“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ลูกพูดช้า ผิดปกติหรือไม่ พูดช้าขนาดไหนถึงต้องไปปรึกษาแพทย์ ?!
พัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูกน้อยนั้น สร้างความตื่นเต้นให้กับพ่อแม่ได้เสมอ ตั้งแต่เริ่มคว่ำได้ ต่อมาก็เริ่มนั่ง เริ่มหัดคลาน และตั้งไข่ ไปจนถึงเดินเตาะแตะ และวิ่งเร็วจนคุณพ่อคุณแม่ไล่ตามไม่ทัน อีกหนึ่งพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยที่สร้างความตื่นเต้นให้กับพ่อแม่ก็คือ การที่ลูกเริ่มหัดพูดนั่นเอง โดยปกติแล้ว เด็กๆ จะพูดเป็นคำเมื่อถึงช่วงอายุ 1 ขวบ แต่ก็มีเด็กบางคนที่พูดช้า จนถึง 2 ขวบแล้วยังไม่เริ่มพูดก็มี ถ้า ลูกพูดช้า ควรทำอย่างไรดี ? แบบไหนถึงเรียกว่าช้ากว่าปกติ แล้วต้องพาไปพบแพทย์หรือไม่ อย่าเพิ่งรีบกังวลไป มาหาคำตอบกันเลยค่ะ
ลูกพูดช้า มีพัฒนาการผิดปกติหรือไม่ ?
ความจริงแล้ว ลูกน้อยของเรานั้น มีพัฒนาการทางด้านภาษาตั้งแต่แรกเกิด เริ่มจากการส่งเสียงร้องไห้เมื่ออายุได้ 2 – 3 เดือน และมีการส่งเสียงอ้อแอ้ คล้ายกับการพูดคุยกับพ่อแม่ จากนั้นจะพัฒนาการมาเป็นเสียงหัวเราะ มีการตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ ส่งเสียงจากลำคอ และเริ่มทำตามคำบอกของพ่อแม่ จากนั้นจะเริ่มส่งเสียงออกมาเป็นคำพูดเมื่ออายุ 1 ขวบ ซึ่งจะมีพัฒนาการตามลำดับ ดังนี้
- ช่วงอายุ 1 – 4 เดือน : ส่งเสียงอ้อแอ้ สนใจเสียงผู้ที่มาพูดคุยด้วย มีความคุ้นเคยกับเสียงของคนใกล้ชิด
- ช่วงอายุ 5 – 6 เดือน : ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ เริ่มหันหาเสียงและมีการเลียนเสียงผู้อื่น
- ช่วงอายุ 9 – 12 เดือน : เริ่มพูดได้เป็นคำพยางค์เดียว มีการแสดงท่าทางสื่อความหมายร่วมด้วย
- ช่วงอายุ 1 – 1.5 ปี : มีการโต้ตอบชัดเจน ทำตามคำสั่งได้ เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้
- ช่วงอายุ 1.5 – 2 ปี : พูดได้ 50 – 80 คำ มีความเข้าใจประโยคที่ยากขึ้น
- ช่วงอายุ 2 – 3 ปี : สามารถพูดเป็นประโยคได้ ตอบได้ พูดคุยสื่อสารรู้เรื่องมากขึ้น
พัฒนาการแบบไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ ลูกพูดช้าสุด กี่ขวบ ?
