“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคกลัวการผูกมัด เป็นยังไง ? ชวนรู้จัก Commitment Phobia ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์
ถ้ามีใครมาถามเราว่า “มีแฟนหรือยัง ?” หรือ “อยู่ในความสัมพันธ์หรือเปล่า ?” เราก็อาจจะตอบไปว่า “มีคนคุย” หรือ “กำลังคุยๆ อยู่” บางคนอาจจะถูกเพื่อนแซวว่า ก็เห็นคุยมานานหลายเดือนแล้ว ความสัมพันธ์ยังไม่คืบหน้าเสียที หรือบางคนก็มีคนคุยอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ตกลงปลงใจกับใครสักที เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าเรารักการมีอิสระ ยังไม่เจอคนที่ใช่ หวงความโสด ไม่ชอบผูกมัดกับใคร และถ้ามีคนมาขอเป็นแฟนหรือขอมี Commitment ด้วย ก็จะถอยห่างออกจากความสัมพันธ์ทันที เคยสงสัยตัวเองไหมคะว่าทำไมเราเป็นแบบนี้เสมอๆ นั่นอาจเป็นเพราะเราเป็น โรคกลัวการผูกมัด ก็เป็นได้ โรคนี้คืออะไร ? ทำไมเราถึงกลัวการผูกมัด มาหาคำตอบกันค่ะ
ชวนรู้จัก โรคกลัวการผูกมัด หรือ Commitment Phobia รู้สึกดี แต่ไม่อยากผูกพัน แบบนั้นมีด้วยหรือ ?
ถ้าเราชอบใครสักคน หรือรู้สึกถูกใจใครสักคน เมื่อได้ทำความรู้จักกันไปเรื่อยๆ และถ้ารู้สึกว่าเรากับเขาเข้ากันได้ดี ก็ต้องอยากพัฒนาความสัมพันธ์ มีการตกลงปลงใจคบหากันเป็นแฟน เพื่อก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ขั้นต่อไป แต่สำหรับบางคนแล้ว ชอบที่จะได้คุยกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้เป็นอะไรกัน และถ้าโดนขอเป็นแฟน หรืออีกฝ่ายอยากขยับความสัมพันธ์ อาจมีท่าทีไม่พอใจ ต่อต้าน หรือตัดขาดจากคนๆ นั้นไปเลย ถ้าใครเป็นแบบนี้เสมอๆ อาจมีภาวะของ Commitment Phobia คือ กลัวการผูกมัดในระดับที่เป็น Phobia ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะกลัวการตกลงปลงใจ ไม่ชอบการผูกมัดกับใคร ไม่อยากอยู่ในความสัมพันธ์ ไม่อยากมีชีวิตคู่ เมื่อจะต้องมี Commitment หรือมีการผูกมัดกับใคร จะรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล อึดอัด เครียด กดดัน และตีตัวออกห่างในที่สุด
เกร็ดสุขภาพ : โรคกลัวการผูกมัด สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย โดยที่ไม่ขึ้นกับรูปร่างหน้าตา บุคลิกภายนอกแต่อย่างใด บางคนอาจจะเข้าใจไปว่าคนที่มีหน้าตาดีมักจะกลัวการผูกมัด หรือจะเกิดขึ้นเฉพาะในผู้ชายเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นโรคที่กลัวการตกลงใจ กลัวการสัญญาผูกมัดในรูปแบบต่างๆ เช่น การคบกันในสถานะแฟน กลัวการหมั้นหมาย กลัวการแต่งงาน เป็นต้น
สัญญาณที่บ่งบอกว่า เราอาจเป็นโรคกลัวการผูกมัด
- ไม่ให้คำสัญญา ไม่รับปากอะไร เลี่ยงการใช้คำที่แสดงถึงการให้คำมั่นสัญญา เช่น คำว่าแน่นอน คำว่ารับปาก หรือสัญญา เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการตอบตกลง ใช้คำที่แสดงถึงความไม่แน่นอน แสงถึงความไม่มั่นใจ เช่น ยังไม่รู้ เอาไว้ก่อน ดูก่อน ขอคิดดูก่อน เป็นต้น
- คาดเดาอะไรไม่ได้ มีความคิดที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- ไม่เคยบอกรักอีกฝ่าย แม้ว่าอีกฝ่ายจะบอกรักก็ทำเป็นไม่สนใจ หรือทำเป็นไม่ได้ยิน ปล่อยผ่าน
- รู้สึกอึดอัด ไม่ชอบ ไม่เต็มใจ เครียด วิตกกังวล และรู้สึกกดดันเมื่อต้องพูดถึงอนาคตหรือสถานการณ์ที่สื่อถึงการพัฒนาความสัมพันธ์
- ไม่พูดถึงสถานะความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรอบตัวกับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว
- ชอบอยู่กับตัวเอง มีเพื่อนสนิทน้อย ไม่ค่อยมีสังคมกว้างนัก เพราะไม่ไว้ใจคนอื่น
- รักษาระยะห่างในความสัมพันธ์ ไม่ชัดเจนในความสัมพันธ์ อยากจะคุยไปเรื่อยๆ มากกว่าที่จะพัฒนาความสัมพันธ์
- เมื่ออีกฝ่ายต้องการจริงจังในความสัมพันธ์ ต้องการเป็นแฟนกัน ต้องการผูกมัดกัน คนที่เป็นโรคกลัวการผูกมัดจะเริ่มตีตัวออกห่าง หรือตัดความสัมพันธ์ไปเลย
- ในบางคนอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย เมื่อคิดว่าตัวเองมีความสัมพันธ์ที่จริงจังกับคนอื่น ก็อาจรู้สึกกลัว ตัวสั่น เหงื่อออก หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ หายใจถี่ ปวดท้อง เวียนหัว เป็นต้น
- แม้จะเคยตกลงปลงใจกับใครหรือคบใครเป็นแฟน ก็มีความสัมพันธ์ได้ไม่นาน จะต้องเลิกราภายในระยะเวลาอันรวดเร็วทุกครั้ง
สาเหตุของโรคกลัวการผูกมัด คืออะไร ?
