X

โรคจำหน้าคนไม่ได้ มีจริงเหรอ ? มารู้จักโรคแปลก สาเหตุและวิธีการรักษากัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคจำหน้าคนไม่ได้ มีจริงเหรอ ? มารู้จักโรคแปลก สาเหตุและวิธีการรักษากัน !

เคยไหม บางครั้งเราจำคนๆ หนึ่งได้จากใบหน้า แต่ว่านึกชื่อไม่ออกเสียที ซึ่งอาการนี้เป็นอาการปกติของคนที่ใช้สมองซีกขวาเป็นหลัก กล่าวคือ สามารถจดจำสิ่งที่เป็นภาพได้มากกว่าสิ่งที่เป็นตัวหนังสือหรือตัวเลข แต่ในขณะเดียวกัน บนโลกนี้มีอาการที่เรียกว่า “ลืมใบหน้า” ที่ไม่ใช่แค่ลืมเป็นบางคน หรือลืมเฉพาะคนที่เราไม่ได้เจอกันมานานเท่านั้น แต่เป็นโรคที่ไม่สามารถจดจำใบหน้าของใครได้เลย ถ้าใครเคยดูซีรีย์เกาหลีเรื่อง The Beauty Inside (2018) ก็อาจจะพอคุ้นๆ กับโรคนี้ เพราะซอโดเจ
(รับบทโดย อีมินกี) พระเอกของเรื่อง หรือตัวละคร จุงเจยุน (รับบทโดย คิมซอนโฮ) ในเรื่อง 100 Days my prince ก็เป็นโรคนี้เหมือนกัน ซึ่งโรคนี้ไม่ได้มีเฉพาะในซีรีย์เท่านั้น เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซุปเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง แบรด พิตต์ ก็ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองกำลังป่วยด้วยโรคจำหน้าคนไม่ได้ หรือ “โพรโซแพ็กโนเซีย”  (Prosopagnosia / Face Blindness) อยู่เช่นกัน ซึ่งข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ที่ป่วยเป็น โรคจำหน้าคนไม่ได้ ไม่ได้หลงลืมเฉพาะใบหน้าคนอื่นเท่านั้น แต่บางครั้งก็หลงลืมใบหน้าของตัวเองด้วย

ในเมื่อโรคนี้มีอยู่จริงบนโลก หลายๆ คนก็คงเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วคนที่ป่วยด้วยโรคนี้ มีสาเหตุมาจากอะไร ? ในเมื่อไม่สามารถจดจำใบหน้าใครได้เลย แล้วจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ยังไง ? จะกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างไหม ? โรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษาได้ไหม ? ก่อนที่จะสงสัยไปมากกว่านี้ เราไปหาคำตอบกันเลยดีกว่าค่ะ

ชวนรู้จักโรคแปลก “โรคจำหน้าคนไม่ได้”

โรคจำหน้าคนไม่ได้, โรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษา
Image Credit : freepik.com

โรคจำหน้าคนไม่ได้ เป็นความผิดปกติทางสมองอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้คนได้เลย และอาจรวมถึงใบหน้าของคนในครอบครัว ใบหน้าของเพื่อสนิท ใบหน้าของคนใกล้ชิด และแม้กระทั่งใบหน้าของตัวเองด้วยเช่นกัน เรียกอีกชื่อว่า Face Blindness หรือภาวะบอดใบหน้านั่นเอง

ตามประวัติแล้ว โรคนี้ถูกค้นพบขึ้นเมื่อ 150 ปีก่อน ในสมัยก่อนยังไม่พบผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้กันมากนัก แต่ปัจจุบัน จากการศึกษางานวิจัยในหลายๆ ชิ้นระบุว่า อาจพบคนเป็นโรคจดจำหน้าคนไม่ได้ในอัตรา 1: 50 กล่าวคือ ในจำนวน 50 คน จะพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ 1 คน โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นโดยกำเนิด และมีแนวโน้มที่จะเป็นตลอดชีวิต

ภาวะบอดใบหน้าหรือโรคจดจำหน้าคนไม่ได้เป็นภาวะบกพร่องทางสมองในส่วนการรับรู้และประมวลผล ทำให้สูญเสียการจดจำใบหน้าไปอย่างสมบูรณ์ โดยการสูญเสียความสามารถในการจดจำใบหน้านั้น มีสาเหตุมาจากสมองได้รับการเสียหายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ใบหน้าผู้คนโดยตรง หรืออาจเป็นสมองส่วนที่เป็นคลังความจำภาพใบหน้าที่เคยเห็นมาในอดีต ซึ่งเป็นการทำงานของสมองซีกขวาทั้งสิ้น ทำให้เมื่อเกิดการบาดเจ็บใดๆ ที่สมองส่วนนี้ ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคได้นั่นเอง แล้วสาเหตุของโรคคืออะไร ? โรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษาได้ไหม ? เรามาดูกันต่อเลยค่ะ

