“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
มือเหลือง เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ รักษาได้มั้ย ? มาดูแลสุขภาพตัวเองกัน
โดยปกติแล้วบริเวณฝ่ามือของคนเรามักจะมีสีแดงอมชมพู คล้ายกับมีเลือดฝาด จะมีสีแดงเข้มหรือสีแดงจางๆ ก็ขึ้นอยู่กับสีผิวและระบบไหลเวียนโลหิตของคนๆ นั้น แต่บางครั้งแล้ว ฝ่ามือของคนเราอาจมีสีขาวซีดหรือมีสีเหลืองได้ โดยอาจเกิดจากการกินอาหารบางชนิด เช่น การกินผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์จะทำให้ผิวหนังมีสีเหลืองอมแดงได้ แต่ถ้าไม่ได้เกิดจากอาหาร มือเหลือง เกิดจากอะไร ได้บ้าง ? บ่งบอกถึงปัญหาทางสุขภาพหรือไม่ มาหาคำตอบกันเลยค่ะ
มือเหลือง เกิดจากอะไร บ่งบอกถึงปัญหาทางสุขภาพหรือไม่ ?
มือเหลือง เกิดจากอะไรได้บ้าง ? โดยทั่วไปแล้วอาการมือเหลืองอาจเกิดจากการกินอาหารที่มีสีส้มสีเหลืองมากเกินไป เรียกว่าภาวะแคโรทีเมีย (Carotenemia) เป็นภาวะที่ผิวหนังจะเปลี่ยนสี เนื่องจากมีเม็ดสีส้มอมเหลืองในปริมาณมาก อาจเกิดจากการกินอาหารที่อุดมไปด้วยแคโรทีนเป็นเวลานาน ซึ่งแคโรทีนเป็นสารที่จะเพิ่มสีเหลืองให้กับผิวของเรา พบในผักและผลไม้ที่มีสี เช่น ส้ม มะละกอ มะม่วง แครอท ฟักทอง ฯลฯ ยิ่งผักผลไม้มีสีเหลืองมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีแคโรทีนมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะหากรับประทานในปริมาณมากและรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาการมือเหลืองที่เกิดขึ้น เกิดจากชั้นผิวหนังของเรามีการสะสมแคโรทีน ทำให้มีเม็ดสีเหลืองบนผิวและมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งนอกจากอาหารที่กินเข้าไปแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ของอาการมือเหลืองที่เกิดขึ้นได้อีก ได้แก่
1. ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ
ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือ hypothyroidism คือการที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบการทำงานต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีอาการท้องผูก ผิวแห้ง ปวดข้อ หนาวสั่นได้ง่าย ปวดกล้ามนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงอาจมีอาการมือเหลืองได้ด้วยเช่นกัน
2. มีนิ่วในถุงน้ำดี
มือเหลือง เกิดจากอะไร ? สำหรับคนที่มีอาการมือเหลือง ตัวเหลือง ตาเหลืองร่วมด้วย อาจเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดี สำหรับคนที่เคยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีหรือมีประวัติเจอนิ่วในถุงน้ำดี เมื่อใดก็ตามที่มีภาวะมือเหลือง ตัวเหลือง ตาเหลือง ร่วมกับอาการปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีตกลงมาอุดตันที่บริเวณท่อทางเดินน้ำดี หากมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยเร็ว
3. โรคดีซ่าน
มือเหลือง เกิดจากอะไรได้อีกบ้าง ? อาการมือเหลือง ตัวเหลือง ตาเหลือง อาจเกิดจากโรคดีซ่าน อันมีสาเหตุมาจากระดับบิลิรูบินในเลือดสูง ร่วมกับมีอาการเหนื่อยล้า ปวดท้องด้านบน อุจจาระมีสีซีด เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของโรคดีซ่านนั้นก็มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง มีความผิดปกติในตับอ่อน มีภาวะไขมันพอกตับ เป็นต้น
4. โรคเบาหวาน
มือเหลือง เกิดจากอะไรได้อีกบ้าง ? สาเหตุอาจมาจากโรคเบาหวาน เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และจะทำให้ผิวเป็นสีเหลืองทั้งๆ ที่ไม่ได้กินอาหารที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์เลย แต่หลังจากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว มือและผิวที่เหลืองก็จะหายไป
5. ตับอักเสบ หรือระบบท่อน้ำดีอุดตัน
แอลกอฮอล์อาจทำให้ตับถูกทำลาย และนำไปสู่ภาวะบิลิรูบิน ในเลือดสูง อาการมือเหลือง ตัวเหลือง อาจเป็นสัญญาณของตับอ่อนอักเสบ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากนิ่วหรือการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคตับอักเสบ เพราะสามารถส่งผลต่อการหลั่งและขับน้ำดีในร่างกายของเรา และนำไปสู่การเป็นนิ่วในถุงน้ำดี โรคไขมันพอกตับ และโรคตับแข็งได้ค่ะ
6. ได้รับวิตามินเอมากเกินไป
วิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันซึ่งจำเป็นสำหรับการมองเห็น มีประโยชน์ต่อผิวหนัง กระดูก และภูมิคุ้มกันของเรา แต่อาจเป็นพิษได้หากได้รับในปริมาณสูงเกินไป และทำให้ตับเสียหาย การได้รับวิตามินเอในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เกิดแผลในตับ ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินได้ และการบริโภควิตามินเอมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะต่างๆ เช่น carotenemia ที่ทำให้มือเหลืองและตัวเหลืองได้ค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : โดยทั่วไปแล้ว ในผู้ใหญ่ต้องการวิตามินเอประมาณ 1,000 ถึง 2,000 หน่วยสากล (IU) ต่อวัน ซึ่งวิตามินเอพบได้ในอาหารหลากชนิด ไมว่าจะเป็นผักผลไม้สีเหลือง สีส้ม และสีเขียว ทั้งยังพบมากในเนื้อสัตว์ เช่น น้ำมันตับปลา เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งวิตามินเอนั้นจำเป็นต่อร่างกายของเรา แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่สูงมาก (มากกว่า 40,000 IU) จะเกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน และเกี่ยวข้องกับความเสียหายของตับ หรือเป็นโรคดีซ่านได้
7. เม็ดเลือดแดงแตกมาก
มือเหลือง เกิดจากอะไรได้อีกบ้าง อาจเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างโรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย และโรคโลหิตจางชนิดต่างๆ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (อ่านเพิ่มเติม ธาลัสซีเมียมีกี่ชนิด) โรคโลหิตจางเม็ดเลือดแดงแตกง่าย เป็นต้น เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกง่ายก็จะทำให้เกิดอาการมือเหลือง ตัวเหลือง และมีภาวะซีดได้เช่นกัน
วิธีรักษาและดูแลตัวเอง หากมีอาการมือเหลือง
โดยปกติแล้ว อาการมือเหลืองมักจะเกี่ยวข้องกับอาหารที่กินเข้าไป ซึ่งถือว่าไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด และอาการมือเหลืองนั้นจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อเราหยุดกินอาหารชนิดนั้นๆ ไปสักพัก โดยไม่ต้องทำการรักษาหรือพบแพทย์ และเพื่อป้องกันอาการมือเหลือง เราควนกินผักผลไม้ชนิดอื่นๆ อย่างหลากหลาย เช่น กินผักใบเขียวและผักผลไม้สีอื่นๆ สลับกันไป และงดกินอาหารที่มีแคโรทีนในปริมาณมากหรือกินติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงบริโภควิตามินเอย่างเหมาะสม หากเราบริโภคอย่างพอดี ก็จะไม่ทำให้เกิดอาการมือเหลืองได้ และอาจใช้วิธีนวดมือตัวเองเพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดีด้วยก็ได้ค่ะ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มือเหลือง เกิดจากอะไรหลายสาเหตุด้วยกัน หากมีอาการมือเหลืองร่วมกับอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีความผิดปกติอื่นๆ ทางร่างกาย อาจจะบ่งบอกถึงภาวะทางสุขภาพอื่นๆ เช่น ตับอักเสบ ตับอ่อนทำงานผิดปติ หรือมีสิ่งอุดตันท่อน้ำดี ฯลฯ ให้ลองสังเกตตนเองว่า หากมือเหลืองเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่การรับประทานอาหาร และเหลืองทั้งมือ เท้า ตัว รวมถึงมีอาการตาเหลืองและอุจจาระมีสีซีดลงร่วมด้วย แนะนำให้ไปพบแพทย์โดยเร็วนะคะ เพราะอาจเป็นความผิดปกติภายในร่างกายของเราที่ถ้าปล่อยทิ้งเอาไว้ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพและก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้ค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : อาการตาเหลืองที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพนั้น คือตาขาวมีสีเหลืองหรืออมเหลือง แทนที่จะเป็นสีขาวปกติ แต่ถ้าหากมีผิวรอบดวงตาเป็นสีเหลือง อันตรายหรือไม่ ? อาการนี้อาจเกิดจากสภาพที่เรียกว่า Xanthelasma Palpebrarum ซึ่งส่งผลให้มีไขมันสะสม ส่วนใหญ่เป็นคอเลสเตอรอล และปรากฏเป็นสีเหลืองบนผิวหนังรอบดวงตา มักไม่เป็นอันตรายค่ะ
มือเหลืองเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง ตอนนี้ก็ได้ทราบกันไปแล้วนะคะ ซึ่งอาจเกิดจากการกินอาหารที่มีสีเหลือง สีส้ม และสีเขียวมากเกินไป ทำให้ร่างกายได้รับสารแคโรทีนอยด์สูง เป็นสาเหตุให้ในร่างกายของเรามีเม็ดสีสีเหลืองมากขึ้น และทำให้ผิวเหลือง ตัวเหลืองได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่อาจจะต้องลดการกินอาหารที่มีสีเหล่านี้ให้น้อยลง แต่ถ้ามีอาการมือเหลืองร่วมกับความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ เช่น ปวดท้อง เป็นไข้ รู้สึกไม่สบาย เหนื่อยล้า มีภาวะตัวเหลืองตาเหลืองร่วมด้วย หรือมีความผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจมีความผิดปกติภายในร่างกายได้ จะได้ทำการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรักษาต่อไปค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bangkokhospital.com, verywellhealth.com, emedicine.medscape.com, webmd.com
Featured Image Credit : freepik.com/nakaridore
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