X

เด็ก ติดมือถือ ต้องระวังไว้ ! ชวนรู้ ภัยร้ายจากการที่เด็กติดอุปกรณ์เทคโนโลยี รู้ไว้ก่อนสายเกินไป

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

เด็ก ติดมือถือ ต้องระวังไว้ ! ชวนรู้ ภัยร้ายจากการที่เด็กติดอุปกรณ์เทคโนโลยี รู้ไว้ก่อนสายเกินไป

ทุกวันนี้ มองไปทางไหนก็เจอแต่คนที่ก้มมองหน้าจออยู่ตลอดเวลา และไม่ใช่เฉพาะแค่ในผู้ใหญ่เท่านั้น แม้กระทั่งเด็กๆ ในยุคปัจจุบันก็ต้องมีอุปกรณ์เทคโนโลยีข้างกาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เท็บเล็ตต่างๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย และผู้ปกครองบางท่านก็อาจคิดว่า การเปิดการ์ตูนให้ลูกดูในโทรศัพท์มือถือหรือในเท็บเล็ตเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการปล่อยให้เด็กอยู่กับมือถือตลอดทั้งวัน ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะก็เปรียบเหมือนเป็นของเล่นชนิดหนึ่งในยุคนี้ แต่การที่เด็ก ติดมือถือ นั้น ก็อาจส่งผลเสียต่อเด็กได้มากกว่าที่คิด นอกจากปัญหาด้านสายตาและมีสมาธิสั้นแล้ว ยังส่งผลเสียด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งถ้าหากไม่รีบป้องกันและแก้ไข ก็อาจสายเกินแก้ได้

จะรู้ได้อย่างไร ? ว่าเด็ก ติดมือถือ

ติดมือถือ, ติดโทรศัพท์
Image Credit : freepik.com

ถ้าลูกๆหลานๆ ของเรามีพฤติกรรมนั่งจ้องโทรศัพท์มือถือทั้งวัน โดยที่ไม่ลุกไปไหนหรือไม่สนใจจะทำกิจกรรมอย่างอื่น อย่างการออกไปเล่นกับเพื่อนๆ หรือเล่นของเล่นอื่นๆ และแม้ทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น กินข้าว ก็ยังดูมือถือไปด้วย อีกทั้งยังละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง ไม่ยอมทำการบ้าน ไม่ยอมไปอาบน้ำ ขอดูมือถือก่อน และไม่สามารถควบคุมเวลาการเล่นมือถือได้ และจะมีอาการหงุดหงิด โมโหรุนแรง ร้องไห้โวยวาย เมื่อเราบังคับให้เลิกดูมือถือ หรือยึดเอามือถือ เท็บเล็ตไป ถ้าเด็กๆ มีอาการแบบนี้ นั่นแสดงว่า กำลังติดโทรศัพท์มือถือแล้วค่ะ

เด็กติดโทรศัพท์มือถือ ส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ?

ติดมือถือ, ติดโทรศัพท์
Image Credit : freepik.com

เคยสังเกตกันไหมคะว่า พฤติกรรมในกลุ่มเด็กที่ติดโทรศัพท์มือถือ หรือติดอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ มักจะมีอาการที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ไม่ค่อยอยู่นิ่ง กระสับกระส่าย รอไม่ค่อยได้ ต้องหาอะไรมาเล่นมาทำอยู่ตลอด ดูไม่ค่อยมีสมาธิหรือไม่สามารถจดจ่ออะไรได้นาน ซึ่งนั่นคือสัญญาณของภาวะที่เกิดขึ้นจากการติดมือถือ มาดูกันว่า ถ้าหากเด็กๆ ติดโทรศัพท์หรือติดแท็บเล็ตมากเกินไป จนขาดการทำกิจกรรมอื่นๆ นั้น จะส่งผลเสียต่อลูกน้อยของเราได้อย่างใรบ้าง

1. เสี่ยงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD)

ADHD โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่พบได้ในเด็กอายุ 4 – 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิหรือความคิดในการแก้ไขปัญหา วอกแวกง่าย เหม่อลอย และอาจจะส่งผลต่อการเรียน ทำให้เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ไม่มีสมาธิในการเรียน และทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่สำเร็จ หรืออาจมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ไม่สามารถอดทนกับอะไรนานๆ ได้ เล่นด้วยความรุนแรง เป็นต้น

2. มีอารมณ์รุนแรง มีพฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior)

