“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
นักจิตบำบัด จิตแพทย์ นักจิตวิทยา มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่สบายใจ ปรึกษาใครดี ? ชวนรู้จักและทำความเข้าความแตกต่างของบุคลากรทั้ง 3 กลุ่ม
เครียด เป็นกังวล ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ปกติ มีเรื่องให้คิดมากอยู่ในใจ มีปัญหาชีวิตที่ยังหาทางออกไม่ได้ และรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาด้านสุขภาพใจ แต่ไม่รู้จะไปปรึกษาใครดี เคยได้ยินมาว่ามีนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และ นักจิตบำบัด อยู่ แต่ก็ไม่รู้แน่ชัดว่า ควรจะไปหาใคร ถ้าใครที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ หรือเคยมีความสงสัยเกี่ยวกับหน้าที่ของบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต และอยากรู้ว่า จิตแพทย์ คือใคร ? นักจิตวิทยา คือคนที่ทำหน้าอะไร ? แล้วนักบำบัดล่ะ ทำงานในส่วนนี้ด้วยหรือไม่ ? ถ้ามีปัญหาด้านจิตใจ เราควรจะไปหาใครดี ก่อนที่จะสงสัยไปมากกว่านี้ ไปหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลยค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : หากมีความผิดปกติอย่าง นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป อยากแยกตัว เก็บตัวอยู่คนเดียว มีอาการเจ็บป่วยทางกายแบบหาสาเหตุไม่ได้ เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินผิดปกติ ไม่ค่อยมีสมาธิ มีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น หรือมีอารมณ์ซึมเศร้า รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง ไม่อยากอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป หากมีอาการเช่นนี้ อาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยทางใจ ควรไปปรึกษาบุคลากรทางสุขภาพจิต เพื่อทำการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
นักจิตบำบัด ทำหน้าที่อะไร ? จิตแพทย์ คือใคร ? นักจิตวิทยา คือใคร ? แล้วมีความแตกต่างกันอย่างไร ?
บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัดกันมาบ้างแล้ว ด้วยเพราะใน ปัจจุบันมีการตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพจิตกันมากขึ้น ซึ่งสุขภาพจิตถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนเราด้วย หากมีความเครียดหรือมีความเจ็บป่วยทางใจ ก็จะเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางสุขภาพจิตที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะนำปรึกษาหรือทำการรักษาให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แล้วเคยสงสัยกันไหมว่า ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตบำบัด มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ละคนทำหน้าอะไรกันบ้าง ? แล้วจะต้องไปปรึกษาใคร ? ถ้าใครที่กำลังมีคำถามนี้อยู่ในใจ มาดูไปพร้อมๆ กันได้เลยค่ะ
1. จิตแพทย์ (Psychiatrist)
จิตแพทย์ คือคุณหมอที่รักษาอาการป่วยในด้านจิตเวชนั่นเองค่ะ ซึ่งจะต้องเรียนหมอมาก่อน หรือจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ตามที่มาตรฐานกำหนด คือ เรียนหมอทั่วไปอย่างน้อย 6 ปี และเรียนต่อเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับสาขาจิตเวชศาสตร์ประมาณ 3 – 4 ปี และมีคุณสมบัติเป็นจิตแพทย์ตามที่แพทยสภากำหนด ซึ่งหน้าที่ของจิตแพทย์มีดังนี้
- ให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชต่างๆ ประเมินวินิจฉัยโรคทางจิตเวช
- รักษาโรคทางจิตเวช เช่น เป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคการกินผิดปกติ โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ และในกลุ่มโรคทางระบบประสาทหรือความผิดปกติในการทำงานของสมอง และโรคประสาทจิตเวท เช่น อัลไซเมอร์ ภาวะบาดเจ็บที่สมอง เป็นต้น
- สามารถสั่งยาให้กับผู้ป่วย หรือวางแผนการรักษาให้กับผู้ป่วยได้
- ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยแบบองค์รวม
2. นักจิตวิทยา (Psychologist)
นักจิตวิทยา คือผู้ที่ให้คำปรึกษาในเชิงจิตวืทยา ซึ่งจะต้องเรียนจบการศึกษาในสาขาจิตวิทยา มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือมีความเชี่ยวชาญด้านความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งจะมีอยู่หลายสาขาด้วยกัน เช่น นักจิตวิทยาสังคม นักจิตวิทยาองค์กร นักจิตวิทยาพัฒนาการ แต่ถ้าเป็นการดูแลสุขภาพจิตโดยตรง จะเป็นนักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งมีหน้าที่ดังนี้
