X

Hypersomnia คือ อะไร ? เราง่วงนอนมากเกินปกติจนเสี่ยงเป็นโรคหรือเปล่า !?

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

Hypersomnia คือ อะไร ? เราง่วงนอนมากเกินปกติจนเสี่ยงเป็นโรคหรือเปล่า !?

อาการง่วงนอนนั้นเกิดขึ้นได้เป็นปกติเมื่อร่างกายต้องการพักผ่อน โดยเฉพาะช่วงใกล้เวลาเข้านอน หรือสำหรับบางคนที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็อาจจะรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนได้ตลอดทั้งวัน แต่ถ้าใครที่นอนหลับเป็นเวลา 7 – 9 ชั่วโมงแล้วยังรู้สึกง่วงนอนอยู่ หรือรู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะงีบหลับไปแล้ว นอนหลับอย่างเต็มที่ก็แล้ว หรือใช้ตัวช่วยอย่างชากาแฟแล้วก็ตาม อาจเข้าข่ายเป็นโรค Hypersomnia คือ โรคง่วงนอนมากผิดปกติได้ โรคนี้มีอาการอย่างไร อันตรายมากแค่ไหน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรายังไงบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

Hypersomnia คือ อะไร ? เราง่วงนอนมากผิดปกติจนเสี่ยงเป็นโรคหรือเปล่า ? มาดูกัน !

Hypersomnia คือ, โรคง่วงตลอดเวลา
Image Credit : freepik.com

โรคง่วงนอนมากผิดปกติ หรือ Hypersomnia คือโรคที่ทำให้รู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน นอนหลับมากเกินผิดปกติ นอนมากเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกว่านอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งยังตื่นยาก ไม่อยากลุกจากเตียง และงีบหลับระหว่างวันอยู่หลายครั้ง แม้เมื่อคืนจะนอนมากกว่า 8 ชั่วโมงแล้วก็ตาม และบางครั้งอาจเผลอหลับได้ในขณะที่พูดคุยกับคนอื่นอยู่ หรือในขณะที่กำลังกินข้าว ซึ่งโรคนี้ไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้นๆ มีพฤติกรรมขี้เซาหรือขี้เกียจแต่อย่างใด แต่ Hypersomnia คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาต่อไป

เกร็ดสุขภาพ : มีโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติแบบนอนมากเกินไปอีกโรคหนึ่งคือ โรคเตียงดูด หรือ Dysania ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะตื่นยาก ไม่อยากลุกออกจากเตียงในตอนเช้า สามารถนอนหลับได้ทั้งวันโดยที่ไม่ตื่นมาทำกิจวัตรประจำวัน บางครั้งก็ไม่ได้มีอาการง่วงนอนแต่อย่างใด แต่จะเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากการนอนอยู่บนเตียง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า อ่อนเพลียเรื้อรัง หรือมีปัญหาสุขภาพทางกาย อาทิ โรคเบาหวาน หัวใจ มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

อาการของ Hypersomnia คืออะไร ?

Hypersomnia คือ, โรคง่วงตลอดเวลา
Image Credit : freepik.com
  • ตื่นนอนยากมาก ขี้เซามาก 
  • นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ถึงจะนอนครบเวลา 7 – 9 ชั่วโมง (หรือมากกว่านี้) ก็ยังรู้สึกง่วงนอนหรือรู้สึกอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา 
  • ต้องการงีบหลับวันละหลายๆ ครั้ง
  • ในบางคนอาจเผลอหลับได้ในสถานการณ์ที่ไม่ควรหลับ เช่น ในขณะกินข้าว อยู่ในวงสนทนาที่เสียงดัง หรือในระหว่างทำงาน เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเผลอหลับขณะขับรถหรือขณะทำงานกับเครื่องจักร ก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 
  • อารมณ์แปรปรวน โมโหหงุดหงิดง่าย 
  • ในบางคนอาจมีความวิตกกังวลหรือมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย

สาเหตุของโรค Hypersomnia หรือโรคง่วงตลอดเวลา คืออะไรบ้าง ?

สาเหตุของโรค Hypersomnia มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน เช่น อดนอนมาเป็นเวลานานและอดนอนบ่อยๆ จนร่างกายอ่อนล้าอ่อนเพลียสะสมเรื้อรัง พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้นอนเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังนอนไม่พอ หรืออาจเกิดจากนาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองมีความผิดปกติ ทำให้ร่างกายต้องการนอนหลับมากผิดปกติ หรือเป็นคนนอนกรน มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอขณะนอนหลับ รวมถึงมีโรคต่างๆ ที่ทำให้ร่างกายอยากนอนหลับอยู่ตลอดเวลา เช่น เนื้องอกในสมอง โรคลมชัก โรคสมองอักเสบ โรคพาร์กินสัน โรคเจ้าหญิงนิทรา เป็นต้น

เกร็ดสุขภาพ : มีโรคที่เรียกว่า Kleine-Levin syndrome (KLS) หรือกลุ่มอาการ “เจ้าหญิงนิทรา” ซึ่งเป็นความผิดปกติที่หายาก โดยผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนอย่างรุนแรง หรือมีปัญหาในการตื่นนอนตอนเช้า ในบางคนอาจนอนหลับนานถึง 20 ชั่วโมง/วัน หรืออาจนอนหลับนานเป็นวัน เป็นสัปดาห์ และตื่นเป็นครั้งคราวเพื่อรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ในบางรายมีการรับรู้บกพร่อง มีอาการประสาทหลอน อยู่ในสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น ไม่แน่ใจว่าอยู่ในความฝันหรือความจริง หรือจำอะไรไม่ได้ชั่วคราว เป็นต้น