การมีอารมณ์รุนแรง มีพฤติกรรมก้าวร้าวมักพบได้ในเด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี ซึ่งจะพบปัญหาลักษณะโวยวายที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการติดมือถือ และจะมีอาการชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น เริ่มพูดจาก้าวร้าว มีการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรง มึสภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ เช่น หงุดหงิดง่าย หุนหันพลันแล่น และเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวลง่ายกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ด้วย

3. เสี่ยงต่อการเป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง (Learnimg Disorder : LD)

ติดมือถือ, ติดโทรศัพท์
Image Credit : freepik.com

ในกลุ่มเด็กที่ติดมือถือ จะมีความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและการใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ ทั้งยังมีพัฒนาการด้านเชาวน์ปัญญาไม่ดี มีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน มีกระบวนการฝึกคิด การเรียนรู้ และการแก้ปัญหาที่เชื่องช้าด้วย

เกร็ดสุขภาพ : การศึกษาจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่า เด็กที่ใช้เวลาไปกับหน้าจออุปกรณ์เทคโนโลยีเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จะมีทักษะการคิด การใช้เหตุผล และความสามารถในการประมวลภาษาต่ำกว่าเด็กที่ไม่มีการใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยี และยังพบว่า พื้นที่ของสมองในส่วนที่ทำหน้าที่รู้คิดใช้เหตุผลอย่างมีวิจารณาญาณ จะมีพื้นที่น้อย ในเด็กที่ใช้เวลากับโทรศัพท์มากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน

4. เสี่ยงต่อการมีภาวะสายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia)

ขณะที่เด็กๆ เล่นมือถือนั้น จะต้องเพ่งมองในระยะใกล้ๆ ทำให้เกิดการจ้องมอง เพ่งมอง ส่งผลให้รูม่านตาหดเล็กลง อีกทั้งแสงในมือถือเป็นแสงสีฟ้าที่มีความยาวคลื่นสูงกว่าแสงแดดทั่วไป เมื่อเด็กๆ ได้รับแสงดังกล่าวก็อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวได้ กล่าวคือ ทำให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วกว่าที่ควร และเนื่องจากระยะในการมองมีระยะใกล้มาก ทำให้เด็กมีภาวะ “ตาเพ่งค้าง” ทำให้มีอาการปวดหัว ตาพร่าได้ ซึ่งเรียกว่าอาการ “สายตาสั้นเทียม” นั่นเอง

เกร็ดสุขภาพ : การรับแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์เทคโนโลยี จะทำให้เด็กนอนหลับยากขึ้น เนื่องจากแสงสีฟ้ายับยั้งการหลั่งเมลาโทนิน สารในสมองที่ส่งผลให้รู้สึกง่วงนอนและนอนหลับสบาย ซึ่งถ้าหากเด็กๆ นอนหลับพักผ่อนอย่างไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพกาย การเจริญเติบโต และพัฒนาการอื่นๆ ด้วย

5. มีพัฒนาการช้า (Developmental Delay)

คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่า หากเด็กๆ ใช้เวลาไปกับหน้าจอนานเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้มีพัฒนาการด้านต่างๆ ช้าลงได้เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกัน โดยเฉพาะในเด็กช่วงอายุ 2 – 3 ขวบ ที่สมองกำลังอยู่ในช่วงพัฒนามากที่สุด โดยทางสถาบันกุมารเวชศาสตร์ของอเมริกา ได้สรุปผลการวิจัยว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เดือนไม่ควรดูโทรศัพท์ และเด็กที่มีอายุระหว่าง 18 เดือน – 24 เดือน หากต้องการดูโทรศัพท์ควรมีผู้ปกครองแนะนำระหว่างการดูด้วย และในส่วนของเด็กที่มีอายุ 2 ปีขี้นไป คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรกำหนดเวลาในการเล่นหรือดูอุปกรณ์มือถืออิเล็กทรอนิกส์ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กติดมือถือ และไม่ใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีมากเกินไปค่ะ

6. เสี่ยงโรคอ้วน (Obesity)

เด็กที่ติดมือถือ ยังเสี่ยงต่อการมีผลเสียด้านสุขภาพอย่างการเป้นโรคอ้วนด้วย เพราะการเล่นโทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เด็กๆ ไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย ไม่ได้ลุกเดิน และนั่งอยู่กับที่เฉยๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ ดังนั้น ผู้ปกครองควรสอดส่องดูแลบุตรหลานโดยการจำกัดเวลาการดูมือถือ และให้เปลี่ยนอิริยาบถหรือเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ ไม่ให้เด็กๆ เล่นมือถือไปด้วยรับประทานอาหารไปด้วย เพราะจะสร้างพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความอ้วนได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งถ้าขนมหรืออาหารที่กินมีน้ำตาลมากๆ ก็อาจนำไปสู่ภาวะเบาหวานเด็กได้ด้วยนะคะ

เมื่อลูกติดมือถือ แท็บเล็ต จะมีวิธีป้องกันและแก้ไขอย่างไร ?