สาเหตุของ โรคจำหน้าคนไม่ได้

ในทางการแพทย์ ได้แบ่งสาเหตุของออกเป็น 2 กรณีคือ

โรคจำหน้าคนไม่ได้, โรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษา
Image Credit : freepik.com

1. เป็นมาโดยกำเนิด (Developmental Prosopagnosia)

ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หรือภาวะพร่องพัฒนาการด้านการจดจำใบหน้า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะสังเกตอาการได้ตั้งแต่เด็กๆ โดยจะมีพัฒนาการด้านการจดจำใบหน้าคนได้ช้ามาก แต่พัฒนาการส่วนอื่นๆ จะเป็นไปอย่างปกติ และโรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษาไม่ได้ในกลุ่มนี้

2. เป็นภายหลังจากการบาดเจ็บของสมองซีกขวาในวัยผู้ใหญ่ (Acquired Prosopagnosia)

ไม่ว่าจะเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนถึงสมอง หรือด้วยโรคต่างๆ เช่น เส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก การติดเชื้อ สมองอักเสบจากการแพ้ภูมิตัวเอง มีเนื้องอกในสมอง หรือโรคสมองเสื่อมบางชนิด ซึ่งผู้ป่วยจะจดจำใบหน้าคนไม่ได้ แม้จะเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันดีมาก่อนก็ตาม

เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่มีภาวะออทิซึมหรือมีพัฒนาการผิดปกติประเภทอื่นๆ เช่น Williams’ syndromre หรือ Turner’s syndrome มีโอกาสที่จะเป็น Prosopagnosia มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการขาดความสนใจในการจดจำใบหน้าผู้คน หรือเป็นผลมาจากปัญหาอื่นๆ ของสมองที่เกียวข้องกับทักษะการประมวลผลและการจดจำ

เป็น โรคจำหน้าคนไม่ได้ ส่งผลกระทบยังไงบ้างในการใช้ชีวิต ?

โรคจำหน้าคนไม่ได้, โรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษา
Image Credit : freepik.com

มาดูกันว่า ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ จะต้องได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตยังไงบ้าง

  • ไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้คนในชีวิตได้ แม้กระทั่งในรูปถ่าย ซึ่งอาจแก้ไขได้โดยการจดจำทรงผม รูปร่าง น้ำเสียง เสื้อผ้า และลักษณะการเดินแทน แต่อาจช่วยไม่ได้เสมอไป ในกรณีที่พบเจอกับคนแปลกหน้า หรือเปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนการแต่งตัว เป็นต้น
  • คนที่เป็นโรคจดจำใบหน้ามักจะหลีกเลี่ยงการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและอาจพัฒนาไปเป็นโรควิตกกังวลทางสังคม หรือโรคกลัวการเข้าสังคม เพราะจะรู้สึกประหม่าและวิตกกังวลอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถจดจำใบหน้าของใครได้เลย และอาจเดาไม่ได้ว่า คนที่กำลังคุยอยู่ด้วยนั้นคือใคร เคยรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ 
  • มีปัญหาในด้านการทำงาน เนื่องจากไม่สามารถจดจำใบหน้าหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้าได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องยากในการติดต่อประสานงาน
  • ไม่สามารถเข้าใจความหมายหรือคาดเดาอารมณ์ผู้อื่นผ่านการแสดงออกทางสีหน้าได้  และอาจจะไม่สามารถคาดเดาอายุ เพศ จากการมองหน้าผู้อื่นได้ด้วย 
  • ผู้ป่วยบางคนอาจไม่สามารถจดจำสถานที่ รถ หรือสิ่งของได้ด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตไปอีกขั้น   
  • มีปัญหาด้านการชมภาพยนตร์ เนื่องจากไม่สามารถจดจำใบหน้าตัวละครได้ จึงมักจะสับสนกับพล็อตเรื่อง และดูหนังไม่สนุก 
  • หากไม่ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกัน หรือไม่รู้มาก่อนว่าบุคคลนั้นมีภาวะ Prosopagnosia อาจถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ ว่าหยิ่งหรือเพิกเฉย เย็นชากับคนอื่น ไปจนถึงขั้นถูกตราหน้าว่าหยาบคาย ไม่มีมารยาทเลยทีเดียว เนื่องจากอาจไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่เคยเจอกันมาก่อน ด้วยก็เพราะไม่สามารถจดจำใบหน้าคนนั้นๆ ได้นั่นเอง 

