X

รอไม่ได้ ใจร้อน เร่งรีบ ขี้หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ สัญญาณของ “Hurry Sickness  โรคทนรอไม่ได้” ชวนเช็กตัวเอง เรากำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่านะ ?

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

รอไม่ได้ ใจร้อน เร่งรีบ ขี้หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ สัญญาณของ “Hurry Sickness  โรคทนรอไม่ได้” ชวนเช็กตัวเอง เรากำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือเปล่านะ ?

ขับรถเร็ว กินข้าวเร็ว อาบน้ำก็เร็ว เข้าห้องน้ำเร็ว ทำงานเร็ว พูดเร็ว ทำอะไรรวดเร็วเหมือนคนที่กำลังแข่งขันความเร็วอยู่ตลอดเวลา แถมยังไม่ชอบรออะไร หรือมีอาการทน รอไม่ได้ เลย ไม่ว่าจะเป็นรอคิว รอคนอื่น รอลิฟต์ รอกับข้าว รอข้อมูลในโทรศัพท์มือถือดาวน์โหลด จะต้องมีอาการหงุดหงิดอยู่ตลอด ใจร้อนชอบเร่งคนอื่น และบ่นว่าคนอื่นทำอะไรชักช้าไม่ทันใจด้วย ถ้าใครที่กำลังมีอาการแบบนี้ ขอบอกว่า นี่ไม่ใช่พฤติกรรมปกติ แต่เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า คุณกำลังมีอาการของโรค Hurry Sickness อยู่ หรือว่าเป็นโรคทนรออะไรไม่ได้นั่นเอง

ชวนรู้จัก Hurry Sickness หรือ โรคทน รอไม่ได้ คืออะไร ?

รอไม่ได้, Hurry Sickness
Image Credit : freepik.com

โรคทนรอไม่ได้ คือการมีพฤติกรรมใจร้อน หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย กับการที่ต้องรออะไรต่างๆ ซึ่งโรคนี้ เป็นผลพวกมาจากเทคโนโลยีอืนเทอร์เน็ตที่ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็วทันใจ ง่ายดายเพียงคลิกนิ้ว ผู้ที่ทำงานกับเทคโนโลยี หรือใช้อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำ รวมถึงผู้ที่เสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย ก็มีแนวโน้มว่าอาจเกิดโรคนี้ได้

แม้ว่าโรคทนรออะไรไม่ได้จะเกิดขึ้นในยุคที่มีเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเข้ามา แต่คำว่า Hurry Sickness ได้ถูกนิยามขึ้นในปี 1974 จากแพทย์โรคหัวใจ Dr. Meyer Friedman และ Ray Rosenman ซึ่งได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ว่า เป็นลักษณะอาการของคนที่มักจะรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉี่ยว เร่งรีบ ถ้าเปรียบกับคนยุคปัจจุบัน ก็จะเป็นคนที่ขี้เบื่อ ใจร้อน หงุดหงิดง่าย เครียดง่ายกับเรื่องอะไรเล็กน้อย เช่น ทนรอการโหลดรูปภาพนานๆ ไม่ได้ หงุดหงิดเมื่อโทรศัพท์มือถือค้าง หรือเวลาที่คอมพิวเตอร์ค้าง เป็นต้น

ชวนเช็ก สัญญาณที่บ่งบอกว่า เราอาจเป็นโรคทนรอไม่ได้

รอไม่ได้, Hurry Sickness
Image Credit : freepik.com

นอกจากอาการหงุดหงิดงุ่นง่านเวลาที่อุปกรณ์เทคโนโลยีทำงานช้าหรือมีปัญหา และอาการที่ดูเร่งรีบทำอะไรอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจบ่งบอกว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคทนรออะไรไม่ได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการมีพฤติกรรม ดังนี้

