X

ยาฝังคุมกำเนิด อันตรายหรือไม่ มารู้จักให้มากขึ้นกัน!

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ยาฝังคุมกำเนิด อันตรายหรือไม่ มารู้จักให้มากขึ้นกัน!

การคุมกำเนิด เป็นวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์ ในกรณีที่ไม่อยากจะมีบุตรหรือยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีการคุมกำเนิดที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันดีก็คือ การสวมถุงยางอนามัย การกินยาคุมกำเนิด หรือการฉีดยาคุมกำเนิดทุกๆ 3 เดือน แต่สำหรับสาวๆ บางคนอาจจะไม่สะดวกกินยาเพราะขี้ลืม เนื่องจากต้องรับประทานทุกวันเพื่อให้ได้ผล และการกินยาคุมกำเนิดก็มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนมากมาย ทั้งนี้ มีวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ ยาฝังคุมกำเนิด อีกหนึ่งวิธี ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง สะดวก ปลอดภัย ปัจจุบันก็ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย มาทำความรู้จักการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝังให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

ชวนรู้จัก ยาฝังคุมกำเนิด อีกหนึ่งวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัย

ยาฝังคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด คือ
Image Credit : mayoclinic.org

ตามหลักแล้ว การคุมกำเนิดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว และการคุมกำเนิดแบบถาวร ซึ่งการคุมกำเนิดแบบถาวร ก็คือการทำหมัน ส่วนการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวก็มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัยคุมกำเนิด การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฉีด และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง ที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือการคุมกำเนิดด้วยวิธีกินยา ส่วนการคุมกำเนิดชนิดใช้ยาฝังนั้นไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้วิธีนี้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสะดวก

ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นยาคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์นาน ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1983 ตัวยาสำคัญเป็นฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (Progestins) ซึ่งโพรเจสตินเป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนในร่างกาย โดยตัวยาที่ใช้กันมากคือ เลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) และ เอโทโนเจสเตรล (Etonogestrel) ยาคุมกำเนิดชนิดฝังจะมีลักษณะเป็นแท่งยาวขนาดเล็ก มีขนาดประมาณเท่าก้านไม้ขีด ใช้ฝังใต้ผิวหนังบริเวณด้านในของแขนท่อนบนข้างที่ไม่ถนัด โดยแท่งยาคุมกำเนิดจะปล่อยตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ซึ่งสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 3 – 5 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของยา ทั้งนี้ ยาฝังคุมกำเนิด คือวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงมาก โดยมีโอกาสล้มเหลวที่จะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ 0.05 – 0.1% เท่านั้น

เกร็ดสุขภาพ : ขั้นตอนในการฝังยาคุมกำเนิดนั้นใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 3 – 10 นาที เท่านั้น โดยทำการฝังแท่งยาตรงใต้ชั้นผิวหนัง บริเวณใต้ท้องแขนด้านใน ปัจจุบันมีทั้งแบบ 1 แท่ง และ 2 แท่ง ซึ่งมักจะแนะนำให้ฝังยาภายใน 7 วันแรกของการมีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝัง ทั้งนี้ จะต้องฝังด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญในการทำหัตถการเท่านั้นไม่สามารถฝังหรือถอดโดยแพทย์ทั่วไปได้

วิธีการทำงานของยาคุมกำเนิดชนิดฝัง สามารถคุมกำเนิดได้อย่างไร มาดูกัน

ยาฝังคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด คือ
Image Credit : fpnsw.org.au

อย่างที่กล่าวไปว่า ฮอร์โมนโพรเจสตินที่อยู่ในแท่งยาจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ จะไปกดการทำงานของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปทาลามัสและต่อมใต้สมอง ยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ ส่งผลทำให้ไข่ไม่ตก เมื่อไม่มีไข่ตก ก็ไม่สามารถเกิดการปฏิสนธิได้ ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้นั่นเองค่ะ และฮอร์โมนโพรเจสตินที่ปล่อยออกมา จะทำให้เมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น มีปริมาณน้อย ส่งผลให้อสุจิว่ายผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก นอกจากนี้ ยังทำให้เยื่อบุผนังโพรงมดลูกบาง ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน แม้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วก็ไม่สามารถเกาะผนังมดลูกได้ดี จึงไม่สามารถเติบโตเป็นตัวอ่อนได้ จึงช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้อีกทาง

เกร็ดสุขภาพ : ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง สามารถใช้ได้กับผู้หญิงทุกคนที่ต้องการจะคุมกำเนิดในระยะยาว โดยเฉพาะผู้ที่มีบุตรมาแล้ว 1 – 2 คน แต่ในอนาคตวางแผนจะมีบุตรอีก ซึ่งไม่อยากรับประทานยาคุมกำเนิดหรือยังไม่ต้องการทำหมัน ก็สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ยังได้ผลแม้ในผู้ที่มีน้ำหนักมาก รวมถึงผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็สามารถใช้ได้

วิธีฝังยาคุมกำเนิด ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

บางคนอาจจะคิดว่า ยาคุมกำเนิดชนิดฝังทำได้ยาก เพราะต้องฝังเข้าไปในร่างกาย ความจริงแล้ว วิธีการไม่ยุ่งยากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และจะต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น รับรองว่าปลอดภัยแน่นอนค่ะ ซึ่งทำได้ดังนี้

