“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
อาการใจเต้นเร็ว เกิดจากอะไร ? รักษาได้มั้ย ดูแลตัวเองยังไง ?!
เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ร่างกายฉลาดกว่าที่เราคิด” กันหรือเปล่าคะ ? สาเหตุที่มีคำพูดประโยคนี้เป็นเพราะร่างกายของเรามักรับรู้ถึงอาหารผิดปกติและส่งสัญญาณเตือนเป็นอาการแปลกๆ ก่อนที่เราจะทันรู้ตัวซะอีก ซึ่งหนึ่งในอาการเหล่านั้นก็คืออาการใจเต้นเร็วผิดปกตินั่นเอง แต่หากเรารู้สึกใจเต้นเร็วขึ้นมาหมายถึงอะไร เป็นโรคหัวใจหรือไม่ หรือมีความผิดปกติกับร่างกายกันแน่ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันค่ะ
- อาการใจเต้นเร็ว คืออะไร ?
ใจเต้นเร็ว เป็นอาการที่เกิดภาวะหัวใจเต้นอัตราเร็วมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป มักเกิดขึ้นร่วมกับอาการอื่น เช่น หายใจหอบ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคหัวใจซึ่งเป็นโรคร้ายแรง อย่างไรก็ตาม ภาวะหัวใจเต้นในอัตราเร็วกว่าปกติอาจไม่ได้บอกโรคร้ายเสมอไป เพราะยังเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อเราอยู่ในภาวะเครียด กดดัน การกินยาบางชนิด หรือแม้แต่การออกกำลังกายหนักเกินไป
เกร็ดสุขภาพ : รู้หรือไม่ อัตราการเต้นของหัวใจปกติจะอยู่ที่ 60 – 100 ครั้งต่อนาที หากมีอัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่า 100 ครั้ง นั่นหมายถึงภาวะใจเต้นเร็ว ส่วนอาการใจสั่นมีลักษณะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นเบาหรือแรงเกินไป รวมถึงเต้นไม่สม่ำเสมอ มีสาเหตุหลายอย่างเช่นเดียวกับภาวะหัวใจเต้นในอัตราเร็วผิดปกติค่ะ
- สาเหตุของอาการใจเต้นเร็วเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
- การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายหนักๆ เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ หรือการเต้น ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ ดังนั้นอาจทำให้เกิดอาการใจเต้นเร็วขึ้นมาได้
- การกินยาบางชนิด : ยาบางชนิดส่งผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดน้ำหนัก หรือยาที่เกี่ยวกับลดความดัน เป็นต้น
- ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ : หากอดข้าวทั้งวันจนระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ นอกจากความหิวแล้วอาจรู้สึกหน้ามืด เหงื่อออกที่มือ และเกิดอาการใจเต้นเร็วได้เช่นกัน
- ความเครียด : ความเครียดและความวิตกกังวล ไปจนถึงภาวะกดดันทางจิตใจต่างๆ คืออีกสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เช่น เครียดและกดดันเรื่องการเรียน การสอบ ความรัก การเงิน ไปจนถึงการทำงาน ดังนั้นต้องพยายามหาวิธีการมูฟออนหรือปรับความคิดและสภาพจิตใจของตัวเองให้ได้ อาการเหล่านี้จึงจะดีขึ้น
- กินคาเฟอีนมากเกินไป : คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ การกินคาเฟอีนมากไปจึงทำให้หัวใจของเราเต้นเร็วผิดปกติ ดังนั้นพยายามลดหรือเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ รวมถึงน้ำอัดลมจะดีที่สุด
- มีไข้ : สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีไข้สูง หัวใจอาจต้องทำงานหนักขึ้นจนต้องสูบฉีดเลือดมากผิดปกติ เป็นหนึ่งในที่มาที่ทำให้หัวใจของเราเต้นเร็วได้
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ : โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือ Arrhythmia มีหลายประเภท และนี่ก็คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ใจของเราเต้นเร็วเช่นกัน
- การรักษาหัวใจเต้นเร็ว
