“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ต้อหิน เกิดจาก อะไร ? อาการเป็นยังไง รักษายังไง ให้คุณหมอเล่าให้ฟังกัน !
สุขภาพดวงตานั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกเป็นปกติ ซึ่งโรคที่เกี่ยวกับดวงตานั้นก็มีหลายประการด้วยกัน รวมถึงโรคต้อหิน ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการตาบอดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โรคต้อหินหลายรูปแบบไม่มีสัญญาณเตือน จะค่อยเป็นค่อยไปจนไม่ทันสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง การตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ หากตรวจพบต้อหินตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถชะลอหรือป้องกันตาบอดได้ แต่เมื่อเป็นโรคต้อหิน ก็ต้องรักษาหรือติดตามอาการไปตลอดชีวิต แล้วโรค ต้อหิน เกิดจาก อะไร ? มีอาการเป็นอย่างไร สามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
โรคต้อหินคืออะไร ต้อหิน เกิดจาก อะไร มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
ต้อหินเป็นโรคทางตาเรื้อรังซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายของเส้นประสาทตา สาเหตุสำคัญของต้อหิน เกิดจากความผิดปกติในระบบระบายน้ำของดวงตา ทำให้ของเหลวในลูกตาคั่ง จนแรงดันภายในตามากเกินไป ส่งผลให้เบียดทับเส้นประสาทตา ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับกลุ่มของเส้นใยประสาทที่เชื่อมต่อกับสมอง ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง และในที่สุดอาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้ การสูญเสียการมองเห็นมักเริ่มต้นที่ขอบของลานสายตา และค่อยๆ ส่งผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลาหลายเดือนถึงหลายปีจึงจะเริ่มมีอาการที่สังเกตชัด ทำให้ต้อหิน รักษาเริ่มได้ช้า และเส้นประสาทเกิดความเสียหายมากจนไม่สามารถกู้คืนได้
ตามความเข้าใจในทางการแพทย์แล้ว ได้มีการอธิบายความเสียหายของเส้นประสาทนี้ว่าเกี่ยวข้องกับความดันในดวงตาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งความดันตาสูงขึ้นเป็นผลมาจากการสะสมของของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ภายในดวงตา โดยปกติแล้วของเหลวนี้จะระบายผ่านเนื้อเยื่อตรงมุมที่ม่านตาและกระจกตาบรรจบกัน จึงมีชื่อเรียกตามลักษณะมุมตาตรงนี้ด้วยว่าเป็นมุมเปิดหรือมุมปิด อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็พบว่า ต้อหิน เกิดจากสาเหตุที่ไม่สัมพันธ์กับความดันตาเลยก็มี
ต้อหิน เกิดจาก สาเหตุใด ?
ต้อหิน ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อดวงตาของเรา มาทำความรู้จักต้อหิน เพื่อเฝ้าระวังอาการที่ผิดปกติ แลเเข้ารับการตรวจวินิฉัย รักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งจะสามารถป้องกันการสูญเสียการมองเห็น และดูแลสุขภาพตาให้คงอยู่กับเราไปนานๆ ทั้งนี้ ต้อหินมีสาเหตุแตกต่างกันไป ตามชนิดของต้อหิน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
1. โรคต้อหินมุมเปิด
เป็นรูปแบบต้อหินที่พบได้บ่อยที่สุด มุมระบายน้ำระหว่างม่านตาและกระจกตายังคงเปิดอยู่ แต่ระบบระบายน้ำทำงานได้ไม่ดี ทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ สะสมแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นประเภทต้อหิน รักษาได้ช้า เพราะไม่มีอาการอะไรให้สังเกตเลย
2. โรคต้อหินมุมปิด
ต้อหินรูปแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อม่านตาโป่งพอง ม่านตาที่ปูดออกมาจะไปปิดกั้นมุมระบายน้ำบางส่วนหรือทั้งหมด เป็นผลให้ของเหลวไม่สามารถไหลเวียนผ่านดวงตาได้ ทำให้ความดันเพิ่มขึ้น โรคต้อหินมุมปิดอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ซึ่งต้อหิน รักษาได้เร็วในแบบเฉียบพลัน แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