ติดมือถือ, ติดโทรศัพท์
Image Credit : freepik.com

เมื่อรู้ถึงผลเสียจากการที่เด็กๆ ติดเล่นโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ แล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่างๆ ทั้งทางสุขภาพกายและทางสุขภาพจิต มาดูกันว่า จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เด็กๆ ติดโทรศัพท์ได้อย่างไรบ้าง

  • กำหนดเวลาเล่นโทรศัพท์มือถือให้ชัดเจน และจำกัดเวลาในการใช้งานให้เหมาะสมตามวัย ซึ่งไม่ควรเกินครั้งละ 1 ชั่วโมง และควรให้เด็กดูโทรศัพท์เมื่อมีอายุ 3 – 4 ปีขึ้นไป 
  • ชวนเด็กๆ ไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทนการนั่งดูอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ เช่น ออกไปเล่นกลางแจ้ง หรือเล่นกับพ่อแม่ เล่นของเล่นอื่นๆ ที่เสริมสร้างพัฒนาการ และคุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกเยอะๆ เพื่อที่เด็กๆ จะได้หันเหความสนใจจากโทรศัพท์ได้ 
  • ไม่ตามใจลูก หากลูกร้องขอเล่นโทรศัพท์ซึ่งเกินเวลาที่กำหนดไว้ แต่ไม่ควรดุด่า ควรบอกด้วยเหตุผลว่า ถ้าเล่นมากเกินไปจะส่งผลเสียอย่างไรบ้าง เพื่อให้เด็กเข้าใจ และไม่งอแงที่จะเล่นโทรศัพท์มือถือ
  • หากเป็นการเล่นเกม ให้เลือกเกมที่เหมาะสมกับเด็กๆ ไม่ควรเป็นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงหรือส่งเสริมความรุนแรง ทั้งนี้ ในขณะที่เด็กเล่นโทรศัพท์ ผู้ปกครองควรอยู่ดูแลเด็กๆ ด้วย ไม่ควรปล่อยเด็กไว้กับโทรศัพท์ลำพัง และชี้แจงในกรณีที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการดูคลิปวิดีโอด้วยเช่นกัน
  • พ่อแม่หรือผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ในบ้านก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ โดยการไม่ติดหน้าจอตลอดเวลา ซึ่งนิสัยติดหน้าอยู่ตลอดเวลา ก็ส่งผลเสียกับผู้ใหญ่ได้เช่นกันค่ะ
  • ไม่เก็บอุปกรณ์เทคโนโลยีไว้ในห้องนอนของเด็กๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กๆ เล่นโทรศัพท์ในเวลากลางคืนจนไม่ได้นอนหลับพักผ่อน (อ่านเพิ่มเติม เล่นโทรศัพท์ในที่มืดเป็นเวลานานเสี่ยงตาบอดจริงหรือไม่) และไม่ควรซื้อโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตส่วนตัวให้กับบุตรหลานเมื่อยังไม่ถึงวัยที่เหมาะสม

แม้ในยุคปัจจุบันการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีจะเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันพบเด็กไทยมีอัตราการติดมือถือจนต้องเข้ารับการบำบัดกับนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดเป็นจำนวน 10 – 15% (ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิครินทร์) ซึ่งปัญหาลูกติดมือถือ นับเป็นปัญหาสำคัญในหลายๆ ครอบครัว และการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป ก็ส่งผลเสียหลายๆ อย่างดังที่กล่าวไปในข้างต้น ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่ไมดี หรือเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่างๆ เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น มีพัฒนาการช้า หรือเสี่ยงต่อการมีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง ผู้ใหญ่ควรดูแลเด็กๆ ในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี และให้ใช้อย่างพอดี เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียอันสายเกินแก้นะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : psychcentral.com, vichaiyut.com, princsuvarnabhumi.com, sikarin.com

Featured Image Credit : freepik.com/pvproductions

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save