- นักจิตวิทยาคลินิกจะทำงานร่วมกับจิตแพทย์ เช่น ประเมินวินิจฉัยอาการทางจิตเวช เพื่อรักษาอาการทางจิตเวช
- นักจิตวิทยาการปรึกษาจะพูดคุยกับผู้มารับคำปรึกษา ซึ่งไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยทางจิตเวชในระดับที่รุนแรง และไม่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช แต่สามารถมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องไม่สบายใจได้ เช่น ปัญหาด้านการเรียน ปัญหาในครอบครัว ปัญหาด้านความรักความสัมพันธ์ เป็นต้น
- นักจิตวิทยาทำงานในองค์กรอื่นๆ นอกเหนือจากโรงพยาบาล เช่น นักจิตวิทยาในโรงเรียน นักจิตวิทยาที่ทำงานในเรือนจำ นักจิตวิทยาในศาล นักจิตวิทยาในชุมชน นักจิตวิทยาในสถานสงเคราะห์ต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยา เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้มีอำนาจในการสั่งยาหรือวินิจฉัยโรคทางจิตเวชได้ โดยส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับจิตแพทย์เพื่อให้จิตแพทย์ได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งหน้าที่หลักของนักจิตวิทยาคือรับฟังผู้ป่วยหรือผู้มารับบริการ สังเกตพฤติกรรม วิเคราะห์ ทำนายพฤติกรรม และให้คำปรึกษาปัญหาที่เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล หรือมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งการพูดคุยกับนักจิตวิทยาจะทำให้ผู้รับบริการมีความสบายใจมากขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น
3. นักบำบัด (Therapist)
นักบำบัด คือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีความสามารถในการฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ที่เข้ามารับบริการ ซึ่งจะต้องมีคุณวุฒิและมีการศึกษาในแขนงนั้นโดยเฉพาะ และได้รับรองว่ามีความเชี่ยวชาญในด้านที่ให้บริการ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ศึกษาในสาขาจิตวิทยาและไปศึกษาต่อในสาขาการบำบัดแขนงต่างๆ โดยนักบำบัดอาจทำงานร่วมกับจิตแพทย์และนักจิตวิทยาในการรักษาผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจ อย่างไรก็ตาม นักบำบัดมีทั้งแบบเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาทางสุขภาพจิต และสามารถแบ่งได้ดังนี้
- นักจิตบำบัด (Psychotherapist) คือ ผู้ที่ให้คำปรึกษาด้านจิตใจ โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ปรึกษาปัญหาต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น นักจิตบำบัดจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านอารมณ์ ทัศนคติ หรือแม้กระทั่งปัญหาด้านความสัมพันธ์ ที่จะเห็นบ่อยคือ การบำบัดเชิงความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioural Therapy: CBT)
- นักศิลปะบำบัด (Art Therapist) เป็นนักบำบัดที่เลือกใช้ศิลปะเพื่อบำบัดความเครียด หรือบำบัดอาการของโรคในบางกลุ่ม เช่น โรคสมาธิสั้น ซึ่งจะต้องมีความรู้ทางด้านศิลปะหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการปั้น การวาด การระบายสี โดยบางส่วนจะทำงานร่วมกับจิตแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาผู้ป่วยร่วมกัน
- นักละครบำบัด (Drama Therapist) เป็นนักบำบัดที่สร้างบทบาทให้ผู้รับการบำบัดได้แสดงบทบาทสมมติ เพื่อปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในใจออกมา ซึ่งจะทำงานร่วมกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพื่อประเมินอาการของผู้รับการบำบัด โดยบทบาทสมมตินั้นก็แล้วแต่อาการหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นจะทำการวิเคราะห์ และปรับเปลี่ยนให้ผู้รับบำบัดมีความคิดและพฤติกกรมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มองตัวเองในแง่บวกมากขึ้น
- นักดนตรีบำบัด (Music Therapist) เป็นนักบำบัดที่ต้องมีความรู้ด้านทฤษฎีดนตรี ซึ่งจะใช้กิจกรรมดนตรีทั้งการร้องเพลง เล่นเครื่องดนตรี แต่งเพลง และอื่นๆ มาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับผู้ที่เข้ารับการบำบัด เพื่อพัฒนาในด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญา ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้เล่นดนตรีเก่ง แต่เพื่อเล่นออกมาตามอารมณ์ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ หรือเพื่อเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้รับการบำบัด
ถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้น ควรจะปรึกษาใครดี ?
