“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไร มีกี่ชนิด ? มารู้จักให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการป่วยด้วยไวรัสตับอักเสบกัน !
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคตับอักเสบและการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบกันมาบ้าง ซึ่งการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบางสายพันธ์ุนั้น อาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับและโรคตับแข็งได้ และมะเร็งตับก็เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ทั้งนี้ เราสามารถป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ หากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไร ? มีกี่ชนิด สามารถป้องกันตนเองได้อย่างไรบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ
ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไร ? มีกี่ชนิด มาเจาะลึกกัน
ไวรัสตับอักเสบ หรือ Hepatitis คือไวรัสที่ทำให้ตับมีอาการอักเสบและติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะคุ้นเคยกับไวรัสตับอักเสบบีมากที่สุด เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของเชื้อได้บ่อยในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านแถบ AEC ซึ่งความจริงแล้ว ไวรัสตับอักเสบมีทั้งหมด 5 สายพันธ์ุด้วยกัน คือ ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสตับอักเสบดี และไวรัสตับอักเสบอี ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบดีและอี เป็นไวรัสที่พบได้น้อยในปัจจุบัน แล้วไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไร ? เรามาดูสาเหตุของการเกิดโรคในแต่ละสายพันธ์ุกันเลยค่ะ
1. ไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A)
ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นเชื้อไวรัสดั้งเดิมที่มีการกล่าวถึงตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไรในสายพันธ์ุนี้ ไวรัสตับอักเสบเอติดต่อได้จากการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วย การล้างมือไม่สะอาดหลังจากเข้าห้องน้ำ การดื่มน้ำไม่สะอาดแล้วมีเชื้อแฝงอยู่ หลังจากที่เชื้อโรคผ่านกระเพาะไปยังลำไส้แล้ว เบื้องต้นจะฝังตัวอยู่ในลำไส้และกระจายเข้าสู่ตับในที่สุด หลังจากที่ได้รับเชื้อประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ จะเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลัน ส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีอาการดีซ่าน ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบเอเป็นไวรัสชนิดเฉียบพลัน หากหายจากอาการป่วยก็จะหายขาดและจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีกในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง ปัจจุบันพบผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบน้อยลงเนื่องจากมีระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น และยังมีวัคซีนป้องกันอีกด้วย
2. ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
ไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากที่สุดในกลุ่มการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบสายพันธ์ุต่างๆ ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไรในสายพันธ์ุบี โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อโดยไม่ได้ป้องกัน เกิดจากการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่งผ่านเข้าทางบาดแผล เกิดจากการใช้เข็มฉีดยา เข็มสักตามตัว และการเจาะหูที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการใช้แปรงสีฟัน มีดโกน และที่ตัดเล็บร่วมกับผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ สามารถติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ลูกจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากถึง 90%
ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบบี จะไม่ติดต่อกันผ่านทางลมหายใจ จากกินอาหารหรือน้ำดื่มร่วมกัน รวมถึงการให้นมบุตร และการจูบกัน (ในกรณีที่ไม่มีบาดแผลในปาก) โดยอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ
- ระยะเฉียบพลัน หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ อาการของผู้ป่วยจะเริ่มสังเกตได้ภายใน 1 – 4 เดือนหลังติดเชื้อ โดยผู้ป่วยจะมีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องด้านชายโครงขวา ร่วมกับมีอาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เป็นผื่น ปวดข้อ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นภายใน 1 – 4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ แต่มีผู้ป่วยราวๆ 5 – 10% ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้ ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
- ระยะเรื้อรัง ไวรัสตับอักเสบ อาการในระยะเรื้อรังจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นพาหะ โดยผู้ป่วยจะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้น หากแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก่อน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และควรสวมทุกยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ด้วย เพราะสามารถป้องกันได้ทั้งเื้อไวรัสตับอักเสบบีและโรค STDs หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้เช่นกัน สำหรับกลุ่มที่สองคือ ผู้ที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังและมีเชื้อไวรัสในร่างกาย เมื่อตรวจเลือดจะพบว่าค่าการทำงานของตับมีความผิดปกติ ส่วนมากมักไม่แสดงอาการ แต่มีบางรายที่มีอาการอ่อนเพลียและเบื่ออาหาร
เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งตับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 100 เท่า และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นหากมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง มีปัจจัยทางกรรมพันธ์ุ โดยพบว่า ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งตับก็จะมีโอกาสเป็นโรคตับมากกว่าคนอื่นๆ รวมถึงการดื่มสุรา การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีและดี และการได้รับสารก่อมะเร็งอย่างสารอะฟลาท็อกซินที่มาจากเชื้อรา พบได้ในธัญพืชที่เก็บไว้นานๆ อย่างพริกป่น ถั่วลิสงป่น เป็นต้น
3. ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C)
ไวรัสตับอักเสบซี เป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อจากการรับเลือดหรือการใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน การติดเชื้อไวรัสรัสตับอักเสบ อาการในสายพันธ์ุซี มักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จากภาวะตับอักเสบฉับพลัน แต่จะทำให้ตับอักเสบอย่างเรื้อรัง และเมื่อมีการอักเสบไปนานๆ ก็จะเกิดพังผืดสะสมในตับจนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด หากไม่ไปพบแพทย์หรือไม่ได้ตรวจดูค่าการทำงานของตับก็จะไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 20 – 30 จะเกิดภาวะตับแข็งภายใน 20 – 30 ปี และนำไปสู่มะเร็งตับในที่สุด ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปี เช่น การตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลสำหรับผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคม (อ่านเพิ่มเติม ตรวจสุขภาพ ประกันสังคม ตรวจอะไรบ้าง) ก็จะช่วยคัดกรองการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้
4. ไวรัสตับอักเสบดี (Hepatitis D)
ไวรัสตับอักเสบดี เป็นไวรัสที่แฝงมากับไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง ต้องอาศัยส่วนประกอบของไวรัสตับอักเสบบีในการแบ่งตัว ดังนั้น การติดเชื้อจะเกิดขึ้นพร้อมกับไวรัสตับอักเสบบี หรือเกิดในผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดตับอักเสบซ้ำซ้อนขึ้นมาในผู้ป่วยที่มีเชื้อ
5. ไวรัสตับอักเสบอี (Hepatitis E)
ไวรัสตับอักเสบอี เป็นไวรัสตับอักเสบชนิดใหม่ที่มีการตรวจพบมากขึ้นในระยะหลัง ในประเทศไทยมีการตรวจพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีได้บ้างประปราย โดยไวรัสตับอักเสบ อาการในสายพันธ์ุอี จะทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน มีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง อ่อนเพลีย ผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองนานเป็นเดือน โดยเชื้อนี้พบได้ในสัตว์ เช่น หมู กวาง สัตว์ปีก และสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไร ? ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอีหลายๆ รายมีประวัติการสัมผัสหรือรับประทานเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบๆ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ติดเชื้อได้
เกร็ดสุขภาพ : การจะแยกว่าอาการตับอักเสบที่เกิดขึ้น เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใด ต้องทำการตรวจร่างกายโดยอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกัน ภูมิที่แสดงถึงการติดเชื้อต่อไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ เพื่อที่จะทราบถึงสายพันธ์ุที่ติดเชื้ออย่างชัดเจน และทำการรักษาได้อย่างตรงจุด
ไวรัสตับอักเสบ ป้องกันได้อย่างไร ?
มาถึงตรงนี้ หลายๆ คนน่าจะทราบแล้วว่า ไวรัสตับอักเสบ เกิดจากอะไร ในแต่ละสายพันธ์ุ ซึ่งเราสามารถลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้โดยวิธีการดังนี้
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ การเจาะ การสักผิวหนัง การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การใช้ของมีคมร่วมกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นมีดโกน กรรไกรตัดเล็บ รวมถึงการมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัย ควรใส่ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ควรสวมถุงมือ แว่นตา และชุดคลุมเพื่อป้องกันตนเองในขณะทำหัตถการที่ต้องสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยทุกครั้ง
- สำหรับสตรีตั้งครรภ์ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่ามีความจำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก และทารกควรได้รับการฉีดวัคซีนอินมูโนกลอบบูลิน (hepatitis B immunoglobulin, HBIG) เพื่อป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกคลอด
- ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ ได้แก่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี ซึ่งจะต้องฉีดให้ครบ 3 เข็ม เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ในระยะยาว โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ที่ฉีดครบ 3 เข็ม ก็จะป้องกันการติดเชื้อได้ตลอดชีวิต
ตับ เป็นอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย (อ่านเพิ่มเติม หน้าที่ของตับ ไต) หากติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะทำให้ตับเป็นอันตรายและอาจนำมาสู่โรคมะเร็งตับและตับแข็งได้ ซึ่งร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ดังนั้น ควรป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ วิธีป้องกันที่ดีคือการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส ร่วมกับการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ถ้าอยากมีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัย ก็ต้องดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : chaophya.com, siphhospital.com, tnnthailand.com, medlineplus.gov, tm.mahidol.ac.th, cdc.gov, who.int
Featured Image Credit : vecteezy.com/Irina Fuoco
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