X

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง ? มีลิงเป็นพาหะจริงเหรอ ? ชวนไขข้อข้องใจกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง ? มีลิงเป็นพาหะจริงเหรอ ? ชวนไขข้อข้องใจกัน !

โรคฝีดาษลิง โรคฝีดาษวานร หรือ Monnkeypox Virus เป็นโรคที่เพิ่งมีข่าวการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อปี 2565 จนทำให้หลายคนรู้สึกวิตกกังวลและกลัวว่าจะติดเชื้อชนิดนี้ไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดประเทศมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นด้วย เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะว่าโรคฝีดาษลิงเกิดจากอะไร มีอาการยังไงบ้าง และ โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง ? จะได้หาแนวทางป้องกันและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคนี้กัน

ทำความรู้จักกับโรคใหม่ที่ไม่ใหม่ โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง ?  มีพาหะจากลิงจริงหรือไม่ ?

โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว โรคฝีดาษลิงถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1958 และมีการติดเชื้อในคนครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1970 ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐคองโก หลังจากนั้นก็พบการแพร่ระบาดมากขึ้นในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก โดยส่วนมากจะพบผู้ติดเชื้อเฉพาะในทวีปแอฟริกาเท่านั้น แต่หลังจากปี 2003 โรคนี้ก็เริ่มแพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการแพร่ระบาดหนักอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปี 2022 จึงทำให้ผู้คนเริ่มสนใจโรคนี้กันมากขึ้น แต่ก่อนที่จะพาไปดูว่าโรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง เรามารู้จักกับสาเหตุและอาการของโรคนี้กันเลยค่ะ

โรคฝีดาษลิงเกิดจากอะไร ?

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง, โรคฝีดาษลิงเกิดจาก
Image Credit : freepik.com

โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ที่อยู่ในวงศ์ Poxviridae และเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่เคยเป็นระบาดในอดีต ส่วนสาเหตุของโรคฝีดาษลิงคาดว่ามีการติดต่อมาจากสัตว์สู่คน เนื่องจากในช่วงแรกของการแพร่ระบาดนั้นพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ และเชื้อไวรัสนี้เป็นชนิดที่พบในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ โดยโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมากจนอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อยกว่ามาก

อาการของโรคฝีดาษลิงเป็นยังไง ?

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง, โรคฝีดาษลิงเกิดจาก
Image Credit : freepik.com

โรคฝีดาษลิงจะมีระยะในการเพาะเชื้อประมาณ 6 -13 วัน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มแสดงอาการออกมา โดยสามารถแบ่งอาการของโรคได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

1. ระยะแรก ในช่วง 0 – 5 วัน

ในระยะแรกจะเริ่มมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ รู้สึกปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามลำตัว ปวดหลัง มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย และมีต่อมน้ำเหลืองโต โดยภาวะต่อมน้ำเหลืองโตนี้เองที่ทำให้สามารถแยกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอาการที่แตกต่างจากโรคหัด โรคฝีดาษ โรคไข้ทรพิษ หรืออีสุกอีใส อาการของโรคเหล่านี้จะไม่มีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย และในบางรายพบว่ามีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย อาเจียน ไอหอบ เป็นต้น

2. ระยะมีผื่น ในช่วง 1 – 3 วันหลังจากมีไข้

ในระยะนี้ จะเริ่มมีอาการที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าเป็นโรคฝีดาษลิง กล่าวคือ มีผื่นขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ใบหน้าและแขนขา แต่จะไม่ค่อยขึ้นตามลำตัว นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้ในบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า เยื่อบุในช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตาขาวและกระจกตา โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากเป็นผื่นแดงและนูนก่อนที่จะกลายเป็นตุ่มใส และกลายเป็นตุ่มแข็งตามลำดับ หลังจากนั้นก็จะเริ่มแห้งเป็นสะเก็ดและหลุดไปได้เอง สำหรับคนที่มีอาการหนัก ผื่นอาจจะรวมกันเป็นตุ่มขนาดใหญ่และหลุดออกไปพร้อมกับผิวหนังได้ โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นโรคฝีดาษลิงจะสามารถหายได้เองภายใน 2 – 4 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีดาษลิง

ถึงแม้อาการของโรคฝีดาษลิงที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้จะไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนของโรค ก็อาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น มีการติดเชื้อซ้ำ มีภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในระบบประสาท และติดเชื้อที่กระจกตาจนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ดังนั้น หากรู้ว่าโรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง ก็จะช่วยป้องกันตนเองไม่ให้ติดโรคนี้ได้

เกร็ดสุขภาพ : ในปัจจุบันยังไม่การรักษาโรคฝีดาษลิงเฉพาะทาง แต่มีรายงานจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคนนั้นมีประสิทธิภาพที่สามารถป้องกันได้อย่างน้อย 85% และเมื่อติดเชื้อหนึ่งครั้งแล้วจะสามารถลดความรุนแรงและอาจป้องกันการติดเชื้อได้ สำหรับในประเทศไทย ผู้ที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2523 จะได้รับการปลูกฝี ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันฝีดาษได้ด้วย แต่ผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้ว ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีป้องกันโรคเท่านั้น แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะรักษาโดยให้วัคซีนฝีดาษร่วมกับยาต้านไว้รัส brincidofovir หรือ cidofovir เพื่อให้อาการดีขึ้น

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง ?

โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง, โรคฝีดาษลิงเกิดจาก
Image Credit : freepik.com

เมื่อได้ยินชื่อแล้วหลายคนอาจจะสงสัยว่าโรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง เป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คนเพียงอย่างเดียวหรือไม่? ความจริงแล้วโรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 แบบด้วยกัน ทั้งติดต่อจากสัตว์สู่คนและติดต่อจากคนสู่คนด้วยกันเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคฝีดาษลิงเกิดขึ้นครั้งแรกที่ทวีปแอฟริกา โดยเป็นการติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเกิดจากการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ไม่ผ่านการปรุงสุก และเป็นโรคที่พบในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู และลิงบางชนิด แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ามีพาหะมาจากสัตว์ชนิดใดกันแน่

2. การติดต่อจากคนสู่คน

หลังจากที่มีการแพร่ระบาดโรคฝีดาษลิงจากสัตว์สู่คน โรคนี้ก็เริ่มแพร่กระจายจากคนสู่คนมากขึ้น โดยมีการแพร่เชื้อจากการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มาจากทางเดินหายใจของผู้ติดเชื้อ จากบาดแผล หรือจากสิ่งของที่ผู้ติดเชื้อสัมผัส แต่การติดเชื้อผ่านละอองฝอยอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าการสัมผัสแบบตัวต่อตัว จึงยิ่งเพิ่มโอกาสให้โรคนี้แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีโอกาสติดเชื้อจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกหรือสายสะดือได้ด้วย

โรคฝีดาษลิงติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ?

บางคนอาจจะยังมีข้อสงสัยว่า โรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง และสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่? เพราะจากเนื้อหาข่าวมักจะมีการระบุว่าพบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายรักร่วมเพศ และมักปรากฏรอยโรคบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าโรคนี้จัดอยู่ในกลุ่ม STDs คือโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว โรคฝีดาษลิงนั้นเป็นการติดต่อผ่านสารคัดหลั่งและจากการสัมผัส ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่โรคเฉพาะกลุ่มเท่านั้นค่ะ

แนวทางการป้องกันโรคฝีดาษลิง

  1. ไม่ควรสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ได้แก่ หนู กระรอก และ ลิง หากจำเป็นต้องมีการสัมผัสสัตว์ควรรีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
  2. ควรล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ หรือล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อยู่เสมอ
  3. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม แก้วน้ำ ชาม ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เป็นต้น
  4. ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ ควรกินอาหารที่ปรุงสุกและสดใหม่
  5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น บาดแผล เลือด น้ำเหลือง น้ำลายของสัตว์ เป็นต้น
  6. หากเดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง ควรเฝ้าสังเกตอาการตนเองให้ดีว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น มีไข้หรือมีตุ่มขึ้น และควรกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีอาการของโรคแต่อย่างใด ก่อนออกไปพบเจอผู้คน เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวได้

เกร็ดสุขภาพ : ถ้าพบว่ามีอาการติดเชื้อโรคฝีดาษลิง หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อโรคฝีดาษลิง ควรรีบแยกตนเองออกจากผู้อื่นทันทีเป็นเวลา 21 – 28 วัน หรือจนกว่าผื่นจะตกสะเก็ด และผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงก็ควรแยกตัวเองเพื่อสังเกตอาการเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้ฝีดาษลิงที่มีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่จะสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ แต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีโรคประจำตัวควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจเป็นอันตรายได้

อาจจะดูเหมือนว่าโรคฝีดาษลิงอยู่ใกล้ตัวเรามาก แต่เมื่อได้รู้แล้วว่าโรคฝีดาษลิงติดต่อยังไง และโรคฝีดาษลิงเกิดจากอะไร ก็สามารถหาแนวทางป้องกันตนเองได้มากขึ้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือการรักษาสุขอนามัยของตนเอง งดการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ที่สำคัญคือ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น หรือกินอาหารร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดโอกาสให้การติดเชื้อจากผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ รวมถึงมีวิธีการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น เพียงแค่นี้ก็ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิงแล้วค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : pidst.or.th, siphhospital.com, cdc.gov, who.int

Featured Image Credit : vecteezy.com/photohobo

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save