X

ซึมเศร้า เหวี่ยงวีนก่อนมีประจำเดือน มีจริงหรือไม่ ? ชวนรู้จักอาการ PMDD คือ อะไร ? ทำไมถึงทำให้ให้สาวๆ อารมณ์ดิ่งก่อนวันนั้นของเดือน

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ซึมเศร้า เหวี่ยงวีนก่อนมีประจำเดือน มีจริงหรือไม่ ? ชวนรู้จักอาการ PMDD คือ อะไร ? ทำไมถึงทำให้ให้สาวๆ อารมณ์ดิ่งก่อนวันนั้นของเดือน

หงุดหงิดง่าย รำคาญเก่ง ร้องไห้บ่อย รู้สึกเศร้าๆ เหงาๆ ดิ่งๆ อารมณ์เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง จนคนรอบตัวบอกว่าติสต์แตก ทั้งๆ ที่ปกติก็ไม่เป็นแบบนี้ ถ้าสาวๆ มีอาการแบบนี้ในช่วงก่อนมีประจำเดือนมา แถมยังรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย กินจุ ท้องอืด ตัวบวม แล้วละก็ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นอาการของ PMS หรือ Premenstrual Syndrome ซึ่งเป็นอาการก่อนมีประจำเดือน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายช่วงก่อนประจำเดือนจะมา 7  – 10 วัน ทำให้สาวๆ มีอาการดังกล่าวนั่นเอง ซึ่ง PMS เป็นอาการทางธรรมชาติของผู้หญิง และมักจะหายได้เอง แต่ยังมีอาการที่เรียกว่า Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD คือ ความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ – อารมณ์อย่างรุนแรง โดยมีความเกี่ยวโยงกับช่วงก่อนมีประจำเดือน เช่น เครียดจัด ซึมเศร้า หดหู่ โมโหร้าย อาจถึงขั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า และอยากฆ่าตัวตายเลยทีเดียว ในส่วนของความเปลี่ยนแปลงของร่างกายคือ นอนไม่หลับ อ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่มีสมาธิ ตัวบวม คัดหน้าอกอย่างมาก หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นต้น

ในบทความนี้ อยากชวนสาวๆ มารู้จักกับอาการ Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD กันให้มากขึ้นว่า เกิดจากอะไร มีอาการเป็นอย่างไร และสามารถป้องกัน หรือดูแลตัวเองได้อย่างไรบ้าง เพราะถ้าหากมีอาการรุนแรงๆ มาก ก็อาจเป็นอันตรายได้นะคะ

PMDD คือ อะไร ? ร้ายแรงมากมั้ย ?

pmdd คือ, อาการก่อนมีประจำเดือน
Image Credit : freepik.com

หลายๆ คนคงเคยรู้จักอาการก่อนมีประจำเดือนอย่าง PMS กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้สาวๆ มีอารมณ์อ่อนไหวกว่าปกติ มักจะหงุดหงิดง่าย เศร้าง่าย อารมณ์แปรปรวน และยังมีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว คัดเต้านม ท้องผูกหรือท้องเสีย มีสิวขึ้น มีความอยากอาหารมากกว่าปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการช่วง 1 – 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และอาการเหล่านี้จะหายไปเองหลังมีประจำเดือน 2 – 3 วัน โดยไม่ต้องทำการรักษาหรือใช้ยาใดๆ เพียงแค่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือฝึกอารมณ์ ฝึกสมาธิในช่วงที่รู้สึกหงุดหงิด ก็จะดีขึ้นค่ะ

แต่ Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD คือ กลุ่มอาการผิตปกติทางอารมณ์ในช่วงก่อนมีประจำเดือน ซึ่งจะมีอาการรุนแรง เช่น เครียดอย่างรุนแรง ซึมเศร้ามากๆ รู้สึกหดหู่ อารมณ์แปรปรวนอย่างหนัก และอาจควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ จัดเป็นอาการขั้นรุนแรงของ PMS โดยพบว่า มีผู้หญิงจำนวน 2 – 10% จะมีอาการ PMDD ซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้

PMDD มีอาการยังไงบ้าง ?

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการของ Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD คือจะมีอาการคล้ายกับ PMS แต่เป็นในระดับที่รุนแรงกว่า ซึ่งสามารถสังเกตได้ดังนี้

1. อาการทางอารมณ์

pmdd คือ, อาการก่อนมีประจำเดือน
Image Credit : freepik.com
  • อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง ตึงเครียด ควบคุมตัวเองไม่ได้
  • อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย รู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ หดหู่ 
  • วิตกกังวล หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียว โมโหแรง โกรธจัด
  • รู้สึกเบื่อหน่าย เฉื่อยชา ไม่สนใจสิ่งรอบข้างหรือกิจกรรมที่เคยชอบ
  • ไม่มีสมาธิ กระสับกระส่าย ตื่นกลัว
  • รู้สึกหดหู่ รู้สีกไร้ค่า อาจถึงขั้นมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย

2. อาการทางกาย

  • อ่อนเพลียง่าย รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง
  • นอนไม่หลับ นอนไม่พอ 
  • ปวดเกร็งท้อง ปวดท้องน้อย
  • เบื่ออาหาร หรือกินมากผิดปกติ 
  • ท้องอืด ท้องเสีย
  • ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คัดเต้านม

