“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
แผลเป็นคีลอยด์ คือ อะไร ? รักษาได้ไหม ? อยากหายจากแผลเป็น ต้องอ่าน!
บางครั้ง ความเจ็บป่วยต่างๆ ก็ทำให้เรามีแผลเป็นได้ เช่น อีสุกอีใส อาการที่มีตุ่มขึ้นตามตัว และอาจทำให้เกิดแผลเป็นในบางจุด แผลเป็น เป็นเรื่องที่ชวนกังวลใจ โดยเฉพาะสาวๆ ถ้าหากมีแผลเป็นตามร่างกาย เช่น แขน ขา มือ ก็อาจส่งผลต่อความมั่นใจด้วย ทั้งนี้ นอกจากแผลเป็นโดยทั่วๆ ไป ยังมีแผลเป็นประเภทคีลอยด์ ซึ่งเป็นแผลเป็นที่มีแผลนูนออกมา บางครั้งมีขนาดใหญ่กว่าแผลเดิมของเรามาก จนดูสะดุดตา และอาจสร้างความรำคาญ สร้างความกังวลใจให้กับผู้ที่เป็นได้ แผลเป็นคีลอยด์ คือ อะไร ? เกิดจากอะไร ? ใครที่สามารถเป็นได้บ้าง แล้วสามารถหายได้ไหม ? ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลยค่ะ
แผลเป็นคีลอยด์ คือ อะไร ? มีลักษณะยังไงกันนะ
คีลอยด์ จัดเป็นรอยแผลเป็นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคือ จะเป็นแผลนูนและมีความหนาขึ้นจากผิวหนัง และมีการขยายใหญ่ออกจากบริเวณบาดแผลเดิม มีสีแดง สีน้ำตาล สีออกคล้ำ และบริเวณแผลส่วนใหญ่จะมีอาการคัน รู้สึกระคายเคือง หรือรู้สึกเจ็บร่วมด้วย มักจะเกิดบริเวณติ่งหู ไหล่ แก้ม บริเวณอก และสามารถเกิดขึ้นตามบริเวณอื่นๆ ในร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งแผลเป็นคีลอยด์นี้ อาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหาย หรืออาจจะเกิดขึ้นหลังจากบาดแผลหายแล้วสักพัก แล้วค่อยมีแผลเป็นคีลอยด์เกิดขึ้นมา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใด แต่อาจมีผลในด้านความสวยงาม เนื่องจากบางคนเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและมีความสะดุดตา จึงอาจทำให้ผู้ที่มีแผลเป็นคีลอยด์เกิดความไม่มั่นใจหรือรู้สึกกังวลใจได้
ชี้ชัด! ลักษณะเด่นๆ ของ แผลเป็นคีลอยด์ คือ อะไร ? ต่างจากแผลเป็นอื่นๆ ตรงไหน
มาดูกันค่ะว่า ลักษณะเด่นของแผลเป็นคีลอยด์ คืออะไร ? เพื่อที่จะได้สังเกตร่างกายตัวเอง เพราะถ้าแผลเป็นยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก จะได้ทำการรักษาได้ไว ไม่ก่อให้เกิดเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสวยงามได้ โดยแผลเป็นคีลอยด์ จะมีลักษณะดังนี้
- เป็นก้อนนูนขึ้นจากผิวหนัง โดยจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
- มีลักษณะเป็นผิวมันเงา มีความตึง ไม่มีขนที่บริเวณนั้น
- มีสีแดง สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม หรือมีสีม่วง ซึ่งขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละคน
- เมื่อลองจับหรือลูบดูจะมีความแข็ง คล้ายยาง
- ในบางคนจะรู้สึกเจ็บ คัน ระคายเคือง หรือมีอาการฟกช้ำ รู้สึกแสบร้อนร่วมด้วย
- แผลเป็นคีลอยด์อาจเกิดขึ้นทันทีที่บาดแผลนั้นหายสนิท หรืออาจเกิดขึ้นทีหลัง หลังจากแผลหายดีแล้วสักระยะหนึ่ง ทั้งนี้ แผลเป็นคีลอยด์อาจอยู่ที่ผิวหนังเป็นเวลาหลายปี หากไม่ได้ทำการรักษาหรือกำจัดออกไป
ชวนรู้ สาเหตุของการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ ทำไมถึงเป็นได้ !
