X

โรค 4s คืออะไร ? ชวนระวัง โรคผิวหนังในเด็ก ที่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยมากกว่าที่คิด !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรค 4s คืออะไร ? ชวนระวัง โรคผิวหนังในเด็ก ที่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยมากกว่าที่คิด !

ใครที่มีลูกน้อยจะเข้าใจดีว่าเด็กอ่อนนั้นมักจะป่วยได้บ่อย เนื่องจากเด็กๆ ยังมีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ซึ่งเด็กๆ จะต้องฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับการป้องกันอาการป่วยไข้ต่างๆ ทั้งนี้ นอกจากการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไปอย่างอาการไข้หวัด ปวดท้อง ท้องเสียแล้ว โรคผิวหนังก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กเช่นเดียวกัน ที่รู้จักกันดีก็คือโรคมือเท้าปาก ไม่มีไข้ ทั้งนี้ ยังมี โรคผิวหนังในเด็ก อย่างโรค Staphylococcal Scalded Skin Syndrome ที่มีการระบาดมากขึ้นในปัจจุบัน มาทำความรู้จักโรคผิวหนังที่เกิดกับเด็กโรคนี้กันให้มากขึ้น รวมถึงโรคผิวหนังอื่นๆ เพื่อที่จะได้มีแนวทางป้องกันและรักษาได้ทันท่วงที ไม่ให้ลูกน้อยอาการทรุดหนักจนเป็นอันตรายร้ายแรงได้

ชวนรู้จัก Staphylococcal Scalded Skin Syndrome (SSSS) โรคผิวหนังในเด็ก ที่ไม่ควรมองข้าม

โรคผิวหนังในเด็ก, โรค 4s
Image Credit : vecteezy.com

ในเด็กทารกนั้น ก็อาจจะมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังชนิดต่างๆ ได้ เนื่องจากผิวของลูกน้อยมีความบอบบาง ซึ่งอาจเกิดการระคายเคืองได้ง่าย ทั้งนี้ มีโรคผิวหนังในเด็กที่ชื่อว่า Staphylococcal Scalded Skin Syndrome : SSSS หรือเรียกสั้นๆ ว่าโรค 4s ซึ่งเป็นโรคที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรวางใจ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Staphylococcus aureus ตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย แล้วเชื้อแบคทีเรียเกิดการสร้างพิษ (toxin) เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการป่วยตามมา โดยตำแหน่งที่พบการติดเชื้อได้บ่อยคือ สะดือ ผิวหนัง เยื่อบุตา จมูก คอ ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 ปี หากใครมีเด็กๆ ที่อยู่ในความดูแล และมีอายุเข้าเกณฑ์ ก็ควรสังเกตอาการเป็นพิเศษ เพราะอาจมีการติดโรคนี้ได้หากไม่ระมัดระวังให้ดี

อาการของ โรคผิวหนังในเด็ก Staphylococcal Scalded Skin Syndrome คืออะไร ?

หากลูกน้อยมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ จะมีอาการแสดงตามมาคือ

  • มีอาการทางผิวหนัง เริ่มด้วยอาการผิวหนังหลุดลอก มีจุดเล็กๆ สีเหลือง ผิวหนังมีสีแดงและมีแผลปริออกคล้ายกับการถูกน้ำร้อนลวก
  • มีสะเก็ดตามผิวหนัง ผิวแห้งตึงเหมือนคนตากแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามซอกข้อพับ รอบปาก และตา
  • ผิวหนังหลุดลอกเป็นแผ่นๆ มีอาการแสบ เจ็บแผล
  • มีไข้ ตัวร้อน หนาวสั่น โดยจะเริ่มมีไข้สูงตั้งแต่ผื่นเริ่มลุกลาม 
  • มีท่าทางอ่อนเพลีย ตาแดง
  • มีภาวะขาดน้ำ

