“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคไหลตาย คือ อะไร ? ดูแลสุขภาพยังไง ไม่ให้หลับแล้วตายไปโดยไม่รู้ตัว !
เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่อ “โรคไหลตาย” กันมาบ้าง และเข้าใจกันว่า โรคไหลตาย เป็นการที่นอนหลับแล้วเสียชีวิตไปเฉยๆ แต่เคยสงสัยกันไหมว่า โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุของ โรคไหลตาย คือ อะไร ? แล้วใครบ้างที่เสี่ยงจะเป็นโรคนี้ ? มีวิธีป้องกันและรักษาหรือไม่ ? แล้วเราจะดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากการเสียชีวิตขณะนอนหลับ ไปอ่านคำตอบได้ในบทความนี้กันค่ะ
โรคไหลตาย คือ โรคอะไรกันแน่ !? ชวนรู้จัก โรคที่นอนหลับแล้วตายไปโดยไม่รู้ตัว !
Sudden Unexplained Nocturnal Death Syndrome (SUNDS) หรือ โรคไหลตาย คือกลุ่มอาการที่มีการเสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะนอนหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นโรคที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจวายจนเสียชีวิตกะทันหัน และมักพบในเพศชายมากกว่า โดยในประเทศต่างๆ ก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไป อาทิ Pokkuri ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า การตายอย่างกะทันหันที่ไม่สามารถอธิบายได้ หรือ Bangungut ในฟิลิปปินส์ ที่แปลว่า การตายในขณะนอนหลับ เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรคไหลตาย คืออะไร ?
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไหลยตาย คือภาวะที่เรียกว่า บรูกาดา ซินโดรม (Brugada Syndrome) ซึ่งเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะทางกรรมพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการกลายพันธ์ของยีนที่ควบคุมการทำงานของไฟฟ้าในหัวใจ หรือ Channelopathy ทำให้ระบบนำไฟฟ้าในหัวใจทำงานผิดปกติ ส่งผลให้บุคคลนั้นมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง และหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นขณะนอนหลับ และทำให้เสียชีวิตในที่สุด
ทั้งนี้ กลุ่มอาการบรูกาดา สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยทารกไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และการเสียชีวิตอย่างกระทันหันเนื่องจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ มักพบได้ในวัยผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มอาการบรูกาดา ยังเป็นสาเหตุของการที่ทารกเสียชีวิตอย่างกะทันหันที่เรียกว่า SIDS หรือ Sudden Infant Death Syndrome อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และทำให้เกิดโรคไหลตายได้ เช่น เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง มีความผิดปกติของระบบหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ มีผนังห้องหัวใจหนาผิดปกติ มีความผิดปกติของหัวใจที่ห้องล่างขวา เป็นต้น รวมถึง ระดับแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ ก็ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจวายได้เช่นกัน ทั้งนี้ กลุ่มอาการที่พบได้บ่อยมากที่สุดที่ก่อให้เกิดโรคไหลตาย คือกลุ่มอาการบรูกาดานั่นเอง
เกร็ดสุขภาพ : ในประเทศไทยนั้น พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคไหลตายที่ 0.004% และจากสถิติในประเทศไทย พบผู้ป่วยด้วยโรค Brugada Syndrome ประมาณ 40 คน จากจำนวนประชากร 100,000 คน และส่วนใหญ่พบในคนภาคอีสาน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักเป็นผู้ชายอายุน้อยช่วงอายุ 20 – 50 ปี (ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพระราม 9)
โรคไหลตาย มีอาการอย่างไร ?
แม้ว่าโรคไหลตาย คือการเสียชีวิตขณะหลับอย่างกะทันหัน และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ก็มีผู้ที่เป็นโรคนี้จำนวนหนึ่งที่มีอาการมาก่อน และได้ทำการตรวจวินิจฉัย ก่อนที่จะพบว่ามีการเสียชีวิตด้วยโรคไหลตายในภายหลัง ซึ่งอาการดังกล่าวคือ
- มีอาการใจสั่น
- เป็นลม หมดสติ
- หน้ามืด วูบโดยไม่ทราบสาเหตุ
- หายใจลำบาก
- มีอาการชักเนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เวียนศีรษะ
- เจ็บหน้าอก
- เคยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (อ่านเพิ่มเติม หยุดหายใจขณะหลับ สาเหตุ)
- ระหว่างการนอนหลับมีเสียงหายใจครืดคราด
- เคยตรวจวินิจฉัยพบว่าหัวใจห้องบนหรือห้องล่างเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
ถ้าหากใครเคยมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย๋เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติดังกล่าว และจะได้ทำการรักษาป้องกันอย่างท่วงที ทั้งนี้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบรูกาดา อันเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุดของโรคนี้ เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทางยีนและพันธุกรรม ดังนั้น หากสมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติเสียชีวิตขณะหลับโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบไปตรวจคัดกรองโรคโดยด่วน เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ ค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : การตรวจวินิจฉัย ทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น พร้อมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่อาจบ่งชี้กลุ่มอาการบรูกาดา และอาจมีการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจทางสรีระไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เป็นต้น
โรคไหลตาย คือโรคที่สามารถรักษาได้หรือไม่ ?
ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่สามารถรักษาความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายได้แบบ 100 % แต่มีวิธีการลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งสามารถทำได้โดย
- การฝังเครื่องกระตุกหัวใจหรือเครื่องช็อตไฟฟ้าหัวใจ เพื่อกระตุ้นให้หัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ เมื่อเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้น
- การจี้ไฟฟ้าหัวใจผ่านคลื่นความถี่สูง
- การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ
จะดูแลตัวเองอย่างไร ? ไม่ให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคไหลตาย
อย่างที่ทราบกันว่า สาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคไหลตาย คือกลุ่มอาการบรูกาดา ซึ่งเกิดจากพันธุกรรม ดังนั้น หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเสียชีวิตกะทันหันขณะนอนหลับควรรีบไปตรวจคัดกรองโรคเพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ หรือตรวจคัดกรองว่า ตนเองเสี่ยงมีภาวะ Brugada Syndrome หรือไม่ ประกอบกับการดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานเกลือแร่ วิตามินให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หลักเลี่ยงการใช้ยานอนหลับเป็นประจำ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้เกิดอาการของโรคนี้มากขึ้น รวมถึงการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติรุนแรงได้จากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ร่วมกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ โดยเฉพาะวิตามินบี เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง ปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า เนื้อสัตว์ต่างๆ ผักใบเขียว และ เต้าหู้ ถั่วต่างๆ เป็นต้น
โรคไหลตาย คือภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ในทุกช่วงวัย โดยมักจะพบในช่วงอายุ 20 – 50 ปี เป็นหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการเกิดโรคคือ ปัจจัยทางกรรมพันธ์ที่เรียกว่า Brugada Syndrome ที่ทำให้หัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ จนทำให้หัวใจวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตกะทันหัน และยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การขาดแร่ธาตุอื่นๆ ที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ ดังนั้น การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงทางกรรมพันธ์ุ การตรวจร่างกายตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้รู้แนวทางป้องกันรักษาได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : medlineplus.gov, bumrungrad.com, praram9.com, academic.oup.com, healthline.com
Featured Image Credit : unsplash.com/Kinga Cichewicz
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