“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
เช็ก ! เครื่องเทศ 50 ชนิด ที่ไม่ได้มีดีแค่เพิ่มรสชาติ แต่ยังดีต่อสุขภาพด้วย !
การจะทำอาหารทั้งคาวหวานนั้น ก็ต้องเตรียมวัตถุดิบหลักในการทำเมนูนั้นๆ และนอกจากเครื่องปรุงต่างๆ ที่จะทำให้อาหารมีรสชาติมากขึ้นแล้ว เคล็ดลับในการทำอาหารให้อร่อยก็คือ เครื่องเทศนั่นเองค่ะ เครื่องเทศเป็นวัตถุดิบคู่ครัวที่ไม่ว่าจะเป็นครัวที่บ้านหรือครัวร้านอาหารจะต้องมีไว้อย่างแน่นอน ด้วยเพราะมีรสมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนใหญ่แล้วจะออกรสเผ็ดร้อน ทำให้อาหารมีรสชาติมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เครื่องเทศก็มีอยู่มากมาย ในบทความนี้ เพื่อสุขภาพจะชวนมารู้จัก เครื่องเทศ 50 ชนิด ด้วยกัน ! จะมีอะไรบ้าง คุ้นๆ ชื่อกันบ้างหรือไม่ ไปดูกันเลย
เครื่องเทศ 50 ชนิด ที่ต้องรู้จักก่อนลงครัว พร้อมเคล็ดลับใช้งานจริงแบบมือโปร !
ในผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำอาหาร เครื่องเทศเปรียบเสมือนอาวุธลับที่จะทำให้อาหารจานนั้นมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น เครื่องเทศ คือส่วนต่างๆ ของพืช ไม่ว่าจะเป็นเมล็ด เปลือกเมล็ด ผล เปลือกของผล ใบ ราก ลำต้น และอื่นๆ ที่นำมาทำให้แห้งแล้วนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหาร เพื่อเป็นการเพิ่มรสชาติ กลิ่น และสีสันตามที่ต้องการ การนำเครื่องเทศมาประกอบอาหารนั้น ปรากฎในหลากหลายวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งจีน อินเดีย ตะวันตก รวมถึงไทย และชนชาติอื่นๆ ด้วย แล้วเครื่องเทศ มีอะไรบ้าง มารู้จักเครื่องเทศทั้ง 50 ชนิด กันค่ะ
เครื่องเทศ 50 ชนิด มีอะไรบ้าง ?
- กระเทียม ถ้าพูดถึงเครื่องเทศ 50 ชนิดต้องมีกระเทียมแน่นอน กระเทียมเป็นส่วนประกอบของอาหารหลากหลายเมนู ช่วยแก้หวัด ลดความดัน ลดอาการแน่นท้องจุกเสียด
- กระชายขาว หรือขิงจีน มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้วิงเวียน แน่นหน้าอก
- กระชายดำ เชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยชะลอความแก่ เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับเพศชาย
- กะเพรา ประโยชน์มีมากมาย นิยมนำมาทำเมนูผัดกะเพรา มีฤทธิ์ช่วยขับลม แก้จุกเสียดแน่นท้อง
- กระวานเขียว ใช้ในการแต่งกลิ่นและเพิ่มรสชาติในอาหารอินเดียมากมายหลายเมนู รวมถึงของหวานและเครื่องดื่มด้วย มีรสออกหวานเล็กน้อย
- กระวานดำ คนไทยเรียกว่า ชะโกหรือลูกเฉาก๊วย นิยมใช้น้อยกว่ากระวานเขียว เพราะมีรสเผ็ดร้อนมาก มีกลิ่นที่รุนแรงกว่า ต้องระมัดระวังในการปรุง
- ขมิ้น เป็นหนึ่งในเครื่องเทศ 50 ชนิดที่ถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ลดอาการอักเสบ
- ข่า ช่วยขับลม แก้อาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ช่วยดับกลิ่นคาว ช่วยให้ย่อยอาหารดีขึ้น
- ขิง ช่วยขับลม ลดจุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ขับเสมหะ
- งา มีแคลเซียมสูง มีวิตามินอี สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดคอเลสเตอรอล
- จันทน์เทศ ช่วยบำรุงเลือด บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยย่อย
- ชะเอมเทศ มีฤทธิ์แก้ไอ ช่วยทำให้ชุ่มคอ เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้อาการเบื่ออาหารได้