3. โรคต้อหินแบบความดันปกติ
เทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมเส้นประสาทตาเสียหาย ทั้งที่ความดันตาปกติ เส้นประสาทตาอาจมีการไหลเวียนของเลือดน้อยลง หรืออาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดงหรือภาวะอื่นๆ ที่ทำลายการไหลเวียนเลือดในบริเวณจอประสาทตา
4. โรคต้อหินในเด็ก
เด็กอาจเกิดมาพร้อมกับโรคต้อหินหรือพัฒนาเป็นต้อหินในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต ภาวะการเจ็บป่วยหรือโรคที่เป็นมาแต่กำเนิดอาจทำให้เกิดความเสียหายของเส้นประสาทตา ต้อหิน รักษาได้จากการรักษาต้นเหตุของการทำลายเส้นประสาทตา
5. โรคต้อหินเม็ดสี
เกิดจากการมีเม็ดสีขนาดเล็กหลุดออกจากม่านตามาปิดกั้นทางระบายของเหลว ทำให้ระบายได้ช้าลง โรคต้อหิน เกิดจากสาเหตุนี้ มักมีผลจากพันธุกรรม พบว่ามียีนที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
การป้องกันโรคต้อหิน ทำได้อย่างไร ?
การตรวจหาโรคต้อหินได้ตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการสูญเสียการมองเห็นและทำให้การดำเนินโรคเกิดขึ้นช้าลง โดยสามารถป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เกิดโรคต้อหินได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- เข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ การตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยตรวจหาโรคต้อหินได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก่อนที่ความเสียหายร้ายแรงจะเกิดขึ้น หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหิน ควรต้องตรวจคัดกรองบ่อยขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินได้แก่ มีความดันภายในลูกตาสูง มีอายุมากกว่า 55 ปี ประวัติครอบครัวเป็นโรคต้อหิน มีภาวะทางการแพทย์บางอย่าง เช่น เบาหวาน ไมเกรน ความดันโลหิตสูง เป็นผู้ที่มีกระจกตาบาง สายตาสั้นมากหรือสายตายาวมาก มีการบาดเจ็บที่ตาหรือการผ่าตัดตาบางประเภท รวมถึงการได้รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยเฉพาะยาหยอดตาเป็นเวลานาน และบางคนมีมุมระบายน้ำในตาแคบ ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคต้อหินมุมปิดมากขึ้นได้ด้วย
- ทราบประวัติสุขภาพตาของครอบครัว โรคต้อหิน อาจมีสาเหตุทางด้านพันธุกรรมร่วมด้วย หากคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคต้อหินเพิ่มมากขึ้น หากมีความเสี่ยง ก็จะต้องตรวจคัดกรองบ่อยขึ้น
- สวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตา การบาดเจ็บที่ดวงตาอย่างรุนแรงอาจนำไปสู่โรคต้อหิน การสวมอุปกรณ์ป้องกันดวงตาเมื่อใช้เครื่องมือไฟฟ้าหรือเล่นกีฬา จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดต้อหินได้
- ใช้ยาหยอดตาเป็นประจำ ยาหยอดตาต้อหิน สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดความดันในตาสูง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่โรคต้อหินได้อย่างมาก ทั้งนี้ ในผู้ที่มีความเสี่ยงควรใช้ยาหยอดตาตามที่แพทย์สั่งแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม
การวินิจฉัยโรคต้อหิน ทำได้อย่างไร
สำหรับการวินิจฉัยโรคต้อหิน แพทย์จะใช้ประวัติทางการแพทย์ที่สมบูรณ์และการตรวจต่อไปนี้เพื่อวินิจฉัยโรคต้อหิน
- การทดสอบการมองเห็น ทดสอบด้วยแผนภูมิสายตา จะวัดว่าสามารถมองเห็นได้ดีเพียงใดในระยะต่างๆ
- การขยายรูม่านตา ใช้ยาหยอดตาเพื่อขยายรูม่านตาให้กว้าง เพื่อสามารถตรวจเส้นประสาทตาได้ชัดเจน
- ลานสายตา เป็นการทดสอบมองเห็นด้านข้าง ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นรอบข้างอาจหมายถึงการเกิดต้อหินในระยะเริ่มต้น
