X

PCOS คืออะไร ? ชวนรู้จักหนึ่งในสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในผู้หญิงกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

PCOS คืออะไร ? ชวนรู้จักหนึ่งในสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในผู้หญิงกัน !

สาวๆ คนไหนมักจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมากระปริบกระปรอย ประจำเดือนมาๆ หายๆ กันบ้างไหมคะ ? ร่วมกับมีอาการประเภท มีขนตามร่างกายมากผิดปกติ จนบางครั้งก็ถูกแซวว่าขนเยอะเหมือนผู้ชาย และมีภาวะอ้วน น้ำหนักเกินร่วมด้วย ซึ่งกลุ่มอาการดังกล่าว เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เพราะอาจเป็นอาการของภาวะ PCOS ที่มีผลต่อสุขภาพของสาวๆ โดยตรง ในบทความนี้ จะชวนมารู้จักกับภาวะ PCOS กันให้มาขึ้น แล้ว PCOS คืออะไร ? เป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน ไปอ่านกันเลยค่ะ

ชวนรู้จัก PCOS คืออะไร ? อันตรายมากน้อยแค่ไหนกัน !

PCOS คืออะไร, polycystic ovarian syndrome คือ
Image Credit : freepik.com

PCOS หรือ Polycystic Ovarian Syndrome เรียกอีกอย่างว่า ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ เป็นความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือระบบฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจนเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินที่อยู่ในภาวะไม่สมดุล ทำให้เกิดซีสต์หรือถุงน้ำในรังไข่เป็นจำนวนหลายใบ และเมื่อถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ จึงทำให้รังไข่มีการทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และมีการแสดงอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม Polycystic Ovarian Syndrome คือหนึ่งในสาเหตุของภาวะมีบุตรยากในเพศหญิงอีกด้วย และทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะครรภ์เป็นพิษ การคลอดก่อนกำหนด และการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

อาการของ PCOS คืออะไร ? จะรู้ได้อย่างไรว่าเสี่ยงมีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ

PCOS คืออะไร, polycystic ovarian syndrome คือ
Image Credit : freepik.com

อาการของ PCOS นั้น จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่มักจะมาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ ภาวะฮอร์โมนเพศชายสูงและมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันหลายเดือน มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนเว้นช่วงนานมากกว่า 35 วัน ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือมาน้อยผิดปกติ เป็นต้น 
  • มีขนดก ในบริเวณแขน ขา ตามลำตัว และมีหนวด เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง 
  • เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้มีการสร้างไขมันที่ผิวหนังเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้หน้ามัน มีผิวมัน เป็นสิวได้ง่าย
  • ผมร่วง ศีรษะล้าน เนื่องจากฮอร์โมนผิดปกติ 
  • มีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน กล่าวคือ มีค่าดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 25 และมีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตรขึ้นไป

เกร็ดสุขภาพ :  หากมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ แล้วไม่รีบทำการรักษา อาจส่งผลให้มีภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง และหากตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสที่จะแท้งในช่วง 3 เดือนแรก และยังเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ รวมถึง ทารกในครรภ์มีการเติบโตช้า ทั้งนี้ ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกที่ผิดปกติ และอาจทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านมได้

สาเหตุของการเกิดภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS คืออะไร ?

PCOS คืออะไร, polycystic ovarian syndrome คือ
Image Credit : freepik.com

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ PCOS มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้

  • ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของรังไข่เอง หรือเกิดจากต่อมฮอร์โมนชนิดต่างๆ ในร่างกาย หรือเกิดความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมฮอร์โมน ทำให้มีปริมาณฮอร์โมนต่างๆ ไม่สมดุล โดยเฉพาะการมีฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เป็นฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป ทำให้มีลักษณะที่มีความเป็นเพศชายสูง เช่น มีขนขึ้นบริเวณหน้าอก หลัง ริมฝีปาก ต้นแขน ต้นขา เป็นสิว ผิวมัน ศีรษะล้าน และมีกล้ามเนื้อเหมือนเพศชาย ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ไปพบแพทย์มากที่สุด
  • มีภาวะอ้วนอยู่เป็นทุนเดิม หนึ่งในสาเหตุของ Polycystic Ovarian Syndrome คือภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน เนื่องจากความอ้วนมีส่วนทำให้ร่างการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนผิดปกติ โดยเฉพาะการอ้วนลงพุง และฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นผลิตจากไขมัน เมื่อมีไขมันมากเกินไปก็ส่งผลให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมการตกไข่ในเพศหญิงมีความผิดปกติขึ้นได้ ทำให้ไข่ตกไม่ปกติ หรือไม่มีการตกไข่ ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนขาดขาย และนำไปสู่ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบได้
  • มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เมื่อร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง เป็นเหตุให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และทำให้ร่างกายยิ่งต้องผลิตอินซูลินออกมามากขึ้น และเมื่อระดับอินซูลินในร่างกายสูงกว่าปกติ จะทำให้รังไข่ถูกกระตุ้นและผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่เป็นฮอร์โมนเพศชายออกมามากเกินไป ซึ่งจะไปรบกวนกระบวนการตกไข่ เป็นเหตุให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทั้งนี้ ภาวะดื้ออินซูลินยังเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและอาจมีภาวะอ้วนได้ด้วย 
  • เกิดจากพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติมีภาวะ PCOS ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็น PCOS ได้มากกว่าปกติ และในบางครอบครัวที่มารดามีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ลูกสาวก็จะมีภาวพนี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบคือสิ่งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ สามารถตรวจได้แบบไหนบ้าง ?

