X

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล คืออะไร ? เคยเป็นกันมั้ย ฤดูนี้ทีไร รู้สึกเศร้าทุกที !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล คืออะไร ? เคยเป็นกันมั้ย ฤดูนี้ทีไร รู้สึกเศร้าทุกที !

เคยมีช่วงเวลาที่ฝนตก อากาศอึมครึม แล้วพาให้รู้สึกเหงา เศร้า จิตใจหม่นหมองกันบ้างไหม ? ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะสภาพอากาศก็มีผลต่อจิตใจของเราได้เช่นกัน ถ้าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพียงสักครู่แล้วก็จางหายไป ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกเศร้านานเป็นช่วงเวลาติดต่อกัน แต่มีบางปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล” ที่บุคคลจะรู้สึกเศร้าหรือหดหู่ เฉยชา มีอาการของภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่งเป็นประจำ และมักจะเกิดขึ้นในทุกๆ ปี แล้วอาการแบบนี้เป็นอันตรายหรือไม่ ? ถ้ามีภาวะซึมเศร้าแบบนี้ควรดูแลตัวเองอย่างไร ? มาทำความรู้จักกับภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลกันให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้สังเกตและดูแลตัวเองกัน

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล กับโรคซึมเศร้าปกติ ต่างกันอย่างไร ?

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล, โรคซึมเศร้า คือ
Image Credit : freepik.com

ก่อนที่จะไปพูดถึงโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เรามาพูดถึงการเป็นโรคซึมเศร้ากันก่อน หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อของโรคซึมเศร้ากันมาบ้างแล้ว โรคซึมเศร้า คือโรคที่เกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนิน มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีพฤติกรรม อารมณ์ ความรู้สึกเปลี่ยนไปจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ รู้สึกเศร้า หดหู่ หม่นหมอง ไม่มีความสุข รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยชอบ นอกจากปัจจัยทางด้านสารเคมีในสมองแล้ว สภาพแวดล้อม หรือความเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การสูญเสียคนที่รัก การหย่าร้าง ความผิดหวังในชีวิต ความเครียดความกดดันในชีวิต หรือบุคลิกภาพส่วนตัว ก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน

โรคซึมเศร้า คืออาการที่อาจเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งมักขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมส่วนบุคคลหรือความผิดปกติของสารเคมีในสมองของร่างกาย แต่โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูใดฤดูหนึ่งเท่านั้น อธิบายง่ายๆ คือ ในบางคนอาจจะมีภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาว ซึ่งพอเข้าช่วงหน้าร้อน ก็จะกลับมามีอาการปกติ ไม่มีภาวะเศร้าใดๆ ซึ่งต่างกับโรคซึมเศร้าโดยทั่วไป คือ จะมีอาการเศร้าไปตลอดโดยไม่ขึ้นกับช่วงฤดูกาลหรือสภาพอากาศนั่นเอง เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่เกิดในช่วงฤดูกาลให้มากขึ้นกันค่ะ

เจาะลึก! โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล คืออะไรกันแน่นะ ?

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal Affective Disorder (SAD) คือโรคซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันในแต่ละปี บางครั้งเรียกว่า “ภาวะซึมเศร้าในฤดูหนาว” เนื่องจากอาการมักจะชัดเจนและรุนแรงในช่วงฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล ก็อาจจะมีอาการซึมเศร้าในช่วงฤดูร้อนก็ได้

เกร็ดสุขภาพ : ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองหนาวที่มีหิมะตก หรือมีช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน มักจะมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะ Winter Blues ซึ่งเป็นหนึ่งใน Seasonal Affective Disorder โดยมีความเกี่ยวข้องกับปริมาณของแสงแดดที่มีผลต่อสารเซโรโทนินในสมอง ซึ่งเป็นสารที่ควบคุมความรู้สึกต่างๆ เช่น ความสุข ความหิว การนอน เมื่อมีสารเซโรโทนินในร่างกายน้อยลง ทำให้บุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าได้

อาการของ โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล, โรคซึมเศร้า คือ
Image Credit : freepik.com

อาการของโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล จะคล้ายกับอาการโรคซึมเศร้าปกติ แต่อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูกาลนั้นๆ และมักจะเกิดขึ้นทุกปี โดยจะมีอาการดังนี้

  • มีอารมณ์เศร้า หดหู่อย่างต่อเนื่อง 
  • แยกตัวออกจากสังคม
  • รู้สึกไม่มีความสุข และละเลยการทำกิจวัตรประจำวัน รู้สึกไม่อยากทำอะไร 
  • หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ 
  • รู้สึกหงุดหงิด รู้สึกสิ้นหวัง รู้สึกผิด และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า 
  • รู้สึกเซื่องซึม เฉื่อยชา ขาดพลังงาน 
  • นอนนานกว่าปกติ ตื่นยาก 
  • มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น 
  • ไม่มีสมาธิ ไม่ค่อยจดจ่อ มีปัญหาในการทำงานหรือการเรียน
  • อาจมีความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ

นอกจากอาการซึมเศร้าตามฤดูกาลที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้ว ทางฝั่งตะวันตกยังได้แบ่งอาการซึมเศร้าออกเป็น อาการซึมเศร้าในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว (Fall – Winter) กับอาการซึมเศร้าในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูไบไม้ผลิ (Spring – Summer) โดยมีการสันนิษฐานว่า เนื่องจากสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมตามช่วงฤดูนั้นๆ อาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเราด้วย ดังนี้

1. อาการซึมเศร้าในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาว

  • นอนมากผิดปกติ รู้สึกเซื่องซึม 
  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป โดยจะอยากกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • รู้สึกเหนื่อยล้า ขาดพลังงาน

2. อาการซึมเศร้าในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ผลิ

  • มีปัญหาในการนอนหลับ นอนไม่หลับ
  • รู้สึกเบื่ออาหาร
  • น้ำหนักตัวลดลง 
  • รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย 
  • รู้สึกหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา

สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล, โรคซึมเศร้า คือ
Image Credit : freepik.com

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล แต่ได้มีการสันนิษฐานว่าอาจเชื่อมโยงกับการได้รับแสงแดดที่น้อยลงในช่วงฤดูหนาว ถ้าหากในบ้านเราก็อาจเป็นช่วงฤดูฝน ที่พออากาศครึ้มๆ ฝนตกติดต่อกัน ก็ทำให้รู้สึกเศร้าหรือเหงาโดยไม่มีสาเหตุได้ ซึ่งการได้รับแสงแดดน้อยทำให้สมองส่วนไฮโปทาลามัสมีการทำงานอย่างผิดปกติ และส่งผลดังนี้

  • การผลิตเมลาโทนิน เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน ในผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล ร่างกายอาจผลิตเมลาโทนินมากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกง่วงซึม เฉื่อยชา และรู้สึกไม่มีพลังงาน ไม่กระปรี้กระเปร่า 
  • การผลิตเซโรโทนิน เซโรโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก รวมถึงความอยากอาหาร และการนอนหลับ การที่ไม่ได้รับแสงแดดอาจทำให้ระดับเซโรโทนินลดลง ซึ่งเชื่อมโยงกับความรู้สึกซึมเศร้าด้วย
  • นาฬิกาชีวิตในร่างกาย ร่างกายของคนเรามีความสัมพันธ์กับแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ การใช้ชีวิตกลางแจ้ง ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงฤดูกาล ก็อาจส่งผลต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของเราได้

เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอารมณ์แปรปรวนตามฤดูกาลมากขึ้น ในผู้ป่วยโรคไบโพลาร์บางคน อาการตื่นตัวอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ (Mania) ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งอาจจะมีความวิตกกังวล กระสับกระส่าย และหงุดหงิดมากผิดปกติ และอาจประสบกับภาวะซึมเศร้าผิดปกติ (Depressed) ในช่วงฤดูหนาวได้

ซึมเศร้าแค่ไหนถึงต้องไปพบแพทย์ ?