- เทียนข้าวเปลือก เป็นเครื่องเทศที่นิยมใช้ปรุงเมนูแกงต่างๆ มีรสหวานและมีความเย็นซ่อนอยู่ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย
- เทียนเยาวพาณี จัดอยู่ในวงศ์ผักชี เมื่อนำมาบดเป็นผง จะได้ผงสีน้ำตาลที่มีกลิ่นและรสเฉพาะตัว มีกลิ่นหอม รสหวาน เผ็ดร้อนเล็กน้อย
- ใบไทม์ เป็นหนึ่งในสมุนไพรเครื่องเทศที่นิยมใช้ในอาหารตะวันตก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถใช้เป็นยาแก้ไอได้ มีสรรพคุณต่อต้านจุลินทรีย์ แก้อาการเจ็บคอ
- ดีปลี เป็นสมุนไพรลดเผ็ดร้อน ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ช่วยลดน้ำตาลในเลือด กำจัดสารพิษ ลดไขมัน แก้อาหารไม่ย่อย
- ตะไคร้ เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม แก้อาการปวดท้อง เป็นยาขับลม ช่วยทำให้เจริญอาหาร และช่วยดับกลิ่นคาวอาหารได้เป็นอย่างดี
- เตยหอม นิยมนำมาแต่งกลิ่น ทั้งอาหารคาวหวาน มีฤทธิ์เย็น เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาขับปัสสาวะ
- เทียนสัตตบุษย์ เป็นหนึ่งในเครื่องเทศ 50 ชนิดที่อาจจะไม่คุ้นชื่อนัก เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน ในอินเดียใช้เมล็ดเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับซุป ซอส ขนมปัง ขนมหวาน เป็นต้น มีฤทธิ์ช่วยขับเสมหะ ขับลม ขับเหงื่อ
เกร็ดสุขภาพ : อาหารอินเดีย เป็นอาหารชนชาติที่นิยมนำเอาเครื่องเทศมาประกอบอาหารอย่างแพร่หลาย ทั้งเมนูคาว หวาน และเครื่องดื่ม อาหารอินเดียส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยเครื่องเทศ สมุนไพร ผักและผลไม้เป็นหลัก ทั้งยังนิยมกินอาหารมังสวิรัติอีกด้วย โดยจะใช้ข้าว แป้งสาลีโฮลวีท และเมล็ดถั่วหลายชนิด เป็นส่วนประกอบ
- ใบกระวาน หรือ Bay Leaf นิยมเอามาแต่งกลิ่นในอาหารอินเดีย โดยปรุงลงไปในอาหารทั้งใบ เพื่อให้ได้กลิ่นออกมา ช่วยแก้ไข้ แก้หวัด ขับเหงื่อ ขับลม
- ผักชี ใส่ในอาหารหลายชนิด ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้กระหายน้ำ แก้อาการไอ แก้หวัด ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- ผักชีลาว พบมากในแถบภาคอีสาน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้คลื่นไส้อาเจียน ช่วยให้เจริญอาหาร
- พุทราจีนอบแห้ง มักพบในขนมหวาน มีวิตามินเอ วิตามินซี ฟอสฟอรัส มีแคลเซียมสูง เป็นยาบำรุงเลือด บำรุงไต บำรุงกำลัง
- พาสลีย์ มีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะ มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารมากมาย มีวิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็ก วีตามินอี เป็นต้น
- มะกรูด ใบมะกรูดมีกลิ่นหอม นำไปใส่ในอาหารได้หลากหลายเมนู ช่วยแก้ไอ ขับลม แก้จุกเสียด และใช้ดับกลิ่นคาวอาหาร
- มะแขว่น สรรพคุณเป็นยาขับลม ช่วยลดความดัน ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน
- มาซาลา เป็นหนึ่งในเครื่องเทศ 50 ชนิดที่นิยมใช้ปรุงอาหารอินเดีย มีรสจัดจ้าน กลิ่นหอม เผ็ดร้อน ทำจากเครื่องเทศหลายชนิด
เกร็ดสุขภาพ : กล่าวได้ว่า มาซาลา เป็นหัวใจของอาหารอินเดียหลากหลายเมนู ทั้งของคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม นอกจากจะอยู่ในอาหารอินเดียแล้ว ยังอยู่ในอาหารปากีสถาน เนปาล บังคลาเทศ พม่า และศรีลังกาอีกด้วย มาซาลาประกอบไปด้วยเครื่องเทศหลากหลายชนิด ทั้งโป๊ยกั๊ก ลูกจันทน์เทศ ขิง อบเชย พริกไทยดำ กระวานเขียว จันทน์เทศ กานพลู ยี่หร่า และอื่นๆ อีกหลายชนิด