พัฒนาการในข้างต้น เป็นพัฒนาการตามปกติที่เด็กๆ ในแต่ละช่วงวัยควรจะมีพัฒนาการด้านพูดด้านการสื่อสารเป็นไปในทิศทางดังกล่าว แต่ถ้าลูกพูดช้า จะมีพัฒนาการแบบไหน อย่างไรถึงเรียกว่าผิดปกติ ไปดูกันเลยค่ะ
- ช่วงอายุ 6 -10 เดือน : ไม่ส่งสัญญาณการพูด ไม่หันมาตามเสียง ไม่เลียนแบบ
- ช่วงอายุ 15 เดือน : ไม่สามารถทำตามคำบอกได้ ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ยังไม่พูดคำแรก และไม่มีภาษาทางกาย
- ช่วงอายุ 1 – 2 ปี : ไม่เริ่มที่จะสื่อสาร ไม่เข้าใจคำถาม หรืออาจจะพูดไม่หยุด แต่ไม่สื่อสารในเรื่องเดียวกัน
- ช่วงอายุ 3 ปี : ไม่บอกความต้องการของตนเอง ไม่เข้าใจและไม่ใช้ประโยคคำถาม หรืออาจจะพูดเป็นประโยคยาวๆ แบบท่องจำ ที่ไม่ใช่ภาษาของเด็กในช่วงวัยเดียวกัน
เกร็ดสุขภาพ : ลูกพูดช้าสุด กี่ขวบ ? เด็กที่มีภาวะเสี่ยงพูดช้า คือเด็กที่ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้เลย เมื่ออายุ 15 เดือน ทั้งไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 3 คำ เมื่ออายุ 18 เดือน และสำหรับเด็กที่เข้าข่ายพูดช้ากว่าปกติ คือเด็กที่ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายต่างกัน 2 คำ ต่อเนื่องกัน และพูดคำศัพท์น้อยกว่า 50 คำ เมื่ออายุ 24 เดือน รวมถึงไม่สามารถพูดประโยคที่สมบูรณ์ หรือสามารถสื่อสารให้คนฟังรู้เรื่องน้อยกว่า 50% ของสิ่งที่พูด เมื่ออายุ 36 เดือน ซึ่งจะถือว่าเป็นเด็กพูดช้านั่นเองค่ะ
สาเหตุที่ลูกพูดช้า คืออะไร ?
สาเหตุที่ทำให้เด็กพูดช้ามีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน อาจเกิดจากการเลี้ยงดู หรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
- มีการได้ยินผิดปกติ โดยแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ เด็กที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติเพียงบางส่วน พบว่ามักจะมีปัญหาพูดไม่ชัด แต่มีพัฒนาการทางภาษาใกล้เคียงเด็กปกติ และอีกกลุ่มคือ เด็กที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติชัดเจน เช่น หูหนวกตั้งแต่กำเนิด หรือมีการติดเชื้อตั้งแต่กำเนิด มักจะพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า หรือไม่สามารถพูดได้ และมักจะใช้ท่าทางในการสื่อความหมายแทน
- ปัญหาพัฒนาการล่าช้าโดยรวม กล่าวคือ มีพัฒนาการด้านอื่นๆ ช้าร่วมด้วย ทำให้เด็กเรียนรู้การพูดและการใช้ภาษาช้า ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองพัฒนาการเป็นหลัก
- ภาวะออทิสติก จะทำให้มีพัฒนาการด้านภาษาช้า ร่วมกับความบกพร่องทางการเข้าสังคม การสื่อความหมาย และมีความเข้าใจที่ต่างจากเด็กทั่วไป ซึ่งความผิดปกตินี้ จะเกิดขึ้นก่อนอายุ 30 เดือน หรือเกิดร่วมกับความบกพร่องอย่างอื่นด้วย เช่น เด็กจะไม่มองหน้า ไม่เข้าใจคำสั่ง เล่นคนเดียว ส่งเสียงไม่เป็นภาษา ชอบเล่นแบบเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีภาวะออทิสติกแบบฉลาด ที่ไม่ได้มีความผิดปกติด้านการพูด สามารถสื่อสารได้ แต่มีความผิดปกติด้านการเข้าสังคม การปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เป็นต้น
- ปัญญาอ่อน คือเด็กที่มีเชาว์ปัญญา หรือ IQ ต่ำกว่า 70 มีพัฒนาการด้านภาษาและด้านอื่นๆ ล่าช้า มีปัญหาด้านการสื่อความหมาย การดูแลตัวเอง การเข้าสังคม การศึกษา เป็นต้น
- สมองถูกทำลาย เด็กมีความผิดปกติของสมอง ขึ้นอยู่กับอาการของโรค เช่น เด็กมีความผิดปกติทางประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ หรือมีความบกพร่องด้านการใช้ภาษา ใช้คำไม่ถูกความหมาย เป็นต้น