ทั้งนี้ อาการที่เด่นชัดของ PMDD คือ ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจและอารมณ์ ซึ่งจะมีความผิดปกติไปจากเดิม หรือเกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนเท่านั้น โดยทั่วไป ผู้ที่เป็น PMDD จะมีอาการช่วง 5 – 6  วันก่อนมีประจำเดือน และระยะเวลาของอาการจะแตกต่างกันไป ในบางคนอาจมีอาการเพียง 2 – 3 วัน ในขณะที่บางคนอาจมีอาการยาวนานถึง 2 สัปดาห์

เกร็ดสุขภาพ : PMDD เกิดขึ้นเฉพาะก่อนช่วงมีประจำเดือน และพบได้ทุกช่วงอายุที่ยังอยู่ในวัยมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม อาการของ PMDD อาจมีความคล้ายคลึงกับปัญหาด้านสุขภาพจิต การติดสารเสพติด โรคไทรอยด์ และอาการวัยทอง ดังนั้น ต้องตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าวร่วมด้วย เพื่อระบุชัดเจนว่าเป็นอาการของโรคอื่นๆ หรือไม่

Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD มีสาเหตุมาจากอะไร ?

pmdd คือ, อาการก่อนมีประจำเดือน
Image Credit : freepik.com

สาเหตุของการเกิด PMDD ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ขัด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการ PMDD มักจะมีอาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลร่วมด้วย จึงได้มีการคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงจำพวก Estrogen และ Progesterone ในช่วงก่อนมีประจำเดือนทำให้มีอารมณ์แปรปรวน และทำให้ผู้ที่มีอาการโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลมีภาวะอารมณ์แปรปรวนไม่คงที่มากกว่าปกติ จึงทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น และถ้าหากคนในครอบครัวมีประวัติอาการ PMDD หรือมีประวัติอารมณ์ผิดปกติอื่นๆ ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด PMDD สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งนี้ อาจมาจากความเปลี่ยนแปลงของสาร Serotonin ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ควบคุมอารมณ์ ความหิว การนอนหลับ และอาจส่งผลทำให้เกิดอาการได้

การรักษาและป้องกันอาการของ PMDD

หากอาการ PMDD คือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีแนวโน้มอยากฆ่าตัวตายสูง หรือไม่สามารถทำงานได้ ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำได้ตามปกติเพราะอารมณ์แปรปรวนมาก ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง โดยมีอาการต่อเนื่องกัน 3 เดือนขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาอาการ PMDD คือ เป็นการรักษาด้วยหลายวิธีประกอบกัน ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ดังนี้

pmdd คือ, อาการก่อนมีประจำเดือน
Image Credit : freepik.com
  1. ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงคาเฟอีนซึ่งจะทำให้นอนไม่หลับมากขึ้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการปรับสภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้น และเป็นประจำเดือนออกกำลังกายได้นะคะสาวๆ โดยอาจจะออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็ว โยคะ พิลาทิส เป็นต้น  
  1. มีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น ฝึกการหายใจเข้าออกเพื่อปรับอารมณ์ หรือฝึกสมาธิด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นโยคะ ฟังดนตรีบำบัด ทำงานศิลปะ หรือพูดคุยกับเพื่อนสนิทเพื่อเป็นการระบายความเครียด เป็นต้น
  1. แพทย์อาจสั่งยารักษาร่วมด้วย เช่น ยาต้านเศร้ากลุ่ม SSRIs หรือยาที่ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน Serotonin ในสมอง นอกจากนี้ อาจรักษาได้ด้วยยาที่มีผลต่อการปรับฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ซึ่งจะช่วยยับยั้งการตกไข่และอาจช่วยลดอาการ PMDD ได้ หรือยากลุ่มที่ยับยั้งการผลิตฮอร์โมน Estrogen และฮอร์โมน Progesterone อย่างไรก็ตาม การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์เท่านั้น 
  1. รักษาด้วยวิธีจิตบำบัด เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม เพื่อให้สามารถจัดการกับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นได้ และรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองมากขึ้น เข้าใจอาการ PMDD ที่เป็นอยู่ สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ให้รู้สึกเศร้าหรือดิ่งเกินไป และปรับเปลี่ยนให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม

เกร็ดสุขภาพ : การรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาอาการ PMDD ควรจะเป็นยาชนิดที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อมารับประทานเองโดยที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ เนื่องจากยาคุมกำเนิดบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เจ็บหน้าอก มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีอารมณ์แปรปรวนยิ่งกว่าเดิม (อ่านเพิ่มเติม ยาคุมกำเนิดมีกี่แบบ)

ยังไงก็ตาม ประจำเดือนกับผู้หญิงเป็นสิ่งที่ต้องมาคู่กันอยู่แล้ว แม้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าดูแลตัวเองเป็นอย่างดีในระหว่างที่มีอาการก่อนมีประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็น PMS หรือ PMDD ก็ตาม สิ่งสำคัญคือ หมั่นสังเกตอาการตัวเองว่าผิดปกติหรือไม่ ? อาการเหวี่ยงวีนหรืออารมณ์แปรปรวน ความรู้สึกดิ่งๆ เศร้าๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือเปล่า ? หากรู้เท่าทันอาการตัวเองก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นได้ และเข้าใจว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายตัวเอง และควรจะดูแลตัวเองโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานวิตามินรวมสำหรับผู้หญิง เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนอย่างเพียงพอ ฝึกบริหารอารมณ์ไม่ให้เครียดหรือแปรปรวนจนเกินไป ก็จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับอาการเหล่านี้ได้ แต่ถ้าอาการ PMS หรือ PMDD ที่เป็นอยู่ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ อาจจะต้องไปพบคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : my.clevelandclinic.org, webmd.com

Featured Image Credit : freepik.com/ViDIstudio

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save