การวินิจฉัยภาวะ PCOS คืออะไรที่สามารถทำได้หลายวิธี หรือแพทย์อาจใช้วิธีการต่างๆ ประกอบกันเพื่อให้วินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น ดังนี้

  1. ซักถามประวัติทางการแพทย์ เกี่ยวกับระยะเวลาการมีประจำเดือน รอบเดือนโดยปกติ น้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และอาจมีการตรวจร่างกายอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น วัดค่า BMI วัดค่าความดันโลหิต เป็นต้น
  2. ตรวจภายใน เพื่อตรวจสอบอวัยวะของระบบสืบพันธ์ุอย่างละเอียด เพื่อหาผิดปกติต่างๆ (อ่านเพิ่มเติม ตรวจภายใน ตรวจอะไรบ้าง)
  3. ตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบระดับฮอร์โมนชนิดต่างๆ เพื่อวัดระดับของฮอร์โมนเพศ ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด เป็นต้น 
  4. ตรวจโดยการอัลตราซาวด์ช่องท้อง เพื่อดูลักษณะของรังไข่ และความหนาของผนังมดลูก เพื่อดูว่ารังไข่มีขนาดผิดปกติไปหรือไม่ จะได้วินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง

วิธีการรักษาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ทำได้อย่างไร ?

PCOS คืออะไร, polycystic ovarian syndrome คือ
Image Credit : freepik.com

การรักษาผู้มีภาวะ PCOS คืออะไรที่ต้องขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล เช่น รักษาภาวะโรคอ้วนที่เกิดจากการดื้ออินซูลิน หรือรักษาภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมถึงความผิดปกติทางด้านกายภาพอื่นๆ ซึ่งจะมีวิธีหลักๆ ตามนี้

  1. สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีดัชนีมวลกาย BMI มากกว่า 25 และภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเป็นสาเหตุหลักของภาวะ PCOS ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการรับประทานอาหารที่เน้นโปรตีน ผักผลไม้เป็นหลัก ลดการกินแป้งขัดขาวและน้ำตาล รวมถึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเมื่อน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายก็จะกลับมาใกล้เคียงปกติ 
  2. รักษาด้วยการรับประทานยา โดยแพทย์จะพิจารณาจ่ายยาเป็นกรณีไป
  3. สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ แพทย์จะแนะนำให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม คือ มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเป็นส่วนประกอบ  หรือยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว คือ มีเพียงฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งยาจะทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ 
  4. สำหรับผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน แพทย์อาจใช้ยา Metformin เพื่อลดการสร้างกลูโคสจากตับและเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน ทำให้ระดับอินซูลินลดลง
  5. ในผู้ที่มีอาการขนดก หรือผมร่วง หัวล้าน แพทย์จะสั่งยาที่มีฤทธิ์ช่วยควบคุมการทำงานของฮอร์โมนแพทย์ชาย เพื่อบรรเทาอาการทางกายภาพที่เกิดขึ้น

เกร็ดสุขภาพ : สำหรับผู้ที่มีภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ และต้องการมีบุตร อาจต้องทำการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรยาก เพื่อทำการรักษาโดยเฉพาะ โดยอาจใช้ยากระตุ้นชักนำให้เกิดการตกไข่ แล้วทำการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไป หรือทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป อีกวิธีหนึ่งคือ รักษาด้วยการผ่าตัด สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำให้ไข่ตกด้วยยาได้ โดยจะทำการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง แล้วใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าหรือเลเซอร์ตรงบริเวณผิวรังไข่ให้เป็นรูเล็กๆ เรียกว่าวิธี Ovarian Drilling เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ไข่ตกนั่นเอง

ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ Polycystic Ovarian Syndrome คือภาวะที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้เกิดถุงน้ำในรังไข่เป็นจำนวนหลายใบ และก่อให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งประจำเดือนมาไม่ปกติ มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีอาการทางกายภาพอื่นๆ ร่วมด้วย และใครที่พบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาให้ถูกจุด อาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากในอนาคต และทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเนื่องจากประจำเดือนมาไม่ปกติ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากภาวะน้ำหนักเกินได้ เช่น ความดันโลหิตสูง เป็นเบาหวาน เป็นโรคตับอักเสบเพราะมีไขมันสะสมในตับ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สาเหตุที่มาจากโรคอ้วน รวมถึง ส่งผลในด้านอารมณ์ อาจทำให้เป็นโรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้าได้ด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพใจ ใครที่มีอาการเข้าข่ายเป็นภาวะ PCOS ก็ควรจะไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจจัย และรักษาได้โดยเร็วนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bumrungrad.com, mayoclinic.org, bangkokhospital.com, hopkinsmedicine.org

Featured Image Credit : vecteezy.com/irina_fuoco

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save