- ขาดการกระตุ้นอย่างเหมาะสม สาเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้า อาจเกิดจากคนเลี้ยงดู แม้ว่าเด็กจะสามารถเข้าใจภาษาได้ดี แต่กลับไม่ยอมพูดหรือพูดน้อยเพราะมีคนพูดแทนให้ เด็กจึงไม่ยอมพูดและอยู่ในภาวะพูดช้า แต่ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ก็จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการด้านการพูดที่ดีขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้ลูกพูดช้า ก็คือการให้เด็กดูหน้าจออุปกรณ์เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรืออื่นๆ จึงไม่ควรปล่อยให้เด็กดูหน้าจอเพียงลำพังหรือใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป เพราะหน้าจอเป็นการสื่อสารทางเดียว และไม่ได้ช่วยให้เด็กพูดได้เร็วขึ้น ซึ่งไม่ควรให้เด็กดูหน้าจอก่อนอายุ 2 ขวบเป็นอันขาด และเมื่อเด็กอายุเกิน 2 ขวบ ไม่ควรให้ดูหน้าจอเกินวันละ 1 ชั่วโมง และผู้ปกครองควรนั่งดูด้วยเพื่อเลือกสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก และสามารถให้คำแนะนำขณะที่ลูกดูน่าจอได้ ทั้งยังป้องกันไม่ให้เด็กติดมือถืออีกด้วยค่ะ
จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านการพูดได้อย่างไรบ้าง ?
ในเด็กบางรายอาจพูดช้าไปบ้าง แต่ยังไม่ถือว่าผิดปกติ พ่อแม่อาจมีความเป็นกังวลว่า ลูกพูดช้าสุด กี่ขวบ ? ลูกเราพูดช้าหรือไม่ ถ้าอายุ 3 ขวบแล้วยังไม่สามารถสื่อสารได้ตามพัฒนาการ นั่นอาจหมายความว่า ลูกของเรามีพัฒนาการช้ากว่าปกติ หากสังเกตได้ว่าลูกเราพูดช้า ควรพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการตามความเหมาะสม หรืออาจพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัดด้านการพูด นักจิตวิทยา นักตรวจการได้ยินหรือนักแก้ไขการพูด เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการด้านการพูดอย่างเหมาะสม และผู้ปกครองสามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ได้ดังนี้
- พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูควรออกเสียงพูดให้ชัดเจน และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก
- พูดในสิ่งที่เด็กสนใจ เพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากสื่อสาร
- ให้เด็กเรียนรู้ภาษาผ่านกิจกรรมการเล่น เช่น การอ่านนิทานในเรื่องที่เด็กสนใจ
- เล่นกับเด็กให้มากขึ้น ไม่ให้ลูกดูหน้าจอต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกพูดช้า
- ฝึกให้เด็กพูดในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ไม่บังคับหรือดุ
- ตั้งคำถามกับเด็กอย่างเหมาะสม เช่น สิ่งนี้เรียกว่าอะไร ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน เรากำลังทำอะไรอยู่ ฯลฯ
- ให้โอกาสลูกได้สื่อสาร รอให้เด็กสื่อสารก่อน ตอบสนองทุกครั้งที่เด็กพูด
- เป็นผู้ฟังที่ดี เวลาเด็กพูดให้เราจ้องตา มองหน้า และตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสาร
เมื่อสังเกตได้ว่า ลูกอาจเสี่ยงที่จะมีภาวะพูดช้า หากลูกพูดช้า ควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพของลูก หรือคัดกรองในเรื่องของพัฒนาการ เพราะสาเหตุของการพูดช้ามีอยู่หลายประการด้วยกัน จะได้แก้ไขได้อย่างตรงจุด หรือเสริมพัฒนาการได้อย่างถูกวิธี ที่สำคัญคือ ไม่ควรให้ลูกดูหน้าจออุปกรณ์เทคโนโลยีก่อนอายุ 2 ขวบเด็ดขาด เพราะการดูหน้าจอเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กพูดช้าได้เช่นกัน หมั่นสังเกตพัฒนาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และสื่อสารพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพื่อให้ลูกน้อยของเรามีพัฒนาการอย่างเหมาะสมนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : phyathai.com, rama.mahidol.ac.th, sriphat.med.cmu.ac.th, kidshealth.org
Featured Image Credit : vecteezy.com/elvira.kashapova962
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