  1. ขี้รำคาญผิดปกติ รู้สึกว่าอะไรขัดหูขัดตาไปหมด อะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ ตำหนิเพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว คนรัก หรือคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลาว่าทำอะไรช้า ไม่ทันใจ 
  2. รีบไปทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น รีบกินอาหาร รีบขับรถ รีบซื้อของ รีบเข้าห้องน้ำ รีบอาบน้ำ เหมือนกำลังแข่งขันกับอะไรบางอย่าง มักจะดูร้อนรนอยู่ตลอดเวลา 
  3. หงุดหงิดมากเกินไปกับเรื่องเล็กน้อย เช่น ขับรถไม่ทันไฟเขียว รถคันข้างหน้าขับช้าไม่ทันใจจนต้องแซงซ้ายขวา ปาดหน้า บีบแตรไล่ หงุดหงิดที่อีกฝ่ายตอบแชทช้า หรือมักจะแซงคิวเวลาต้องต่อแถว ไม่ชอบรอใครทั้งนั้น ไม่มีการจัดการอารมณ์หงุดหงิดที่ต้องรอไม่ได้ 
  4. กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข ไม่สามารถนั่งดูคลิปวิดีโอจนจบได้ ขี้เกียจอ่านบทความยาวๆ หรือทำอะไรค้างๆ คาๆ อยู่เสมอ
  5. ต้องหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา พยายามทำให้ตัวเองยุ่งอยู่เสมอ นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ไม่เคยหยุดพัก ทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา
  6. หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ต้องทำ และมีรายการที่ต้องทำหรือ To do list มากเกินไป พอทำไม่ได้ตามที่วางแผนไว้ก็จะรู้สึกหงุดหงิด แต่รีบเร่งขึ้นไปอีก เป็นวงจรซ้ำๆ  
  7.  ชอบแทรกแซงโดยไม่รู้ตัว เช่น ชอบพูดแทรก พูดขัดจังหวะ หรือพูดตัดบทคู่สนทนา เพราะทนรอให้พูดจบไม่ได้ หรือไม่รอให้อีกฝ่ายพูดจบก็พูดโต้ตอบทันที ซึ่งการที่เป็นแบบนี้ จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีปัญหาได้
  8. ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้ เพราะในสมองคิดจะทำโน่นทำนี่อยู่ตลอดเวลา อยากทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน แต่มักจะทำได้ไม่ดีนัก เพราะไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดได้ 
  9. ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร หรือแยกตัวมาอยู่คนเดียว เพราะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญคนอื่น

เกร็ดสุขภาพ : โรคทนรอไม่ได้ เป็นคนละโรคกับโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) ซึ่งโรคสมาธิสั้นเป็นโรคทางจิตเวช และเกิดจากความบกพร่องของสารสื่อประสาทในสมอง หรือเกิดจากความผิดปกติของสมองบางส่วน แต่โรคทนรอไม่ได้ หรือ Hurry Sickness เป็นอาการทางพฤติกรรมที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยทางสังคม เช่น เป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน เป็นต้น

ผลกระทบของโรค Hurry Sickness

รอไม่ได้, Hurry Sickness
Image Credit : freepik.com

ลองนึกภาพของคนที่ทำอะไรเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา เหมือนรถที่วิ่งด้วยความเร็วโดยไม่มีที่ท่าว่าจะพัก แต่มนุษย์เราไม่ใช่เครื่องยนต์เครื่องจักร เพราะฉะนั้น โรคทนรอไม่ได้ย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายและจิตใจอย่างแน่อน ไม่ว่าจะเป็นอาการหัวใจเต้นเร็ว ปวดหัวเรื้อรัง อ่อนเพลีย ความดันโลหิตสูง คนที่เป็นโรคทนรออะไรไม่ได้มักจะมีความเครียดสะสมเรื้อรัง ทำให้ฮอร์โมน Cortisol หรือฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมามาก ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้ป่วยง่าย อีกทั้งยังมีผลต่อการนอนหลับ เพราะอาจจะนอนหลับไม่สนิทเนื่องจากสมองทำงานอยู่แทบจะตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนนอน โดยการคิดถึงสิ่งที่จะต้องทำต่างๆ มากมาย

นอกจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยด้วยความที่เป็นคนขี้หงุดหงิด ขี้รำคาญฉุนเฉียวง่าย ใจร้อน ทนรออะไรไม่ได้ อาจทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบกาย และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ได้

ฝึกตัวเองให้ช้าลงบ้าง ไม่รีบร้อนก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร

ถ้าอ่านมาตรงนี้ และเห็นว่าตัวเองมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคทนรออะไรไม่ได้ เรามีวิธีป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมเร่งรีบเหล่านี้ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตให้ช้าลง เครียดน้อยลง และมีความสุขมากขึ้น โดยสามารถทำได้ดังนี้

1. จัดลำดับความสำคัญให้กับสิ่งที่ต้องทำให้ชีวิต

การทำ To do list ที่มากเกินไปและดูยุ่งวุ่นวาย อาจทำให้เหนื่อยล้าและกระวนกระวายได้ ลองเปลี่ยนมาเป็นการเขียน To do list ที่มีการจัดลำดับความสำคัญของรายการที่ต้องทำ สิ่งไหนจำเป็นมากที่สุด สิ่งไหนไม่จำจะต้องทำ และทำให้เสร็จทีละอย่าง พยายามบังคับตัวเองไม่ให้ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน การ Set Priority ให้กับสิ่งที่ต้องทำในชีวิต จะช่วยลดความกังวล และเห็นว่าบางสิ่งบางอย่างไม่จำเป็นต้องเร่งรีบทำก็ได้

2. ใช้เทคนิค Mindfulness

เทคนิค Mindfulness คือ การฝึกสตินั่นเองค่ะ ให้มีสติรู้ตัวว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ และจดจ่อไปกับสิ่งนั้นสิ่งเดียวโดยไม่คิดวอกแวก ล้างจานก็ให้รู้ตัวว่าล้างจานอยู่ กินข้าวก็ให้รับรู้ว่ากำลังข้าว และไม่ทำอย่างอื่นไปด้วย ซึ่งสามารถทำร่วมกับการฝึกสมาธิได้ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ การนับเลขยาวๆ การกำหนดลมหายใจ การทำงานศิลปะ หรือทำงานประดิษฐ์ที่มีความละเอียดสูง การต่อเลโก้ชิ้นเล็กๆ เป็นต้น ก็จะช่วยให้เรามีสติอยู่กับตัว และทำอะไรช้าลงได้

