X

ข้อไหล่ติด คืออะไร ? อาการเป็นยังไง ? รักษาหายมั้ย ?!

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ข้อไหล่ติด คืออะไร ? อาการเป็นยังไง ? รักษาหายมั้ย ?!

คนที่มีอาการปวดหรือรู้สึกเจ็บบริเวณหัวไหล่อยู่บ่อยๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคที่เรียกว่า ข้อไหล่ติด ได้ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ทำให้บางคนก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังมีอาการนี้อยู่ ส่วนใหญ่จะรู้สึกได้ตอนที่ไพล่มือไปข้างหลังหรือเอื้อมหยิบจับของที่อยู่สูงเหนือศีรษะแล้วรู้สึกเจ็บแปลบขึ้นมา และถ้าอาการเริ่มรุนแรงขึ้นก็จะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณไหล่ทุกครั้งที่ขยับจนรบกวนการใช้ชีวิตเลยล่ะค่ะ ถ้าอยากรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น และอยากจะรู้ว่าโรคนี้มีอาการยังไงบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ? เพื่อที่จะสามารถรับมือและป้องกันได้อย่างถูกวิธี ในบทความนี้มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

อาการ ข้อไหล่ติด เป็นยังไง ? เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง

ข้อไหล่ติด, ข้อไหล่ติด อาการ
Image Credit : freepik.com

ภาวะนี้เป็นหนึ่งในอาการเจ้าปัญหาที่คอยกวนใจการใช้ชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน โดยข้อไหล่ติด อาการของโรคนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงแต่ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ในการรับประทานอาหาร การหยิบจับสิ่งของ หรือแม้กระทั่งการใส่เสื้อผ้า มาเช็คกันเลยว่าคุณกำลังเผชิญกับภาวะนี้ยู่หรือเปล่า

ปัจจุบันอาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง อาทิ เบาหวาน โรคที่เกี่ยวกับน้ำหนักตัว โรคไทรอยด์ รวมถึงคนที่ประสบอุบัติเหตุที่ข้อไหล่ หรือในบางคนอาจจะเกิดขึ้นจากพันธุกรรมก็เป็นได้ ซึ่งพบว่าผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย โดยมักจะพบในช่วงอายุระหว่าง 40 – 60 ปี และส่วนใหญ่อาการข้อไหล่ติด จะเกิดขึ้นกับไหล่ข้างที่ไม่ถนัดมากกว่าไหล่ข้างที่ถนัดอีกด้วย

ข้อไหล่ติด อาการเป็นยังไงบ้าง ?

อาการของผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะไม่สามารถยกไหล่ได้สุดและจะรู้สึกปวดเมื่อยกแขน โดยจะเกิดขึ้นได้ในทุกองศาไม่ว่าจะเป็นด้านหน้า ด้านข้าง หรือด้านหลัง แต่ถ้าใครมีอาการเจ็บกลางอกเวลาห่อไหล่นั้น ก็อาจจะเป็นอาการของโรคอื่นๆ มากกว่า โดยอาการข้อไหล่ติดสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 หรือระยะเริ่มมีอาการเจ็บปวด คือ มีอาการเจ็บปวดบริเวณข้อหัวไหล่ และจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นที่อาจรู้สึกปวดขึ้นมาได้แม้ในขณะที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร ระยะนี้มักจะปวดประมาณ 2 – 9 เดือน ซึ่งจะมีการขยับหัวไหล่ได้น้อยลง
  • ระยะที่ 2 หรือระยะเริ่มข้อไหล่ติด อาการปวดระยะแรกยังคงอยู่หรืออาจจะลดลงเล็กน้อย แต่การเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด ระยะนี้จะมีอาการอยู่ประมาณ 2 เดือน – 1 ปี หรือในบางคนก็อาจจะนานกว่านี้
  • ระยะที่ 3 หรือระยะฟื้นตัว คือระยะที่อาการปวดจะดีขึ้น การเคลื่อนไหวหัวไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ และสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1 – 3 ปี

เกร็ดสุขภาพ : การนวดไม่สามารถช่วยรักษาข้อไหล่ติดได้ เพราะเป็นเพียงการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและช่วยในเรื่องกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่โรคนี้มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ข้อไหล่ หรือมีอาการเยื่อหุ้มข้อไหล่อักเสบ จนทำให้เยื่อหุ้มข้อไหล่ที่ปกติสามารถยืดหยุ่นได้ดีเริ่มหนาตัวขึ้นจนกลายเป็นพังผืดและทำให้มีอาการปวด ดังนั้นการนวดจึงไม่สามารช่วยรักษาให้หายได้ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้ก็สามารถนวดได้โดยที่ไม่เป็นอันตรายใดๆ

วิธีรักษาทำได้อย่างไรบ้าง ?

