X

ชวนรู้จัก โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน อันตรายมากไหม ? ดูแลตัวเองยังไงให้ห่างไกลจากโรคนี้

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ชวนรู้จัก โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน อันตรายมากไหม ? ดูแลตัวเองยังไงให้ห่างไกลจากโรคนี้

เคยมีอาการชามือชาเท้าโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือรู้สึกเจ็บแปล๊บๆ บริเวณมือหรือเท้าอย่างกะทันหันไหมคะ แม้จะไม่ได้ไปทำอะไรหรือไม่ได้มีอาการบาดเจ็บอะไร จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนโดนเข็มแทงบริเวณนั้นๆ หรือรู้สึกเหมือนถูกไฟช็อต ซึ่งนั่นอาจเป็นอาการของ โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน ในบางคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับโรคนี้มาบ้าง แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคือโรคอะไร มีอาการอย่างไร และร้ายแรงแค่ไหน ควรไปพบแพทย์หรือไม่ เรามาทำความรู้จักอาการปลายประสาทอักเสบให้มากขึ้นกัน เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของเราเองค่ะ

โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน คืออะไร อันตรายไหม ? มารู้จักให้มากขึ้น

โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน, โรคปลายประสาทอักเสบ
Image Credit : freepik.com

โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral neuropathy) และโรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน เป็นกลุ่มอาการของเส้นประสาทส่วนปลายซึ่งทำหน้าที่นำคำสั่งจากสมองและไขสันหลังไปยังอวัยวะต่างๆ รวมถึงทำหน้าที่รับความรู้สึกจากอวัยวะต่างๆ กลับไปยังสมองด้วย ซึ่งอาการอักเสบที่เกิดขึ้น จะเกิดกับเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ในส่วนต่างๆ ได้แก่

  • เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory nerves) เป็นเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับผิวหนัง ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น รู้สึกร้อน หนาว รู้สึกเจ็บปวด เป็นต้น
  • เส้นประสาทสั่งการ (Motor nerves) เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
  • เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nerves) เป็นเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับอวัยวะภายใน ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ความดันเลือด ระบบย่อยอาหาร อัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกระเพาะปัสสาวะ การขับเหงื่อ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อมีอาการของโรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้น อาจทำให้มีอาการอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ รู้สึกชา ปวด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นที่มือและเท้า และรู้สึกเหมือนกับถูกเข็มทิ่มแทง มีอาการแสบร้อน หรือคล้ายแมลงไต่ ซึ่งจะมีอาการต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่า จะมีการอักเสบที่เส้นประสาทคู่ใด

เกร็ดสุขภาพ : ในร่างกายของมนุษย์ ระบบประสาทส่วนปลายจะทำหน้าที่รับคำสั่งจากระบบประสาทส่วนกลาง แล้วส่งต่อคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวและสามารถรับความรู้สึกได้ โดยระบบประสาทส่วนปลายจะมีเส้นประสาทที่ทำหน้าที่เหมือนกับสายไฟฟ้าในการนำคำสั่งไปตามอวัยวะต่างๆ ทั้งนี้ โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน กับโรคปลายประสาทอักเสบปกติ เป็นกลุ่มโรคเดียวกัน มีอาการไม่ต่างกัน แต่แตกต่างกันตรงที่อาการของโรคจะค่อยๆ เกิดขึ้น กับมีการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันนั่นเอง

โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน มีอาการอย่างไร

โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน, โรคปลายประสาทอักเสบ
Image Credit : freepik.com

เมื่อเกิดการอักเสบของปลายประสาทขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักจะมีอาการดังนี้

  • มีอาการเหน็บชา หรือสึกเสียวที่เท้าหรือมือ ซึ่งสามารถลามไปถึงแขนขาได้
  • รู้สึกเหมือนถูกเข็มเล็กๆ ทิ่มแทง หรือปวดแสบปวดร้อน 
  • ไวต่อการสัมผัส รู้สึกเหมือนสวมถุงมือถุงเท้าทั้งๆ ที่ไม่ได้สวม
  • รู้สึกปวดแปล๊บอย่างรุนแรงในการเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น เมื่อลงน้ำหนักเท้า
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสียการทรงตัว

นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว หากมีการอักเสบของเส้นประสาทอัตโนมัติ ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหาร ท้องผูกหรือท้องเสีย มีความดันโลหิตต่ำ เหงื่อออกมากผิดปกติ และถ้าหากมีการอักเสบของเส้นประสาทคู่ต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน ก็จะมีอาการแยกย่อยแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแบ่งแยกอาการตามการอักเสบของคู่เส้นประสาทแต่ละคู่ได้ดังนี้

  • เส้นประสาทคู่ที่ 7 : จะทำให้ใบหน้าเบี้ยว ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก โดยส่วนหนึ่งของอาการนี้มาจากการติดเชื้อไวรัสในขณะที่ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลง เช่น ในช่วงที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย
  • เส้นประสาทคู่ที่ 8 : ทำให้สูญเสียการทรงตัว หกล้มง่าย มีอาการบ้านหมุน บางคนอาจได้ยินเสียงแว่วในหู หรือมีอาการหูดับ
  • เส้นประสาทคู่ที่ 3,4 หรือ 6 : โดยอาการอักเสบของเส้นประสาทคู่ดังกล่าว มักจะพบในกลุ่มคนที่เป็นเบาหวาน ทำให้เห็นภาพซ้อนในแนวใดแนวหนึ่ง
  • เส้นประสาทคู่ที่ 5 : ในคนที่เป็นโรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน หากมีการอักเสบในเส้นประสาทคู่ที่ 5 จะทำให้รู้สึกเสียวแปล๊บบนใบหน้า หรือเจ็บแปล๊บๆ คล้ายกับการถูกไฟฟ้าช็อต ซึ่งมักจะเกิดบนใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง

สาเหตุของการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน มีอะไรบ้าง ?

โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน, โรคปลายประสาทอักเสบ
Image Credit : freepik.com
  1. โรคเบาหวาน รู้หรือไม่ว่า โรคเบาหวานเป็นสาเหตุของการเกิดโรคปลายประสาทอักเสบที่พบได้บ่อยมากที่สุด
  2. โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง รวมถึงกลุ่มอาการของโรคโจเกรน ลูปัส โรคข้อรูมาตอยด์ กลุ่มโรคกิลแกง-บาร์เร โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง และการอักเสบของผนังหลอดเลือด
  3. มีบาดแผลหรือมีการกดทับที่เส้นประสาท ซึ่งทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย เช่น เกิดจากอุบัติเหตุ หรือบาทเจ็บจากการเล่นกีฬา รวมถึงการกดทับเป็นเวลานานที่ทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย เช่น ใส่เฝือก ใช้ไม้ค้ำ หรือนั่งพิมพ์งานนานๆ 
  4. เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งการติดเชื้อจากไวรัสและแบคทีเรีย รวมไปถึงโรคไลม์ โรคงูสวัด การติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ ไวรัสตับอักเสบซี โรคคอตีบ หรือเอชไอวี ก็ทำให้เกิดโรคปลายประสาทอักเสบได้ 
  5. เกิดเนื้องอกหรือเป็นโรคมะเร็งบางชนิด ที่กระจายไปยังเส้นประสาทหรือไปกดทับเส้นประสาท

นอกจากนี้ ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคปลายประสาทอักเสบได้เช่นกัน อาทิ โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับ โรคไต ความผิดปกติของไขกระดูก การสัมผัสกับสารพิษอย่างตะกั่วและปรอท รับประทานยาบางชนิดที่ส่งผลข้างเคียงต่อเส้นประสาท หรือแม้กระทั่งการทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ก็อาจทำให้เกิดโรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลันได้เช่นกัน