การรักษาเมื่อหัวใจของเราเต้นเร็วและเป็นบ่อยครั้งจนผิดปกติควรไปพบแพทย์จะดีที่สุด โดยแพทย์จะตรวจวินิจฉัยอีกครั้งว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จากนั้นจึงทำการรักษาไปตามอาการ เช่น หากเกิดจากความเครียดอาจได้ยาคลายเครียดและแนวทางการดูแลสุขภาพจิตของเราเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการซ้ำอีก หรือหากเป็นเพราะโรคประจำตัวไปจนถึงอาการของโรคต่างๆ ก็จะต้องทำการรักษาควบคู่ไปกับโรคนั้นๆ ซึ่งมีทั้งวิธีที่เรียกว่าการชะลออัตราการเต้นของหัวใจให้ช้าลงด้วยการตุ้นระบบประสาทเวกัส (Vagal Maneuvers) ด้วยวิธีทำให้ผู้ป่วยไอ นอกจากนี้ยังมีวิธีการช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Cardioversion) เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นในอัตราปกติ แต่วิธีนี้มักใช้ในภาวะฉุกเฉินมากกว่าและไม่ค่อยถูกนำมาใช้สำหรับการรักษาทั่วไป
- วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันอาการใจเต้นเร็ว
ถึงแม้ว่าจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่อย่างไรก็ตามทางที่ดีที่สุดก็คือการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว โดยใช้แนวทางปฏิบัติดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 – 5 วันต่อสัปดาห์
- กินอาหารให้หลากหลายและเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
- ควบคุมน้ำหนัก ความดันโลหิต และคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะหากมีน้ำหนักเกินอาจเป็นที่มาของโรคอ้วนและโรคหัวใจได้
- ลดหรืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากไป ควรดื่มวันละ 1 – 2 แก้วเท่านั้น
- เลิกสูบบุหรี่และไม่ใช้สารเสพติดรวมถึงสารกระตุ้นที่ผิดกฎหมาย
- ไม่ซื้อยากินเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง โดยเฉพาะยาประเภทปฏิชีวนะ
- หลีกเลี่ยงความเครียด ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส เรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์และการควบคุมอาหารให้ผ่อนคลาย สงบ มีสติในทุกสถานการณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถรับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้โดยลดผลกระทบที่เกิดกับร่างกายให้น้อยที่สุด
เกร็ดสุขภาพ : อย่างที่เรากล่าวย้ำไปข้างต้นว่าอาการหัวใจเต้นผิดปกตินั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้นการดูแลตัวเองเอาไว้ก่อนจึงเป็นการสร้างเกราะป้องกันได้ดีกว่าการรักษานะคะ นอกจากนี้การดูแลตัวเองให้ดียังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมาด้วย
จากที่เรากล่าวมาจะเห็นได้ว่าอาการใจเต้นเร็วนั้นอาจไม่ได้เป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายอย่างโรคหัวใจเสมอไป เพราะบางครั้งความเครียด ความวิตกกังวล อารมณ์ของเรา หรือปัจจัยภายนอกและภายในอื่นๆ ก็ทำให้เกิดภาวะหัวใจของเราเต้นเร็วได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองอย่างใกล้ชิด หากเกิดภาวะดังกล่าวบ่อยๆ หรือเกิดขึ้นเป็นประจำก็ไม่ควรนิ่งเฉยแต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีที่สุด เมื่อรู้สาเหตุและที่มาของอาการแล้ว จากนั้นจึงใช้วิธีที่รักษาอย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ต้องไม่ลืมปรับพฤติกรรมประจำวันเพื่อป้องกันอาการเหล่านี้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง เท่านี้ก็สบายใจหายห่วงแล้วค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : sikarin.com, rama.mahidol.ac.th
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