- เติบโตในครอบครัวที่มีการแยกทางกันหรือมีการหย่าร้างกัน และอาจมี Trauma ในวัยเด็ก กลัวว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับตัวเอง จึงหลีกเลี่ยงการมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง
- มีประสบการณ์ความรักความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอดีต เช่น ถูกหลอก ถูกหักหลัง ถูกคนรักทอดทิ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้กลัวการมีความสัมพันธ์กับใคร
- โรคกลัวการผูกมัด อาจเกิดจากการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็ก ในคนที่มีบุคลิกภาพแบบเฉยชา หรือ Avoidant attachment ตามทฤษฎีความสัมพันธ์ Attachment Theory จะมีบุคลิกภาพแบบหมางเมินกับคนรัก ไม่ชอบความใกล้ชิด พยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกลึกซึ้งกับผู้อื่น ไม่ชอบพึ่งพาใคร เพราะในวัยเด็กไม่ได้รับความรักความเอาใจใส่จากคนเลี้ยงดูอย่างเพียงพอ หรือต้องอยู่คนเดียวบ่อยๆ ไม่ได้ใกล้ชิดกับพ่อแม่ ทำให้เป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว รักอิสระ และไม่ชอบมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง
- เป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองดีไม่พอ เก่งไม่พอ เช่น เป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือ Imposter Syndrome เมื่อเริ่มทำความรู้จักกับใคร แม้จะชอบคนๆ นั้นก็ยังคิดว่าตัวเองดีไม่พอ เก่งไม่พอ รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมกับคนๆ นั้น ทำให้กลัวการมีความสัมพันธ์แบบผูกมัดได้
เกร็ดสุขภาพ : ในความสัมพันธ์ หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกลัวการผูกมัด ก็ทำให้ยากต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบจริงจังมั่นคงและยืนยาว หากแต่ละฝ่ายมีความต้องการไม่ตรงกัน เช่น อีกฝ่ายหนึ่งอยากจริงจังในความสัมพันธ์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลัวการผูกมัด ก็อาจทำให้เกิดการขัดแย้งกัน ไม่เข้าใจกัน และมีปัญหาในความสัมพันธ์ได้ และยังส่งผลต่อด้านอื่นๆ ในชีวิตด้วย เช่น กลัวข้อผูกมัด ข้อสัญญาในการทำงาน ทำให้ปฏิเสธงานนั้นๆ ไป ซึ่งก็อาจจะเป็นการตัดโอกาสด้านการทำงาน ส่งผลตอความมั่นคงในชีวิต ทั้งนี้ ความไม่มั่นคงไม่แน่นอนในตัวเอง ก็อาจกระทบต่อเป้าหมายชีวิตได้ด้วย
โรคกลัวการผูกมัด รักษาได้หรือไม่ ?