3. หันมาดูแลตัวเองบ้าง

การใช้เวลาทั้งวันอย่างเร่งรีบอาจทำให้เราละเลยการดูแลตัวเองได้ หรือคิดว่าการดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะมีสิ่งที่สำคัญกว่าต้องทำ ลองหันมาใส่ใจดูแลตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการไปร้านนวด ไปทำสปา ทำเล็บ หรือสามารถดูแลตัวเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน เช่น การนอนแช่น้ำอุ่น บำรุงผิว หรือทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกสบายใจและรู้สึกว่าได้ดูแลตัวเองมากขึ้น

รอไม่ได้, Hurry Sickness
Image Credit : freepik.com

4. ตั้งกฎให้กับตัวเองว่าหยุดพักบ้าง

ตั้งกฎให้กับตัวเองว่า จะต้องหยุดพักทำงานเมื่อไหร่ หรือจะต้องหยุดทำอะไรทุกอย่าง และลองนั่งพักนิ่งๆ ซัก 5 – 10 นาทีโดยไม่เอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดู แรกๆ อาจจะรู้สึกอึดอัดหรือแทบขาดใจ แต่การทำแบบนี้จะช่วยให้เราลดการเร่งรีบใช้ชีวิตและฝึกให้ตัวเองอยู่เฉยๆ ได้ หรืออาจจะฟังเพลงบรรเลงเบาๆ ฟังดนตรีบำบัดเพื่อให้ผ่อนคลายก็ได้ค่ะ และในวันหยุดก็ไม่ต้องทำงาน หรือหาอะไรมาทำ แต่ให้ทำกิจกรรมเบาๆ อย่างการนอนดูซีรีย์ อ่านหนังสือ ออกไปเดินเล่น หรือจะนอนทั้งวันก็ยังได้

5. ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างบ้างก็ได้

สาเหตุของการเร่งรีบทำอะไรอยู่ตลอดเวลา อาจเป็นเพราะว่ากลัวจะทำงานไม่ทัน หรือกลัวจะทำสิ่งที่จะต้องทำให้ชีวิตไม่ครบ เช่น ต้องรีบไปรับลูก ต้องรีบไปซื้อของให้แม่ ต้องรีบไปทำกับข้าวให้ที่บ้าน เป็นต้น การขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องงาน หรือเรื่องชีวิตส่วนตัว ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตไม่ได้ตึงเครียดจนเกินไป และสามารถผ่อนความเร็วของตัวเองลงได้ เช่น ไว้วานให้เพื่อนร่วมงานช่วยในส่วนที่เราทำไม่ไหวจริงๆ หรือปรึกษากับหัวหน้างานว่ามีวิธีการใดสามารถเซฟเวลาในการทำงานได้หรือไม่ ในเรื่องส่วนตัวก็เช่น สั่งของออนไลน์ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีบริการส่งถึงบ้าน ก็จะช่วยประหยัดเวลาเราได้ และมีเวลาไปทำสิ่งอื่นๆ มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเร่งรีบจนเกินไปนัก

เกร็ดสุขภาพ : โรคทนรอไม่ได้ ยังไม่ได้ถูกระบุในทางการแพทย์ว่าเป็นโรคทางจิตเวชแต่อย่างใด แต่ถ้าพยายามปรับปรุงพฤติกรรมด้วยตัวเองแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ได้ ซึ่งอาจรักษาด้วยการใช้วิธีบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เพื่อช่วยในการปรับความคิดและพฤติกรรมให้ดีขึ้น

แม้ว่าโรคทนรอไม่ได้จะไม่ใช่อาการป่วยทางจิตเวช แต่พฤติกรรมเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา แถมยังหงุดหงิดใจร้อน อารมณ์เสียอยู่ตลอด ก็ส่งผลเสียทั้งต่อร่างกายและใจ พาลจะทำให้เหนื่อยกับการใช้ชีวิต Burn out หรือหมดไฟ (อ่านเพิ่มเติม Burn out Syndrome คือ) ไม่มีความสุข คนรอบข้างก็หนีหน่าย ถ้าใครที่กำลังรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมแบบนี้อยู่ ก็ให้ผ่อนคันเร่งตัวเองลงบ้าง ชีวิตไม่ได้ต้องการความเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา ลองปรับให้ตัวเองได้พักผ่อนจริงๆ จังๆ ดูสักครั้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ แล้วก็นอนหลับให้เพียงพอ ค่อยๆ ปรับตัวเองดู แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้นะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : petcharavejhospital.com, healthline.com, masterclass.com

Featured Image Credit : freepik.com/lookstudio

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save