X

Avoidant Personality Disorder คือ อะไร ? เกี่ยวโยงกับ Dependent Personality Disorder ในแง่มุมไหนบ้าง ?!

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

Avoidant Personality Disorder คือ อะไร ? เกี่ยวโยงกับ Dependent Personality Disorder ในแง่มุมไหนบ้าง ?!

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินปัญหาทางสุขภาพจิตเกี่ยวกับโรคกลัวการเข้าสังคม หรือโรคกลัวการอยู่คนเดียวมาบ้าง แต่โรคดังกล่าวนั้นอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ (Personality disorders) ซึ่งหมายถึง การมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานทางสังคม และส่งผลต่อหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตประจำวัน ในทางจิตวิทยาแล้ว ได้มีการจัดกลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพไว้หลายกลุ่มด้วยกัน ในบทความนี้ เราขอแนะนำให้รู้จักกับ Avoidant Personality Disorder คือ บุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง และ Dependent Personality Disorder คือ บุคลิกภาพแบบพึ่งพา ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตที่แม้จะดูไม่รุนแรงนัก แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่กับตัวเอง การทำความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลิกภาพผิดปกติทั้งสองแบบ อาจทำให้เราได้สังเกตคนรอบตัวหรือคนใกล้ชิด และมีการตระหนักรู้ในเรื่องของสุขภาพจิตกันมากขึ้น

ทั้ง Avoidant Personality Disorder และ Dependent Personality Disorder เป็นกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติในกลุ่มที่มีความวิตกกังวลหรือมีความหวาดกลัวสูง นอกจากนี้ ยังมีบุคลิกภาพผิดปกติชนิด Obsessive – Compulsive Personality Disorder หรือรู้จักกันในโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน (อ่าน โรคย้ำคิดย้ำทำ เพิ่มเติม) มาทำความรู้จักกับบุคลิกภาพผิดปกติแบบหลีกเลี่ยง หรือ Avoidant Personality Disorder และ บุคลิกภาพแบบพึ่งพา หรือ Dependent Personality Disorder กันให้มากขึ้น จะเป็นอย่างไรนั้น ไปอ่านกันเลยค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : ในทางจิตวิทยา ได้มีการแบ่งกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติออกเป็น 3 กลุ่มคือ Cluster A ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด ได้แก่ บุคลิกภาพแบบหวาดระแวง (Paranoid) บุคลิกภาพแบบเก็บตัว (Schizoid) และบุคลิกภาพแบบจิตเภท (Schizotypal) กลุ่ม Cluster B คือ กลุ่มที่มีการใช้อารมณ์เป็นหลัก ได้แก่ บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial) บุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง (Borderline) บุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย (Histrionic) และ บุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic) และกลุ่มสุดท้ายคือ Cluster C คือ กลุ่มที่มีความวิตกกังวลหรือมีความหวาดกลัวสูง ได้แก่ บุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง (Avoidant) บุคลิกภาพแบบพึ่งพา (Dependent) และบุคลิกภาพแบบย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive – Compulsive)

ชวนรู้จัก Avoidant Personality Disorder คือ อะไร ?

avoidant personality disorder คือ, dependent personality disorder คือ
Image Credit : pexels.com

บุคลิกภาพแบบ Avoidant Personality Disorder คือ บุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง โดยผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้จะหลีกหนีการเข้าสังคม มีการตั้งกำแพงในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและไม่เต็มใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีความบกพร่อง ไม่ดีพอ มีการมองโลกในแง่ลบอย่างชัดเจน มีความกลัวที่จะถูกวิจารณ์หรือกลัวการถูกปฏิเสธ แต่ก็รู้สึกว้าเหว่และโดดเดี่ยว มีการระมัดระวังตัวเองมากเกินไป เพราะอ่อนไหวต่อการถูกปฏิเสธและกลัวการไม่ถูกยอมรับในสังคม จึงหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

อาการของ Avoidant Personality Disorder

avoidant personality disorder คือ, dependent personality disorder คือ
Image Credit : pexels.com
  • อ่อนไหวต่อการถูกวิจารณ์ และจะรู้สึกแย่มากหากถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกปฏิเสธ
  • มีความวิตกกังวลต่อการเข้าสังคม จึงมักจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการทำงานที่จะต้องเกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือมีอาการของโรคกลัวการเข้าสังคมร่วมด้วย 
  • มักจะเขินอาย ประหม่าในสถานการณ์ต่างๆ เนื่องจากกลัวว่าตัวเองจะทำอะไรผิด หรือทำให้ตัวเองขายหน้า เลยมักจะแยกตัวจากสังคม 
  • มีภาพจำที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเอง มองว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่มีคุณค่า มีการนับถือตนเองต่ำ
  • มีกำแพงสูง มักหลีกเลี่ยงการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เว้นแต่จะเป็นคนที่รู้สึกชอบจริงๆ

