“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
วิธีนับวันตกไข่ ต้องนับยังไง ? ชวนรู้วิธีนับวันตกไข่ยังไง ให้มีลูกได้อย่างใจหวัง !
สำหรับบางคู่รักที่แต่งงานหรืออยู่เป็นครอบครัวกันแล้วก็อาจจะมีการวางแผนมีลูก เพื่อให้ครอบครัวสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อให้มีทายาทสืบสกุล หรือคุณพ่อคุณแม่ของบางคนก็อยากอุ้มหลาน และสำหรับสาวๆ บางคน การเป็นแม่ก็ถือเป็นความฝันอันสูงสุด แต่ถ้ามีการวางแผนมีบุตรกันมาสักพักแล้วยังไม่ตั้งครรภ์เสียที นั่นอาจเป็นเพราะว่า ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือไม่ใช่ช่วงวันไข่ตกนั่นเอง ซึ่งการนับวันไข่ตก จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น ในบทความนี้ จะพาคุณสาวๆ ไปรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวันตกไข่ และ วิธีนับวันตกไข่ ให้มากขึ้นกัน เพื่อการวางแผนมีบุตรได้อย่างใจหวังค่ะ
ชวนดู วิธีนับวันตกไข่ เตรียมพร้อมสำหรับการมีเบเบี๋ตัวน้อย
การตกไข่ของผู้หญิง จะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น หากคู่รักคู่ไหนวางแผนที่จะมีลูก ก็ต้องมีการนับวันตกไข่ให้ดี เพราะจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นนั่นเองการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีอสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในช่วงวันตกไข่ เมื่อมีการนับวันตกไข่ที่แน่นอน ก็จะช่วยกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น เพราะในช่วงวันตกไข่ จะเป็นช่วงที่อสุจิสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้ตามธรรมชาติ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดเป็นตัวอ่อน และตั้งครรภ์ได้ในที่สุด
ก่อนจะไปรู้วิธีนับวันตกไข่ เรามาพูดถึงเรื่องการตกไข่ของผู้หญิงก่อนดีกว่าค่ะ การตกไข่ เป็นกลไกธรรมชาติในระบบสืบพันธ์ุของเพศหญิงที่เกิดขึ้นทุกๆ เดือน รู้หรือไม่ว่า เซลล์ไข่ของเราถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์ มีมากถึง 6 – 7 ล้านฟอง แต่เมื่อทารกเพศหญิงคลอดออกมาแล้วจะเหลือไข่เพียง 2 ล้านฟอง และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธ์ุ เซลล์ไข่เหล่านั้นจะเหลือเพียง 2 – 5 แสนฟอง และจะมีเซลล์ไข่ที่ทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียง 400 – 500 ฟองเท่านั้น
ในแต่ละเดือน รังไข่ทั้ง 2 ข้างจะสลับกันตกไข่ เมื่อเข้าสู้วันที่ 14 ของรอบเดือน ไข่ที่ถูกคัดเลือกแล้วจะหลุดออกจากถุงรังไข่ รอการปฏิสนธิอยู่บริเวณปลายท่อนำไข่ เรียกว่า “การตกไข่” นั่นเอง และเมื่อได้รับการผสมจากอสุจิก็จะเคลื่อนตัวไปฝังอยู่ที่ผนังมดลูกเพื่อเติบโตเป็นทารกต่อไป แต่ถ้าผ่านการตกไข่ไปแล้ว 14 วันแต่ไม่มีการผสมของอสุจิในช่วงวันตกไข่ ผนังมดลูกที่รอรับการฝังตัวของตัวอ่อนก็จะสลายตัวแล้วถูกขับออกทางช่องคลอด กลายเป็นประจำเดือนในที่สุด
เกร็ดสุขภาพ : ประจำเดือนของคุณสาวๆ ถูกควบคุมโดยฮอร์โมน FSH (Follicle Stimulating Hormone) และ LH ( Luteinising Hormone) ซึ่งจะหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง ในช่วงแรกของการมีประจำเดือน FSH จะหลั่งออกมามาก เพื่อกระตุ้นให้ไข่ และถุงไข่ (Follicle) มีการเจริญเติบโต ซึ่งจะมีไข่ในรังไข่ประมาณ 15 – 20 ฟอง แต่จะมีเพียง 1 ฟองเท่านั้นที่ถูกคัดเลือกให้เหลือ 1 ใบที่สมบูรณ์ที่สุด และจะมีการตกไข่เพื่อรอผสมกับอสุจิ สำหรับไข่ฟองอื่นๆ ก็จะฝ่อไป และในขณะที่ไข่เจริญเติบโต ถุงไข่จะสร้างฮอร์โมน Estrogen ซึ่งทำหน้าที่สร้างเยื่อบุผนังโพรงมดลูก เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนนั่นเอง เป็นกลไกทางธรรมชาติที่มหัศจรรย์มากๆ ค่ะ
วันตกไข่ นับยังไงให้ได้ผล มาดูกัน !
