“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรค Tics คืออะไร ? ต่างจาก Tourette หรือเปล่า ? รักษาหายมั้ย ?!
เคยสังเกตเห็นอาการผิดปกติ ในเด็กบางคนหรือไม่ที่จะมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า แขน ขา หรือมีการสะบัดคอ ไหล่ อยู่บ่อยครั้ง กระพริบตาถี่ๆ หรือส่งเสียงแปลกๆ ออกมา ซึ่งในบางคนก็อาจจะคิดว่า เด็กคนนั้นกำลังแกล้งเราหรือแกล้งทำอยู่หรือเปล่า จนเผลอดุเด็กๆ ไป ความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่อาการที่แกล้งทำหรือตั้งใจทำแต่อย่างใด แต่เป็นอาการของกลุ่ม โรค Tics และ Tourette ซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้อกระตุกชนิดหนึ่ง พบได้บ่อยในวัยเด็ก มาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับโรคนี้มากขึ้น โรคติกส์ และ ทูเร็ตต์คืออะไร ? สามารถรักษาให้หายได้หรือไม่ ? ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
ชวนรู้จัก โรค Tics คืออะไร ?
โรค Tics คือ อาการกระตุกของกล้ามเนื้อ โดยเป็นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเองตามที่ต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใด มีอาการไม่นาน และเกิดขึ้นซ้ำได้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบไม่มีแบบแผน ไม่เป็นจังหวะและไม่สม่ำเสมอ ควบคุมลำบาก ที่พบได้บ่อยคือ บริเวณกล้ามเนื้อใบหน้า ลำคอ ไหล่ บางครั้งมีการออกเสียงที่ผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ ส่งผลต่อเสียบุคลิกภาพได้
ประเภทของกล้ามเนื้อกระตุกตามอาการของโรคติกส์
- กลุ่มอาการกล้ามเนื้อกระตุก มักพบได้บ่อยในเด็ก โดยเป็นการกระตุกบริเวณใบหน้า อาทิ กระพริบตารัวและถี่ ยักคิ้ว ย่นจมูก กระตุกบริเวณปาก หรือเกิดการ กระตุกที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น
- คอ มีการสะบัดคอ เอียงศีรษะอยู่บ่อยครั้งอย่างไม่สามารถควบคุมได้
- ไหล่ แขน มีการแกว่งไปมาโดยไม่มีสาเหตุ
- มีการสะบัดมือ บางครั้งเกิดขึ้นขณะจับสิ่งของหรือเขียนหนังสือ
- ขา โดยการแกว่งขา กระดิกเท้า เป็นต้น
- อาการส่งเสียงผิดปกติ ซึ่งจะพบได้น้อยกว่า โดยจะแสดงอาการคือ กระแอม ไอ ส่งเสียงอึกอักในลำคอ สะอึก ส่งเสียงแบบสูดน้ำมูก หรือมีการส่งเสียงออกมาเป็นคำ ทั้งมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้
เกร็ดสุขภาพ : โรคติกส์ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยเด็ก อาการอาจปรากฎครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 5 ปี และอาการมักเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และเป็นๆ หายๆ โดยจะเป็นมากขึ้นเมื่อเกิดความเครียด รู้สึกวิตกกังวล ตื่นเต้น หรือรู้สึกเหนื่อยล้ามากๆ และมักจะอาการดีขึ้นเมื่อความเครียดความวิตกกังวลลดระดับลง ซึ่งในขณะที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้รู้สึกอับอาย ถูกกลั่นแกล้ง ถูกล้อเลียน และแยกตัวออกจากสังคม กลัวการเข้าสังคม ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้
การวินิจฉัยว่ามีกลุ่มอาการ โรค Tics
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ จะอาศัยการดูประวัติของผู้ป่วยและดูจากอาการที่แสดงออกมา โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษ หรือตรวจเลือดเพิ่มเติม โดยมักพบในเด็กช่วงอายุประมาณ 3 – 7 ปี และมีอาการต่อเนื่อง 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเด็กที่มีอาการอาจจะรู้ตัวและไม่รู้ตัวว่ามีกล้ามเนื้อกระตุกหรือมีการเปล่งเสียงออกมา ทั้งยังไม่ได้เกิดขึ้นในลักษณะเดิมทุกครั้ง เพราะจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งที่เกิดกล้ามเนื้อกระตุกไปเรื่อยๆ และจะมีอาการมากขึ้นเมื่อเด็กๆ มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้า หรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป
เมื่อเติบโตขึ้นหรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กๆ ก็จะเริ่มสังเกตอาการก่อนที่จะเกิดการกระตุกได้ และสามารถควบคุมหรือกลั้นอาการกระตุก หรือกลั้นการเปล่งเสียงออกมาได้ แต่ต้องใช้ความพยายามสูง โดยทั่วไปแล้ว เมื่ออายุเพิ่มขึ้น อาการของโรคจะค่อยๆ หายไปหรือมีความถี่ในการกระตุกลดลง ซึ่งมีโอกาสน้อยที่จะเป็นจนถึงวัยผู้ใหญ่
สาเหตุของการเกิดของ Tics กล้ามเนื้อกระตุก เกิดจากอะไร ?