เกร็ดสุขภาพ : การวินิจฉัยความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยงไม่สามารถทำได้ในเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากความเขินอาย กลัวคนแปลกหน้า กลัวการเข้าสังคม หรือมีความรู้สึกอ่อนไหวต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติของพัฒนาการในเด็กและวัยรุ่น แต่หากพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ และส่งผลต่อความเครียดและความวิตกกังวล มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตซึ่งสามารถประเมินอาการ ทำการวินิจฉัย และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้

สาเหตุของการเกิดบุคลิกภาพผิดปกติแบบ  Avoidant Personality Disorder

มีการสันนิษฐานว่า สิ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Avoidant Personality Disorder คือ ประสบการณ์วัยเด็กหรือวัยรุ่นตอนต้อนที่ถูกผู้ปกครองหรือเพื่อนปฏิเสธหรือไม่ยอมรับตนเอง ทำให้ฝังใจ และอาจส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตัวเองและการยอมรับนับถือตัวเอง ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า จึงกลัวการถูกปฏิเสธ และหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมนั่นเอง

ในตอนนี้เราก็รู้จักความผิดปกติทางบุลคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง หรือ Avoidant Personality Disorder คืออะไร มีอาการอย่างไร และมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ต่อไปเราจะทำความรู้จักกับกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติแบบ Dependent Personality Disorder หรือบุคลิกภาพแบบพึ่งพา ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Cluster C เช่นเดียวกัน จะมีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรนั้น ไปดูกันเลยค่ะ

บุคลิกภาพแบบ Dependent Personality Disorder คืออะไร ? แตกต่างจาก Avoidant Personality Disorder อย่างไร ?

avoidant personality disorder คือ, dependent personality disorder คือ
Image Credit : pexels.com

บุคลิกภาพแบบ Dependent Personality Disorder หรือบุคลิกภาพแบบพึ่งพา เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ได้รับการวินิจฉัยอยู่บ่อยครั้ง ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักจะเป็นคนที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าตัดสินใจ ปฏิเสธไม่เป็น ไม่มีความมุ่งมั่น ไม่กล้าที่จะเป็นผู้นำ มักจะเป็นผู้ตามเสมอ อีกทั้งยังกลัวการทะเลาะเบาะแว้ง ยอมทำความต้องการของผู้อื่นมากกว่าความต้องการของตนเอง ต้องการอยู่กับผู้อื่นตลอดเวลา และกลัวการอยู่คนเดียว

อาการของ Dependent Personality Disorder

  • ไม่สามารถตัดสินใจได้แม้ในเรื่องง่ายๆ เช่น การแต่งตัวในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่สามารถทำได้หากปราศจากคำแนะนำจากคนอื่น
  • หลีกเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ของตัวเอง โดยจะต้องพึ่งพาคู่สมรสหรือเพื่อนในการช่วยตัดสินใจ เช่น จะย้ายไปอยู่ไหน จะทำงานที่ไหน เป็นต้น 
  • กลัวการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างมาก และจะทำอะไรไม่ถูกเมื่อความสัมพันธ์สิ้นสุดลง หากจบความสัมพันธ์ลง ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบพึ่งพาจะรีบมีความสัมพันธ์ใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ 
  • มองโลกในแง่ร้ายและไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่เชื่อว่าจะสามารถดูแลตัวเองได้ 
  • หากถูกทำร้ายทางร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดก็จะยังทนอยู่ในความสัมพันธ์นั้นๆ เนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจที่จะออกจากความสัมพันธ์นั้นได้

สาเหตุของการเกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Dependent Personality Disorder

ปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัดสำหรับการเกิดบุคลิกภาพผิดปกติแบบพึ่งพา แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Dependent Personality Disorder คือ การถูกเลี้ยงดูในวัยเด็กที่เน้นการพึ่งพาบุคคลในครอบครัว หรือผู้ปกครองมีอำนาจมากที่สุด ทำให้ถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด จะต้องเชื่อฟังผู้ปกครองทุกอย่าง หากไม่เชื่อฟังหรือตัดสินใจทำอะไรเองจะถูกลงโทษ ทำให้มีการพัฒนามาเป็นบุคลิกภาพแบบพึ่งพาได้ นอกจากนี้ อาจเกิดจากความเจ็บปวดและบาดแผลในวัยเด็ก หรือมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ผู้มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพทั้งแบบ Avoidant Personality Disorder และ Dependent Personality Disorder มีความคล้ายคลึงกันคือ มีกจะรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีคุณค่าพอ ไม่ดีพอ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ มองโลกในแง่ลบ และกลัวการถูกปฏิเสธ ซึ่งจะต่างกันตรงที่ หากเป็นบุคลิกภาพแบบหลีกเลี่ยง จะป้องกันการเกิดความรู้สึกนั้นโดยการหลีกหนีจากผู้อื่น และกันตัวเองออกจากสังคม แต่ถ้าเป็นบุคลิกภาพแบบพึ่งพา จะพยายามทำทุกอย่างให้ทุกคนรู้สึกพอใจ และไม่ปฏิเสธตนเอง และมีการพึ่งพาคนอื่นแบบไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบทั้ง  Avoidant และ Dependent Personality Disorder สามารถรักษาได้ไหม ?

avoidant personality disorder คือ, dependent personality disorder คือ
Image Credit : pexels.com

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Avoidant Personality Disorder และ Dependent Personality Disorder  มีวิธีการรักษาที่คล้ายคลึงกับความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่นๆ โดยจะใช้การรักษาแบบจิตบำบัดเป็นหลัก เช่น บำบัดด้วยการพูดคุยให้คำปรึกษาซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ทำให้ผู้ป่วยสามารถเอาชนะความกลัวที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการกลัวเข้าสังคม หรือกลัวการถูกทอดทิ้ง หรือต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ ซึ่งการเปลี่ยนกระบวนการคิดและพฤติกรรม จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยาในกระบวนการรักษาร่วมด้วย เช่น ยากล่อมประสาทหรือยาลดความวิตกกังวล เพื่อช่วยจัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ที่เป็นโรคนี้จะได้ผลดีที่สุดเมื่อสมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมและให้การสนับสนุนผู้ป่วย เข้าใจและยอมรับในตัวผู้ป่วย พร้อมช่วยกันแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ป่วยเท่าที่จะทำได้ ให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และให้กระบวนการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดี

ในแง่ของการป้องกันนั้น หากมองถึงสาเหตุของการเกิดความผิดปกติทางบุคลิกภาพทั้งสอง แบบจะเห็นได้ว่า ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง เนื่องจากมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเลี้ยงดู ประสบการณ์ในวัยเด็ก ความเครียดอย่างรุนแรงหรือบาดแผลทางใจในวัยเด็กที่เกิดขึ้นและส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ความรักความอบอุ่นในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตมาอย่างดี ผู้ปกครองควรดูแลเอาใจใส่บุตรหลาน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหลานในบ้าน ให้ความรัก ความใส่ใจ มีวิธีการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมที่จะสนับสนุนให้เด็กมีพัฒนาการเป็นไปในทิศทางที่ดีทั้งทางกายและทางใจ

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการของความผิดปกติทางบุคลิกภาพดังกล่าว การพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการวินิจฉัย และมีการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขมากขึ้นได้

ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ  Dependent Personality Disorder และ Avoidant Personality Disorder คือความเจ็บป่วยทางใจในรูปแบบหนึ่ง ความเจ็บป่วยทางใจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาเช่นเดียวกันกับความเจ็บป่วยทางกาย แม้ไม่อาจแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตอันส่งผลต่อการมีบุคลิกภาพแบบผิดปกติได้ แต่ถ้ามีการรักษาเยียวยาอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ผู้ที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพมีอาการดีขึ้นได้ หากมีคนใกล้ชิดที่กำลังเผชิญกับอาการนี่อยู่ การให้กำลังใจผู้ป่วย และพยายามทำความเข้าใจผู้ป่วย อยู่เคียงข้างผู้ป่วย และให้การสนับสนุน ก็จะทำให้การรักษาเป็นไปได้ด้วยดี และทำให้ทั้งผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้มากขึ้นค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : my.clevelandclinic.org, verywellhealth.com, webmd.com

Featured Image Credit : pexels.com/Polina Sirotina

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save