ถ้าหากมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตเกิดขึ้น ในระดับที่สามารถสังเกตอาการของตัวเองได้ และยังไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันมาก เช่น รู้สึกเศร้า หดหู่แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีภาวะสิ้นยินดี (อ่านเพิ่มเติม ภาวะสิ้นยินดี แบบทดสอบ) หรือต้องการปรึกษาปัญหาชีวิตในแง่มุมต่างๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล สามารถปรึกษาได้กับนักจิตวิทยาการปรึกษา นักจิตวิทยาคลินิก หรือนักจิตบำบัด แต่ถ้ารู้สึกว่าอาการที่เป็นอยู่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย มีพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น และเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคทางสุขภาพจิตต่างๆ ซึ่งจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ตรงจุด เช่น ผู้ที่เป็นโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น หรือผู้ที่มีบุคลภาพผิดปกติประเภทต่างๆ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์และอาจจะได้รับการจ่ายยา และจิตแพทย์เท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยและจ่ายยาได้ หากในบางรายที่พูดคุยกับนักจิตวิทยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ต่อไป
ในส่วนของนักจิตบำบัดนั้น ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ ซึ่งถือว่า การบำบัดเป็นการรักษาอย่างหนึ่งหลังได้รับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น นักจิตบำบัดที่ทำการบำบัดแบบ CBT ซึ่งบำบัดผู้ที่เจ็บป่วยด้านสุขภาพใจ หรือมีบุคลิกภาพแบบผิดปกติ อย่างไรก็ตาม การบำบัดบางประเภทก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้นถึงจะสามารถทำกิจกรรมบำบัดนั้นๆ ได้ เช่น ศิลปะบำบัดที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้เพื่อเป็นการผ่อนคลายและระบายความเครียด เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : หากต้องการพูดคุยเพื่อระบายความเครียด หรืออยากปรึกษาปัญหาที่อยู่ในใจ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยา อาจจะเลือกพูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาหรือนักจิตวิทยาคลินิกก่อนเป็นอันดับแรก เพราะสามารถพูดคุยได้อย่างละเอียด หากเป็นจิตแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และมีเวลาเข้าพบในช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการพูดคุยเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ความตึงเครียด เนื่องจากมีเวลากำกัด และไม่อาจได้รับบริการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่มาเข้ารับบริการได้
ความเครียด ความไม่สบายใจ ความวิตกกังวล หรือแม้แต่อาการป่วยทางใจ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ใช่ความผิดแปลกอะไร สิ่งสำคัญคือ เมื่อสังเกตได้ว่าตัวเองมีอาการผิดปกติทางอารมณ์ความรู้สึกที่ต่างไปจากเดิม และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปปรึกษาบุคลากรทางสุขภาพจิต โดยอาจจะเริ่มต้นพูดคุยกับนักวิทยา หรือสายด่วนสุขภาพจิตจากกรมสุขภาพจิตเพื่อพูดคุยและประเมินอาการเบื้องต้นก่อนก็ได้
ทั้งนี้ การพูดคุยกับนักจิตวิทยา นักบำบัด หรือจิตแพทย์ก็ตาม ข้อมูลของผู้รับบริการจะถูกเก็บเป็นความลับทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ ดังนั้น หากใครกลัวว่าจะถูกมองไม่ดีหรือเป็นกังวลว่าเรื่องราวส่วนตัวบางอย่างที่ทำให้เกิดความเครียด ความไม่สบายใจ จะมีคนอื่นรู้เข้า ก็สบายใจในส่วนนี้ได้เลยค่ะ แต่อย่างที่บอกว่า ความเจ็บป่วยทางใจ ก็เช่นเดียวกับการเจ็บป่วยทางกาย ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ใช่สิ่งที่ผิดแต่อย่างใด ซึ่งการเข้ารับคำปรึกษา หรือเข้ารับการรักษา ก็จะทำให้เรามีสุขภาพใจที่ดีขึ้น และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : goodtherapy.com.au, healthline.com, healthdirect.gov.au
Featured Image Credit : freepik.com/rawpixel.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