- เกิดจากการส่งต่อทางพันธุกรรม เช่น สมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติเป็นโรคติกส์ โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD โรคสมาธิสั้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการดังกล่าวได้
- เกิดจากความผิดปกติของสมอง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกล้ามเนื้อในส่วนของการเคลื่อนไหว ถ้าสมองส่วนนั้นมีการทำงานผิดปกติ ก็อาจส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อกระตุกได้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางชนิดด้วยเช่นกัน
- เกิดจากการติดเชื้อบางชนิด ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ และเชื้อมีการทำปฏิกิริยากับระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการกระตุกได้
- ในบางราย กล้ามเนื้อกระตุก เกิดจากความเครียดหรือความตื่นเต้นที่มากเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการของโรคติกส์ได้
เกร็ดสุขภาพ : ในเด็กที่มีอาการของโรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคบกพร่องทางการเรียนรู้เฉพาะด้าน หรือเด็กที่มีอาการของกลุ่มโรคอื่นๆ อาจทำให้มีความเครียดสูง และส่งผลให้โรคกล้ามเนื้อกระตุกมีอาการกำเริบรุนแรงมากขึ้น
โรค Tics และ Tourette ใช่โรคเดียวกันหรือเปล่า ?
โรค Tourette หรือ ทูเร็ตต์ อยู่ในกลุ่มโรคเดียวกับโรคติกส์ ซึ่งในเด็กที่มีอาการทั้งสองอย่างคือ มีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ไม่ว่าจะเป็นการกระพริบตา สะบัดแขนขา คอ ร่วมกับการเปล่งเสียงโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น กระแอม สูดจมูก ส่งเสียงในลำคอ รวมถึงการเปล่งเสียงเป็นคำออกมา จะเรียกว่าโรคทูเร็ตต์ และพบได้ในวัยเด็กช่วงอายุประมาณ 5 – 6 ปี และอาการมักรุนแรงเมื่ออายุ 11 – 12 ปี จากนั้นอาการจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้น จนถึงช่วงอายุไม่เกิน 18 ปี โดยผู้ที่เป็นโรคทูเร็ตต์จำนวน 50% สามารถหายได้ แต่อาจมีอาการอยู่บ้างบางครั้ง
การรักษาโรค Tics และ Tourette ทำได้อย่างไร
การรักษาโรคติกส์และทูเร็ตต์ มีการรักษาคล้ายเคียงกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- ถ้าบุตรหลานมีอาการของโรคติกส์และทูเร็ตต์ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ว่าเป็นโรคนี้หรือเป็นอาการของกลุ่มโรคอื่นๆ ที่กล้ามเนื้ออาจเกิดการกระตุกได้เช่นกัน
- สามารถรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัดที่เรียกว่า Habit Reversal Training โดยสอนให้ผู้ป่วยรู้เท่าทันขณะเกิดอาการ และฝึกควบคุมอาการด้วยการผ่อนคลาย เช่น หากกล้ามเนื้อที่ตากระตุกถี่ๆ หรือกระพริบตาถี่ๆ ก็ให้ผ่อนคลายโดยการมองไปที่ไกลๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อตาผ่อนคลายและกระตุกน้อยลง
- รักษาโดยการใช้ยา ในกรณีที่กล้ามเนื้อกระตุกอย่างมากหรือส่งเสียงจนเสียบุคลิกภาพ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยลดอาการที่เกิดขึ้น
- ดูแลสุขภาพของบุตรหลานที่มีอาการของโรคนี้ให้แข็งแรงอยู่เสมอ ให้เด็กๆ พักผ่อนอย่างเพียงพอ นอนหลับให้สนิท เพราะการอดนอนหรือพักผ่อนไม่เพียงพอก็กระตุ้นให้อาการเป็นหนักขึ้นได้
- ส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดี มีการช่วยเหลือด้านจิตใจเพื่อลดความเครียดให้กับเด็กที่มีอาการของโรคนี้ และส่งเสริมให้เด็กมีการปรับตัว รู้จักจัดการกับอารมณ์เมื่อถูกเพื่อนล้อเลียน ส่งเสริมให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และรับรู้ว่าโรคนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียน การทำกิจกรรม และการใช้ชีวิตประจำวัน เด็กๆ ยังคงมีความสามารถและใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ซึ่งจะทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นและกังวลกับอาการของตัวเองน้อยลงค่ะ
ทั้งนี้ ผู้ปกครองและคนในครอบครัว ควรเข้าใจบุตรหลานที่มีอาการของโรคนี้ และเข้าใจว่า กล้ามเนื้อกระตุก เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมองและระบบประสาทบางส่วน และเด็กๆ ไม่ได้แกล้งทำหรือตั้งใจทำ และไม่สามารถควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้ และอาจมีอาการมากขึ้นเมื่อถูกกดดันหรืออยู่ในความเครียด ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูที่โรงเรียนไม่ควรกล่าวตำหนิ พูดทัก ห้ามปรามหรือล้อเลียน แต่ควรช่วยให้เด็กผ่อนคลายและมีความเครียดลดลง ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้นได้
โรค Tics และ Tourette ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงแต่อย่างใด แม้อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพบ้าง แต่สามารถรักษาได้ และอาการจะดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น ทั้งนี้ การทำให้เด็กเข้าใจถึงอาการที่เกิดขึ้น และมีการรักษา ปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เด็กไม่เครียดและวิตกกังวลจนเกินไป และอาการดีขึ้นตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ผู้ปกครองและคนรอบข้างก็ควรมีความเข้าใจในโรคนี้ และไม่ตำหนิ ดุด่า หรือล้อเลียน แต่ควรให้กำลังใจ ให้ความรักความใส่ใจ ให้ความอบอุ่นในครอบครัว ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของเด็กๆ ก็จะทำให้เด็กดำรงชีวิตอยู่กับโรคนี้ได้อย่างมีความสุขมากขึ้นค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : vibhavadi.com, sriphat.med.cmu.ac.th, cdc.gov, samitivejhospitals.com
Featured Image Credit : freepik.com/jcomp
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