เมื่อผิวหนังมีบาดแผลเกิดขึ้น ร่างกายก็จะทำการซ่อมแซมบาดแผลตามธรรมชาติ การเป็นแผลเป็นคีลอยด์ เกิดจากการที่กระบวนการซ่อมแซมแผลของร่างกายมีความผิดปกติ โดยสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนมากเกินไป ทำให้เนื้อเยื่อมีการเจริญเติบโตมากกว่าปกติ และเกิดเป็นแผลเป็นนูนขึ้นมาจากผิวหนัง มีขนาดใหญ่กว่ารอยแผลที่เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งบาดแผลที่ทำให้เกิดคีลอยด์นั้น ก็ได้แก่บาดแผลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นแมลงสัตว์กัดต่อย เป็นสิว การฉีดยา การเจาะร่างกาย แผลไฟไหม้ โดนน้ำมันลวก (อ่านเพิ่มเติม โดนน้ำมันลวก ปฐมพยาบาล) แผลจากการกำจัดขน หรือแม้แต่รอยขีดข่วน ก็ทำให้เกิดคีลอยด์ได้
นอกจากนี้ หากเป็นแผลบริเวณผิวหนังที่มีความตึงรั้งมาก ก็มีโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ ได้แก่ บริเวณหัวไหล่ บริเวณอก บริเวณแผ่นหลังส่วนบนที่เกิดจากการบีบสิว และอีกตำแหน่งที่พบแผลเป็นคีลอยด์ คือ บริเวณใบหู ตั้งแต่ติ่งหูจนถึงกระดูกอ่อนของใบหู สำหรับบางคนที่เจาะหู ก็อาจทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์ขึ้นได้เช่นกัน
เกร็ดสุขภาพ : แผลเป็นคีลอยด์ มักจะเกิดกับคนที่มีผิวสีเข้มมากกว่าคนที่มีผิวขาว และหากคนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นแผลเป็นคีลอยด์มาก่อน ก็มีโอกาสที่จะเกิดแผลเป็นคีลอยด์กับตัวเองได้เช่นกัน ทั้งนี้ โอกาสในการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ จะมีมากขึ้น หากมีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี
แผลเป็นคีลอยด์ เป็นแล้วรักษาได้ไหม ? มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
การเกิดแผลเป็นคีลอยด์ แม้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็ส่งผลในด้านความสวยงาม ทำให้เกิดความรำคาญ หรือทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ ถ้าหากมีแผลเป็นคีลอยด์ขนาดใหญ่มาก ก็อาจจะต้องกำจัดออกไป ซึ่งวิธีการรักษาแผลเป็นคีลอยด์ คือวิธีการต่างๆ ดังนี้
- รักษาด้วยการผ่าตัด โดยเป็นการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นแผลเป็นคีลอยด์ออกไป แต่ก็เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดแผลเป็นนูนขึ้นมาอีกได้ หรืออาจทำให้แผลเป็นมีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม หลังการผ่าตัด แพทย์จะทำการฉีดยาเข้าไปในบริเวณที่เป็นแผลเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งจะได้ผลดีเฉพาะคีลอยด์บางตำแหน่ง เช่น บริเวณติ่งหูที่มีแผลคีลอยด์ขนาดใหญ่แล้วจำเป็นต้องผ่าออก
- การฉีดยาเสตียรอยด์ที่แผลเป็นคีลอยด์ โดยแพทย์จะใช้ยาฉีดเข้าไปในบริเวณที่เป็นแผลเป็นคีลอยด์โดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยและไม่เจ็บมาก โดยจะต้องฉีดยาทุกๆ 4 – 8 สัปดาห์เพื่อให้คีลอยด์ยุบตัวลง แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงทำให้แผลเป็นมีความแดงขึ้นได้ เนื่องจากยาเสตียรอยด์จะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดแดงในบริเวณชั้นผิวใกล้ๆ กับบริเวณที่ฉีดยาเข้าไป แต่วิธีนี้ก็ทำให้แผลเป็นคีลอยด์ค่อยๆ ยุบตัวลงและดูดีขึ้นกว่าเดิม
- การรักษาด้วยเลเซอร์ โดยแพทย์จะใช้เลเซอร์ที่มีความอ่อนโยนต่อผิวในบริเวณที่เกิดแผลเป็น และจะช่วยทำให้แผลเป็นคีลอยด์ยุบตัวลงและมีสีจางลงได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่เจ็บมาก แต่ต้องทำหลายๆ ครั้ง และอาจมีราคาสูง