- เม็ดมัสตาร์ด นิยมใส่ในแกง หรือใช้น้ำมันมัสตาร์ดประกอบอาหารในเมนูต่างๆ โดยกลิ่นและรสจะออกมาหลังจากถูกบด ช่วยเพิ่มรส ตัดเลี่ยน ทำให้อาหารกลมกล่อมมากขึ้น
- ยี่หร่าฝรั่ง หรือ เฟนเนล เป็นดอกไม้ในวงศ์ผักชี นิยมใช้ผลเป็นเครื่องเทศมาอย่างยาวนาน มีแคลเซียมสูง ทั้งยังช่วยขับลม แก้อาการแน่นท้อง และช่วยดับกลิ่นคาวได้
- โรสแมรี่ เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง เป็นพืชพื้นเมืองในแถบเมดิเตอร์เรเนียน มีกลิ่นหอม นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย แก้จุกเสียดแน่นท้อง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยย่อยอาหาร
- ลูกซัด เป็นเม็ดสีเหลืองที่มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ มีรสขมนิดๆ นิยมเอาไปใส่ในเครื่องแกงต่างๆ เช่น เมนู Butter Chicken
- วาซาบิ ลำต้นหรือเหง้าเมื่อเอามาขูดหรือบดจะได้เครื่องปรุงที่มีรสเผ็ดร้อน นิยมรับประทานกับซูชิหรือซาซิมิ
- วานิลลา จัดว่าเป็นหนึ่งในเครื่องเทศ 50 ชนิดเช่นกัน เป็นฝักของกล้วยไม้สกุล Vanilla มีต้นกำเนิดจากเม็กซิโก นิยมนำมาแต่งกลิ่นในขนมหวานและไอศกรีม
- หญ้าฝรั่น หรือ saffron จัดเป็นเครื่องเทศและยาที่สำคัญชนิดหนึ่ง ถือว่าเป็นเครื่องเทศที่แพงที่สุดในโลกอีกด้วย ใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรคมะเร็ง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย
- หมักก้าก นิยมนำใบมาหั่นฝอยแล้วเอาใส่ลาบ มีกลิ่นหอม ผลนำไปคั่วเป็นเครื่องเทศ มีรสเผ็ดร้อน นำเอามาปรุงอาหาร
- หล่อฮังก๊วย เป็นเครื่องเทศและสมุนไพรจีนที่มีรสหวาน นิยมนำผลแห้งมาต้มน้ำแล้วทำเป็นเครื่องดื่ม และนำไปสกัดเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- มหาหิงค์ โดยส่วนใหญ่แล้วคนไทยนิยมใช้เป็นยาแก้ท้องผูกท้องเฟ้อ แต่ในอาหารอินเดียมีการนำมาใช้ทำอาหาร เพราะมีความฉุนและมีรสเผ็ดร้อนคล้ายหัวหอมและกระเทียม แต่ไม่นิยมเพราะมีรสจัดมาก
- โหระพา ประโยชน์ใช้ได้หลายประการ นำมาปรุงอาหารให้มีกลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นคาว ช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้เจริญอาหาร
- อบเชย เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม นำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน อบเชยมีสารแทนนินสูง นิยมใช้ในยาตำรับแผนโบราณ เป็นส่วนผสมในยาหอมต่างๆ
- ออลสไปซ์ เป็นเครื่องเทศที่ทำจากผลอ่อนของต้น Pimenta dioica นำมาตากแห้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบแคริบเบียน เม็กซิโกตอนใต้ และอเมริกากลาง ใช้ปรุงซอส moles ใช้ประกอบการดอง หรือทำไส้กรอ
- พริกไทย เป็นหนึ่งในเครื่องเทศ 50 ชนิดที่ทุกคนจะต้องรู้จัก เป็นพืชที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาของเครื่องเทศเลยทีเดียว มีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอมค่อนข้างฉุน นำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จะโรยเพื่อเพิ่มความหอมหรือเพิ่มรสเผ็ดร้อนในเมนูนั้นๆ ก็ได้ มีสรรพคุณทางยาคือ ช่วยขับเหงื่อ ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ท้องผูก ช่วยให้เจริญอาหาร ทั้งยังสามารถดับกลิ่นคาวเนื้อสัตว์ได้ด้วย
