“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Hikikomori คือ อะไร ? ภัยเงียบที่คนในครอบครัวต้องเฝ้าระวัง
เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเราอยากซ่อนตัวจากความเครียดและความกดดันของโลกภายนอก การถอนตัวแยกตัวออกจากสังคมชั่วคราวแม้เพียงระยะเวลาสั้นๆ บางครั้งสามารถลดความเครียดและช่วยเราก้าวข้ามความเจ็บปวดและความอ่อนแอได้อย่างดี และว่ากันตามจริงทางจิตวิทยา การแยกตัวถือเป็นขั้นตอนพัฒนาตัวตนที่สำคัญของพัฒนาการชีวิต เช่น ในวัยรุ่นมักจะแยกตัวเพื่อการสำรวจตัวตนก่อนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ เป็นต้น วันนี้จะพาไปรู้จักกับอาการแยกตัวทางสังคมที่นานมากผิดปกติจนเป็นปัญหาในชื่อว่า “ฮิคิโมริ” ตามมาดูกันค่ะว่า Hikimori คือ อะไร พร้อมวิธีดูแลตัวเองและครอบครัวให้ห่างไกลกัน !
รู้จัก Hikikomori คือ อะไร ? ทำยังไงให้ครอบครัวเราไม่ต้องเป็น !
ในภาวะสังคมปัจจุบัน ผลกระทบหลากหลาย ทำให้ผู้คนใช้การถอนตัวตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามา อย่างเช่น ตอนอกหัก กลัวความรัก หรือผิดหวัง เศร้าใจอื่นๆ แต่หากบางคนไม่สามารถฟื้นจากช่วงเวลาแห่งการปรับตัวตามธรรมชาติได้ ก็จะแสดงออกถึงการแยกตัวอย่างรุนแรงและต่อเนื่องยาวนานเป็นเดือนๆ ถึงเป็นปี ทำให้เกิดความทุกข์แก่ตนเอง รวมทั้งคนรอบข้าง ที่ดูแลและสนับสนุน พ่อ แม่ ผู้ปกครองในญี่ปุ่นจึงเรียกรูปแบบพฤติกรรมที่เรียกว่าพบเจอได้ทั่วไปจนเป็นธรรมดาจนตอนนี้รู้จักกันแพร่หลายในชื่อว่า “ฮิคิโคโมริ”
เกร็ดสุขภาพ : Hikikomori คือ การถอนตัวทางสังคมอย่างสุดโต่ง ได้รับความสนใจครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ หลายคนตอบสนองด้วยการซ่อนตัวเพื่อหลบหนีความละอายใจ สำหรับบางคนที่ดีขึ้นก็สามารถผ่านพ้นความรู้สึกแบบนี้ไปได้หลังวิกฤติผ่านพ้น แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมปกติได้ คำว่า ฮิคิโคโมริ (มาจากกริยาฮิกิ “ถอนตัว” และโคโมริ “เข้าไปข้างใน”) บัญญัติขึ้นในปี 2541 โดยศาสตราจารย์ทามากิ ไซโตะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ( Saito.T 1998 ) ไซโตะเลือกคำ ฮิคิโคโมริเพื่ออธิบายคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่อาการไม่เข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยเป็นโรคใดๆทางจิตเวช ถึงจะเป็นคนละแบบกับโรคกลัวการเข้าสังคม แต่กระนั้นก็อยู่ในสภาพที่มีการแยกตัวจากสังคมอย่างรุนแรงและน่าวิตก
ปัจจุบัน ฮิคิโคโมริ ถูกมองว่าเป็นปรากฏการณ์สุขภาพจิตและสังคมวัฒนธรรม มากกว่าที่จะเป็นความเจ็บป่วยทางจิตที่ชัดเจน ซึ่งประชากรญี่ปุ่นอย่างน้อย 1.2% (ประมาณล้านคน) ได้รับผลกระทบนี้ ฮิคิโคโมริ เริ่มเป็นปัญหาทางสังคมที่แพร่หลายมากขึ้นในประเทศอื่นๆ และปัจจุบันมีการใช้คำนี้ทั่วโลกเพื่ออธิบายถึงใครก็ตามที่มีอาการเข้าเกณฑ์
ลักษณะสำคัญของ Hikikomori คือ แยกตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางสังคม รวมทั้งมีความบกพร่องในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ เช่น หลีกเลี่ยงงานที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งบางครั้งลุกลามมาจนไม่สามารถจัดการกับเรื่องพื้นฐานและความต้องการส่วนบุคคลของตนเองได้ กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นนิยามฮิคิโคโมริว่าเป็นบุคคลที่ปฏิเสธที่จะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ ไม่ไปทำงานหรือไปโรงเรียน และแยกตัวออกจากสังคมและครอบครัวในห้องส่วนตัวเป็นระยะเวลาเกินหกเดือน