- การรักษาด้วยความเย็นจัด มักใช้กับแผลที่มีขนาดเล็ก โดยเป็นการใช้ไนโตรเจนเหลวสัมผัสกับแผลเป็นคีลอยด์ และทำให้แผลเป็นคีลอยด์ยุบตัวลงได้ ซึ่งจะใช้วิธีนี้ควบคู่ไปกับการรักษาวิธีอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
- รักษาโดยการทายาแผลเป็นคีลอยด์ ยาทาคือ ยาเรตินอยด์ ที่มักจะใช้กับแผลเป็นคีลอยด์จากสิว ซึ่งการทายาเรตินอยด์ จะช่วยทำให้แผลเป็นคีลอยด์ยุบตัวลงได้ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้มักจะใช้เวลานานกว่าวิธีการรักษารูปแบบอื่นๆ และอาจไม่ได้ผลเทียบเท่ากับวิธีการอื่นๆ จึงไม่เป็นที่นิยมนัก
แผลเป็นคีลอยด์ ป้องกันได้ไหม ?
เราสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์ขึ้นได้ ด้วยวิธีการดังนี้ค่ะ
- เริ่มดูแลแผลตั้งแต่เนิ่นๆ หากเกิดบาดแผลขึ้น ด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี ทำความสะอาดแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการลูบ จับ เกา บริเวณที่เกิดแผล ไม่แกะสะเก็ดแผล เพราะส่งผลต่อการซ่อมแซมผิวและเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติ หรือทำให้แผลหายช้าได้
- หากแผลมีการอักเสบ เป็นหนอง ติดเชื้อ มีน้ำเหลืองไหลซึม จะทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้มากขึ้น ดังนั้น ควรดูแลแผลให้สะอาดอยู่เสมอ ล้างแผลเป็นประจำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงทายาเพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อได้
- เมื่อแผลแห้งดีแล้ว ให้ทายารักษารอยแผลเป็นต่างๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ ยาทาที่มีส่วนประกอบของ Silicone Gel จะช่วยให้แผลมีความชุ่มชื้น ลดการเกิดรอยแผลเป็นหรือก่อให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ และป้องกันการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้
เกร็ดสุขภาพ : การใช้ยาที่มีส่วนผสมจากสารสกัดหอมแดง (Allium cepa) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ จะช่วยลดการอักเสบของแผล ช่วยให้แผลหายไวขึ้น และช่วยเสริมสร้างกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังได้ดีขึ้นด้วย
แผลเป็นคีลอยด์ คือแผลเป็นที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็ส่งผลในด้านความสวยงามและความมั่นใจ ซึ่งมีวิธีการรักษาแผลเป็นคีลอยด์ด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย หากใครที่กลัวเจ็บ แต่มีแผลเป็นคีลอยด์ ยาทาตรงบริเวณแผลเป็น ก็สามารถรักษาได้ในเฉพาะบริเวณเล็กๆ และอาจจะต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ถ้าใครกังวลในเรื่องของแผลเป็นคีลอยด์ ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตัวเองได้ค่ะ และก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะคีลอยด์สามารถรักษาได้ เพียงแต่จะต้องใช้เวลาและความอดทน รอให้แผลยุบตัว และดูแลไม่ให้เกิดแผลเป็นซ้ำอีกก็เท่านั้น และที่สำคัญ ต้องดูแลตัวเองด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ เข้านอนไวๆ และมีวิธีคลายเครียดก่อนนอน เพื่อที่จะได้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ ร่างกายจะได้ซ่อมแซมตัวเองอย่างปกติ และแผลเป็นก็จะได้หายไวขึ้นนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mayoclinic.org, mfuhospitalbkk.com, healthline.com, phyathai.com
Featured Image Credit : freepik.com/ninaveter
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