- ลูกผักชี โดยจะนำลูกผักชีไปตากแห้ง ลูกผักชีมีสีขาวหม่น มีกลิ่นหอม รสของลูกผักชีจะมีรสซ่าอ่อนๆ คล้ายชะเอม ช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาการปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลม ก่อนนำเอามาประกอบอาหารจะต้องนำไปคั่วก่อน จากนั้นนำมาโขลกให้ละเอียด ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องแกงเผ็ด แกงพะแนง แกงเขียวหวาน มัสมั่น เป็นต้น
- ยี่หร่า หรือเทียนขาว มีผลรูปรียาวแบน มีกลิ่นหอมมาก มีรสเผ็ดร้อนออกขม มีสรรพคุณช่วยย่อย ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ วิธีการใช้คือ นำเอาไปทุบเพื่อให้กลิ่นหอมออกมา นิยมใช้หมักกับเนื้อสัตว์เพื่อดับกลิ่นคาว หรือนำไปบดผสมในเครื่องแกง รวมถึงใช้แต่งกลิ่นในขนมปังหรือขนมเค้กด้วยเช่นกัน
- กานพลู ถ้าถามว่าเครื่องเทศ มีอะไรบ้าง จะต้องมีกานพลูอยู่ด้วยแน่นอน โดยจะใช้ส่วนดอกตูมแห้ง มีกลิ่นหอม มีรสเผ็ดร้อน ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ดอกกานพลูมีแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน นิยมเอาไปใส่ในเครื่องแกงอย่างแกงมัสมั่น แกงบุ่มไบ๋ ใส่ในต้มเนื้อ เป็นต้น
- ลูกกระวาน เป็นเครื่องเทศที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นลูกกลมรี ภายในมีเม็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเผ็ดเล็กน้อย ผสมรสขมปนหวาน เป็นยาบำรุงธาตุ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ วิธีใช้คือ นำไปคั่วจากนั้นเอามาบีบให้แตก ใช้แต่เม็ดด้านใน เอาไว้ดับกลิ่นคาวและทำให้แกงมีกลิ่นหอม
- พริกแห้ง เป็นเครื่องเทศ 50 ชนิดที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างมาก มีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ดร้อน ช่วยแต่งสีสันในอาหารให้ดูสวยงาม มีฤทธิ์ช่วยขับเสมหะ ขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เจริญอาหารมากขึ้น มักนำเอาไปทำน้ำพริกแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงส้ม พะแนง ฉู่ฉี่ เป็นต้น
- ออริกาโน่ หลายๆ คนมักจะคุ้นเคยการนำเอาผงออริกาโน่แห้งโรยในพิซซ่า สปาเก็ตตี้ เรียกได้ว่าเป็นเครื่องเทศคู่ครัวอาหารอิตาเลี่ยน เพราะมีกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกเจริญอาหารมากขึ้น ออริกาโน่สามารถกินได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีฤทธิ์ร้อน ช่วยทำให้อาหารมีรสชาติมากขึ้น
- เสจ เป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาปรุงอาหารเป็นเครื่องเทศ ทำให้อาหารมีกลิ่นหอมมากขึ้น มักจะเห็นอยู่ในเมนูอาหารตะวันตก ใบเสจช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย บรรเทาอาการไข้หวัด สามารถนำเอาไปผลิตเป็นยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากได้ด้วย
- เก๋ากี้ เป็นเครื่องเทศจีน ใช้ทั้งในอาหารคาวและอาหารหวาน รู้จักกันในอีกชื่อคือ โกจิเบอร์รี่ ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงสายตา แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้หัวใจแข็งแรง บำรุงตับไต ช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเลือด เรียกได้ว่าประโยชน์มากมายเลยทีเดียวค่ะ