เกร็ดสุขภาพ : โรค Staphylococcal Scalded Skin Syndrome (SSSS) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็ก เนื่องจากว่าในเด็กนั้นยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ช่วยต่อต้านสารพิษ (Toxin) ทำให้มักจะพบโรคนี้ในเด็กแรกเกิดก่อน 28 วัน จนกระทั่งมีอายุถึง 6 ปี ทั้งนี้ ในวัยผู้ใหญ่ก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรค 4s ได้เช่นกัน หากมีแผล มีหนองตามร่างกาย เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตของการเกิดโรคจะอยู่ตามผิวหนังของเราทุกคน เพียงแค่ร่างกายของผู้ใหญ่นั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อและกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ จึงไม่แสดงอาการของโรคนั่นเอง

โรค 4s สามารถรักษาได้หรือไม่ มีวิธีการรักษาอย่างไร ?

โรคผิวหนังในเด็ก, โรค 4s
Image Credit : freepik.com

หากลูกน้อยมีอาการดังกล่าว สิ่งแรกที่ควรทำคือ พาลูกไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะโรคนี้จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากแพทย์จะต้องฉีดยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงการทายาฆ่าเชื้อแบคทีเรียตรงบริเวณผิวหนัง โดยแพทย์อาจสั่งให้นอนโรงพยาบาลให้ห้องปลอดเชื้อแบคทีเรียเพื่อสังเกตอาการ และงดการอาบน้ำ เนื่องจากอาจทำให้ผิวหนังแห้งแตกมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่น ปอดอักเสบ ภาวะเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หรือช็อกจากการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

วิธีป้องกันการเกิดโรค 4s ทำได้อย่างไร

โรคผิวหนังในเด็ก, โรค 4s
Image Credit : vecteezy.com

จะเห็นว่าโรคนี้เป็นอันตรายต่อลูกน้อยอย่างยิ่ง เพราะมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่างเพิ่งกังวลใจไป เราสามารถป้องกันการเกิดโรคผิวหนังในเด็กชนิดนี้ได้ ดังนี้ค่ะ

  • ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้เป็นประจำ เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย
  • ตัดเล็บลูกให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค 
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
  • ทำความสะอาดมือหรือร่างกายทุกครั้งก่อนสัมผัสลูกน้อย อาบน้ำให้ลูกอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิด ให้ทำความสะอาดตรงบริเวณสะดือเช้าเย็น เช็ดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

เกร็ดสุขภาพ : รู้หรือไม่ว่า การสัมผัส จูบ หอมเด็กๆ อาจเป็นการแพร่เชื้อให้กับเด็กได้โดยไม่รู้ตัว เพราะเด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำและอาจจะติดเชื้อโรคจากผู้ใหญ่ได้ง่าย ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงควรทำความสะอาดมือของตัวเองก่อนอุ้มเด็ก และระมัดระวังการหอมเด็ก จูบเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแบคทีเรียไปสู่เด็กๆ นะคะ

ชวนระวังโรคทางผิวหนังในเด็กอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยของเรา

โรคผิวหนังในเด็ก, โรค 4s
Image Credit : freepik.com

นอกจากโรค Staphylococcal Scalded Skin Syndrome (SSSS) ที่เป็นโรคผิวหนังในเด็กแล้ว ยังมีโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ ที่มักเกิดกับเด็กเช่นเดียวกัน ถ้าหากเรารู้จักโรคต่างๆ ให้มากขึ้น ก็จะได้ป้องกันและหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสม ไม่ให้อาการทรุดลงจนทำให้ลูกน้อยป่วยหนักได้ โดยโรคทางผิวหนังอื่นๆ ที่มักเกิดกับเด็ก มีดังนี้ค่ะ

1. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis)