นอกจากการแสดงออกด้วยการแยกตัวทางกายภาพอย่างชัดเจนแล้ว ฮิคิโคโมริยังแยกตัวออกจากโลกสังคมทางจิตใจอย่างสุดโต่งอีกด้วย พวกเขา ขาดการติดต่อทางสังคมจากคนรอบข้างไม่ว่าจะอยู่นอกบ้านหรือในบ้านก็ตาม ยิ่งถ้าเป็นสถานที่ที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง เช่น โรงเรียน หรือที่ทำงาน ชาว ฮิคิโคโมริ หรือที่ มีคำเรียกว่า โซโต-โคโมริ หรือ ฮิคกี้ ก็จะปฎิเสธที่จะไปยุ่งเกี่ยว แม้ในบางคนสามารถไปทำงาน เรียน หรือมีกิจกรรมตามปกติได้ แต่พวกเขาก็ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน บางคนอาจใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหน้าต่างของโลก แต่มักจะไม่มีปฏิสัมพันธ์ในโลกความจริงกับใคร
แม้ว่า Hikimori คือกลุ่มคนส่วนหนึ่งที่เจอได้ทั่วไปในโลก และส่วนใหญ่เป็นปรากฏการณ์ที่อ้างอิงมาจากสังคมญี่ปุ่น แต่ก็มีรายงานปรากฏการณ์ที่คล้ายกันใน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน เมื่อรายการของ BBC อ้างว่าฮิคิโคโมริเป็นปรากฏการณ์ของญี่ปุ่น โฮมเพจของ BBC ที่ออกอากาศในสหราชอาณาจักรได้รับข้อความจำนวนมากจากผู้ชมในสหราชอาณาจักรโดยบอกว่าพวกเขามีประสบการณ์ส่วนตัวกับฮิคิโคโมริและโต้แย้งว่าไม่ใช่ปรากฏการณ์เฉพาะในญี่ปุ่น แม้แต่การค้นหาสื่อภาษาอังกฤษก็สามารถสืบค้นได้แบบสบายๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโดยพื้นฐานแล้วปรากฏการณ์เดียวกันนี้พบได้ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร ฯลฯ หรือแทบจะพบเจอได้ทั่วโลกนั่นเอง
สาเหตุและที่มาของ Hikikomori คืออะไร ?
มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ความอับอายและความพ่ายแพ้ เป็นสิ่งกระตุ้นการเกิดภาวะถอนตัวจากสังคมอย่างรุนแรง แต่ความรุนแรงของความอับอาย บาดแผลทางใจ ก็ขึ้นกับค่านิยมและวัฒนธรรมความคาดหวังของสังคมต่างๆ ด้วย เช่น การสอบตกครั้งสำคัญ หรือการไม่ได้งานที่มีเกียรติและเป็นที่ยอมรับ เป็นไปได้ว่าระบบค่านิยมทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอาจทำให้ประชากรกลุ่มนี้อ่อนแอมาก เนื่องจากมีแรงกดดันทางสังคมสูง ความคาดหวังในตัวเองของชาวญี่ปุ่นก็สูง การไม่เป็นที่ยอมรับเลยเป็นเรื่องน่ากลัวที่จะเผชิญ ชาว ฮิคิโคโมริก็เลยหลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลทางใจ หรือการเกิดความผิดพลาด ด้วยการไม่เข้าร่วมเส้นทาง “ปกติ” ที่สังคมกำหนดไว้
ปัจจัยเฉพาะ อย่างเช่น ระบบการศึกษาที่ทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อเยาวชน มีทั้งความคาดหวัง ทั้งการแข่งขันสูง การเรียนอย่างหนักและท่องจำเพื่อจุดประสงค์ในการสอบเข้าในระดับถัดไปของการศึกษา ความต้องการเข้าเรียนในสถาบันที่มุ่งหวัง และแน่นอนในวิชาชีพที่มีเกียรติและเป็นที่ยอมรับในอนาคต ทำให้เกิดความเครียด และความกดดันสูง โดยเฉพาะแรงกดดันจากพ่อแม่ ครอบครัว ที่เปลี่ยนความหวังดีต่ออนาคตเยาวชนเป็นความคาดหวังที่เยาวชนต้องแบกรับและต่อสู้ ทำให้เยาวชนเกิดปัญหาทางใจและแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า หรือ บางคราอาจตอบสนองด้วย ฮิคิโคโมริ ก็เป็นได้