เกร็ดสุขภาพ : ภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสมและพฤติกรรมการกินของเรา ก็ทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้ หากรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ก็จะขาดสารอาหารจำพวกวิตามินต่างๆ อาทิ วิตามินบี 1 บี 6 บี 12 วิตามินอี และไนอาซิน ซึ่งการขาดวิตามินเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญที่อาจทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้  ดังนั้น จึงควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีและอีสูง หรือกินวิตามินรวม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดวิตามินและเกิดโรคปลายประสาทอักเสบได้

การวินิจฉัยปลายประสาทอักเสบ ทำได้อย่างไร

เมื่อสงสัยว่าตัวเองจะมีอาการที่บ่งชี้ถึงปลายประสาทอักเสบ ให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการสอบถามประวัติอาการที่เกิดขึ้น และทำการตรวจร่างกาย ตรวจประสาทสัมผัส หรือตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุที่มาจากการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือในบางคนอาจทำการตรวจการทำงานของเส้นประสาท (Nerve Conduction Test: NCS) เพิ่มเติม ร่วมกับการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) หรือทำการเอ็กซ์เรย์ เป็นต้น

วิธีรักษาอาการปลายประสาทอักเสบ – โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน

  • รักษาด้วยยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบ เนื่องจากอาการของปลายประสาทอักเสบจะรู้สึกปวดหรือเจ็บในบริเวณที่มีการอักเสบเกิดขึ้น แต่ใช้บรรเทาอาการที่ไม่รุนแรงเท่านั้น 
  • ให้ยาใช้เฉพาะที่ เช่น ยาครีมแคปไซซิน ซึ่งจะช่วยลดอาการที่เกิดจากประสาทส่วนปลายอักเสบ หรือใช้แผ่นแปะเพื่อลดอาการปวดในบริเวณผิวหนังที่มีอาการ
  • ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนัง เพื่อลดความเจ็บปวด

ทั้งนี้ ยังมีการรักษาแบบอื่นๆ อีก ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับการประเมินวินิจฉัยของแพทย์ เช่น ต้องทำการผ่าตัด การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น

ป้องกันไม่ให้เกิดปลายประสาทอักเสบ ทำได้อย่างไร

โรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน, โรคปลายประสาทอักเสบ
Image Credit : freepik.com

ในกรณีที่เกิดโรคปลายประสาทอักเสบเฉียบพลันอันมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัวหรือโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน การดูแลตัวเองให้อาการของโรคทรงตัวอยู่เสมอและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจช่วยป้องกันการเกิดปลายประสาทได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไร ก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดปลายประสาทอักเสบได้ และทำได้ดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เน้นการรับประทานผัก ธัญพืช และโปรตีนที่มีไขมันต่ำ รวมถึงอาหารที่มีวิตามินบี 12 เพราะเป็นสารอาหารที่ช่วยบำรุงระบบประสาทได้  
  2. ออกกำลังกายเป็นประจำ เคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ เพราะการนั่งนานเกินไปหรืออยู่ในท่าเดิมนานเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการชา มีการกดทับเส้นประสาท ทำให้เกิดการอักเสบได้ 
  3. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น การยกของหนัก การก้มๆ เงยๆ 
  4. หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างหรือนั่งในท่าที่อาจกดทับเส้นประสาทได้ 
  5. ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากทำให้เกิดโรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปลายประสาทอักเสบได้

อาการปลายประสาทอักเสบ แม้เริ่มต้นอาจดูไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องและปล่อยทิ้งเอาไว้ อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง และอาจทำให้ส่งผลเสียอื่นๆ ได้ เช่น หกล้มบ่อยเนื่องจากสูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง หยิบจับอะไรไม่สะดวกเพราะชามือบ่อยๆ ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้าลามมาถึงสะโพก แนะนำให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะถ้าหากปล่อยไว้นานๆ อาจกลายเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตได้เลยนะคะ แม้จะรู้สึกแค่เจ็บแปล๊บๆ บริเวณมือเท้า หรือชามือชาเท้า เท้าร้อน (อ่านเพิ่มเติม เท้าร้อน ขาดวิตามินอะไร) ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของเราเองค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : samitivejhospitals.com, synphaet.co.th, mayoclinic.org, nhs.uk

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save