“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ไส้เลื่อน สาเหตุ เกิดจากอะไร ? ผู้หญิงเป็นได้ไหมนะ ?!
ไส้เลื่อนเป็นปัญหาที่พบบ่อยโดยเฉพาะในผู้ชาย และเรามักจะได้ยินอยู่เป็นประจำ ปกติแล้วมักไม่เป็นอันตรายและไม่เจ็บปวด แต่บางครั้งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและเจ็บปวดได้ในบางคน ซึ่งไส้เลื่อนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิตในทันที แต่จะไม่หายไปเอง บางครั้งอาจต้องผ่าตัดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย และไส้เลื่อนนั้นไม่ได้เป็นแค่ในผู้ชายเท่านั้น เพราะไส้เลื่อนในผู้หญิงก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับ ไส้เลื่อน สาเหตุ เกิดจากอะไร รวมถึงวิธีการรักษาและดูแลตัวเองกันค่ะ
ไส้เลื่อน สาเหตุ เกิดจากอะไรได้บ้าง ? ใครบ้างที่มีความเสี่ยง ?
ไส้เลื่อน สาเหตุเกิดจากอะไร ? ไส้เลื่อนเกิดขึ้นเมื่ออวัยวะภายในบางส่วนเคลื่อนตัวออกจากตำแหน่งเดิม ผ่านจุดอ่อนในกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่ยึดเข้าที่ หรือพังผืดที่เกิดความหย่อนยานสูญเสียความแข็งแรง มักปรากฏเป็นก้อนตุงและนูนออกมา เช่น ลำไส้อาจทะลุผ่านบริเวณที่อ่อนแอในผนังช่องท้อง อวัยวะที่เกิดไส้เลื่อนได้บ่อย คือ ลำไส้เล็ก นอกจากนี้ไส้เลื่อนมีหลายประเภท ได้แก่ ไส้เลื่อนขาหนีบ ไส้เลื่อนที่ต้นขา ไส้เลื่อนสะดือ และไส้เลื่อนกระบังลม ซึ่งไส้เลื่อนจำนวนมากเกิดขึ้นที่หน้าท้องระหว่างหน้าอกและสะโพก และไส้เลื่อนในผู้หญิงมักพบมากที่ต้นขา โดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์หรือเป็นโรคอ้วน
ประเภทของไส้เลื่อนที่พบบ่อย
ไส้เลื่อนนั้นมีหลายประเภทที่พบ โรคไส้เลื่อนแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามตำแหน่งที่อวัยวะเคลื่อนไปอยู่ มารู้จักประเภทของไส้เลื่อน สาเหตุของประเภทนั้นๆ กันค่ะ
1. ไส้เลื่อนตรงขาหนีบ (Inguinal hernia)
พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 25 เท่า เป็นไส้เลื่อนชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด และยังเป็นไส้เลื่อนที่พบในผู้หญิงอีกด้วย โดยจะเป็นก้อนนูนที่ขาหนีบที่อาจไปถึงถุงอัณฑะ เกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบ หรืออาจเกิดจากการไอเรื้อรัง จากโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือถุงลมโป่งพอง
2. ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia)
เกิดจากการที่ส่วนบนของกระเพาะอาหารผลักออกจากช่องท้องและเคลื่อนที่ผ่านรูบริเวณกระบังลมเข้าไปในช่องอก เนื่องจากกล้ามเนื้อและพังผืดของกระบังลมมีการหย่อนยานและเสียความยืดหยุ่น มักเกิดขึ้นในคนสูงอายุ
3. ไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia)
มักพบตั้งแต่แรกเกิด หรือที่เรียกกันว่าสะดือจุ่น เกิดจากการที่ทารกคลอดออกมาแล้ว หากผนังหน้าท้องตรงสะดือปิดไม่สนิท ทำให้บางส่วนของลำไส้เคลื่อนตัวออกมาอยู่ใต้สะดือและดันจนสะดือนูนขึ้นมาได้
4. ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (Incisional hernia)
เกิดจากการที่เคยผ่าตัดช่องท้อง และอาจทำให้เกิดไส้เลื่อนแบบลากผ่านแผลเป็นได้ เนื่องจากบางครั้งการผ่าตัดที่หน้าท้องพอหายแล้วอาจทำให้กล้ามเนื้อและผังพืดนั้นหย่อนยานกว่าปกติ ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวมาอยู่บริเวณนั้นได้
เกร็ดสุขภาพ : ไส้เลื่อนที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดช่องท้องนั้น ในกรณีส่วนใหญ่ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนที่ไส้เลื่อนจะเกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงของไส้เลื่อนจะเพิ่มขึ้นตามอายุและมักเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน
ในกรณีส่วนใหญ่ ไส้เลื่อน สาเหตุที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ทราบแน่ชัด แต่ความเสี่ยงของไส้เลื่อนจะเพิ่มขึ้นตามอายุและมักเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ไส้เลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้แต่กำเนิด หรือพัฒนาในเด็กที่มีความอ่อนแอในผนังช่องท้องได้ขณะที่ไส้เลื่อนในผู้หญิงมักจะเกิดขึ้นตรงขาหนีบ นอกจากสาเหตุหลักๆ เหล่านี้แล้ว กิจกรรมและปัญหาทางการแพทย์ที่เพิ่มแรงกดดันต่อผนังช่องท้องก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดไส้เลื่อนได้เช่นกัน ได้แก่
- ผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง (อ่านเพิ่มเติมสีอุจจาระ บอกโรค)
- ไอเรื้อรัง
- โรคปอดเรื้อรัง
- ต่อมลูกหมากโต
- ปัสสาวะลำบาก
- น้ำหนักเกินหรืออ้วน
- การล้างไตทางช่องท้อง
- โภชนาการที่ไม่ดี
- ตั้งครรภ์
- การคลอดก่อนกำหนดและทารกน้ำหนักแรกเกิดต่ำ
- ผู้สูงอายุ
- คนสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนลง และทำให้ไส้เลื่อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การรักษา
การรักษาไส้เลื่อน สาเหตุเกิดจากอะไรก็จะรักษาจากสาเหตุนั้น อาการไส้เลื่อนอาจทำให้รู้สึกไม่สบายและเจ็บปวด โดยอาการมักจะแย่ลงเมื่อยืน เกร็ง หรือยกของหนัก และจะสังเกตเห็นอาการบวมในบริเวณนั้นๆ หรือมีความเจ็บปวดรุนแรงเพิ่มขึ้น และควรไปพบแพทย์ทันทีหากไส้เลื่อนขาหนีบทำให้เกิดอาการเฉียบพลัน เช่น ความเจ็บปวด คลื่นไส้ อาเจียน เนื้อโป่งดันออกมาจนกลับเข้าไปในช่องท้องไม่ได้ หรือหากเป็นไส้เลื่อนกระบังลมอาจทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ ซึ่งเกิดจากการที่กรดในกระเพาะเข้าไปในหลอดอาหาร
ส่วนการรักษาไส้เลื่อนนั้น ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการผ่าตัดไส้เลื่อนแต่ละชนิด เพื่อนำลำไส้หรืออวัยวะอื่นให้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมและเย็บปิดรู ในบางกรณี ไส้เลื่อนจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดทันที เช่น เมื่อส่วนหนึ่งของลำไส้อุดตันหรือถูกบีบรัดด้วยไส้เลื่อนขาหนีบ และทางเลือกในการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ รวมถึงตำแหน่งของไส้เลื่อน แต่ก็มีการผ่าตัดสองประเภทหลักสำหรับไส้เลื่อน ได้แก่ การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบมาตรฐาน (แบบเดิม) และการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบใช้กล้องส่อง ซึ่งการผ่าตัดไส้เลื่อนที่นำโดยกล้องส่องจะช่วยให้แผลมีขนาดเล็กลง และช่วยให้ฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็วยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
สามารถป้องกันไส้เลื่อนได้อย่างไร
การป้องกันการเกิดไส้เลื่อนนั้น ควรรักษาน้ำหนักตัวด้วยการกินอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเลือกกินผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสีให้เพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก และออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น โยคะยืดเส้น นอกจากนี้เวลาต้องยกของหนักควรใช้ท่าทางที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการยกของที่เกินความสามารถของคุณ ไม่สูบบุหรี่เพราะอาจทำให้ไอและทำให้เกิดไส้เลื่อนได้ สุดท้ายนี้ควรไปพบแพทย์เมื่อคุณมีอาการไอหรือจามบ่อยๆ และคลำได้เป็นก้อนตุงบริเวณหน้าท้องตำแหน่งต่างๆ หรือบริเวณขาหนีบ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : การเยียวยาที่บ้านไม่สามารถรักษาไส้เลื่อนได้ แต่สามารถบรรเทาอาการได้ ด้วยการเพิ่มปริมาณเส้นใยในอาหารเพื่อลดอาการท้องผูก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอาหารยังสามารถช่วยลดอาการของโรคไส้เลื่อนกระบังลมได้ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่หรือมื้อหนัก อย่านอนราบหลังอาหาร และรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปานกลาง สุดท้ายเพื่อป้องกันกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการ เช่น อาหารรสเผ็ดและอาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบ
เราได้รู้กันไปแล้วว่าไส้เลื่อน สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง มีวิธีการรักษาและป้องกันอย่างไร ไส้เลื่อนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ และทุกวัย แต่มักจะพบมากในผู้ชายและผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาสุขภาพโดยรวม ก็จะทำให้เราห่างไกลจากการเกิดไส้เลื่อนได้ค่ะ ส่วนใครที่เป็นโรคอื่นๆ อยู่นั้น สามารถอ่านบทความเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์เรา เช่น โรคเก๊าท์ห้ามกินอะไรค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : medicalnewstoday.com
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