ในสังคมไทยเรา ระบบการศึกษา ประกอบกับความคาดหวังของผู้ปกครอง ในสังคม อาจมีส่วนผลักดันให้เด็กๆ ที่อยู่ระหว่างการแยกตัวตามธรรมชาติ ชื่นชอบและหันไปใช้ชีวิตวิถี ฮิคกี้ กันมากขึ้น เป็นภัยเงียบที่ถ้าเราตระหนักใส่ใจกันมากขึ้น ก็จะช่วยให้คนที่เรารัก และก้าวข้ามช่วงชีวิตที่สำคัญได้อย่างมีความสุข
เมื่อทั่วโลกรู้จักฮิคิโคโมริมากขึ้น ความชุกของอาการก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการเผยแพร่ การรักษาที่มุ่งเน้นการออกกำลังกาย จิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด การสร้างความสามารถเชิงปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และใช้วิธีการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อกลับมาทำงานหรือศึกษาใหม่ รวมทั้งการทำบำบัดทั้งครอบครัวก็กำลังได้รับการทดสอบเพื่อใช้เป็นแนวทางการรักษา
ในทางกลับกัน มีความเห็นต่างว่า ฮิคิโคโมริ เป็นลักษณะบุคลิกภาพส่วนบุคคล หรือทางเลือกในการดำรงชีวิตที่จะยอมรับหรือแก้ไขก็ได้ ตราบใดที่การเลือกนี้ไม่นำไปสู่พฤติกรรมทางอาชกรรมหรือความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อคนอื่น แม้ว่า มีแนวโน้มบางอย่างในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่ยึดตามประเพณีเช่น สังคมญี่ปุ่น สังคมไทย ที่จะตราหน้าบุคคลหรือกลุ่มชนกลุ่มน้อยที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานที่รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย สังคม จิตใจหรือทางเพศ จะถูกระบุว่าป่วย และเรียกร้องให้มีการรักษาเพื่อให้ “ปกติ” ตามกระแสหลัก ในการฟื้นฟูเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ชีวิต จึงต้องตรวจสอบความปรารถนาที่แท้จริงของบุคคลอย่างรอบคอบ บางทีการเลือกรูปแบบการใช้ชีวิตนี้อาจเป็นที่ยอมรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะสังคมของ การทำงาน การเรียนจากที่บ้าน และกำลังเข้าสังคมโดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก คือชีวิตประจำวันปกติไปแล้ว
ฮิคิโคโมริ สามารถฟื้นตัวได้บางส่วนหรือทั้งหมด ที่ญี่ปุ่นพบว่า เมื่อแยกบ้านออกจากบ้านพ่อแม่ ความเป็นตัวเองช่วยฟื้นฟูการเข้าสังคมได้มากขึ้น นอกจากนี้การฟื้นตัวอาจรวมถึงการช่วยให้ชาวฮิคิโคโมริค้นพบวิธีแสดงความสามารถและพรสวรรค์ของตนในแบบที่สังคมยอมรับได้ ตัวอย่างเช่น ศิลปินชาวญี่ปุ่น อัตสึชิ วาตานาเบะ (atsushi-watanabe.jp) ที่ใช้ศิลปะและการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อช่วยให้เขาฟื้นตัวจากฮิคิโคโมริ
Hikimori คือ การถอนตัวที่รุนแรงและต่อเนื่องเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ มักจะไม่มีใครสังเกตเห็น เว้นแต่ว่าพวกเราต้องตระหนักให้มากขึ้น ช่วยกันดูแลและใส่ใจ และสร้างสังคมที่ทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อจำเป็นในการติดต่อกับสังคมรอบข้างได้อย่างสบายใจ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : psychology.fandom.com, theconversation.com, ncbi.nlm.nih.gov
Featured Image Credit : freepik.com/dashu83
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