ข้อไหล่ติด, ข้อไหล่ติด อาการ
Image Credit : freepik.com

ข้อไหล่ติด อาการปวดสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ แต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก หรือใครที่มีอาการปวดมากเกินไป แพทย์จะจ่ายยาลดปวดทั้งแบบกินและแบบฉีดเพื่อบรรเทาอาการ หรือทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดตึง และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการเข้ารับการผ่าตัดถ้าการใช้ยากับการทำกายภาพบำบัดไม่สามารถรักษาให้หายได้ และสุดท้ายก็คือการออกกำลังกาย ซึ่งสามารถช่วยได้ทั้งการรักษาและยังช่วยป้องกันได้อีกด้วยค่ะ

การรักษาข้อไหล่ติดด้วยตัวเอง

ข้อไหล่ติด, ข้อไหล่ติด อาการ
Image Credit : freepik.com

ถ้าใครที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังมีอาการนี้ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกไปค่ะ เราจะมาสอนวิธีดูแลตนเองเบื้องต้นเพื่อไม่ให้อาการเป็นหนักขึ้นกัน โดยอันดับแรกที่ควรทำเมื่อรู้สึกว่ามีอาการปวดก็คือ ให้ลดการใช้แขนหรือไหล่ข้างนั้นลงและพยายามอย่าทำกิจกรรมอะไรที่จะไปกระตุ้นให้รู้สึกปวดมากขึ้น จากนั้นทำการประคบเย็นบริเวณที่ปวดเป็นระยะเวลาครั้งละ 15 – 20 นาทีเมื่อมีอาการปวดและบวม ซึ่งการประคบเย็นจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่างดี และหากรู้สึกว่าปวดมากก็สามารถประคบเย็นได้ทุกวันในช่วงอาทิตย์แรก หรือจะนอนหมอนเพื่อสุขภาพเพื่อช่วยลดอาการปวดก็ได้ (อ่านเพิ่มเติม หมอนเพื่อสุขภาพ ยี่ห้อไหนดี) แต่แนะนำว่าให้ทำท่าบริหารตามนี้ร่วมด้วย ก็จะช่วยทำให้หายเร็วขึ้นได้ค่ะ

1. ท่าเหยียดแขนเหนือศีรษะ

ยกแขนข้างที่มีอาการปวดขึ้นเหนือศีรษะแล้วใช้มืออีกข้างพยุงข้อศอกเอาไว้ ออกแรงดันแขนไปทางศีรษะแล้วพยายามเพิ่มแรงดันทีละนิด ทำให้ได้มากที่สุด โดยทำให้พอรู้สึกตึงๆ และระวังอย่าให้รู้สึกเจ็บเกินไป

2. ท่าผ้าถูหลัง

ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนยาว 1 ผืนพาดผ่านไหล่ไปทางข้างหลังใช้มืออีกข้างจับชายผ้าอีกฝั่งแล้วขยับมือทั้ง 2 ข้างขึ้นลงพร้อมกันเป็นจังหวะและสลับข้างทำอีกครั้ง

3. ท่าเหยียดแขนข้างลำตัว

เหยียดแขนข้างที่เป็นข้อไหล่ติดไปด้านหน้าและพับเข้ามาชิดกับลำตัว ทำมุม 90 องศา โดยให้แขนขนานกับพื้นแล้วใช้อีกมือพยุงข้อศอกออกแรงดันแขนให้เข้าสู่ลำตัวให้มากที่สุดแล้วค้างไว้ประมาณ 30 – 60 วินาที

4. ท่านิ้วไต่กำแพง

ยืนหันหน้าเข้าหากำแพง แล้วนำฝ่ามือข้างที่รู้สึกปวดวางลงไปบนผนังแล้วไต่ขึ้นไปเรื่อยๆให้สูงที่สุดเท่าที่จะพยายามทนปวดได้ ทำซ้ำ 10 ครั้ง และพยายามทำให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในวันถัดๆ มาแต่ระวังอย่าทำจนรู้สึกเจ็บจนเกินไปนะคะอาจจะทำให้อาการแย่ลงได้

เกร็ดสุขภาพ : ภาวะเส้นเอ็นใต้สะบักอักเสบ เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุเช่นเดียวกับโรคข้อไหล่ติด อาการมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่ภาวะเส้นเอ็นใต้สะบักอักเสบนี้จะมีอาการปวดในเวลากลางคืน ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อใต้สะบักและถุงที่อยู่ระหว่างเส้นเอ็นและกระดูก โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ก็จะรู้สึกปวดที่หัวไหล่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องยกแขนเหนือศีรษะ แต่ก็เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงและไม่เจ็บเท่ากับข้อไหล่ติด

โรคข้อไหล่ติด เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงและสามารถรักษาให้หายด้วยตัวเองได้ ใครที่กำลังเป็นอยู่แนะนำว่าให้ออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยก็จะช่วยได้มากเลยค่ะ และสำหรับใครที่เริ่มอายุมากขึ้นแล้วแนะนำว่าให้ลองออกกำลังกายด้วยการทำท่าโยคะยืดเส้นวันละนิดก็จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nonthavej.co.th, siphhospital.com, rama.mahidol.ac.th, bangkokhospital.com, orthoinfo.aaos.org

Featured Image Credit : freepik.com/shayne_ch13

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save