โรคที่กลัวการผูกมัด หรือ Commitment Phobia คือ โรคที่สามารถรักษาได้ โดยการรักษานั้นก็จะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคลไป หากคนนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มี Trauma ในใจ หรือเป็นโรคกลัวความรักร่วมด้วย ก็อาจจะต้องรักษาเป็นขั้นเป็นตอนไป โดยการรักษาจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อขจัดความกลัว สร้างทัศนคติที่ดีต่อความผูกพันมากขึ้น ทำได้โดยการเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เพื่อให้ผู้เข้ารับคำปรึกษาาเข้าใจตัวเองมากขึ้น และปรับเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของความสัมพันธ์ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ปรับตัวอย่างไร เมื่อกลัวการผูกมัด แต่อยากไปต่อในความสัมพันธ์
สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองเป็นโรคกลัวการผูกมัด แต่ก็อยากมีความสัมพันธ์ที่จริงจังดูบ้างเหมือนกัน ควรทำอย่างไรดี ? นอกจากการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดแล้ว เราสามารถปรับตัวในความสัมพันธ์ได้ดังนี้ค่ะ
1. พูดคุยกับอีกฝ่ายตรงๆ
ถ้าคุยกันไปสักระยะหนึ่งแล้วอีกฝ่ายเริ่มจริงจังในความสัมพันธ์ ขอเราเป็นแฟน แทนที่จะทำตัวเหินห่างหรือตัดขาดความสัมพันธืไปเลย ให้ลองเปิดใจกับอีกฝ่ายดูว่า เรารู้สึกอย่างไร เช่น รู้สึกเป็นกังวลหรือไม่สบายใจกับการมีข้อผูกมัด แต่ก็ยังอยากอยู่ในความสัมพันธ์อยู่ จะสามารถทำยังไงได้บ้างหรือหาจุดตรงกลางระหว่างกัน เพื่อให้คงความสัมพันธ์ต่อไปได้ หรือขอเวลาให้เราปรับตัวกับการมีความสัมพันธ์ที่จริงจังกว่าเดิม เป็นต้น
2. ใช้เวลาร่วมกันให้มากขึ้น
สำหรับใครที่กลัวการผูกมัด หรือกลัวความผูกพัน แต่ก็อยากเอาชนะความกลัวหรืออยากมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง ลองปรับตัวด้วยการใช้เวลาอยู่กับอีกฝ่ายมากขึ้น เพื่อให้เกิดความเคยชินของการมีอีกคนหนึ่งอยู่ในชีวิต เช่น ไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยขึ้น มีความห่วงใยต่อกัน พูดคุยกันทุกวัน เพื่อให้เกิดความผูกพันทีละน้อย และยังได้ศึกษาดูใจกันมากขึ้นด้วย
3. เพิ่มข้อตกลงในความสัมพันธ์ให้มากขึ้น
เมื่อเราเปิดใจพูดคุยกับอีกฝ่ายและได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นแล้ว หากแน่ใจแล้วว่าตัวเองยังอยากอยู่ในความสัมพันธ์นี้ต่อไป และอยากมีความสัมพันธ์ระยะยาว แม้จะกลัวการผูกมัดอยู่ ก็สามารถฝึกเปลี่ยนนิสัยตัวเองได้ด้วยการเพิ่มข้อตกลงเล็กๆ น้อยๆ ในความสัมพันธ์ เช่น จะไปเที่ยวด้วยกันทุกวันหยุด จะนัดเจอกันในวันพิเศษ จะบอกคนใกล้ชิดว่ากำลังอยู่ในความสัมพันธ์ หรือพาคู่ของเราไปเจอเพื่อนสนิท เป็นต้น เพราะคนที่กลัวการผูกมัดมักจะหลีกเลี่ยงการทำข้อตกลงหรือการตกปากรับคำ และการมีสัญญาใดๆ ซึ่งการกระทำที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในส่วนนี้ได้
4. รับฟังกันและกัน
กุญแจสำคัญในทุกๆ ความสัมพันธ์ก็คือ การรับฟังกันและกัน และเคารพในขอบเขตของแต่ละคน บางการกระทำของเรานั้นก็อาจทำให้คู่ของเรารู้สึกว่าโดนทอดทิ้ง หรือถูกหมางเมิน อาจทำให้เกิดความรู้สึกน้อยใจหรือไม่สบายใจได้ ถ้าเราแคร์ความรู้สึกคู่ของเรา ก็ควรถามไถ่บ้างว่าเขารู้สึกอย่างไร อยากให้เราทำอะไรให้บ้าง ซึ่งเราก็ต้องบอกไปตามตรงว่าเราสามารถปรับตัวอะไรได้บ้าง เช่น เราอาจจะไม่สะดวกให้โทรหาทุกชั่วโมง หรือมาอยู่ด้วยกันทุกวันเพราะทำให้เรารู้สึกอึดอัด แต่คุยกันได้ทุกคืน หรือเจอกันได้เป็นบางวัน เป็นต้น การพูดคุยกันและรับฟังกันและกัน พยายามปรับตัวเข้าหากันทั้งสองฝ่าย จะช่วยให้ประคับประคองความสัมพันธ์ไปได้ค่ะ
แม้โรคที่กลัวการผูกมัดจะไม่ได้ส่งผลร้ายแรงในด้านความเจ็บป่วยทางกาย แต่ภาวะกลัวการผูกมัด หรือ Commitment Phobia คือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจในความสัมพันธ์เป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกทุกข์ใจในความสัมพันธ์ คนที่กลัวการผูกมัดก็รู้สึกอึดอัด หวาดกลัว เครียด กดดัน และไม่มีความสุข ในทางกลับกัน คนที่ต้องการผูกมัดก็อาจมีความรู้สึกไม่มั่นคงในจิตใจ หวาดระแวง และไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์นี้จะได้ไปต่อหรือไม่ หรืออาจมีการโทษตัวเองว่าไม่ดีพอ หรือไม่มีค่าพอกับอีกฝ่ายหรือเปล่า ทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพใจได้เช่นกัน ดังนั้น การพูดคุยทำความเข้าใจกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ประกอบกับการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด ก็จะช่วยให้เรามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนความคิดทัศนคติที่มีต่อความสัมพันธ์แบบผูกมัดในทิศทางที่ดีขึ้นค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : webmd.com, my.clevelandclinic.org, psychcentral.com
Featured Image Credit : vecteezy.com/F F
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