- โป๊ยกั๊ก มีถิ่นกำเนิดและกระจายพันธ์ุในประเทศจีน เวียดนาม เป็นพืชที่มีรูปร่างคล้ายดาวแปดแฉก มีกลิ่นหอมและมีรสเผ็ดร้อน ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในตำหรับยาจีนโบราณ ช่วยให้ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ช่วยบำรุงธาตุและเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกาย ขับเสมหะ แก้หวัด ลดไข้ สามารถดับคาวในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้ หรือนำมาใส่ในเครื่องดื่ม ของหวานก็ได้เช่นกัน
คู่เครื่องเทศยอดนิยม ที่ใช้ด้วยกันแล้วลงตัวสุดๆ
หลายครั้งที่เครื่องเทศถูกใช้เป็น “ทีมเวิร์ก” ในการสร้างกลิ่น รส และมิติของอาหารให้น่ากินยิ่งขึ้น มาดู 5 คู่เครื่องเทศยอดนิยมที่เข้ากันดีเหมือน “เพื่อนซี้ในครัว” กันเลย
- ขิง + กระเทียม : คู่เบสิกที่แทบจะอยู่ในอาหารเอเชียทุกบ้าน ขิงช่วยเพิ่มความเผ็ดร้อนเล็กๆ ส่วนกระเทียมให้ความหอมอบอุ่น เป็นคู่ที่ทั้งช่วยย่อยและลดกลิ่นคาวได้ดี
- ยี่หร่า + ลูกผักชี : คู่แฝดในอาหารอินเดียและตะวันออกกลาง ช่วยให้กลิ่นหอมซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะในอาหารประเภทแกง
- อบเชย + กานพลู : กลิ่นหอมหวาน ละมุนละไม ใช้คู่กันในของหวานหรือเครื่องดื่มก็ได้ เช่น ชาร้อน ซุปแอปเปิล หรือสตูว์ผลไม้
- โรสแมรี่ + ไทม์ : คู่ที่ทำให้เนื้อย่างและอาหารตะวันตกดูแพงและหอมขึ้นทันที เป็นกลิ่นที่ผ่อนคลาย และช่วยลดกลิ่นคาวเนื้อสัตว์
- ใบมะกรูด + พริกขี้หนู : กลิ่นหอมสดชื่นกับความเผ็ดจี๊ดที่ลงตัว ใช้ในต้มยำ ผัดเผ็ด หรือเมนูไทยจัดจ้านทั้งหลาย
เครื่องเทศที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน (ถ้าไม่อยากเสียรส)
แม้เครื่องเทศจะมีประโยชน์มากมาย แต่บางชนิดถ้าใช้พร้อมกันอาจทำให้กลิ่นรสตีกัน หรือกระทบต่อสุขภาพได้เช่นกันนะ
- ลูกจันทน์เทศในปริมาณมาก : แม้จะให้กลิ่นหอมเฉพาะตัว แต่ถ้าใส่มากเกินไปอาจทำให้เวียนหัว หรือเกิดพิษได้
- อบเชย + ใบกระวาน : ถ้าใส่มากเกินในอาหารจานเดียวกัน กลิ่นจะขมและแรงจนกลบรสอื่น
- เครื่องเทศร้อนจัดหลายชนิดรวมกัน : เช่น ขิง + ข่า + พริกไทยดำ + พริกขี้หนูสด อาจร้อนจนเกินไปในคนธาตุร้อน หรือมีปัญหากระเพาะ
- พริกแห้ง + ขมิ้นสดในน้ำซุปบางประเภท : ถ้าไม่ชั่งปริมาณดีๆ อาจทำให้รสขมและกลิ่นแรงเกินพอดี
เพื่อสุขภาพทิปส์ : ถ้ายังไม่แน่ใจเรื่องการผสม ให้เริ่มจากน้อย แล้วชิมก่อนค่อยเพิ่ม
เคล็ดลับการเก็บรักษาเครื่องเทศให้อยู่นาน หอมเหมือนวันแรก
รู้มั้ยว่าเครื่องเทศมีอายุ และกลิ่นที่หอมๆ นั้นก็จางไปได้ถ้าเก็บไม่ดี ลองทำตามเคล็ดลับเหล่านี้ดูนะ
- เครื่องเทศแห้ง แบบบดหรือเม็ด
- เก็บในขวดแก้วทึบแสงหรือขวดฝาปิดสนิท
- หลีกเลี่ยงแสงแดด ความชื้น และความร้อน
- วางไว้ในตู้เก็บของหรือลิ้นชัก แยกจากเตาไฟ
- เครื่องเทศสด เช่น ขิง ข่า ใบมะกรูด
- ห่อกระดาษทิชชูหรือใส่ถุงซิปล็อกก่อนแช่ตู้เย็น
- ไม่ควรล้างก่อนแช่ เพราะความชื้นจะทำให้เน่าเร็ว
- ใบมะกรูดสามารถแช่แข็งได้ เพื่อเก็บนานเป็นเดือน
- แบบบดเองสดๆ
- ถ้าอยากได้กลิ่นแรงเต็มที่ แนะนำให้ซื้อแบบเม็ด แล้วบดเองเมื่อจะใช้ เช่น พริกไทย หรือลูกผักชี
เครื่องเทศ มีอะไรบ้าง ? ไม่น่าเชื่อเลยใช่ไหมคะว่ามีมากมายหลายชนิดเลยทีเดียว ซึ่งแต่ละชนชาติก็นิยมนำเอาเครื่องเทศแต่ละอย่างมาประกอบอาหารอย่างหลากหลาย เพื่อชูรสให้อาหารมีรสชาติอร่อยมากยิ่งขึ้น และเครื่องเทศหลายๆ ชนิดก็มีสรรพคุณบำรุงร่างกายหลายอย่าง เรียกได้ว่าเครื่องเทศเป้นวัตถุดิบที่ดีทั้งรสชาติ และดีต่อสุขภาพเลยทีเดียว
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