  1. ในขั้นตอนแรก แพทย์จะทำรอยขนาดเล็กไว้บนท้องแขนด้านใน ข้างที่ต้องการจะฝังยา
  2. ทำความสะอาดผิวหนังด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  3. ทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ ตรงบริเวณใต้ท้องแขนตำแหน่งที่จะฝังยา
  4. แพทย์จะใช้เข็มเปิดแผลที่ท้องแขน ขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร และสอดแท่งตัวนำหลอดยาซึ่งมียาบรรจุอยู่ข้างใน
  5. เมื่อหลอดยาเข้าไปใต้ผิวหนังเรียบร้อยแล้วก็จะทำการถอนแท่งนำยาและเข็มออกมา จากนั้นจะปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ตามด้วยผ้าพันแผล พันทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมงเพื่อป้องกันเลือดออก
  6. แพทย์จะทำการตรวจสอบตำแหน่งยาโดยการสัมผัสบริเวณที่ฝังยา หรืออาจจะทำการอัลตราซาวด์ – เอกซเรย์เพื่อยืนยันว่ายาฝังคุมกำเนิดได้ถูกฝังเอาไว้อย่างถูกต้อง
  7. แพทย์จะให้ยาแก้ปวดกลับไปรับประทานหากมีอาการปวดแผล และนัดมาดูแผลอีกครั้งใน 7 วัน

ข้อดีของการใช้ยาฝังคุมกำเนิด คืออะไร ?

ยาฝังคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด คือ
Image Credit : vecteezy.com
  • มีประสิทธิภาพสูง มีอัตราความล้มเหลวในการคุมกำเนิดไม่เกิน 0.1%
  • สะดวก ไม่ต้องนับวันตกไข่ ไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน และไม่ต้องฉีดยาทุก 3 เดือน (อ่านเพิ่มเติม ยาคุมกำเนิดมีกี่แบบ)
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว 
  • ไม่มีฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน จึงปลอดภัยจากผลข้างเคียงของเอสโตรเจน  เช่น เป็นฝ้า คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น
  • มีข้อจำกัดหรือข้อห้ามใช้น้อย ใช้ได้กับกลุ่มคนหลากหลาย รวมถึงแม่ที่ให้นมลูก และผู้ที่ไม่สามารถใช้ยาประเภทเอสโตรเจนได้ เป็นต้น
  • มีส่วนช่วยลดอาการปวดประจำเดือน และลดภาวะประจำเดือนมามาก 
  • ลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ และภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน เพราะยาฝังคุมกำเนิดจะทำให้เมือกที่คอมดลูกข้นขึ้น จึงช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเข้าสู่มดลูกได้

ผลข้างเคียงของการใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ยาฝังคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด คือ
Image Credit : vecteezy.com
  • ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติในปีแรกๆ ซึ่งมีทั้งมาไม่ตรงเวลา มามากขึ้น มาน้อยลง หรืออาจไม่มีประจำเดือนเลย บางคนอาจมาแบบไม่สม่ำเสมอหรือมากระปริบกระปรอย แต่เมื่อหนึ่งปีผ่านไป อาการจะดีขึ้น
  • อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการฝังยา เช่น คลำเจอแท่งยาผิดตำแหน่ง พบก้อนเลือดคั่งบริเวณที่ฝังยา เกิดการติดเชื้อ เจ็บ คัน ระคายเคือง มีแผลเป็น เกิดพังผืดรอบแท่งยา เป็นต้น แต่เป็นผลข้างเคียงที่พบได้น้อย
  • อาจส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน มีภาวะซึมเศร้า รบกวนความรู้สึกทางเพศ 
  • มีอาการเจ็บคัดเต้านม ช่องคลอดอักเสบและแห้ง น้ำหนักขึ้น 
  • หากฝังไม่ถูกวิธี อาจเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและเส้นประสาทได้  
  • หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น จะมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากกว่าปกติ

ข้อห้ามในการให้ยาฝังคุมกำเนิด

ถึงแม้ว่ายาคุมกำเนิดชนิดฝังจะสามารถใช้ได้หลากหลาย แต่ก็มีข้อห้ามใช้กับบุคคลบางกลุ่มเช่นกัน ได้แก่ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังอยู่ในระยะมะเร็งเต้านมต่างๆ หรือมีประวัติว่าเคยเป็น และผู้ที่มีเนื้องอกชนิดไวต่อโพรเจสเตอโรนหรือฮอร์โมนที่มีฤทธิ์คล้ายโพรเจสเตอโรน ผู้ที่เป็นโรคตับรุนแรง เป็นเนื้องอกในตับ มะเร็งตับ ผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงผู้ที่มีการอักเสบของหลอดเลือดดำร่วมกับลิ่มเลือด หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด ซึ่งจะไม่สามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฝังได้ เพราะอาจะเป็นอันตรายต่อร่างกายค่ะ

ยาฝังคุมกำเนิด คือ วิธีการคุมกำเนิดชั่วคราวอีกรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมาก มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์น้อยมากๆ แต่ทำได้ตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถเลือกวิธีการคุมกำเนิดได้ด้วยตัวเอง และถ้ามีอายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือ STDs ได้ เพื่อความปลอดภัย ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับการใช้ยาคุมกำเนิด ก็จะทำให้ไม่เสี่ยงทั้งตั้งครรภ์ และไม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อด้วยนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bangkokbiznews.com, sikarin.com, pharmacy.mahidol.ac.th, mayoclinic.org, nhs.uk

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save