ผลเสียของโรค Hypersomnia คืออะไรบ้าง

Hypersomnia คือ, โรคง่วงตลอดเวลา
Image Credit : freepik.com
  • ทำให้สมองเฉื่อยชา ทำงานช้าลง ส่งผลให้กลายเป็นคนเฉื่อยชา เซื่องซึม มึนงง ไร้เรี่ยวแรง ไม่มีชีวิตชีวา คิดอะไรไม่ค่อยออก 
  • ทำให้เกิดโรคอ้วน เพราะคนที่เป็นโรคง่วงตลอดเวลาจะนอนมากเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายทำงานน้อยลง เกิดการสะสมของไขมัน และยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงด้วย
  • เสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน และมีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อต่างๆ เพราะถ้านอนมากเกินไป ไม่ได้ขยับเขยื้อนร่างกาย อาจทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกไม่แข็งแรงได้ 
  • ผลกระทบของโรค Hypersomnia คือ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจเฉียบพลันหรือเป็นโรคไหลตาย เพราะเนื้อสมองตายอันเนื่องมาจากสัญญาณสมองที่ดับไปเป็นเวลานานเกินกว่าเวลานอนปกติ
  • เสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุข เพราะการนอนมากเกินไปอาจส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน เช่น มีการหลั่งของฮอร์โมนเอนดอร์ฟินและเซโรโทนินที่ลดต่ำลง 
  •  ในเพศหญิงอาจเสี่ยงต่อการมีบุตรยาก เนื่องจากการนอนหลับที่ผิดปกติส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศหญิงด้วยเช่นกัน 
  • เสียชีวิตเร็วขึ้น ในผู้ที่เป็นโรคง่วงตลอดเวลาจะนอนหลับมากผิดปกติ การนอนนานๆ ทำให้ไม่ได้ขยับร่างกาย ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่นอนหลับพักผ่อนอย่างพอดีถึง 1.3%

Hypersomnia รักษาอย่างไร ?

Hypersomnia คือ, โรคง่วงตลอดเวลา
Image Credit : freepik.com

วิธีการรักษาโรคง่วงนอนมากผิดปกติ หรือ Hypersomnia คือการรักษาด้วยการให้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรมการนอนของผู้ป่วยเอง โดยแพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเรื่องการตื่น เช่น Modafinil (Provigil), Armodafinil (Nuvigil), Ethylphenidate (Ritalin, Concerta) หรือยา Sodium Oxybate ที่ช่วยเรื่องการนอน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยก็ต้องปรับพฤติกรรมตนเองร่วมด้วย เพื่อให้มีการนอนหลับที่เหมาะสม ไม่นอนมากจนเกินไป ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  1. เข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น หลับลึกมากขึ้น เพื่อการนอนหลับที่มีคุณภาพ ร่างกายจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่และไม่ง่วงนอนในระหว่างวัน
  2. มีวินัยในการนอนโดยการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาเดิมทุกๆ วัน เพื่อให้ร่างกายได้จดจำนาฬิกาชีวิตของตัวเองว่าควรง่วงนอนเวลาไหนและตื่นเวลาไหน เพื่อป้องกันการนอนไม่อิ่มหรือนอนไม่พอ 
  3. จัดสภาพแวดล้อมภายในห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอนหลับพักผ่อน เช่น ปิดม่านให้สนิทเพื่อไม่ให้มีแสงรบกวนภายนอก ปรับอุณหภูมิภายในห้องนอนให้เหมาะสม ใช้ที่อุดหูหากมีเสียงดังรบกวน เป็นต้น 
  4. ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเป็นการสร้างออกซิเจนในเลือดให้มากขึ้น จะได้ไม่ได้รู้สึกอ่อนเพลียหรือง่วงนอนตลอดทั้งวัน รวมทั้งการนั่งสมาธิหายใจเข้าออกลึกๆ ด้วย 
  5. งดกินอาหารขยะ น้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ เครื่องดื่มหวานๆ หรือขนมหวานที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ และเมื่อน้ำตาลตกอย่างกะทันหันจะทำให้รู้สึกง่วง ซึม เนือย เฉื่อยชาได้ 
  6. หากนอนไม่หลับนอนกลางคืน ควรหากิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน และควรงดใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีก่อนนอนเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที อาจทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือเนื้อหาเบาๆ นั่งสมาธิ ผ่อนคลายอารมณ์ก่อนนอน เพื่อให้เข้านอนแบบสบายใจ ไม่เครียด หากเข้านอนด้วยความรู้สึกเครียด วิตกกังวล อาจทำให้คิดมากจนนอนไม่หลับได้

การนอนหลับพักผ่อนนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่การนอนมากเกินไปอาจบ่งบอกถึงปัญหาทางสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรค Hypersomnia คือ ง่วงนอนมากผิดปกติและนอนหลับมากผิดปกติ ซึ่งถ้าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ส่งผลต่อการเรียนการทำงาน หรือเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถหรือขณะทำงาน ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและความปลอดภับของเราได้นะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : siphhospital.com, petcharavejhospital.com, nhs.uk, bumrungrad.com, my.clevelandclinic.org

Featured Image Credit : freepik.com/drobotdean

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save