“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
มะเร็งในเด็ก เกิดจากอะไร ? รักษายังไง เป็นแล้วหายมั้ย ?!
เป็นที่ทราบกันว่า มะเร็งนั้นเป็นโรคร้ายแรงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบในวัยผู้ใหญ่หรือในวัยผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันสถิติอายุการเป็นมะเร็งพบว่า มีผู้ป่วยอายุน้อยลงเรื่อยๆ และสามารถพบในเด็กได้ด้วยเช่นกัน จึงอาจเกิดความสงสัยว่า มะเร็ง เป็นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ความจริงแล้วมะเร็งเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย และอาจเกิดที่ส่วนใดของร่างกายก็ได้ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในเซลล์เดียว จากนั้นจึงเติบโตเป็นก้อน (หรือเนื้อร้าย) ที่รุกรานส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ก่อให้เกิดอันตรายและเสียชีวิตหากปล่อยไว้โดยไม่ได้ทำการรักษา ในบทความนี้ จะพาไปรู้จักกับ มะเร็งในเด็ก ให้มากขึ้นกันค่ะ
มะเร็งในเด็ก เกิดจากอะไร ทำไมเด็กถึงเป็นได้ ?
มะเร็งในวัยเด็กส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแตกต่างจากมะเร็งในผู้ใหญ่ที่มีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตมาเกี่ยวข้องด้วย ความพยายามในการป้องกันการเกิดมะเร็งในวัยเด็กจึงควรมุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดการพัฒนาเป็นมะเร็งในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ การติดเชื้อเรื้อรังบางชนิด เช่น เอชไอวี ไวรัส Epstein-Barr ไวรัสตับอักเสบบี ก็เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้มากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น ป้องกันไวรัสตับอักเสบบีเพื่อช่วยป้องกันมะเร็งตับ ป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก วัคซีน HPV และค้นหาวิธีการอื่นๆ เช่น การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ การรักษาโรคติดเชื้อเรื้อรังที่อาจนำไปสู่มะเร็ง เพื่อช่วยให้ปัจจัยเสี่ยงน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งในเด็กมีดังนี้
1. ปัจจัยด้านวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมบางอย่าง เช่น การได้รับรังสีมีความเชื่อมโยงกับมะเร็งในวัยเด็กบางประเภท ได้มีการศึกษาว่าการสัมผัสต่อสารก่อมะเร็งของผู้ปกครอง (เช่น การสูบบุหรี่) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดของเด็ก แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากในปัจจุบัน มะเร็งในวัยเด็กส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับพิสูจน์ว่ามีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม
2. การเปลี่ยนแปลงของยีน
ยีน (Gene) หมายถึง หน่วยทางพันธุกรรมที่อยู่บนโครโมโซม มีองค์ประกอบที่สำคัญเรียกว่า ดีเอ็นเอ (Deoxyribonucleic acid : DNA) ทำหน้าที่ควบคุมและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นพ่อแม่ไปยังรุ่นลูกหลาน เช่น ลักษณะสีตา สีผม แต่ DNA มีผลมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก DNA ยังมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงของเราในการเกิดโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน ธาลัสซีเมีย รวมถึงมะเร็งด้วย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงบางอย่างของ DNA ในยีน ทำให้เซลล์บางตัวกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้อย่างไร ปกติแล้วยีนจะทำหน้าที่ควบคุมเซลล์ในการเติบโต แบ่งตัวเป็นเซลล์ใหม่ และตายไป ซึ่งเราสามารถจำแนกยีนที่ควบคุมการเติบโตของเซลล์เป็นสองแบบ ได้แก่
- oncogenes ยีนที่ช่วยให้เซลล์เติบโต แบ่งตัว และมีชีวิตอยู่ ไม่ถูกกำจัดไปแม้ไม่มีความจำเป็นแล้ว
- tumor suppressor genes ยีนที่ทำให้เซลล์แบ่งตัวช้าลง ซ่อมแซมความผิดพลาดใน DNA ของเซลล์ และทำให้เซลล์ตายในเวลาที่เหมาะสม
ทั้งนี้ มะเร็งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ DNA ที่ทำให้ยีนก่อมะเร็งมีการทำงานอยู่ หรือทำให้ยีนต้านเนื้องอกหยุดการทำงานไป ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้นั่นเองค่ะ
โรคมะเร็งในวัยเด็ก มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
ถึงแม้โรคมะเร็งในเด็กมีความรุนแรงจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ แต่กว่า 80% ของเด็กที่เป็นมะเร็งสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าเข้าถึงการรักษาและสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว โดยสามารถรักษาได้ด้วยการทำเคมีบำบัด การผ่าตัด การฉายแสง เป็นต้น นอกจากนั้น การบำบัดรักษา ยังต้องคำนึงถึงความเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและสติปัญญาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาวะโภชนาการ จึงต้องอาศัยทีมงานที่มีความทุ่มเทและความรู้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงการวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ ยาที่จำเป็น ผลิตภัณฑ์เลือด รังสีรักษา เทคโนโลยี จิตสังคม และการดูแลแบบประคับประคองนั้นผันแปรและไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก การศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่าอัตราการรอดชีวิตจากการวินิจฉัยโรคมะเร็งในเด็กนั้นขึ้นอยู่กับประเทศที่เด็กอาศัยอยู่ กล่าวคือ ในประเทศที่มีรายได้สูง เด็กที่เป็นมะเร็งมากกว่า 80% สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ มีน้อยกว่า 30% ที่หายเป็นปกติ ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงว่า ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจมีผลต่อการเข้าถึงการรักษา ทำให้เด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งหลายคนขาดโอกาสในการรักษาให้หายจากโรคร้ายชนิดนี้ได้ ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิต ได้แก่ ความล่าช้าในการวินิจฉัย การไม่สามารถรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง การรักษาที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ การละทิ้งการรักษา การเสียชีวิตจากผลข้างเคียง และการกลับมาเป็นซ้ำที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้
เกร็ดสุขภาพ : ปัจจุบันเด็กที่เป็นมะเร็งส่วนใหญ่ได้รับการรักษาที่ศูนย์มะเร็งเฉพาะทาง การมีโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งช่วยให้มั่นใจได้ว่าเด็กจะได้รับการรักษามะเร็งที่ดีที่สุด สำหรับในเมืองไทยมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการรักษาโรคมะเร็งสำหรับเด็ก ทั้งยังมีโรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้การเข้าถึงและการรักษาพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ความรู้และเทคโนโลยีด้านมะเร็งยังต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยาและการรักษาใหม่ๆ ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยพัฒนา แม้จะเป็นวิธีที่ดีแต่ก็ยังไม่สามารถบรรจุอยู่ในวิธีการหลักที่เป็นสวัสดิการด้านการรักษาได้ ซึ่งศูนย์เฉพาะทางหลายแห่งนำเสนอการรักษาที่ทันสมัย อันเป็นการทดลองทางคลินิกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา การเป็นอาสาสมัครในโครงการ อาจเป็นวิธีในการเข้าถึงการรักษาที่ใหม่กว่า แถมยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยให้วงการแพทย์ได้เรียนรู้วิธีการรักษามะเร็งที่ดีขึ้น ถึงกระนั้นก็อาจไม่เหมาะสำหรับเด็กทุกคน แน่นอนว่าถ้าเป็นส่วนของการวิจัยก็จะได้รับการรักษาที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่ใช่ว่าจะมีโครงการสำหรับทุกคนและทุกโรค ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญของการเตรียมเงินก้อนใหญ่เพื่อการรักษาโรคร้ายนี้ เพราะ มะเร็ง เป็นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ เกิดกับใคร ไม่สามารถรู้ได้ล่วงหน้า ควรมองหาประกันสุขภาพ เพิ่มเติมจากสวัสดิการภาครัฐ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับโรคร้ายแรงและมีโอกาสรอดชีวิตและหายขาดมากขึ้น
การลดความรุนแรงของมะเร็งในเด็ก ทำได้อย่างไร ?
โดยทั่วไปแล้ว ไม่สามารถป้องกันมะเร็งในเด็กได้ เนื่องจากปัจจัยในการเกิดนั้นเป็นได้หลายประการและปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด กลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการลดความรุนแรงโรคมะเร็งในเด็ก คือการมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ตามด้วยการบำบัดตามแนวทางการรักษาที่ทันสมัยและสามารถรักษาได้อย่างตรงจุด เนื่องจากมะเร็งแต่ละชนิดต้องการการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการ ผ่าตัด การฉายแสง และเคมีบำบัด พร้อมการดูแลแบบประคับประคองที่เหมาะสม การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ มีแนวโน้มที่ร่างกายจะสามารถตอบสนองต่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : ถึงแม้การวินิจฉัยอย่างแม่นยำรวดเร็วช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต แต่การตรวจคัดกรองโดยทั่วไปไม่เป็นประโยชน์และยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่มีคุณภาพมากพอในการสนับสนุนโครงการคัดกรองมะเร็งในเด็ก ยกเว้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในมะเร็งบางชนิด ตัวอย่างเช่น มะเร็งจอตาในเด็ก หรือมีประวัติการเป็นมะเร็งชนิดนี้ในครอบครัว ซึ่งควรได้รับคำปรึกษาทางพันธุกรรมและติดตามพี่น้องด้วยการตรวจตาเป็นประจำตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่องและอาจสามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น
แม้ว่าจะไม่มีสิ่งที่สามารถบ่งบอกชี้ชัดได้ว่า มะเร็ง เป็นได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่ เมื่อไร แต่มะเร็งในเด็กมีความเกี่ยวข้องกับอาการเตือนต่างๆ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะรุนแรงและต่อเนื่อง ปวดกระดูก และน้ำหนักลด รวมถึงมีความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ซึ่งสามารถสังเกตความผิดปกติได้โดยคนในครอบครัว รวมถึงผู้ให้บริการด้านสุขภาพปฐมภูมิที่ได้รับการฝึกอบรม พ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีบทบาทอย่างมากที่ต้องดูแลเอาใจใส่สุขภาพของเด็กๆ หากพบว่าลูกมีความผิดปกติใดๆ การนำมาตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว และสามารถทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม ก็อาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นได้
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : cancer.net, cancer.org, who.int
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