“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ไข้หวัดใหญ่ อาการเป็นยังไง ? มารู้จัก สังเกต และดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพที่ดีกัน !
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส สามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วย โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เบาหวาน เป็นต้น ในบทความนี้ เพื่อสุขภาพ จะพาผู้อ่านมาทำความเข้าใจโรคไข้หวัดใหญ่ สังเกต และหาวิธีป้องกัน พร้อมวิธีดูแลตัวเอง เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรงในทุกฤดูกาลกันค่ะ
มารู้จัก ไข้หวัดใหญ่ อาการเป็นยังไง ? เราจะป้องกันยังไงดี ?!
ไม่ว่าจะอยู่ในฤดูกาลไหน เราทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะป่วยเป็นไข้หวัดกันได้ทั้งนั้น ยิ่งโรคไข้หวัดใหญ่ กับหน้าฝนด้วยแล้ว มีความน่าห่วงมากกว่าโควิดระบาดเสียอีกค่ะ ดังนั้นการดูแลสุขภาพของตัวเองในเรื่องพื้นฐาน เช่น กินอาหารที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เอาหล่ะ เราลองมาดูกันว่าไข้หวัดใหญ่ อาการเป็นยังไง ? เราจะป้องกัน และรักษายังไงดี ?
ไข้หวัดใหญ่ อาการเป็นยังไง ?
อาการเของโรคไข้หวัดใหญ่มักจะเริ่มภายใน 3-5 วัน และอาจรุนแรงระหว่าง 2-3 วันแรก และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 แต่อาการไอ และอ่อนเพลียอาจยังคงมีอยู่อีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งโดยภูมิต้านทานร่างกายปกติแล้วจะทำให้หายจากไข้หวัดได้ใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งอาการของไข้หวัดใหญ่หลักๆ มีดังนี้
- ไข้สูงเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
- ปวดศีรษะรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก และกระบอกตา
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วตัว อาจรู้สึกอ่อนแรงมาก
- คัดจมูก น้ำมูกไหล และมีอาการเจ็บคอ (อ่านเรื่องความต่างระหว่างภูมิแพ้กับอาการหวัดเพิ่มเติมได้อีก)
- ไอแห้งๆ อย่างรุนแรง บางรายอาจมีเสมหะเล็กน้อย
- อาการอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
เกร็ดสุขภาพ : ไข้หวัดใหญ่มีอัตราการติดต่อสูงมาก แพร่กระจายได้ง่ายโดยการไอหรือจาม ดังนั้นการปฏิบัติตามมาตรการอนามัยส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง และการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดี
ไข้หวัดใหญ่ ป้องกันได้ยังไงบ้าง ?
มีหลายวิธีในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้เป็นอย่างดี มาดูวิธีป้องกันกันค่ะ
- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี เป็นวิธีที่ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากวัคซีนจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ ได้
- การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ (หากมีน้ำมูกเยอะ หายใจไม่สะดวก ให้ล้างจมูก)
- การปิดปาก และจมูกเมื่อไอหรือจาม ด้วยกระดาษทิชชู และทิ้งทิชชู่ในถังขยะที่มีฝาปิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื่อโรค
- การพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ระวังการสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่โดยตรง
- งดการสูบบุหรี่ เนื่องจากควันบุหรี่ทำลายระบบการทำงานของปอด
- หากมีอาการป่วย ควรพักผ่อนที่บ้าน และปรึกษาแพทย์หากมีอาการรุนแรง
ไข้หวัดใหญ่ รักษายังไงได้บ้าง ?
โดยปกติแล้ว ภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ อาการไข้หวัดใหญ่ควรจะดีขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม การรักษาที่ถูกวิธีจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและป้องกันโรครุนแรงการรักษาไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยทั่วไป มักจะเป็นการรักษาตามอาการ โดยมีวิธีการดังนี้ค่
- การพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้ร่างกายมีกำลังในการต่อสู้กับเชื้อโรค
- การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียจากอาการไข้และไอ
- รับประทานยาลดไข้และแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อลดไข้และบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ
- รับประทานยาละลายเสมหะ ในกรณีที่มีอาการไอมากและมีเสมหะ
- พักงาน และหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีอาการ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น
- หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจให้รับยาต้านไวรัส เพื่อลดความรุนแรงของอาการ
เกร็ดสุขภาพ : การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีล่วงหน้าก่อนเข้าฤดูระบาด นอกจากจะช่วยป้องกันโรคได้แล้ว ยังส่งผลให้อาการไข้หวัดใหญ่ที่เป็นมีความรุนแรงลดลงด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว
ความอันตราย รวมถึงผลกระทบของไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ถือเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอันตราย โดยมีความอันตรายดังนี้
- อาการรุนแรง : ไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา อาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว และไอรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยอ่อนแรงมาก
- เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย : ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ทำให้เสียชีวิตได้ : แม้ไข้หวัดใหญ่จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ในแต่ละปีก็มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
- ก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ได้ : เมื่อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การระบาดใหญ่ทั่วโลก เพราะประชากรส่วนใหญ่ไม่มีภูมิคุ้มกัน
- สร้างภาระทางเศรษฐกิจ : การระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดการขาดงาน ค่ารักษาพยาบาล และสูญเสียกำลังแรงงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่มีความรุนแรง สามารถก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีจึงเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญ ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อ รวมถึงลดความรุนแรงของอาการหากติดเชื้อ เพื่อให้ตนเองและคนรอบข้างปลอดภัยจากโรคร้ายนี้ค่ะ
Featured Image Credit : freepik.com/benzoix
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