ในช่วงเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ในวันที่ฝนตก หรือในวันที่อากาศอึมครึมก็อาจส่งผลต่อความรู้สึกของเราให้รู้สึกเศร้า เหงา หรือหดหู่ได้ และไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้าความรู้สึกเศร้าหรือความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และรู้สึกว่าไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ขาดแรงจูงใจ มีการนอนหลับผิดปกติและมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ มีการใช้แอลกอฮอล์และสารเสพติด และรู้สึกสิ้นหวัง มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ถ้ามีอาการดังกล่าวเป็นเวลาต่อเนื่อง 1 – 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือพูดคุยกับนักจิตวิทยาโดยเร็วเพื่อหาวิธีการรักษาให้อาการดีขึ้นนะคะ ไม่อย่างนั้น อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้

ดูแลตัวเองอย่างไร ในช่วงเวลาที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง ?!

โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล, โรคซึมเศร้า คือ
Image Credit : freepik.com

นอกจากการพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้มีสุขภาพใจที่ดีขึ้นจากโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลแล้ว ยังมีวิธีดูแลตัวเองเพื่อให้มีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงตามนี้ค่ะ

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้ และโปรตีนที่ช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนิน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก การเพิ่มระดับเซโรโทนินอาจทำให้รู้สึกเศร้าน้อยลงได้ ซึ่งอาหารก็ได้แก่ ผักปวยเล้ง สับปะรด ไก่ ปลาแซลมอน ไข่ ชีส นม เต้าหู้ ถั่ว และเมล็ดธัญพืชต่างๆ เป็นต้น 
  2. การอยู่เฉยๆ อาจทำให้หมกมุ่นอยู่กับอารมณ์เศร้าได้ ดังนั้นจึงควรทำกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การทำงานบ้าน การทำสวน ทำอาหาร เล่นดนตรี หรือทำงานอดิเรกที่สนใจ เพื่อเป็นการเพิ่มสมาธิและไม่ให้จมอยู่กับอารมณ์เศร้าหดหู่ที่เกิดขึ้น
  3. หาโอกาสออกไปสัมผัสกับบรยากาศนอกบ้านบ้าง ในวันที่อากาศสดใส ท้องฟ้าปลอดโปร่งก็ควรออกไปเดินเล่น ให้ร่างกายได้รับแสงแดดอ่อนๆ เพื่อให้ร่างกายผลิตเซโรโทนินมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติม แสงแดดให้วิตามินอะไร)
  4. ออกกำลังกาย ข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศอังกฤษเผยว่า การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่องช่วยเรื่องอาการซึมเศร้าได้ โดยการออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 วัน ถ้าไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน อาจเริ่มจากการทำกิจกรรมที่ใช้แรง เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ หรือปั่นจักรยานแทนการใช้รถโดยสาร เป็นต้น
  5. ไม่เก็บตัวอยู่คนเดียว ออกไปพบปะสังสรรค์หรือเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคมให้มากขึ้น เพื่อให้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ หรือได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ 
  6. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การพักผ่อนอย่างไม่เพียงพอหรือนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อสุขภาพกายและอาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ พยายามฝึกนิสัยการนอนที่ดี เข้านอนเป็นเวลา และฝึกวิธีผ่อนคลายตัวเอง เช่น การนั่งสมาธิ นอนสมาธิ การฝึกหายใจคลายเครียด การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้นอนหลับดีขึ้น

โรคซึมเศร้า คือความเจ็บป่วยชนิดหนึ่งซึ่งเป็นความเจ็บป่วยทางใจ และมีโอกาสเป็นได้เช่นเดียวกับความป่วยไข้ไม่สบายอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนบ้าหรือคนสติไม่ดี และเป็นโรคที่ใครๆ ก็มีโอกาสเป็นได้ ปัจจุบันมีการตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพจิตกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทางสุขภาพใจอื่นๆ รวมถึง โรคซึมเศร้าตามช่วงฤดูกาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าเราจะทำความเข้าใจกับโรคนี้ได้มากน้อยเพียงใด อย่าลืมว่าในบางครั้งเราก็มีอารมณ์เศร้าหรือหดหู่ได้ในบางช่วง แต่ในที่สุดแล้ว อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น หากดูแลรักษาทั้งกายและใจได้เป็นอย่างดี ก็จะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mayoclinic.org, nph.go.th, nhs.uk

Featured Image Credit : pexels.com/suntorn somtong

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save