“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ชวนรู้จัก การฝังเข็มรักษาโรค อีกหนึ่งทางเลือกวิธีรักษาในทางการแพทย์
วิธีรักษาทางการแพทย์นั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ขี้นอยู่กับกลุ่มอาการความเจ็บป่วย และการฝังเข็มก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ได้ผลดี ถ้าพูดถึงการฝังเข็ม บางคนอาจจะนึกภาพเข็มขนาดเล็กปักอยู่ในผิวหนังของเราตามบริเวณต่างๆ บางคนอาจเคยได้ยินว่า การฝังเข็มสามารถช่วยแก้ความเจ็บป่วยต่างๆ ได้ ทั้งอาการปวดเมื่อย รวมถึงโรคระบบทางเดินอาหาร โรคทางสูตินารีเวช เป็นต้น แล้ว การฝังเข็มรักษาโรค อะไรได้บ้าง ? ใครบ้างที่ต้องรักษาด้วยการฝังเข็ม มีอันตรายและผลข้างเคียงมั้ย ไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
การฝังเข็มรักษาโรค คืออะไร ?
การฝังเข็ม เป็นหนึ่งในศาสตร์ของเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่ช่วยรักษาความเจ็บป่วยให้กับร่างกาย ในขณะที่เข็มผ่านผิวหนังเข้าไปจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย และเมื่อเข็มเข้าไปลึกถึงตำแหน่งของจุดฝังเข็มจะมีอาการปวดตื้อๆ หรือรู้สึกหน่วงๆ ซึ่งจะปวดไม่มาก อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนเข้าใจว่า การฝังเข็มมีอยู่แบบเดียว ซึ่งก็คือการฝังเข็มแบบจีน แต่ความจริงแล้ว การฝังเข็มรักษาโรคมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ การฝังเข็มแบบตะวันตกที่เรียกว่า Dry Needling และการฝังเข็มแบบจีน หรือ Acupuncture ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีความแตกต่างกัน มารู้จักการฝังเข็มแต่ละแบบให้มากขึ้นกันเลยค่ะ
การฝังเข็มแบบตะวันตก หรือ Dry Needling
การฝังเข็มแบบตะวันตก เป็นการฝังเข็มที่ช่วยคลายจุดปวดบริเวณกล้ามเนื้อ อันเนื่องมาจากอาการหดเกร็งแล้วทำให้รู้สึกปวด จนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก ทำให้เกิดจุดกดเจ็บ (Trigger Point) และมีอาการปวดในบริเวณนั้นๆ ซึ่งการฝังเข็มรักษาโรคแบบตะวันตก จะช่วยให้ปมกล้ามเนื้อที่หดเกร็งเป็นก้อนเกิดการกระตุกและคลายตัว ทำให้เกิดการเรียงตัวใหม่ของกล้ามเนื้อ และเลือดสามารถเข้าไปเลี้ยงในบริเวณดังกล่าวได้ ซึ่งมีวิธีการรักษาคือ แพทย์จะใช้เข็มสแตนเลสที่มีขนาดเล็กและมีความบางจิ้มเข้าไปในบริเวณกล้ามเนื้อตรงจุดกดเจ็บ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีการกระตุกและคลายตัว จากนั้นจะขยับเข็มไปบริเวณรอบๆ จนกว่ากล้ามเนื้อจะไม่มีการกระตุกอีก แล้วจึงดึงเข็มออก ใช้เวลาตำแหน่งละ 5 – 10 นาทีเท่านั้น
การฝังเข็มแบบตะวันตก รักษาโรคใดได้บ้าง ?