- Tonometry เป็นการตรวจความดันของเหลวภายในดวงตา
- การถ่ายภาพเส้นประสาทตา ถ่ายภาพเส้นประสาทตาเพื่อระบุบริเวณที่เสียหาย
- Gonioscopy เทคนิคการตรวจเพื่อดูบริเวณมุมระบายน้ำ ดูท่อระบายว่าเปิดหรือปิด และดูว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่
- Pachymetry การวัดความหนาของกระจกตา
เกร็ดสุขภาพ : มีกระบวนการมากมายเพื่อตรวจวินิจฉัยและประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคต้อหิน ดังนั้นการตรวจค้นหาต้อหินจึงไม่บรรจุในตารางตรวจสุขภาพประจำปี อย่างไรก็ตาม คำแนะนำการตวจตาของ American Academy of Ophthalmology แนะนำให้ตรวจตาตามช่วงอายุ ดังนี้
– ตรวจตาอย่างละเอียดทุก 5 – 10 ปีในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี
– ตรวจตาทุก 2 – 4 ปี ในผู้ที่มีอายุ 40 – 54 ปี
– ตรวจตาทุก 1 – 3 ปี ในผู้ที่มีอายุ 55 – 64 ปี
– ตรวจตาทุก 1 – 2 ปี ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
โรคต้อหิน รักษาอย่างไร ?
ต้อหิน สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
- รักษาด้วยยา ซึ่งเป็นยาที่ทำให้ผลิตของเหลวในตาได้น้อยลง หรือช่วยให้ของเหลวไหลออกจากดวงตาได้ดีขึ้น ทำให้รักษาความดันในลูกตาให้ปกติ
- การผ่าตัด โดยสร้างช่องทางระบายน้ำหรือโดยการฝังท่อระบายเพื่อช่วยให้ของเหลวไหลออกจากตาได้ดีขึ้น
- การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดหลายประเภทโดยใช้เลเซอร์ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคต้อหิน
- การผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดต้อกระจกช่วยลดความดันตาได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องต้อกระจก ซึ่งควรได้รับการรักษาโดยเร็ว อันจะเป็นการป้องกันการเกิดต้อหินตามมา
อาการฉุกเฉินทางการแพทย์ ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
แม้ว่าต้อหิน เกิดจากสาเหตุส่วนใหญ่ที่ใช้เวลานานกว่าที่การดำเนินโรคจะลุกลาม ก็ตาม ก็ยังมีอาการที่เรียกว่า “ต้อหินชนิดเฉียบพลัน” ซึ่งเป็นภาวะที่มีความดันสะสมในตาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดอาการรุนแรงอย่างรวดเร็ว และสูญเสียดวงตาได้ โดยจะมีอาการต่อไปนี้
- การมองเห็นพร่ามัวหรือแคบลง
- ปวดตาอย่างรุนแรง
- เห็นรัศมีหรือ “สายรุ้ง” รอบดวงไฟ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
อาการเหล่านี้ เป็นอาการของโรคต้อหินชนิดเฉียบพลัน ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตาให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงร่วมด้วย การไปพบแพทย์โดยเร็วเมื่อสังเกตเห็นอาการได้ในครั้งแรก จะสามารถช่วยป้องกันความรุนแรงและลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการตาบอดได้
ต้อหิน เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพดวงตาที่มีความร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้ตาบอดและสูญเสียการมองเห็นได้เลยทีเดียว ดังนั้น หากสังเกตอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น การมองเห็นผิดเพี้ยนไป มีอาการปวดตาอย่างรุนแรง มองเห็นสายรุ้งรอบดวงไฟ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และมีความดันในตาสูง ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ร่วมกับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ รับประทานอาหารและสมุนไพรบำรุงสายตา รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นการทำร้ายดวงตาของเรา ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพดวงตาที่ดีได้ในระยะยาวค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : aao.org, mayoclinic.org, hopkinsmedicine.org
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