อย่างที่กล่าวไปว่า ผู้หญิงจะมีการตกไข่เดือนละครั้งเท่านั้น และช่วงที่ไข่จะพร้อมรอการผสมกับอสุจิก็จะมีช่วงเวลาอยู่แค่ 12 – 24 ชั่วโมง โดยจะเคลื่อนที่มาอยู่ตรงปลายท่อนำไข่เพื่อรอการผสม ถ้าหากมีการปฏิสนธิหรือมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้ ไข่ก็จะเคลื่อนที่ไปฝังตัวอยู่ที่เยื่อบุผนังมดลูก กลายเป็นตัวอ่อน และเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น แต่ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสม ก็จะกลายเป็นประจำเดือนตามที่ได้บอกไป ในกรณีที่ประจำเดือนมาปกติ มาตรงเวลาแทบจะทุกๆ เดือน การนับวันไข่ตกตามปฏิทินจะค่อนข้างแม่นยำ โดยปกติแล้ว ผู้หญิงจะมีรอบเดือนทุก 28 วัน วิธีนับวันตกไข่คือ ให้นับหลังจากวันแรกที่ประจำเดือนมาเป็นวันที่ 1 ซึ่งวันที่ 14 จะเป็นวันไข่ตก ถ้าวางแผนที่จะมีบุตร ก็ให้มีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 – 2 วันก่อนไข่ตก เนื่องจากอสุจิสามารถรอปฏิสนธิอยู่ในรังไข่ได้ประมาณ 2 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ตรงกับวันตกไข่พอดี
กล่าวง่ายๆ คือ วิธีนับวันตกไข่ จะนับในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนจะมานั่นเอง ทั้งนี้ การคำนวณวันไข่ตกที่มีความแม่นยำ จะได้ผลกับคนที่มีรอบเดือนอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น สมมติว่า ประจำเดือนมาวันที่ 1 มีนาคม วันที่ไข่ตกก็จะอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 14 มีนาคม – 17 มีนาคม แต่ถ้าหากประจำเดือนมาไม่ตรง และต้องการนับวันตกไข่ ก็สามารถใช้ชุดตรวจการตกไข่ได้ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับที่ตรวจครรภ์ คือการตรวจด้วยปัสสาวะ เพื่อใช้ในการคาดคะเนวันตกไข่ได้อย่างแม่นยำ การแสดงผลของชุดตรวจนี้ จะมาจากฮอร์โมนที่กระตุ้นการตกไข่ คือ ฮอร์โมน LH (Luteinozing Hormone) และระยะเวลาที่เหมาะสมกับการใช้ที่ตรวจวันตกไข่คือ หลังจากมีประจำเดือนวันแรกและนับไปอีก 10 – 12 วัน ควรตรวจช่วงหลังบ่ายโมงจนถึง 2 ทุ่ม เพราะปัสสาวะจะมีความเข้มข้นของฮอร์โมน LH มากที่สุด ถ้าเป็นช่วงที่ไข่ตก ก็จะขึ้นผล 2 ขีด การใช้ชุดตรวจไข่ตก ก็สามารถทำให้การวางแผนมีเบบี๋ตัวน้อยง่ายขึ้นอีกทางหนึ่งค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : บางคนอาจจะเข้าใจไปว่า การมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์และมีลูกได้ง่ายขึ้น แต่ความจริงแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ทุกวันไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์แต่อย่างใด และการมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ นั้น จะทำให้ปริมาณอสุจิลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้น หากอยากวางแผนที่จะมีลูก การรู้วิธีนับวันตกไข่ และมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตก จะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากกว่าค่ะ
ชวนสังเกตอาการ วันไข่ตก เพื่อความแม่นยำมากขึ้น
นอกจากจะมีวิธีนับวันตกไข่ เพื่อหาช่วงเวลาไข่ตกได้แล้ว ในช่วงไข่ตก ร่างกายของคุณผู้หญิงก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน การสังเกตร่างกายของตัวเอง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้คำนวณวันไข่ตกเพื่อวางแผนมีบุตรได้อีกทางหนึ่งค่ะ โดยจะมีอาการดังนี้
- มีการตกขาวมากกว่าปกติ การตกขาวมากกว่าปกติ เป็นหนึ่งในอาการของช่วงที่ไข่ตก โดยทางการแพทย์จะเรียกตกขาวที่เกิดขึ้นว่า มูกที่ปากมดลูก ซึ่งมูกชนิดนี้จะช่วยให้อสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น
- มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น ในช่วงที่ไข่ตก ผู้หญิงจะมีอารมณ์ทางเพศสูงขึ้น เนื่องจากเป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่มีการสูบฉีดเลือดมากขึ้น และส่งผลให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณช่องคลอด รวมถึงมีการสร้างของเหลวหล่อลื่นมากเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ฮอร์โมนในร่างกายก็จะทำให้รูปร่างของคุณสาวๆ ดูมีน้ำมีนวล แล้วก็เปล่งปลั่งมากขึ้นด้วยค่ะ
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ในช่วงเวลาที่ไข่ตก อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณฮอร์โมนบางชนิดที่มีมากขึ้น และร่างกายมีการสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส
- มีอาการเจ็บคัดเต้านม ในบางคนอาจจะรู้สึกว่าช่วงที่ไข่ตกจะมีการเจ็บคัดเต้านม คัดหน้าอก ซึ่งเป็นเพราะปริมาณฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือที่เรียกว่า PMS หรือ PMDD ก็อาจจะมีอาการเจ็บเต้านมได้เช่นกัน
- ปวดท้องน้อยข้างเดียว สาวๆ หลายคนจะมีอาการปวดท้องน้อยข้างเดียว และรู้สึกปวดไม่มาก ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย ให้มีความเหมาะสมและเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ถ้ารู้ว่าวันตกไข่ นับยังไงแล้ว บวกกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา ก็จะช่วยยืนยันช่วงเวลาตกไข่ได้แม่นยำมากขึ้นค่ะ
วิธีดูแลตัวเองสำหรับการมีลูกน้อย ให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
สำหรับคนที่วางแผนจะมีครอบครัว มีทายาท นอกจากการรู้ว่าวันตกไข่ นับยังไงแล้ว การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้เตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งอาหารที่จะช่วยให้ทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายมีสุขภาพแข็งแรง เตรียมพร้อมเพื่อการมีบุตร มีดังนี้ค่ะ
- รับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูง ซึ่งจะช่วยเร่งการตกไข่ของฝ่ายหญิง และทำให้อสุจิของฝ่ายชายแข็งแรงขึ้น เช่น ผักใบเขียวต่างๆ อะโวคาโด ธัญพืชไม่ขัดสี ตับ ไข่แดง เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีสังกะสี แมงกานีส ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณอสุจิและระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เช่น หอยนางรม เนื้อไก่ กุ้ง ปู มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวกล้อง เมล็ดฟักทอง มะม่วง แอปเปิ้ล สัปปะรด เป็นต้น
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อปลา เนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ หรือโปรตีนจากพืชอย่างถั่วเหลือง เต้าหู้ เมล็ดถั่วเปลือกแข็งต่างๆ
- รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก บำรุงเลือดได้ดีแล้ว ยังช่วยให้ฝ่ายหญิงมีมดลูกที่แข็งแรง และผลิตไข่ที่มีคุณภาพ
วิธีนับวันตกไข่ จะช่วยให้คู่รักวางแผนการมีบุตรได้ง่ายมากขึ้น และมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้ แต่อย่างที่กล่าวไปว่า การนับวันตกไข่ และมีความแม่นยำกับคุณผู้หญิงที่มีรอบเดือนตรงเวลาเท่านั้น ในคนที่มีประจำเดือนคลาดเคลื่อน การใช้ชุดตรวจการตกไข่ หรือสังเกตร่างกายของตัวเอง ก็จะช่วยให้ทราบระยะเวลาของการตกไข่ได้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ นอกจากการนับวันตกไข่แล้ว การดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งคุณผู้หญิงแล้วก็คุณผู้ชาย ด้วยการรับอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ ก็จะช่วยให้การตั้งครรถ์และมีเบเบี๋น้อยสำเร็จได้มากขึ้นด้วยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : vibhavadi.com, phyathai.com, bpksamutprakan.com, multimedia.anamai.moph.go.th
Featured Image Credit : freepik.com/wayhomestudio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