เกร็ดสุขภาพ : ถึงแม้บางคนจะมีอาการจำชื่อคนไม่ได้หรือจำหน้าคนไม่ได้บ้าง แต่ถ้ายังสามารถระบุตัวตนของคนในครอบครัว ญาตพี่น้อง เพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ชิดได้อย่างแม่นยำ และสามารถจดจำรูปภาพของบุคคลที่มีชื่อเสียงได้ สามารถจดจำใบหน้าของบุคคลที่เพิ่งพบเจอได้ สามารถจำแนกความเหมือนและความแตกต่างของใบหน้าแต่ละคนได้ และสามารถคาดเดาอายุ เพศ หรือสีหน้าอารมณ์ผ่านทางใบหน้าได้ แสดงว่ายังไม่เข้าข่ายที่จะเป็นโรค Prosopagnosia แต่อาจจะเกิดการหลงลืมได้บ้าง เนื่องจากสมองมีการทำงานที่ซับซ้อน และมีคลังเก็บความจำหลายส่วน อาจไม่สามารถจดจำหรือนึกขึ้นในทันที

โรคจดจำหน้าคนไม่ได้ รักษา ได้หรือไม่ ? ถ้าเป็นแล้ว จะรักษายังไง ?

โรคจำหน้าคนไม่ได้, โรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษา
Image Credit : Pexels

น่าเสียดายที่ต้องบอกว่าโรคนี้ยังรักษายังไม่ได้โดยตรงในปัจจุบัน จะมีการศึกษาเกี่ยวโรคนี้อย่างต่อเนื่องก็ตาม ในกรณีที่เป็นโรคโดยมีสาเหตุมาจากการที่สมองได้รับความเสียหายด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคสมองเสื่อม หรือเกิดการอักเสบติดเชื้อ อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาเพื่อให้โรคที่เป็นอยู่หาย แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าอาการจำหน้าคนไม่ได้จะหายกลับมาเป็นปกติ สำหรับผู้ที่เป็นมาแต่กำเนิด สามารถแก้ไขได้โดยการปรับตัวหรือพัฒนาทักษะการจดจำใบหน้าแทน เช่น การฝึกทักษะการจดจำลักษณะเด่นบางอย่างบนใบหน้าของบุคคล หรือฝึกทักษะด้านการจำเสียงให้แม่นยำ เพื่อระบุตัวบุคคลด้วยการจำเสียงแทนการจดจำใบหน้า หรือมีคนสนิทหรือคนใกล้ชิดที่สามารถพึ่งพาและซักถามในการจดจำคนอื่นๆ ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น หากอยู่ในบริษัทอาจจดจำผู้คนจากป้ายชื่อแทน เป็นต้น

สามารถป้องกันโรคจำหน้าคนไม่ได้ ได้หรือเปล่า ?

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า สาเหตุของการเกิดโรคนั้น มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทางกรรมพันธ์ุ หรือมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้สมองเสียหาย ซึ่งปัจจัยในการเกิดโรคนั้นล้วนเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ สิ่งที่สามารถทำได้อาจเป็นการดูแลสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลโรคที่อาจเป็นสาเหตุของ Prosopagnosia เช่น ป้องกันไม่ให้ตัวเองเป็นโรคความจำเสื่อม ศึกษาวิธีป้องกันอัลไซเมอร์ หรือดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคความดัน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เพราะเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ เป็นต้น  และระมัดระวังตัวอยู่เสมอ ก็อาจช่วยให้เกิดโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้น้อยลงค่ะ

ในตอนนี้เราก็รู้จักโรคจดจำใบหน้าคนไม่ได้ หรือ Prosopagnosia กันมากขึ้นแล้ว ซึ่งโรคนี้ เป็นโรคที่มีอยู่จริง และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มากมาย และปัจจุบัน โรคจำหน้าคนไม่ได้ รักษาไม่ได้โดยตรง แต่อาจทำได้โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต หรือพัฒนาประสาทสัมผัสในส่วนอื่นๆ แทน เช่น การจดจำเสียง การจดจำกลิ่น เพื่อเป็นการระบุตัวบุคคลแทนการจดจำใบหน้า และถ้าบังเอิญเจอใครที่ป่วยเป็นโรคนี้จริงๆ ก็ควรจะเข้าใจธรรมชาติของผู้ป่วย และช่วยเหลือกัน มีความเห็นอกเห็นใจต่อกัน แทนที่จะตีตราหรือตำหนิให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกแย่ๆ เพราะจะทำให้ยิ่งปลีกตัวออกจากสังคม และมีแนวโน้มจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้นะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nhs.uk, my.clevelandclinic.org, webmd.com

Featured Image Credit : pixabay.com/viyn

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save