โดยส่วนใหญ่แล้ว การฝังเข็มแบบตะวันตกเป็นการฝังเข็มรักษาโรคในกลุ่ม Office Syndrome และกลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ ดังนี้
- กลุ่มอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลัง
- กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหดเกร็งจนเป็นปม (Myofascial Pain Syndrome)
- กลุ่มอาการปวดหลังเรื้อรัง หรือปวดหลังแบบเฉียบพลัน
- รองช้ำ หรือปวดตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ที่ปวดนานกว่า 6 เดือน
- ผู้ที่กินยาแก้ปวดเป็นประจำ หรือรักษาทางกายภาพบำบัดด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
เกร็ดสุขภาพ : หลังจากทำการฝังเข็มแบบตะวันตกแล้ว ในบางคนอาจรู้สึกปวด ปวดหน่วง ระบมหลังจากฝังเข็มประมาณ 1 – 4 วัน ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยการปะคบร้อน หรือกินยาลดการอักเสบที่แพทย์จัดไว้ให้ เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางคนอาจรู้สึกหน้ามืด คล้ายจะเป็นลม หรือมีรอยฟกช้ำ รวมถึงมีอาการอ่อนแรงในบริเวณกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ ด้วย
ข้อควรระวังสำหรับการฝังเข็มแบบตะวันตก
ถึงแม้การฝังเข็มรักษาโรคแบบตะวันตกจะทำได้อย่างปลอดภัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และช่วยรักษาอาการปวดเรื้อรังได้อย่างตรงจุด แต่ในคนบางกลุ่มก็ไม่เหมาะสำหรับการรักษาอาการปวดด้วยวิธีฝังเข็ม ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ คนที่มีภาวะเลือดออกง่าย หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เลือดแข็งตัวยาก รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาเป็นกรณีไปว่าสามารถทำการฝังเข็มแบบตะวันตกได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
ชวนรู้จัก การฝังเข็มแบบตะวันออก ศาสตร์ที่มีมานานกว่า 4,000 ปี
การฝังเข็มรักษาโรคแบบตะวันออก หรือการฝังเข็มแบบจีน (Acupuncture) เป็นหนึ่งในศาสตร์แพทย์แผนจีนที่มีมานานกว่า 4,000 ปี โดยมีวิธีการคือ ใช้เข็มขนาดเล็กฝังลงตามจุดฝังเข็มซึ่งเรียงอยู่บนแนวเส้นลมปราณ (Meridian System) เพื่อให้พลังงานและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายที่เสียสมดุลไปกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลอีกครั้ง มีความเชื่อว่าจะช่วยปรับพลังงานหยินและหยางในร่างกาย และช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ ซึ่งการฝังเข็มแบบตะวันออกนั้น จะใช้เวลาประมาณ 25 – 30 นาที ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองว่า การฝังเข็มแบบจีนเป็นศาสตร์ในการรักษาโรคแขนงหนึ่ง มีการศึกษาหลายๆ ชิ้นพบว่า การฝังเข็มแบบนี้ช่วยรักษาโรคบางกลุ่ม เช่น โรคกรดไหลย้อน ปวดหัว ปวดศีรษะไมเกรนได้ ซึ่งการรักษาด้วยการฝังเข็มให้ผลการรักษาดีเทียบเท่าหรือมากกว่าการใช้ยาโดยปลอดภัย
โรคที่สามารถรักษาได้โดยการฝังเข็มแบบตะวันออก
- กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อาการชามือชาเท้า หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอัมพาตใบหน้า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- กลุ่มอาการปวดที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ออฟฟิศซินโดรม
- กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัดเรื้อรัง โรคหอบหืด ภูมิแพ้
- กลุ่มโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและลำไส้ เช่น โรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ท้องผูก อาหารไม่ย่อย
- กลุ่มโรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ เบาหวาน
- กลุ่มโรคทางนรีเวช เช่น ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ อาการเข้าสู่วัยทองผู้ชาย – ผู้หญิง และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
- กลุ่มโรคอื่นๆ เช่น โรคเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
เกร็ดสุขภาพ : การฝังเข็มรักษาโรคแบบจีน มีฤทธิ์รักษาโรค 4 ประการ ได้แก่ แก้ไขการไหลเวียนของเลือดลมปราณที่ติดขัด ช่วยปรับสภาพความสมดุลการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้มีความสมดุล ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อกำจัดต้นเหตุที่เป็นอันตราย และช่วยบรรเทาความเจ็บปวด – ช่วยในการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ แพทย์แผนปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า การฝังเข็มมีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ และมีผลต่อการหลั่งสารหลายชนิดในร่างกาย ซึ่งช่วยระงับอาการปวดและลดการอักเสบได้ดี ปัจจุบันมีการใช้เครื่องอบความร้อนและเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าช่วยเสริมประสิทธิภาพในการฝังเข็มร่วมด้วย
ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับการฝังเข็มรักษาโรคแบบจีน
การฝังเข็มแบบจีน ไม่เหมาะสำหรับสตรีที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งและยังไม่ได้ทำการรักษา ผู้ที่มีหลอดเลือดผิดปกติ รวมถึงมีเลือดออกง่ายหรือเลือดหยุดไหลช้า ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ผู้ที่ป่วยด้วยโรคซึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และผู้ป่วยโรคหัวใจที่ใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบจีน เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองนะคะ
ตอนนี้ก็พอจะทราบกันแล้วว่า การฝังเข็มคืออะไร มีกี่แบบ และช่วยรักษาโรคใดได้บ้าง และสำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า จะเลือกการฝังเข็มแบบใดดี หากเป็นการฝังเข็มแบบตะวันตก จะเป็นการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นหลัก แต่การฝังเข็มแบบจีน จะรักษาโรคได้อย่างหลากหลายมากกว่า ซึ่งก่อนจะทำการฝังเข็มนั้น สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนทำการรักษาได้นะคะ นอกจากนี้ ขณะฝังเข็ม ควรอยู่ในท่าทางที่แพทย์กำหนด ไม่ควรขยับไปมาหรือเปลี่ยนท่าทางขณะทำหัตถการ และเมื่อทำการฝังเข็ม หากมีอาการผิดปกติใดๆ หรือรู้สึกหน้ามืดจะเป็นลม รู้สึกปวดมากๆ ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลให้ทราบทันที เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : rama.mahidol.ac.th, my.clevelandclinic.org, mayoclinic.org
Featured Image Credit : vecteezy.com/photohobo
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