโดยรวม ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงมาจากโรคประจำตัว เช่น ผู้ที่เป็นโรคเลือดจาง ธาลัสซีเมีย ก็ควรดูแลตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสในการแตกของเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะทำให้เกิดตะกอนจำพวกเม็ดสีในถุงน้ำดีได้ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในถุงน้ำดี หายเองได้ไหม ? ย้ำอีกครั้งว่า จะรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ก็ด้วยการผ่าตัดเท่านั้น หากมีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคในถุงน้ำดี เช่น ปวดท้อง จุกเสียด อาหารไม่ย่อยเรื้อรัง มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mayoclinic.org, bangkokhospital.com, praram9.com, webmd.com
Featured Image Credit : vecteezy.com/irina_fuoco
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