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ก็เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เป็นโรคที่เกิดจากการที่ผิวหนังมีการอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ ทำให้เป็นผื่นตุ่มแดงคัน หรือเป็นผื่นแดง ลอก เป็นขุย ร่วมกันมีอาการคันมาก โดยผื่นจะกระจายตามตัว พบได้ทั้งวัยเด็กทารกอายุ 2 – 3 เดือน จนถึงวัยเด็กโต ซึ่งเกิดได้จากการแพ้อาหาร และสารภูมิแพ้ในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นไรฝุ่น สัตว์เลี้ยง หรือละอองเกสร สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาทาตามแพทย์สั่ง ร่วมกับการรับประทานยาแก้แพ้ ยาลดอาการคัน ทั้งนี้ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมีลักษณะการดำเนินโรคแบบเรื้อรัง และมีความรุนแรงแตกต่างกันไป มักจะมีช่วงที่ผื่นยุบ และผื่นกำเริบ ขึ้นอยู่กับการดูแลผิวหนังของแต่ละคน ร่วมกับการสัมผัสสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้ผื่นกำเริบได้

2. โรคกลากน้ำนม (Pityriasis alba)

โรคผิวหนังในเด็กที่พบได้บ่อยอีกโรคหนึ่งก็คือ โรคกลากน้ำนม ซึ่งเป็นโรคผิวหนังที่ชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถสร้างเม็ดสี (melanocyte) ได้ตามปกติ ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเป็นรอยด่างขาว ส่วนใหญ่พบในวัยเด็กอายุประมาณ 3 – 14 ปี มักพบในกลุ่มเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ โดยลักษณะของกลากน้ำนมจะเห็นเป็นผื่นวงกลมหรือวงรีสีขาวขอบไม่ชัดเจน มีขุยบางๆ ติดอยู่ ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ บริเวณใบหน้า และอาจพบได้ตรงบริเวณลำคอ ลำตัว แขน ขา ซึ่งผื่นกลากน้ำนมมักขึ้นในช่วงหน้าร้อน อาการจะเป็นๆ หายๆ และจะพบน้อยลงเมื่อมีอายุมากขึ้น

3. ผดผื่นคัน (Itching rash)

ผดผื่นคันมักเป็นโรคที่มากับหน้าร้อน เนื่องจากมีเหงื่อออกมาในปริมาณมาก และทำให้ไปอุดตันรูขุมขนจนเกิดเป็นผดผื่นคันตามข้อพับหรือที่อับชื้นต่างๆ ในร่างกาย โดยผื่นคันประเภทนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส แตกต่าย หากเป็นมากจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงและตุ่มหนอง หากไม่อยากให้ลูกน้อยของเราเป็นผดผื่นคัน ควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถถ่ายเทความร้อนได้สะดวก และเลือกเนื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับแน่นให้กับเด็กๆ ซึ่งผดผื่นคันมักจะหายได้เองภายใน 3 – 7 วัน และถ้าต้องการซื้อยามาทา ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา เนื่องจากยาบางชนิดเป็นยาสเตียรอยด์ที่อาจจะส่งผลเสียตามมาได้

โรคผิวหนังในเด็กชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรค SSSS หรือโรคผิวหนังอื่นๆ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ หากไม่ระมัดระวังและไม่รักษาความสะอาดให้ดี ทั้งนี้ หากลูกน้อยมีผดผื่นคัน หรือมีอาการผิดปกติทางผิวหนังต่างๆ ควรพาลูกไปหาหมอโดยเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคผิวหนังที่มีความรุนแรงก็เป็นได้ ทั้งนี้ สำหรับผู้ใหญ่เองก็ควรรักษาความสะอาดและล้างมือก่อนอุ้มเด็กอยู่เสมอๆ รวมถึงมั่นใจว่าตัวเองมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย เพราะการใกล้ชิดกับเด็กอาจเป็นการนำเอาโรคไปติดเด็กน้อยได้ เช่น โรคไข้หวัด หรือโรคติดต่ออื่นๆ เนื่องจากเด็กมีภูมิต้านทานต่ำ จึงเสี่ยงที่จะไม่สบายได้ง่าย ถ้าไม่อยากให้เด็กรอบๆ ตัวป่วย เราก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วยเหมือนกันนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : synphaet.co.th, phyathai.com, siphhospital.com, si.mahidol.ac.th, mayoclinic.org, hopkinsmedicine.org

Featured Image Credit : vecteezy.com/kamil_macniak

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save