X

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน มีอะไรบ้าง ? ฉีดแล้วป้องกันได้จริงหรือ ?! ชวนทำความรู้จักกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน มีอะไรบ้าง ? ฉีดแล้วป้องกันได้จริงหรือ ?! ชวนทำความรู้จักกัน !

มะเร็ง เป็นโรคร้ายแรงที่สร้างความเจ็บปวดทั้งทางกายและใจให้กับผู้ป่วย และยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ซึ่งถ้าหากตรวจเจอได้ในระยะเริ่มต้นก็อาจสามารถรักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้เกิดโรคนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด นอกจากจะดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอแล้ว การฉีดวัคซีน ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้บางชนิด ซึ่งก็คือมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงไปฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกกันมากขึ้น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรค และ มะเร็งปากมดลูก วัคซีน มีอะไรบ้าง มีกี่ชนิด ต้องฉีดตอนอายุเท่าไหร่ ฉีดได้ที่ไหนบ้าง ใครที่กำลังหาข้อมูลอยู่ ก็ไปอ่านเพิ่มเติมกันได้เลยค่ะ

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน มีอะไรบ้าง มารู้จักให้มากขึ้นกัน

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน, วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์
Image Credit : freepik.com

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศหญิง โดยพบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม (สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2564) ซึ่งมะเร็งปากมดลูก ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธ์ุเหมือนกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ แต่มาจากเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papillomavirus โดยการติดเชื้อ HPV จะพบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงช่วงอายุ 18 – 28 ปี หรือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่เชื้อไวรัสชนิดนี้ใช้เวลาฟักตัวเป็นเวลานานเกือบ 10 ปีกว่าจะแสดงอาการของโรค ซึ่งการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจภายในก็จะช่วยให้ตรวจเจอเชื้อได้และรักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ยังมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อ HPV ด้วยการฉีดวัคซีน หรือรู้จักกันดีว่าเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกนั่นเอง แล้ววัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีกี่แบบ มีอะไรบ้าง ฉีดได้ตอนไหน ไปดูกันเลยค่ะ

มะเร็งปากมดลูก วัคซีนมีกี่แบบ มีกี่ชนิด ?

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน, วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์
Image Credit : freepik.com

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส HPV จะทำให้เซลล์ปากมดลูกมีการอักเสบเรื้อรัง และพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด นอกจากจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนักในผู้ชายได้อีกด้วย โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งปากมดลูก วัคซีนที่สามารถป้องกันได้ จะมีอยู่ 3 ชนิดคือ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 2 สายพันธ์ุ 4 สายพันธ์ุ และวัคซีนมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 2 สายพันธ์ุ  : เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธ์ุที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก 
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 4 สายพันธ์ุ : เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 4 สายพันธ์ุคือ สายพันธ์ุ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งเชื้อสายพันธ์ุที่ 6 และ 11 เป็นสายพันธ์ุที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ การฉีดวัคซีนชนิด 4 สายพันธ์ุจะช่วยป้องกันการเกิดหูดหงอนไก่ได้ด้วย 
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ชนิด 9 สายพันธุ์ : เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 9 สายพันธ์ุคือ สายพันธ์ุ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 จากการศึกษาสาเหตุของการเกิดโรค และมะเร็งจากเชื้อไวรัส HPV ต่างๆ พบว่า วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์ ครอบคลุมสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 90% และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดรอยโรคก่อนเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งผนังช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์  31, 33, 45, 52 และ 58 ได้ถึง 97% ในกรณีที่ไม่ได้รับเชื้อ HPV มาก่อน

ทั้งนี้ ผู้ชายก็สามารถรับวัคซีน HPV ได้ เพราะสามารถป้องกันการเกิดโรคหูดหงอนไก่ โรคมะเร็งทวารหนัก มะเร็งที่ช่องปากและคอได้ด้วย เนื่องจากเชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ในทุกช่องทาง ทั้งทางอวัยวะเพศ ทางปาก และทางทวารหนัก ซึ่งถ้าหากไม่ป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย ก็อาจเสี่ยงติดเชื้อ HPV รวมถึงโรค STDs คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ด้วย

เกร็ดสุขภาพ : มะเร็งปากมดลูก วัคซีนแต่ละแบบจะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ 70% เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของวัคซีน ควรได้รับวัคซีนในวัยที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ุมาก่อน อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ก็สามารถรับวัคซีนได้ ซึ่งฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป (อายุที่เหมาะสมคือ 11 – 12 ปี) โดยประสิทธิภาพของวัคซีนจะสามารถป้องกันได้สูงสุดหากฉีดในช่วงอายุ 9 – 26 ปี และฉีดได้แม้จะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อได้บางสายพันธ์ุ ซึ่งยังมีเชื้อ HPV สายพันธ์ุอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้อีกทางหนึ่ง

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน มีวิธีการฉีดอย่างไร

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน, วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์
Image Credit : freepik.com

มะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันมะเร็งชนิดนี้ จะฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน หากฉีดตั้งแต่อายุ 9 – 14 ปี จะฉีดเป็นจำนวน 2 เข็มเท่านั้น โดยเว้นระยะห่างการฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ประมาณ 6 เดือน และถ้าหากมีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป จะต้องได้รับวัคซีนเป็นจำนวน 3 เข็ม โดยวัคซีนเข็มที่ 2 จะห่างจากการรับวัคซีนเข็มแรก 1 – 2 เดือน และวัคซีนเข็มที่ 3 จะห่างจากการรับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ ควรรับวีคซีนให้ครบโดสภายใน 1 ปี เผื่อประสิทธิภาพในการป้องกันสูงสุด

เกร็ดสุขภาพ : แม้จะมีแฟนเพียงคนเดียว หรือมีคู่นอนเพียงคนเดียว ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส HPV เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถติดต่อได้ง่าย ทั้งยังไม่แสดงอาการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าแฟนหรือคู่นอนของเราอาจเคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน การฉีดวัคซีนป้องกันจึงมีความปลอดภัยมากกว่า ทั้งนี้ แม้เคยได้รับเชื้อ HPV มาแล้ว การฉีดวัคซีนก็ยังสามารถป้องกันเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่เคยติดมาก่อนได้ ทั้งยังป้องกันการได้รับเชื้อซ้ำอีกด้วย

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เหมือนกับการได้รับวัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น มีอาการปวด บวม แดงเล็กน้อยบริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำในบางราย หลังฉีดวัคซีนแนะนำให้นั่งพักสังเกตอาการประมาณ 30 นาที ก่อนกลับบ้าน เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งก่อนจะไปฉีดวัคซีนก็ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อเตรียมร่างกายให้แข็งแรงก่อนได้รับวัคซีน หากป่วยหรือมีไข้ควรพักรักษาให้หายดีก่อน และถ้าหากมีโรคประจำตัวหรือแพ้ยาชนิดใด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนรับวัคซีนทุกครั้งค่ะ

ทั้งนี้ หากมีการตั้งครรภ์ ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก จนกว่าจะคลอดบุตรเรียบร้อย กรณีที่มีการตั้งครรภ์ในระหว่างการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 ควรหยุดการฉีดวัคซีนไปก่อน และกลับมาฉีดเข็มต่อไปหลักจากคลอดบุตรแล้วโดยที่ไม่ต้องเริ่มต้นฉีดเข็มแรกใหม่ สำหรับผู้ที่อยู่ในระยะให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้ค่ะ

มะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกัน ราคาเท่าไหร่ ฉีดได้ที่ไหนบ้าง ?

มะเร็งปากมดลูก วัคซีน, วัคซีนมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์
Image Credit : freepik.com

ค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนนั้น มีอยู่หลายราคาด้วยกัน ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนที่ต้องการฉีด ว่าต้องการฉีดชนิด 2 สายพันธ์ุ 4 สายพันธ์ุ หรือ 9 สายพันธ์ุ และขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่ต้องการไปใช้บริการ โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าใช้จ่ายจะเริ่มตั้งแต่ 6,000 บาท สำหรับ 2 สายพันธ์ุ ไปจนถึงประมาณเกือบ 20,000 บาท สำหรับวัคซีนมะเร็งปากมดลูก 9 สายพันธุ์ ปัจจุบันโรงพยาบาลและสถานพยาบาลขนาดใหญ่หลายๆ แห่งมีบริการฉีกวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกอย่างแพร่หลาย หากใครสนใจ ก็สามารถสอบถามข้อมูลที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้เลยค่ะ

สำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลการฉีดวัคซีนอยู่ มะเร็งปากมดลูก วัคซีนมีกี่แบบ มีกี่ชนิด จะต้องฉีดแบบไหน ฉีดได้เมื่อไหร่ ก็คงจะได้ข้อมูลกันไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอย่างที่กล่าวไปว่า มะเร็งปากมดลูกนั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV หากได้รับวัคซีนป้องกันก่อน ก็จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ และช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ได้ ซึ่งสามารถฉีดได้เลยหากมีอายุมากกว่า 9 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเพศชายหรือเพศหญิง ทั้งนี้ หากมีอายุมากกว่า 26 ปีก็ยังสามารถฉีดได้ แม้จะเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ก็ตาม แนะนำว่าให้ฉีดป้องกันเอาไว้ก่อนนะคะ นอกจากนี้ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยด้วยการสวมถุงยางอนามัย และรักษาความสะอาด ดูแลสุขอนามัยของระบบสืบพันธ์ุอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อ HPV รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อย่าง HIV อีกด้วยค่ะ (อ่านเพิ่มเติม โรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด)

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bpksamutprakan.com, samitivejhospitals.com, nci.go.th, bangkokhospital.com, plannedparenthood.org, cdc.gov

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save