“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
PEP คือ อะไร ? ต่างจาก PREP ตรงไหน ? ชวนรู้จักยาต้านการติดต่อเชื้อ HIV รู้เอาไว้ ! ปลอดภัยจากโรค
จากการคาดการณ์สภานการณ์การติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย พบว่าในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ติดเชื้อ HIV เป็นจำนวน 520,345 คน และมีผู้ติดเชื้อที่รู้สถานะ จำนวน 491,017 คน แต่ทั้งนี้ ช่วงอายุของการติดเชื้อพบว่า มีช่วงอายุที่น้อยลง โดยพบผู้ติดเชื้อใหม่ในกลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี (ข้อมูลจาก www.thaigov.go.th) ซึ่งสถิติการใช้ถุงยางอนามัย ยังคงต่ำกว่าเกณฑ์ที่คาดหวัง แม้รัฐบาลจะได้มีการรณรงค์ให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัยก็ตาม ทั้งนี้ นอกจากการสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงป้องกันการติดเชื้อ HIV แล้ว ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ด้วยการรับประทานยา PREP และ PEP ซึ่งเป็นยาที่ถูกกฎหมาย และสามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้จริง แล้วยา PREP และ PEP คือ อะไร ? สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างไร ? และมีวิธีรับประทานอย่างไร ? ไปอ่านกันเลยค่ะ
PEP คือ อะไร ? ต่างจาก PREP ตรงไหน ?
หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อยา PEP และ PREP กันมาบ้าง ว่าเป็นยาต้านการติดเชื้อ HIV แต่ยังไม่ได้รู้ถึงรายละเอียดและความแตกต่างของยาทั้งสองชนิดนี้ ซึ่งการรู้จักยาทั้งสองชนิดนี้ก่อนการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก ซึ่ง PEP (Post – Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัสฉุกเฉิน โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV หลังจากที่มีความเสี่ยงมาแล้ว กล่าวคือ มีเพศสัมพันธ์มาแล้วและไม่ได้ป้องกัน โดยต้องมีเพศสัมพันธ์มาไม่เกิน 72 ชั่วโมง จึงจะสามารถรับประทานยาได้ เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพสูงสุด และกินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น อาทิ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือสัมผัสกับเชื้อโดยไม่รู้ตัว แต่ PREP (Pre – Exposure Prophylaxis) คือ ยาต้านไวรัส HIV ที่ป้องกันการติดเชื้อก่อนการสัมผัสกับเชื้อ หรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง ซึ่งสามารถรับประทานยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนที่จะเกิดความเสี่ยงขึ้นได้ โดยสามารถรับยา PREP และ PEP ได้ที่คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั่วไป ตามโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงมูลนิธิต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตให้จ่ายยาได้
เกร็ดสุขภาพ : ก่อนจะรับยา PREP และ PEP จะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจผลเลือดก่อนว่าเป็นบวกหรือลบ ซึ่งจะรับประทานยาได้ก็ต่อเมื่อผลเลือดเป็นลบเท่านั้น (ไม่ติดเชื้อ HIV) และต้องตรวจค่าไตด้วย หากมีค่าไตสูงกว่ากำหนด ก็อาจจะต้องรับประทานยา PREP และ PEP ประเภทที่เหมาะกับผู้ที่มีค่าไตสูง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ยา PREP และ PEP คือยาที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อรับประทานได้ตามร้านขายยาทั่วไป หากยังไม่ได้รับการตรวจเลือด แพทย์ก็ไม่สามารถสั่งจ่ายยาให้ได้ เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของคนไข้เอง
ลักษณะของยา PEP และ PREP
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น สามารถระบุลักษณะสำคัญของยาทั้ง 2 ชนิดได้ดังนี้
• ลักษณะของยา PEP
- ยา PEP คือยาที่กินในกรณีฉุกเฉิน เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถุงยางอนามัยเกิดการแตก รั่ว หลุด ฉีกขาดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น และบุคลากรทางด้านสาธาณสุขถูกเข็มฉีดยาของผู้ป่วยทิ่มตำ หรือแพทย์ พยาบาล และนักเทคนิคการแพทย์ที่ได้รับเชื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ต้องกินยาให้เร็วที่สุด ภายใน 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสเชื้อ
- มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 70 – 80%
- ต้องรับยาติดต่อกัน 28 วัน หากกินไม่ครบประสิทธิภาพการป้องกันจะลดลง
- เป็นยาที่มีหลายสูตร หลายแบบ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
- เมื่อกินยาครบโดส จะมีการนัดตรวจเลือดอีกครั้งเพื่อดูผลเลือดว่า ได้รับเชื้อหรือไม่
• ลักษณะของยา PREP
- ยา PREP คือยาที่ป้องกันการติดเชื้อ HIV ก่อนการมีเพศสัมพันธ์
- เหมาะสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ และไม่ใส่ถุงยางอนามัย หรือมีคู่นอนหลายคน ทั้งชาย หญิง และเพศทางเลือก หมายถึง เพศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหญิงชาย ก็รับประทาน PREP ได้
- มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ HIV อยู่ที่ 90 % หากกินยาอย่างสม่ำเสมอ
- กินวันละ 1 เม็ด ทุกวัน เวลาเดิม ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วันก่อนมีเพศสัมพันธ์ และกินต่อไปจนครบ 30 วัน
- แพทย์จะนัดตรวจเลือดทุกๆ 3 เดือนเพื่อตรวจหาเชื้อ HIV และดูผลข้างเคียงของยา
เกร็ดสุขภาพ : แม้ยา PREP จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ รวมถึงไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ เช่น หนองใน ซิฟิลิส ดังนั้น การรับประทานยา PREP ร่วมกับการใส่ถุงยางอนามัย รวมถึงรับประทานยาคุมกำเนิด (อ่านเพิมเติม ยาคุมกำเนิดมีกี่แบบ) ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV และป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
กลไกการทำงานของยา PEP และ PREP คืออะไร ?
การทำงานของยา PEP คือ ยา PEP จะช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของสารพันธุกรรมในเชื้อ และยับยั้งการกลายเป็นไวรัสที่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันก่อนการการแพร่กระจายเชื้อภายในร่างกายได้ จึงควรรับประทานยาให้เร็วที่สุดหลังการสัมผัสเชื้อ
สำหรับกลไกการทำงานของยา PREP คือ ตัวยาจะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาวและเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในร่างกาย รวมถึงอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อ HIV เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธ์ุเพศชาย เป็นต้น และเมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายผ่านทางช่องทางต่างๆ ดังกล่าว ก็จะถูกตัวยาที่สะสมอยู่ในบริเวณต่างๆ ยับยั้งเชื้อไวรัสไม่ให้เกิดการแบ่งตัว จึงทำให้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ยา PREP ไม่จำเป็นจะต้องกินตลอดชีวิต แต่ให้กินเฉพาะช่วงที่คิดว่ามีโอกาสที่จะเสี่ยงติดเชื้อ กล่าวคือ ในช่วงที่มีเพศสัมพันธ์นั่นเอง โดยกินติดต่อกันอย่างน้อย 7 วันก่อนการมีเพศสัมพันธ์ และกินอย่างต่อเนื่องติดต่อกันจนครบ 30 วัน ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และถ้าหากอยากหยุดยาเนื่องจากไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหยุดยาด้วยตัวเองนะคะ
ผลข้างเคียงของยา PREP และ PEP คืออะไร ?
ทั้งยา PREP และยา PEP ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดหัว อิดโรย และอาเจียนหลังการรับประทานยา และอาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1 – 2 สัปดาห์ และถ้าหาดอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเปลี่ยนตัวยา ทั้งนี้ ผลข้างเคียงระยะยาวที่พบได้คือ ส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ค่าไตสูงขึ้น แต่มักพบได้น้อย
แม้ว่ายา PREP และยา PEP คือยาที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ แต่การป้องกันตนเองอย่างครอบคลุมด้วยการรับประทานยาร่วมกับการสวมถุงยางอนามัย ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้มากขึ้น รวมถึง สามารถป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ด้วย แต่ทั้งนี้ การใช้ยาเพื่อป้องกันการการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น PEP หรือ PREP ก็ยังดีกว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกันเลย แม้การมีเพศสัมพันธ์จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็ต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นการรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและต่อคู่นอน การสวมถุงยางอนามัยร่วมกับการใช้ยา ก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV รวมถึงป้องกันการติดโรคอื่นๆ และการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ด้วย จะได้มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรค และไม่ต้องกังวลใจในเรื่องความปลอดภัย และสำหรับสาวๆ การไปตรวจภายในก็จะช่วยคัดกรองการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ได้ดียิ่งขึ้นนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : medlineplus.gov, rama.mahidol.ac.th, thaigov.go.th, cdc.gov, chulalongkornhospital.go.th
Featured Image Credit : vecteezy.com/Niphon Subsri
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